เรื่อง/ภาพ: ณัชชานันท์ กล้าหาญ
“คนไทยมาจากไหน”
คำถามนี้นักเรียนรุ่นสนิมยังไม่เคาะในวิชาสังคมศึกษาจะตอบว่า เทือกเขาอัลไต และเป็นคำตอบที่หลุดออกมาจากตำราเดียวกันก่อนวันที่ข้อมูลใน Google จะมาเฉลยในการค้นหาลำดับต้นๆ ว่า “ไม่ใช่”
แต่ก่อนที่จะมีชุดข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายและการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายมากพออย่างทุกวันนี้ นักเรียนยุคก่อนอินเทอร์เน็ตก็เจ็บปวดกันมามากกับความไม่รู้ วิชาสังคมไม่ต่างอะไรกับการท่องจำแล้วนำไปสอบ ที่ช้ำไปกว่านั้นคือเด็กช่างสงสัยบางคนรู้ อยากถกเถียง กระทั่งว่ารูปขวานนั้นเป็นดินแดนของเราทั้งหมดจริงไหม แต่สุดท้ายแม้แต่จะอธิบาย เด็กๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาต
ต่างจากคาบสังคมหรือประวัติศาสตร์ของ ‘ครูไอซ์’ ศักดิ์นรินทร์ ยาวิชัย โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จังหวัดระยอง คาบนี้นักเรียนเถียงได้ แย้งได้ สู้กันด้วยข้อมูลและหลักฐานอย่างแฟร์ๆ เพราะครูเองก็ผิดได้และเด็กๆ ไม่ได้มีหน้าที่แค่เชื่อฟังแล้วปฎิบัติตาม
อีกอย่าง…บางคำถามครูก็ยังคงหาคำตอบอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

สอนประวัติศาสตร์แบบให้เด็กเรียนจากตัวเองก่อน
ความตั้งใจของครูไอซ์ตรงเหมือนไม้บรรทัดตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่นำหลักอำนาจนิยมมาใช้กับเด็กนักเรียน เพราะครูไอซ์รู้สึกไม่โอเคกับระบบการศึกษาในโรงเรียนมาตั้งแต่ชั้น ม.6 หลายครั้งถึงขั้นขมวดคิ้วกับครูที่เข้มงวดและใช้วาทกรรมที่ว่าด้วยความหวังดีมาอ้างจนกลายเป็นว่าบางครั้งตัดสินเด็กอย่างไม่สมเหตุสมผล
“หวังดีนะ” ครูไอซ์ใช้คำนี้ แต่ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด คุย หรือแลกเปลี่ยน
ตอนนั้น ครูไอซ์ก็ไม่ได้โผงผางขนาดที่ว่าจะเข้าไปเถียงกับครูซึ่งๆ หน้า เขาได้แต่ตั้งคำถาม ศึกษาเรื่องสังคมและการเมือง เจอสิ่งที่แปลกประหลาดไปจากข้อมูลที่ครูสอนแล้วก็เก็บไปสงสัยต่อว่าความรู้มันมีชุดเดียวหรือเปล่า
เด็กชายศักดิ์นรินทร์บ่มความสงสัยนั้นมาเรื่อยๆ จนอุดมการณ์พัดมาให้เข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจอเพื่อนร่วมสงสัยจำนวนมากพอที่จะตั้งกลุ่ม ‘พลเรียน’
“หัวใจหลักของกลุ่มพลเรียนคือการศึกษาเชิงวิพากษ์ เราวิจารณ์ทุกอย่าง เช่น ตอนที่เราคิดขบถกับอาจารย์สาขาตัวเองในมหาวิทยาลัย เช่น เราไม่โอเคกับระบบโซตัส แต่คณะครูเองก็โซตัสและพยายามสร้างภาพครูให้เป็นเบ้าครูดี๊ดีทั้งในกระบวนการสอนและการผลิตครู ซึ่งมันก็ย้อนแย้งในตัว
“เราไม่โอเคกับการที่อาจารย์ไม่รับฟังเสียงนักศึกษา เราไม่โอเคกับการที่คุณบอกว่า active learning แต่ก็ยังไม่ active ทำให้เห็นเลยว่าสถาบันผลิตครูยังยึดติดกรอบเดิมมากๆ
“การศึกษานอกระบบหรือการศึกษารูปแบบอื่นไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อไปโชว์ศักยภาพหรือการจัดการการเรียนรู้แบบอื่นได้เลย เราถูกออกแบบมาให้ผลิตครูที่อยู่ในระบบเท่านั้น จึงไม่มีความหลากหลายเกิดขึ้น เราจึงพยายามวิพากษ์ระบบ สถาบันตัวเอง คณะตัวเอง การสอนสังคมศึกษาหรือหลักสูตรก็เป็นประเด็นมาเรื่อยๆ”
จนทำให้วันนี้เขามายืนสอนเด็ก ม.2 ทำกิจกรรมเฮฮาภายใต้เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์เข้มข้นที่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร
“ถ้าเราเป็นคนภายนอกแล้วเราเห็นว่าการศึกษามันไม่ดีแบบไหนบ้าง น้ำหนักการพูดอาจจะน้อย แต่การที่เรามาอยู่ในระบบ เราอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้เชิงอำนาจที่ครูมีอำนาจเหนือในขณะที่นักเรียนมีอำนาจน้อยในห้องเรียนได้ เราก็พยายามจะกลับทางให้เรามีพื้นที่และพลังการเรียนรู้ที่แชร์กันระหว่างครูกับเด็ก เรามองจุดนี้แล้วตัดสินใจมาเป็นครูที่สร้างจุดเปลี่ยน ท้าทายตัวเองด้วย แล้วก็ท้าทายระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย”
เช่นนั้นแล้ว ครั้งแรกของการเข้ามาทำงานเป็นครูอย่างจริงจังเป็นอย่างไร ไฟลุกสมใจไหม?
“ภาพที่คิดไว้คือเราต้องมีเวลาวางแผนหากิจกรรม กระบวนการให้เต็มที่ ต้องได้คุยกับเด็กและศึกษาเป็นคนๆ ไป แยกแยะได้ว่าใครชอบหรือใครถนัดแบบไหน แต่พอเจอสถานการณ์การสอนจริงๆ ก็พบว่าเวลาที่เราจะจัดการการเรียนการสอนขนาดนั้นมันจำกัดมาก เพราะพอเริ่มลงตัวกับการทำงาน ก็จะมีงานเสริมอื่นๆ เข้ามา
“อีกอย่างจำนวนเด็กต่อห้องเยอะมาก เราสอนทั้งหมด 14 ห้อง การที่เราจะโฟกัสเด็กแต่ละห้อง แต่ละกลุ่ม หาความชอบหรือหาสิ่งที่เป็นความสามารถของเขาออกมามันยากเพราะปริมาณและเวลามันถูกจำกัด”
ครูไอซ์เลยจัดแบ่งสรรปันส่วน ใช้วิธีการที่ว่าบางคาบเน้นเนื้อหาไปเลยสำหรับคนที่ชอบบรรยายเป๊ะๆ อีกคาบหนึ่งก็สลับมากิจกรรม งานกลุ่ม หรือดูวิดีโอบ้างเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการสอน และหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะไปตรงกับเด็กที่อาจจะถนัดไม่เหมือนกัน
คาแรคเตอร์ของเด็กที่ต่างกันก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ทำให้ครูสังคมซึ่งเน้นการปรับจากรากฐานอย่างเขาต้องทำงานหนักขึ้นทั้งในแง่ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจูงใจผู้เรียนและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีมิติมากกว่าการสนับสนุนชาตินิยมหรือความภูมิใจในแผ่นดินเกิด
“ถ้ากับกลุ่มเด็กที่เล่นกิจกรรมแล้วเวิร์ค เราก็จะเล่นกับกิจกรรม กลุ่มไหนที่เด็กอาจจะไม่มีทักษะในการคิดต่อให้ลึกขึ้น เราก็ต้องไปช่วยกระตุ้น ตั้งคำถามให้เขาลองคิดเพิ่ม แต่ต้องลดกิจกรรมลงหน่อย เน้นเรื่องของการค่อยๆ ปูพื้นฐานก่อน
“ถ้าเป็นกิจกรรมที่อยากได้คอนเซ็ปท์ เช่น จะทำอย่างไรให้เด็กเข้าใจคอนเซ็ปท์ว่าข้อมูลจากอดีตมาถึงปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปนะ ไม่ต้องสนใจเรื่องเนื้อหามาก เราอาจใช้กิจกรรมปริศนาทายภาพ ให้ 1 คนคอยดูภาพข้างหลังแล้วพูดส่งต่อข้อมูลให้อีกคน ไปสู่คนที่ 2 3 4 5 แล้วคนสุดท้ายจะต้องวาดภาพออกมาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพปริศนา”
พอเฉลยภาพออกมา ภาพที่เด็กคนสุดท้ายของแต่ละกลุ่มวาด ออกมาไม่เหมือนกันเลย
“เด็กจะเห็นว่าทำไมต่างกันจังเลย แค่การส่งต่อ 4-5 คนในช่วงเวลา 30 นาทีข้อมูลมันเปลี่ยนไปเยอะมาก แล้วเราก็ชวนเด็กขยับไปคิดต่อว่าถ้าเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มันผ่านมากี่ปี กี่คนแล้ว คิดว่ามันเปลี่ยนไปไหม และเปลี่ยนไปมากแค่ไหน”
ความยากของการสอนวิชาประวัติศาสตร์คือพูดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว บางครั้งเด็กอาจจะจินตนาการไปไม่ถึงว่าเป็นแบบไหน ครูจึงต้องมีภาพหรือสื่อที่คัดมาเพื่ออธิบายบริบทที่ผ่านมาแล้วให้เด็กได้เห็น
หรือง่ายที่สุดก็จำลองให้เด็กเห็นเลยจากการเรียนการสอน ณ ปัจจุบัน แม้จะปรับจูนได้ยากเพราะเจอเด็กแค่อาทิตย์ละคาบเดียว คาบหนึ่งกินเวลาเพียง 50 นาที ดังนั้นการเปลี่ยนวัฒนธรรมของทั้งครูและเด็กจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา
“เราก็จะสร้างกติการ่วมกันในห้องตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกันเลยว่าครูจะทำอะไร หรือนักเรียนทำอะไรได้บ้าง แล้วพยายามใช้ภาษาเชิงบวกกับเขา ลดคำว่า ห้าม อย่า ไม่ใช่ว่าเราเสริมเขาอย่างเดียว แต่ว่าท่าทางหรือคำพูดของเราไปกดทับเขาอยู่
“เราจะให้แต่ละกลุ่มคิดมาแล้วโหวตกันว่าเราจะเลือกกฎข้อไหนเข้ามาใช้กับห้องเรา ซึ่งแต่ละห้องก็จะแตกต่างกัน เราก็เขียนชาร์ตขึ้นไว้เลยแล้วให้เขาร่วมแสดงความเป็นเจ้าของโดยการมาเซ็นชื่อร่วมกัน เปรียบเทียบให้เขาเห็นว่านี่ก็เหมือนการร่างกฎหมายนะนักเรียน ในสภาฯ เขาก็ทำประมาณนี้ ถ้าเด็กบอกว่าครูห้ามตี เราก็ต้องยอมรับตรงนั้นด้วยนะ”
นอกจากการตั้งกติกาห้องเรียนร่วมกัน ครูไอซ์เชื่อว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เข้าถึงได้ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากตัวเอง
“อยากให้เขาปูพื้นตั้งแต่ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเขาผ่านหลักการประวัติศาสตร์ เคยให้เด็กลองทำ timeline ชีวิต ลองหาหลักฐานที่บ่งบอกตัวตนว่าเราเป็นใคร ไทยจริงหรือเปล่า แล้วทุกวันนี้ไทยจริงไม่จริงเขาดูกันอย่างไรหรือมันผสมปนเปไปหมด ชวนเด็กคุย ดูคลิปวิดีโอสั้นแล้วเอาหลักฐานมาลองคุยกัน
“เราเคยได้ยินการศึกษาของฝั่งตะวันตกเหมือนกันนะ อย่างอเมริกาเขาบอกว่าพื้นฐานต้องเริ่มจากตัวเองและครอบครัวแล้วค่อยขยายไปสู่ชุมชน ระดับประเทศ ระดับโลก จึงเป็นแนวคิดที่ว่าเด็กจะต้องรู้จักตัวเองก่อนโดยใช้วิธีการที่นักประวัติศาสตร์ศึกษา”
หนทางในการเป็นนักตั้งคำถามหรือนักประวัติศาสตร์น้อยทำได้หลากหลายรูปแบบ ครูไอซ์ลองให้เด็กวิเคราะห์กิจกรรมเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ แล้วถอดลำดับออกมาคิดว่าคนเหล่านี้เป็นใครบ้างในสังคม เด็กก็จะมองเห็นว่าทำไมตัวเราเล็กนิดเดียวเอง จากนั้นคำถามต่อไปคือ…
คิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสพูดไหม หรือว่ามีแต่คนข้างบนที่พูดได้อยู่ฝ่ายเดียว
ตั้งคำถามใหญ่ๆ ในห้องเรียนประชาธิปไตย
นี่คือการสอนหลักประชาธิปไตยอย่างเนียนๆ หรือเปล่า?
“การสอนเรื่องประชาธิปไตยมันไม่ได้เป็นการสอนแค่เนื้อหา วิชาสังคมถูกทำให้เป็นการเรียนการสอนแบบท่องจำว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ไม่ได้กลายเป็นวิถีไง มันอยู่ที่วิถีที่ครูปฏิบัติกับเด็กว่าในห้องเรียนมันประชาธิปไตยไหม หรือฟังกันและกันไหม
“ผมว่าเด็กจะมีทักษะในการพูดคุยและเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ว่า ฉันรู้สึกแบบนี้ กดดัน เสียเปรียบ ฉันจึงมีสิทธิพูดได้ เปิดเผยได้ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก และไม่ทนต่อการกดขี่ในรูปแบบอื่นๆ โดยพื้นฐานของเหตุผลในมุมมองของเขา”
ซึ่งจริงๆ ตัวครูไอซ์เองก็เห็นศักยภาพของการทำให้การศึกษากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน
“ใช่ มันคือเรื่องเดียวกัน การเมืองถ้ามองในเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจก็มองได้ทั้งในระดับโรงเรียน ห้องเรียน และทุกระดับ ครูกับเด็กจะหาจุดสมดุลกันอย่างไรในห้อง หรือครูกับ ผอ. และครูท่านอื่นจะหาจุดสมดุลกันอย่างไรในโรงเรียน”
ครูไอซ์ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมกับโครงการ ‘ก่อการครู’ ก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาเห็นอำนาจในห้องเรียน เช่น ในคลาสของการแอคชั่นละครที่ให้ชี้นิ้วเดินตาม คนที่ 1 ชี้ไปคนที่ 2 3 4 5 คนที่ 1 ขยับอย่างไร คนเหล่านั้นก็ต้องขยับตาม
“จากนั้นเราก็พาเด็กสะท้อนว่าในโรงเรียนคิดว่าใครเป็นหมายเลข 1 2 3 เด็กก็จะมองเห็นแน่นอน แล้วฉันล่ะอยู่ไหนหมายเลขอะไร อ๋อ ฉันอยู่ล่างสุดเลย เด็กจะเห็นโครงสร้างอำนาจในโรงเรียนแล้วว่าฉันเป็นคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดทั้งๆ ที่มีจำนวนเยอะที่สุด แต่ไม่มีใครฟังเสียงฉันเลย แล้วชวนเขาเขยิบไปคิดต่อว่าในสังคมนี้ใครมีอำนาจสูงสุด”
พูดถึงผู้มีอำนาจ ไม่ใช่แค่ตัวเด็ก ครูไอซ์เองก็มีความในใจกับหลักสูตรทางประวัติศาสตร์ที่ออกแบบมาจากมุมของผู้มีอำนาจในสังคม จนเขารู้สึกว่าเด็กต้องได้รับข้อมูลที่กว้างกว่านั้น
“ในแง่ของประวัติศาสตร์ คือประวัติศาสตร์ที่เขาบอกให้เรียนรู้ในแง่ของชนชั้นนำเยอะมาก หรือชาตินิยมที่มุ้งเน้นความเกลียดชังกับเพื่อนบ้าน เราก็อยากจะสร้างภาพการเรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องเอาเนื้อหามากองกันเยอะขนาดนี้ ให้เรียนเป็นประเด็นก็ได้ ค่อยๆ แตะไปแต่ละอย่างแล้วให้เห็นความเชื่อมโยงว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์มันไม่ได้ตายตัว เช่น พม่ายึดไทย พม่าเผาไทยเท่านั้น มีเหตุผลอีกร้อยแปดมากมายที่คนอธิบายเหตุผลไว้ อยากให้เด็กเห็นความหลากหลายของชุดข้อมูลมากกว่า เด็กจะได้เห็นหลากหลายมุมมองของแต่ละคน ความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ประวัติศาสตร์ไม่ควรตายตัว”
แล้วตัวครูเองพาเด็กไปถึงจุดที่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ได้หรือยัง? ครูไอซ์ตอบว่า แค่เด็กเริ่มสงสัยก็น่าชื่นใจแล้ว
“เด็กก็เริ่มสงสัยว่าแล้วประเทศไทยหรือคนไทยจริงๆ อยู่ที่ไหน จุดเล็กๆ น้อยๆ แต่เด็กก็จะเริ่มตั้งคำถามขึ้นมากับสิ่งที่เขาถูกกดขี่อยู่ แค่นี้เราก็โอเคแล้วนะ แสดงว่าเขาเข้าใจแหละว่ามันมีระบบ โครงสร้างบางอย่างครอบงำเขาอยู่ สิ่งที่อยากจะชวนทำต่อไปคือ แล้วเขาจะอยู่กับมันอย่างไร หรือจะเปลี่ยนมันไปอย่างไรในรุ่นของเขา”
แล้วถ้ามีเด็กมาบอกว่าเขาสนับสนุนระบอบเผด็จการอำนาจนิยม หน้าที่ของครูคือไม่ตัดสินถูกผิด แต่จะส่งคำถามไปให้เด็กคิดต่อ
“ส่วนใหญ่เราจะใช้คำถามให้เด็กกลับไปคิดทบทวนเอง แต่ไม่ได้ไปยัดเยียดว่าความคิดแบบนี้มันชั่วหรือเลว เช่น ถ้าเด็กบอกว่าแบบนี้มันสงบดีนะครู เราก็จะถามกลับว่าที่มันสงบอยู่ เหมือนครูสั่งให้เธอเงียบ ห้องสงบ แล้วเธอกดดันไหม ให้เขาลองเปรียบเทียบจากเรื่องใกล้ตัวดูว่าทุกวันนี้มันสงบเพราะว่าเขาสั่งให้มันสงบ หรือว่าเราอยู่อย่างมีความสุข”
ขบถต่อระบบ = ต้องนิ่งและแน่นด้วยเหตุผล
การสอนสังคมและประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไปอาจจะทำให้ครูคนอื่นในโรงเรียนตั้งคำถามอยู่บ้าง ครูไอซ์หนักแน่นกับคอนเซ็ปท์นี้มากพอที่จะบอกว่าเด็กต้องลองวิพากษ์หรือหาข้อโต้แย้งกับข้อมูลที่มีเพื่อที่เขาจะนำไปใช้ได้ในอนาคต แต่แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยสำหรับครูที่เพิ่งมีชั่วโมงบินได้ไม่นาน และอยากเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำกันมาจนแทบจะเขียนเป็นประวัติศาสตร์เล่มหนาได้อีกหลายเล่ม
“ครูคนอื่นก็คงเห็นความขบถบางอย่างในตัวเราแหละ แต่เราก็วางตัวแบบเคารพให้เกียรติเขา โฟกัสที่งานและเด็ก เลยทำให้เขาไม่ต่อต้านหรือมองเราแปลกแยก เรารับผิดชอบงานโรงเรียนตามความสามารถ ส่วนงานสอนเราก็ทำไปในสไตล์ของเราซึ่งเขาก็รับรู้”

วันนี้ครูไอซ์ของเด็กๆ อาจจะยังไม่เจอแรงเสียดทานมหาโหดจากโรงเรียนแม้จะเบี้ยวแต่งตัวให้ถูกระเบียบตามวันทำงานบ้าง หากในภาพใหญ่กว่านั้น เขาก็ไม่อยากเขียนประวัติศาสตร์การเป็นครู (ที่เพิ่งมีไม่กี่หน้า) ของตัวเองด้วยเหมือนกันว่าสุดท้ายจะโดนระบบการศึกษาแบบเก่ากลืนลงไป
“คิดอยู่กับตัวเองเหมือนกันว่าเราจะโดนกลืนไปกับวัฒนธรรมเก่าไหม ถ้าภาพรวมในบริบทโรงเรียน เราอาจจะไม่มีอำนาจไปทำอะไรได้มากขนาดนั้น แต่ถ้าในห้องเรียน เราสื่อสารกับเด็กรู้เรื่องและตั้งใจที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ไปด้วยกันกับเขา
“แต่ก็ค่อนข้างหนักใจเพราะอยู่ในห้องที่เป็นกลุ่มเสี่ยงค่อนข้างเยอะ ทางโรงเรียนและหัวหน้าระดับค่อนข้างเข้มงวดกับกฎระเบียบ เราก็ต้องดูในภาพรวมว่าถ้าเหตุการณ์ปกติ เราก็ปกติไป แต่ถ้ามีเหตุการณ์น่าเป็นห่วงขึ้นมาเราก็ต้องนิ่ง และพยายามคุยด้วยเหตุผลเป็นหลักก่อนที่เด็กจะถูกส่งไปลงโทษ แต่เราก็มองในมุมของคนที่เป็นหัวหน้าระดับเช่นเดียวกันว่าถ้าเขาไม่ทำแบบนี้เขาก็คุมเด็กไม่ได้ ก็ยังเป็นภาวะย้อนแย้งทั้งในตัวของเราและระบบด้วย”
การเป็นครูที่ปรึกษาประจำห้องเด็กที่พื้นฐานทางครอบครัวน่าเป็นห่วง หลายครั้งภาระหน้าที่ของการสอนจึงต้องขยายออกไปเป็นการแก้ปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาใดๆ ก็ตามที่มันจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ครูไอซ์ต้องนั่งดีลกับประเด็นทางจารีตของเด็ก เช่น เด็กมัธยมต้นมีเพศสัมพันธ์กันแล้วครูต้องเข้าไปจัดการไกล่เกลี่ย วิธีการแก้ปัญหาละเอียดอ่อนและส่วนตัวมากๆ เหล่านี้คือการเปิดใจทั้งครูและเด็ก ที่สำคัญคือให้เกียรติเด็กโดยการให้เขาแสดงความคิดเห็นต่อผลลัพธ์หรือต้นตอของเหตุการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
“เด็กก็มีทักษะในการคิด เรื่องแบบนี้มันห้ามกันไม่ได้เพราะเขาก็มีชีวิตของเขา แต่เราก็ต้องคุยร่วมกันกับครูแนะแนวตัวต่อตัวด้วยว่าต้องป้องกันหรืออะไร แล้วเด็กก็สะท้อนว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ เราก็เปรียบเทียบให้เขาเห็นข้อดีข้อเสียหรืออธิบายว่าจะเดือดร้อนไปถึงใคร เรามีความสุขแต่ถ้าเราลองมองไปอีกนิดมันจะไปกระทบความรู้สึกใครอีกบ้าง พอเด็กรู้ตัว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็จะเริ่มเข้าใจว่าเขารักกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเซฟ”
ประเด็นที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแต่ละวันบางครั้งจึงหนักกว่าการต้องเตรียมสอนหรือถกเถียงกับระบบใหญ่ ราวกับว่าเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในวิชาชีพตลอดไปไม่มีหยุด ต้องวิเคราะห์ว่าตัวเองทำหน้าที่ครูได้ดีพอหรือยัง เพราะมีทั้งเคสที่เอาอยู่และเอาไม่อยู่
แน่นอนว่าครูไอซ์ให้ความสำคัญกับการศึกษา หากมีเคสที่เด็กไม่ต้องการมาเรียน เขาย่อมต้องเดือดร้อนเพราะเชื่อมั่นว่าการได้รับการศึกษาคือต้นทางที่ดีสำหรับอนาคตเด็ก
“มีเด็ก ม.2 คนหนึ่งไม่อยากมาเรียน ผมก็ตามไปถึงบ้าน คุยกับผู้ปกครองต่อเนื่องสามสี่ครั้งเพื่อชักจูงให้กลับมาเรียน แต่ผลสุดท้ายเด็กก็ไม่กลับมาเรียน ผู้ปกครองก็บอกว่าช่างมันเถอะ บทบาทของเราก็เลยหยุดอยู่ที่ตรงนั้นแล้วเพราะว่าผู้ปกครองกับเด็กปฏิเสธแล้ว เราก็กลับมาทำใจว่าเราเต็มที่แล้วนะ ถ้าเขาเลือกวิถีอีกแบบก็ยอมรับการตัดสินใจ”
เด็กนักเรียนวิ่งกันไปมาเจี๊ยวจ๊าวตามอาคาร แววตาของครูหนุ่มก็อ่อนแสงลงบ้างหลังจากที่บอกว่านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ไฟก็ติดๆ ดับๆ ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกัน ราวกับจะสื่อสารว่าในฐานะมนุษย์ เขาเองก็ล้ากับปัญหานอกห้องเรียน แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อไปถ้าครูเองก็มั่นใจว่าจะไม่ปล่อยมือ
“มันก็ต้องใช้พลังงานตัวเองเยอะขึ้น ละเอียดในการดีไซน์แต่ละคาบเรียนที่เราอยากจะให้มันดี พูดง่ายๆ คือต้องยอมเหนื่อยกว่าคนอื่น กลับบ้านไปบางทีก็ทำต่อ
“แต่ก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งถ้าเรามีครอบครัวแล้วเราจะไหวไหม ครูบางคนมีครอบครัวแล้วอาจจะหนักกว่าครูที่โสดและมีเวลาได้ดีไซน์การสอน เพราะเขาต้องรับผิดชอบชีวิตครอบครัวและภาระหลายอย่าง แล้วครูยังจะต้องมาเป็นโมเดลที่ดีให้กับเด็ก ครูในแบบ ‘ครูดี๊ดี’ มันจะเป็นภาระให้ครูไปอีกเยอะมากไหม เด็กเขามีไอดอลตัวเลือกอีกตั้งเยอะแยะ”
เขียนประวัติศาสตร์ครูให้ ‘อยู่กับตัวเอง’
ปัญหาของระบบการศึกษาแบบไทยๆ หนึ่งในนั้นคือตัวชี้วัดจากกระทรวงศึกษาธิการ และการวัดผลที่ล้มครืน สวนทางกับความพยายามในการสร้าง active learning ของครูไอซ์ ซึ่งตั้งธงไว้ที่การสร้างหลักคิดในทางประชาธิปไตย พานักเรียนไปให้ถึงด้วยกิจกรรมและการถกเถียงที่หลากหลายในชั้นเรียน
แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้ข้อสอบปรนัย เน้นกากบาท ไม่เปิดโอกาสให้อธิบาย…
“ในแง่ของตัวชี้วัด เราว่าหลักสูตรกลางมันกว้าง เขาก็ไม่ได้ล็อคการสอนไว้อย่างชัดเจน เช่น เขาก็เปิดกว้างให้ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้ระลึกถึงว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาและมุ่งให้เกิดความภาคภูมิใจ แต่เราก็สามารถเอาหลักฐานอะไรก็ได้มาให้เด็กวิเคราะห์ดูได้ เช่น เรื่องศึกยุทธหัตถี หลักฐานของไทยบอกแบบหนึ่ง พม่ากับต่างชาติบอกแบบหนึ่ง เราลองมาคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไร
“แต่ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนตั้งแต่กระบวนการไปจนถึงการวัดประเมินผล เราเป็นตัว active ให้เด็กได้คิดก็จริง แต่ผลสุดท้ายโรงเรียนก็บอกว่าใช้ข้อสอบปลายภาคแบบกากบาทนะ ก็ตกม้าตายอยู่ดี”
เรื่องราวยุ่งยากยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หน้าที่ครูในบริบทของระบบการศึกษาไทย ไม่ได้มีเพียงแค่เตรียมการสอนแต่ต้องแบ่งเวลาให้งานสารพัด ทั้งงานเอกสาร คุมเด็กทำเวร กิจกรรมโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมายที่จะค่อยๆ ลบโฟกัสต่อการสอนที่มีคุณภาพของครูหนึ่งคนให้ดับมอดลง
“ตื่นเช้ามา ต้องมาคุมเด็กทำเวรประมาณ 7 โมง ใช้คำว่าคุมเลยนะ เขาเช็คชื่อครู เสร็จแล้วคุมแถว เคารพธงชาติ แล้วก็สอน ระหว่างสอนก็จะมีงาน ผมทำงานฝ่ายบุคคล ทำงานหมวด หรือโครงการต่างๆ ซึ่งจะดึงเวลาเราไป พอเลิกงานก็ต้องตรวจการบ้าน ตรวจงานเด็ก เคลียร์โครงการ ทำงานฝ่ายตัวเอง 24 ชั่วโมงเนี่ยใช้คุ้มมากเลยนะ
“ระบบประเมินที่บอกว่าจะลดเอกสารก็กลายเป็นว่าเรียกหาหลักฐานมากขึ้น มันเลยกระจายความใส่ใจออกไปเยอะมาก ถ้าเราไม่ทำก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเป็นเรื่องของผลงานความก้าวหน้า ระบบมันออกแบบมาให้เราต้องเก็บเอกสารทุกอย่าง ถ้าเราไม่เก็บแล้ววันหนึ่งที่เราอยากก้าวหน้า เงินเดือนเพิ่ม แต่เราไม่ทำงานตามที่โรงเรียนสั่งมา การประเมินขั้นเงินเดือนเราก็ไม่ได้ เหมือนถูกแช่แข็งไว้ หรือถูกลอยแพไป”
ประชาธิปไตยและโอกาสการได้รับการศึกษาที่ดีของเด็กนั้นสำคัญ แต่ครูเองก็ต้องมีชีวิตที่ดีด้วย นำไปสู่คำถามตรงๆ ว่าวันนี้ว่าครูไอซ์ยังมีไฟอยู่ไหม
“ผมเข้าใจว่างานการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงมันใช้เวลา แล้วก็ใช้ความอึด เครือข่าย ความสัมพันธ์และแนวร่วม ถ้าในโรงเรียนมีคนที่คล้อยตามมากขึ้นก็จะดี และในส่วนพลเรียนก็จัดกิจกรรมเรื่อยๆ โดยส่วนตัวเราจะลองจัดห้องเรียนเชิง active learning หรือสร้างบรรยากาศเชิงประชาธิปไตย สรุปคือเราทำงานสองส่วน เป็นครูด้วยและเป็นนักกิจกรรมด้วย”

ครูไอซ์ยอมรับว่า พอได้เข้าห้องเรียนก่อการครู ไฟลุกโชนมาก จบโครงการฯ ครูก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อด้วยตัวเอง พร้อมๆ กับการกลับมาทบทวนความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
“ก่อการครูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิดและทำมันถูกต้องและมีคนเห็นร่วมกับเราเยอะ เรามั่นใจแล้วว่าการที่เราไม่ได้เป็นครูแบบดั้งเดิมก็ไม่ได้ผิดอะไร เป็นธรรมชาติที่ต้องเปลี่ยนเลยทำเสริมความเชื่อของตัวเองเข้าไปอีก”
สมมุติมีคนมาบอกว่าทำไมการศึกษาต้องนอกกรอบ? ครูไอซ์ตอบว่า
“ก็ต้องย้อนถามเขาดูว่าแล้วเราอยู่ในกรอบมากี่ปี แล้วมันดีไหม เราอยู่ในลู่ทางเดิมๆ แล้วเราบอกว่าเราอยากได้ผลลัพธ์ใหม่ แต่เราก็ยังทำแบบเดิมๆ นี่มันยังโอเคอยู่ไหม ดังนั้นถ้าเราตั้งเป้าใหม่ สร้างลู่ทางใหม่แล้วทำให้มันสำเร็จขึ้นมาไม่ดีกว่าเหรอ”
ในก่อการครู เราคือเพื่อนกัน
มากกว่านั้น สำหรับครูไอซ์ความพิเศษของการได้เข้าร่วมโครงการก่อการครูคือการได้เห็นตัวตนของตัวเองและพลังของครูอีกหลายคนที่กำลังทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่
เมื่อเห็นว่ามีคนที่มีแนวคิดขบถเดียวกันทั่วประเทศ นั่นก็คือความหมายที่ว่า ‘เราคือเพื่อนกัน’ มีพลังที่ได้เห็นคนมาร่วมเป้าหมายเดียวกัน
“สิ่งสำคัญเลยก็คือการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ยิ่งเราอยู่ในระบบและระบบทำให้เรารู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว โครงการก่อการครู empower โดยการทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อหรือคิดมันไม่ได้ผิด แต่กลับเป็นสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งโลกปัจจุบันและอนาคตก็เรียกร้องว่ามันเปลี่ยนไปแล้วนะ
“ครูจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมของตัวเอง ปรับความเป็นมนุษย์ให้คิดบวกมากขึ้นให้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นระหว่างทางการเรียนการสอน”
เหนือสิ่งใด ครูควรจะได้รับการปลดล็อคจากสังคมเสียก่อน หมายความว่า ครูต้องเป็นตัวของตัวเองให้ได้ก่อนจะไปปลดปล่อยเด็ก
ครูไอซ์กำลังตั้งคำถามว่าทั้งระบบและค่านิยมสังคมให้อิสระครูมากแค่ไหน
“พูดไปก็เหมือนวนอยู่ในอ่าง การศึกษาถูกทำให้เป็นปัญหาการเมือง การเมืองก็ย้อนมาเป็นปัญหาการศึกษาและสังคม”
ครูไอซ์บอกว่า ‘ภาพจำ’ ของครูชัดมากในสังคม ซึ่งอาจจะเป็นความจงใจของรัฐที่ต้องการสร้างให้พลเมืองให้เป็นแบบนั้น แบบนี้
“เขา (รัฐ) ก็จะดีไซน์ฟังก์ชั่นต่างๆ ของสังคมให้เป็นแบบนั้น เขาต้องการทำให้เด็กเชื่อ อยู่ในระเบียบ ฟัง ไม่เถียงไม่ถาม ทำตามอย่างเดียว ก็ต้องดีไซน์มาตั้งแต่วิธีการทำอย่างไรให้ครูไม่เถียง ไม่ถาม แล้วครูก็ถ่ายทอดไปยังศิษย์ที่ไม่เถียงไม่ถาม ทำตามอย่างเดียว”
ทุกอย่างถูกออกแบบมาหมดแล้ว คำถามสำคัญคือ แล้วตัวครูเอง เห็นหรือเปล่า
“มีอยู่สองขั้วคือคนที่เห็นว่ามีปัญหาและยังทำอยู่ เขาอาจจะทำตามหน้าที่ กับอีกคนหนึ่งเชื่อสุดจิตสุดใจเลยว่ามันดี ต้องพิทักษ์รักษาก็จะค่อนข้างอันตราย เพราะเราถูกกล่อมไปแล้ว เราไม่เห็นแล้ว ที่สำคัญ เรากลับผลิตซ้ำด้วยความเชื่อที่ว่ามันดี ฉันหวังดีนะ”
ท่ามกลางความกว้างใหญ่ของรั้วโรงเรียน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและแผนการสอนจากผู้มีอำนาจที่ต้องการโรยข้อมูลด้านเดียวให้กับนักเรียนในฐานะพลเมืองรัฐ หรือการเมืองเรื่องครูแสนยิบย่อยชวนปวดหัว ครูไอซ์อาจจะยังสับสนกับสมดุลในการเป็นครู แม้ในใจคงจะลบรื้อของเก่า และก้มหน้าก้มตาสอนประวัติศาสตร์ตัวเองไป
สำหรับครูไอซ์ เขาพยายามเขียนบทบันทึกของตัวเองในหน้าประวัติศาสตร์การเป็น ‘ผู้ให้ความรู้’ และเป็นผู้ชี้ชวนให้เด็กรู้สึกสงสัยและไม่หยุดตั้งคำถามกับระบบโครงสร้างการศึกษาและสังคมที่บิดเบี้ยวอยู่ ณ ตอนนี้ จนกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นสักวัน