ในเมื่อโรคระบาดทำให้ ‘เด็ก’และ ‘โรงเรียน’ ห่างออกจากกัน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โครงการรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้’ เป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความต่อเนื่องให้เด็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น
โครงการนี้นำโดยเหล่าคณะครูก่อการ 5 คน 5 พื้นที่ ขอนแก่น-ศรีษะเกษ-เชียงใหม่-กาฬสินธุ์ ผลลัพธ์ในระยะยาวรถพุ่มพวงทางการศึกษาคันนี้ อาจสร้างนิเวศของการเรียนรู้(ใหม่) ที่เรามองเห็นการเชื่อมร้อยของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนมากขึ้น หรือมองเห็นวิธีการเรียน วิชา หลักสูตรใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นและออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของเด็กตามแต่ละพื้นที่ เพราะความรู้ก็เหมือนอาหาร นอกจากตอบโจทย์ชีวิตแล้ว เด็กควรเลือกและเป็นเจ้าของความรู้เองได้
ครูสัญญา มัครินทร์
โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น
เราไม่ปฏิเสธการเรียนออนไลน์ มันฟังก์ชั่นกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มที่เข้าไม่ถึงนั้นครูจึงต้องทำงาน เพราะ 1. เรายังได้เงินเดือน 2. เป็นหน้าที่ของเรา และ 3. เราต้องดึงความสัมพันธ์กับเด็กไว้ ไม่อย่างนั้นการอยากเรียนอยากรู้ของเด็กจะถดถอย และเมื่อเปิดเทอมเขาอาจจะหายไปเลยก็ได้
รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ของครูสัญญา เกิดจากวงคุยเล็กๆ ภายในเครือข่ายก่อการครูที่ชักชวนกันตั้งคำถามว่า ‘ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง’
ท่ามกลางภาวะโรคระบาดที่นักเรียนไปโรงเรียนไม่ได้ ครูสัญญาพบหลักคิดอยู่สองเรื่อง คือ
หนึ่ง-หัวใจของการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่คือเรื่องของทุกคน และทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ขึ้นได้
สอง-บทบาทของคนที่อยู่ในภาคการศึกษาควรจะทำอะไรได้มากกว่าตามนโยบายหรือที่คนอื่นบอกให้เราทำ
“เราไปเจอไอเดีย Smart รถพุ่มพวงในจังหวัดขอนแก่น ที่ทำให้ผู้คนสามารถรู้ได้ว่า รถพุ่มพวงจะมาเมื่อไหร่ ตรงไหน ผ่านแอพพลิเคชั่น และสามารถจับจ่ายซื้อวัตถุดิบได้ตามใจชอบ
“เราก็เอามาคิดต่อว่า หัวใจของไอเดียนี้คือ ‘การเข้าถึงคน’ และการนำอาหารที่มีคุณภาพเข้าไปในชุมชน โดยจับมือกับเกษตรกรและสร้างอาชีพให้คนที่ตกงานได้มาขับรถพุ่มพวงด้วย มันเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายเลย ทำให้คิดได้ว่า ‘คอนเซ็ปต์นี้ดี แล้วถ้าเป็นรถพุ่มพวงการศึกษาล่ะ จะเป็นไปได้ไหมวะ’”
หลังจากนั้นครูสัญญาและเพื่อนๆ ในก่อการครูจึงช่วยกันขยับไอเดียนี้ให้ทำได้จริง โดยมีแก่นสำคัญคือ เข้าถึงได้ง่าย หลากหลาย และผู้เรียนมีสิทธิเลือกเรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ คล้ายกับอาหาร บางวันอยากกินแตงกวา บางวันอยากกินปลา บางวันอยากกินอาหารสำเร็จรูป และมันคือสัญญะของการศึกษาที่ ‘เลือกได้ จับต้องได้ ตอบโจทย์เด็ก’
ถึงคราวลงมือทำ ครูสัญญาบอกว่า ไอเดียนี้นำทีมโดยครู 6 คน ช่วยกันออกแบบว่า รถพุ่มพวง (ด้านการศึกษา) ของเราจะมีหน้าตาอย่างไร
“ครูที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีก็จะไปถามเด็กว่า สนใจอะไรบ้างเกี่ยวกับเทคโนโลยี เด็กก็บอกมาว่า ‘ผมอยากเรียนเรื่องแอพพลิเคชั่น’ หรือการตัดต่อวิดีโอ ครูก็จะสามารถออกแบบได้เพราะเป็นเรื่องที่ครูถนัดและมีองค์ความรู้ ส่วนเด็กก็ได้ส่งเสียงว่าเขาสนใจอะไร
“หรือครูที่สอนศิลปะ ชวนเด็กทำผ้ามัดย้อมธรรมชาติง่ายๆ แล้วถามเด็กว่า ‘จะเอาผ้าที่ย้อมนี้ไปแปรรูปยังไงต่อดี’ บางคนเอาไปแปรรูปเป็นผ้าเช็ดหน้า หรือหน้ากากผ้า จะเห็นได้ว่า กระบวนการนั้นเราจะออกแบบกันครึ่งๆ คือทุนจากครู และความสนใจจากเด็ก”
สำหรับครูสัญญา ครูไม่ปฏิเสธการเรียนออนไลน์
แต่การเรียนออนไลน์มันฟังก์ชั่นกับแค่เพียงเด็กกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“ส่วนกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ครูจึงต้องทำงาน เพราะ 1. เราเองก็ยังได้เงินเดือนอยู่ 2. เป็นหน้าที่ของเรา และ 3. เราต้องดึงความสัมพันธ์กับเด็กไว้ ไม่อย่างนั้น เรื่องการอยากเรียนอยากรู้ของเด็กจะถดถอย และเมื่อเปิดเทอม เขาอาจจะหายไปเลยก็ได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันง่ายต่อกาารหลุดออกจากระบบการศึกษา ถ้าเราไม่ทำอะไรในช่วงนี้ เด็กที่ไม่พร้อมเหล่านั้นถูกทอดทิ้งแน่ๆ และเด็กเองก็คงไม่ไยดีกับการเรียนผ่านครูตู้แน่ๆ” ครูสัญญาทิ้งท้าย
ครูอ้อม-ชุตินธร หัตถพนม
โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู จังหวัดขอนแก่น
ผู้ปกครองหลายๆ คนทำกินในพื้นที่เดิมไม่ได้ เราจึงเข้าไปดูแลใจกันก่อน ไม่เอาความเครียดไปเพิ่ม แล้วจึงชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมง่ายๆ ให้เขาผ่อนคลาย นำเด็กกลับมารู้เนื้อรู้ตัว เช่น กิจกรรมจิตศึกษา อยู่กับตัวเอง จดจ่ออยู่กับตัวเอง ผ่านงานศิลปะ ผ่านบทเพลงดีๆ ถามไถ่ ด้วยความรักความห่วงใย
สำหรับครูอ้อมการปิดเทอมเป็นระยะเวลา 3 เดือนมันนานเกินไปสำหรับเด็กๆ
“ไอเดียรถพุ่มพวงเกิดจากธรรมชาติของเด็ก เขาไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ แต่อยากทำอะไรก็ได้ที่สนุกสนาน อยากเจอเพื่อนๆ เจอครู เพราะเวลาเขาอยู่บ้านก็เล่นมือถือ หรือบางครอบครัว เด็กๆ ต้องดูแลกันเองแบบพี่น้องเพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน พ่อแม่บางคนเป็นห่วงลูกมาก อยู่บ้านไม่มีใครดูแลลูก ก็ต้องหิ้วลูกไปทำงานด้วย เอาไปขายน้ำปั่นขายกาแฟตามซุ้มเล็กๆ ริมทาง”
หลังจากได้ไอเดีย เหล่าครูโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู จึงช่วยกันลงพื้นที่ไปดูแลเด็กทั้ง 5 ชุมชน คือ 1. คุ้มหนองคู 2. ชุมชนศรีจันทร์ 3. บ้านหัวถนน 4. บ้านเต่านอ 5. บ้านหนองหิน เพื่อเข้าไปทำกิจกรรมง่ายๆ โดยเริ่มจากการพูดคุยกับคนในชุมชน
“เราพบว่าผู้ปกครองหลายๆ คนก็ทำกินในพื้นที่เดิมไม่ได้ เราจึงเข้าไปดูแลใจกันก่อน ไม่เอาความเครียดไปเพิ่ม แล้วจึงชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมง่ายๆ ให้เขาผ่อนคลาย นำเด็กกลับมารู้เนื้อรู้ตัว เช่น กิจกรรมจิตศึกษา อยู่กับตัวเอง จดจ่ออยู่กับตัวเอง ผ่านงานศิลปะ ผ่านบทเพลงดีๆ ผ่านกิจกรรมการบริหารสมอง (Brain Gym) หรือการถามไถ่ ด้วยความรักความห่วงใยเป็นต้น
“จากนั้นจึงนำเรื่องทักษะชีวิตและความสนใจของเด็กรายบุคคลมาออกแบบกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้วพาทำกระบวนการเป็นรายบุคคล ตามความสนใจของเด็ก เช่น ถ้าเขาสนใจเรื่องงานปั้นก็็ให้ปั้นดินแล้วเล่าเรื่อง สนใจภาษาไทยผ่านสื่อก็็สนับสนุนให้ทบทวนบทเรียนไปเลย สนใจต้นไม้ก็เรียนเรื่องต้นไม้ พาเด็กๆ ไปปลูกผักตามวิถีชีวิต หรือผ่านการเล่นเกม ขึ้นอยู่กับครูจะเห็นเด็กว่าจะไปแนวทางใด ครูก็จะออกแบบตามลักษณะเฉพาะไป
“โดยใช้สถานที่คือ ศาลาวัด ลานวัด หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะมีบริเวณกว้างและรักษาระยะห่างได้ดีมากๆ บางชุมชนเรียนที่ศาลาชุมชนหรือใต้ต้นไม้ บรรยากาศการเรียนแบบนี้ทำให้เราคิดถึงตอนเป็นครูใหม่ๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วเลย”
ครูหยก-ธีรดา อุดมทรัพย์
โรงเรียนนาขนวน จังหวัดศรีสะเกษ
ถ้ามัวรอแต่คำสั่งหรือรอให้คนอื่นทำ มันไม่เกิดอะไรขึ้นเสียที แต่เมื่อไหร่ที่อยากให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เราเริ่มจากตัวเองก่อนเลยแล้วกัน ถ้าไม่เริ่มเลย มันคือพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรงอก
หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาด ครูหยกได้ทำการสำรวจเด็กๆ ในพื้นที่บริเวณโรงเรียนนาขนวน พบว่า ส่วนใหญ่เด็กๆ จะอยู่กับตายาย เพราะพ่อแม่บางครอบครัวต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อสำรวจความพร้อมของเด็กแล้ว ครูหยกแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มตามความพร้อมและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของเด็กมากที่สุด โดยครูหยกแบ่งความพร้อมของเด็กๆ ออกเป็น 3 รูปแบบ
หนึ่ง Learning Kids เป็นเหมือนกล่องการเรียนรู้ ซึ่งหมวดนี้จะต้องมีผู้ปกครองมาร่วมด้วย
“ตัวอย่างกล่องการเรียนรู้เซ็ตแรกที่เราเอาไปแจกตามบ้านเป็นชุดปลูกผัก ให้เด็กเอาไปปลูกและบันทึกการเจริญเติบโต โดยที่ผักแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกัน เพื่อที่จะเอามาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของผักแต่ละชนิด เพราะท้ายที่สุดแล้วเมื่อผักโต เราก็จะชวนเด็กมาถอดบทเรียนกันว่า ผักชนิดไหน เติบโตเร็วในอากาศแบบไหน ดินแบบไหน
“ส่วนเซ็ตที่สองคือเซ็ตประดิษฐ์หรือชวนทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับกลุ่มเด็กที่ถนัดและมีความสนใจด้านนี้ โดยขณะนี้เราได้ขอแรงคุณครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมาช่วยกันดีไซน์หน้าตาของกล่องการเรียนรู้นี้อยู่”
สอง กลุ่มเด็กที่เรียนเองไม่ได้ ครูต้องคอยดูแลและสอนเอง
“ไม่นานมานี้เราก็ขับรถไปรับเด็กมา 4 คน เพื่อนำมาทำกระบวนการศิลปะภายในและพาทำขนม ซึ่งใช้มาตรการเว้นระยะห่าง โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นกลุ่มเล็กๆ”
สาม Area Based Learning เด็กที่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย แต่ผู้ปกครองไม่มีเวลา เช่น ครอบครัวที่บ้านเปิดอู่ซ่อมรถ จึงใช้วิธีเอากระบวนการเรียนรู้ไปเชื่อมโยงกับอาชีพของผู้ปกครอง
“เช่น ครอบครัวพ่อเป็นช่างซ่อมรถ ลูกชายเขาอยู่ ป.3 พ่อปะยางมอเตอร์ไซค์ทุกวัน เราก็ออกแบบกระบวนการโดยให้เด็กเขาบันทึกว่า วันนี้เห็นคุณพ่อทำอะไรบ้าง เขียนเล่าเชิงไดอารี เอาคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าไปเชื่อมโยง หรือดูว่าเด็กเขาสนใจอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเขาสนใจการปะยางรถ เราโยนคำถามไปว่าถ้าไม่ใช้กาวสำเร็จรูปสาสามารถใช้อะไรแทนได้บ้าง ชวนตั้งคำถามเพื่อต่อยอดให้เขาคิดออกมาเป็นโปรเจ็คต์หรือโครงการ ให้การบ้านเขาไปทดลองทำดู แล้วก็ตามไปเก็บข้อมูล”
ทั้งหมดทั้งมวลครูหยกบอกว่า ไอเดียการทำรถพุ่มพวงเพียงแค่ต้องการลดภาระของผู้ปกครอง
หลังจากนโยบายการเรียนออนไลน์ออกมา กลุ่มแรกที่ครูหยกนึกถึงคือ เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี พวกเขาจะทำอย่างไร?
“กระแสที่บอกให้ผู้ปกครองช่วยดูแลสิ มันกลายเป็นว่ายกโรงเรียนไปที่บ้าน ผู้ปกครองบางคน เขาตกงานเลยนะ เขามีความเครียด เงินก็ไม่มี งานก็ไม่มี บางบ้านที่ต้องออกไปหาเงินเลี้ยงปากท้อง เรามองไปถึงตรงนั้น และกลัวว่าเขาจะเอาความเครียดมาลงที่เด็ก เราอาจไม่ได้มองไปถึงมุมการศึกษาเสียเท่าไหร่ แต่มองไปในแง่ของชีวิตในช่วงวิกฤติว่าเขาจะอยู่อย่างไร
“ตอนนั้นเราคิดว่า ถ้ามัวรอแต่คำสั่งหรือรอให้คนอื่นทำ มันไม่เกิดอะไรขึ้นเสียที แต่เมื่อไหร่ที่อยากให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เราเริ่มจากตัวเองก่อนเลยแล้วกัน ถ้าไม่เริ่มเลย มันคือพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรงอก” ครูหยกทิ้งท้าย
ครูสายลม-พลวัฒน์ ล้วนศรี
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จังหวัดเชียงใหม่
เราเริ่มออกแบบจากสิ่งที่เด็กเขามีอยู่แล้ว คือ ฐานเรื่องการเกษตร เอามาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้และศักยภาพของผู้ปกครองที่มีทักษะชีวิตสูงมาก เพื่อสร้างการเรียนรู้โดยมีครูเป็นคนคอยอำนวยความสะดวก
เรื่องเรียนออนไลน์หรือเรียนทางทีวี สำหรับครูสายลมตัดทิ้งได้เลย – ไม่มี
“เพราะบริบทชีวิตของเด็กๆ โรงเรียนไร่ส้ม คือเด็กที่มาจากครอบครัวแรงงานชาติพันธุ์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พ่อแม่ต้องออกไปทำงานในไร่ เด็กมาโรงเรียน ถ้าไม่ได้มาเรียนก็ออกไปทำงานในไร่กับพ่อแม่ พอปิดเทอมเด็กโตก็อยู่บ้าน หรือออกไปทำงาน หรือถ้าเด็กเล็กมากๆ ผู้ปกครองต้องกระเตงไปทำงานด้วย”
ด้วยภาพแบบนี้ ครูสายลมจึงเริ่มออกแบบวิธีการเรียนรู้จากสิ่งที่เด็กเขามีอยู่แล้ว นั่นคือ ฐานเรื่องการเกษตร
โจทย์ของครูสายลมคือจะใช้ทรัพยากรที่มีอย่างไรให้เกิดคุณค่า จะให้ผู้ปกครองสอนหนังสือลูกหรือสอนภาษาไทยลูกที่บ้านก็เป็นไปไม่ได้ เขามีเพียงทักษะชีวิตและการทำงานเพื่อจุนเจือครอบครัวเท่านั้น ครูสายลมจึงได้ไอเดียรถพุ่มพวง โดยเริ่มออกแบบจากสิ่งที่เด็กเขามีฐานเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว เอามาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้และศักยภาพของผู้ปกครองที่มีทักษะชีวิตสูงมาก เพื่อสร้างการเรียนรู้โดยมีครูเป็นคนคอยอำนวยความสะดวก
“ซึ่งเราเชื่อมาเสมอว่าพ่อแม่คือครูที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ซึ่งดีกว่าเราแน่นอน แต่เราจะทำยังไงที่จะดึงศักยภาพของผู้ปกครองออกมาให้ได้เยอะที่สุด เราจึงเคาะกันที่เรื่องงานเกษตร เพราะอย่างน้อยที่สุด เด็กเขาทำกันทุกวันอยู่แล้ว
“เรื่องของเกษตรเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แม้อนาคตผู้ปกครองจะไม่มีงานเพราะอยู่ในช่วงวิกฤติ เขาอาจจะไม่มีเงิน แต่เขาก็ยังมีผักกิน เราไปลงพื้นที่มา เจอเด็กที่ต้องกินเฉพาะแกงผักกาดมา 3 เดือนแล้ว ไม่ได้สัมผัสเนื้อสัตว์มา 3 เดือนแล้วก็มี
“เด็กเขามีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ก็เอามาจับกับการเกษตร การสำรวจดิน พ่อแม่มีแรงก็ให้ช่วยขึ้นแปลงผัก ปลูกช่วยกัน เด็กเขาก็จะใช้การติดตาม สังเกต บันทึกว่า วันนี้ผักขึ้นกี่เซนฯ ผักต้องการน้ำน้อยหรือมาก ตำแหน่งในการวางแปลงและทิศทางแดด เราก็จะจัดหาอุปกรณ์ไปให้ ไม้บรรทัด ในงานบันทึกผล โดยปลายทางคือความมั่นคงทางอาหารของเขานะ โดยระหว่างนั้นก็เกิดการเรียนรู้ไปด้วย” ครูสายลมทิ้งท้าย
ครูตู้-สราวุฒิ พลตื้อ
โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย จังหวัดกาฬสินธ์ุ
เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็โตมากับเขื่อน วิถีชีวิตคือการทำประมงพื้นบ้าน ถึงจะเรียนไม่เก่ง แต่เขาสามารถเอาตัวรอดได้ เขาเรียนรู้ผ่านกระบวนการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมรถพุ่มพวงจึงออกแบบโดยใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาเข้ามาทำงาน
“ชุมชนละแวกโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย อยู่ริมเขื่อนลำปาว เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงโตมากับเขื่อน วิถีชีวิตคือการทำประมงพื้นบ้าน ถึงจะเรียนไม่เก่ง แต่เขาสามารถเอาตัวรอดได้”
ครูตู้บอกว่าตามปกติเด็กๆ ในชุมชนมักเรียนรู้ผ่านกระบวนการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมรถพุ่มพวงจึงออกแบบโดยใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษามาประกอบด้วย ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างเป็นเรื่องที่เด็กรับรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เกิดเป็นกระบวนการการแก้ปัญหา ครูตู้จึงใช้กิจกรรมการปั่นจักรยานเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเชื่อมการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ 1 คือ Nature Mandala หาวัสดุริมเขื่อนมาสื่อสาร เชื่อมโยงตัวเด็กเข้ากับวัสดุธรรมชาติ แล้วพาไปถ่ายภาพ ให้เลือกมุมหรือฉากที่ประทับใจ เชื่อมตัวเด็กให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
กิจกรรมที่ 2 พาเด็กปั่นจักรยานสำรวจภูมินิเวศของชุมชนว่าเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรบ้างจากสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน และตามมาด้วยประเด็นที่เด็กสนใจ จะได้ประเด็นที่แตกต่างหลากหลายมาก และท้ายที่สุด เด็กๆ จะได้เป็นเจ้าของประเด็นการเรียนรู้เอง
กิจกรรมที่ 3 การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เมื่อเด็กได้ประเด็นแล้ว ก็ชวนคิดชวนคุยต่อว่าอยากสื่อสารในรูปแบบไหน เช่น เล่าเรื่อง ถ่ายภาพ ทำคลิป เขียนบทกวี แต่งเพลง แล้วแต่ความชอบของเด็ก
“แต่เขาจะได้สื่อสารในประเด็นจากที่ไปปั่นจักรยานกัน เขาอาจจะสนใจเรื่อง ตาข่ายดักปลา เครื่องมือจับปลา ขยะในชุมชน เหล่านี้มันจะมาเอง เป็นทักษะหาอยู่หากิน”