พลเรียน x inskru: การรวมตัวเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่

เมื่อครูในระบบการศึกษาจับมือกับคนทำงานเพื่อการศึกษานอกระบบ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ เติมพลัง เสริมไฟ ทั้งในพื้นที่ Offline และบนพื้นที่ Online พลังคนรุ่นใหม่ของพวกเขาจะทำให้คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันจะมีส่วนในการพัฒนาสังคมได้อย่างไรบ้าง”

เรามาตามติดเรื่องราวการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนมาถึงการทำงานร่วมกันและเป้าหมายต่อไปของ นะโม – ชลิพา ดุลยากร เจ้าของเพจ Inskru และ พล – อรรถพล ประภาสโนบล ผู้ก่อตั้งกลุ่มการเรียนรู้ พลเรียน

ทำไมสนใจมาทำงานการศึกษาเป็นครูในระบบ

พล: เราหมดหวังกับประเทศ เพราะที่ผ่านมาการศึกษาสร้างคนแบบหนึ่ง สร้างชุดความรู้อย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่ได้มีจินตนาการเห็นความเป็นไปได้ของสังคมที่มากกว่านี้ เราเลยอยากเป็นครู เข้ามาสอนหนังสือ เพื่อทำให้สังคมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงว่า “การศึกษาสามารถสร้างคนแบบใหม่ขึ้นมาได้”

เราอยากสร้างคนที่มีวิธีคิดใหม่ มีความเป็น Active Citizen กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสังคม กล้าลุกมาลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม ผมว่า 2 อันนี้เป็นประเด็นพื้นฐานในการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ นอกจากนั้นเขาควรมองเห็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม และเข้าใจคุณค่าเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

กระบวนการสอนแบบไหนที่พลนำมาใช้ในการสร้าง Active Citizen

พล: อย่างแรกคือใช้กระบวนการสอนเชิงวิพากษ์ พาเด็กมาสร้างบทสนทนา (Dialogue) เพื่อสร้างการโต้เถียงความคิดระหว่างกัน อย่างที่สองคือการตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม ให้เขาได้มองเห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งการตั้งคำถามและการพูดคุยกัน จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ

ผมค้นพบว่าในสังคมมีความขัดแย้งสูงมาก ผู้คนจึงเลือกที่จะไม่พูดคุยกัน วางความขัดแย้งไว้ตรงนั้น วางตัวเฉย แล้วให้ผู้มีอำนาจมาจัดการโดยตนเองอยู่เฉย ๆ แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้ควรนำมาสู่การถกเถียงหรือพูดคุยมากกว่า ยิ่งมีการพูดคุยกันมากขึ้นจะนำมาสู่คำตอบหรือความคิดใหม่ ๆ มีทางเลือกหรือข้อเสนอใหม่ ๆ เกิดขึ้นในสังคม ทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น

เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันในห้องเรียนสิ่งแรกที่ผมทำคือการสร้าง พื้นที่ของการพูดคุย เป็นพื้นที่ของความปลอดภัย ที่ไม่มีการด่วนตัดสินหรือสรุป เราทำบรรยากาศของห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน ครูกับนักเรียนพูดคุยกันได้ เพื่อนกับเพื่อนพูดคุยกันได้ ถกเถียงกันได้ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมมากขึ้น ยิ่งเขามีส่วนร่วม เขาก็จะรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายมากขึ้น เขาจะกล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน นักเรียนในห้องพูดเสมอว่า การที่ครูให้เขาได้คุยกันเอง หรือการที่เขาได้คุยแลกเปลี่ยนกับครู ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เช่น เขาเคยมองประเทศนี้สวยงามมาก แต่พอเขาได้คุยกับเพื่อนก็ทำให้เขาพบว่ามันมีอีกด้านที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ทำไมด้านเหล่านี้ไม่ปรากฏในบทเรียน ทำไมไม่ถูกพูดคุยในสังคม

การเริ่มต้นทำงานโดยเป็นครูในระบบยากหรือไม่

พล: การทำงานในห้องเรียนของโรงเรียนรัฐไม่ได้ยากเพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครมาดู เป็นพื้นที่ให้เราออกแบบห้องเรียนของเราได้เต็มที่ แต่ในส่วนของการเผชิญหน้ากับคนที่มีวิธีคิดแบบเก่ายากพอสมควร เพราะเขาอยู่กับวิธีคิด สังคม ความรู้สึกแบบนั้นมานาน เราจึงเลือกทำงานกับคนที่มีหน่ออ่อนของความคิดคล้ายเราที่อยู่ในโรงเรียน

แล้ว ‘พลเรียน’ เกิดขึ้นตอนไหน

พล: มันเริ่มจากการที่เราค่อย ๆ ชวนเพื่อนครูที่คิดเหมือนกันในโรงเรียน มาทำอะไรบางอย่างในโรงเรียนร่วมกัน แล้วเอางานที่ทำไปโพสต์เฟซบุ๊คเพื่อปล่อยของแลกเปลี่ยนและกัน แชร์งานต่อไปเรื่อย ๆ มันเป็นการ Empower ให้กัน พอเขาเริ่มรู้สึกว่าฉันก็ทำได้ เขาก็ไปดึงครูคนอื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ ทำให้วงของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนั้นเรายังมีการแลกเปลี่ยนกับคนกลุ่มใหม่นอกโรงเรียน ยิ่งเจอคนที่คิดเห็นเหมือนกันมากขึ้น เรายิ่งสามารถเชื่อมความสัมพันธ์และหล่อเลี้ยงพลังให้แก่กันได้มากขึ้น ให้ความรู้สึกของการเป็นเพื่อนเป็นกลุ่มก้อนที่มีความฝันเดียวกัน มีพลังที่จะทำงานต่อไปได้ และเห็นถึงความหวังว่าพวกเราก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับ Inskru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ Inskru เขาจัด workshop อยู่ในกรุงเทพ แต่เรามองว่ากิจกรรมนี้น่าจะสามารถขยายออกไปต่อได้ ก็เลยจับมือกับ Inskru ไปทำงานในพื้นที่อื่น กระจายไปตามภูมิต่าง ๆ ให้ครูแต่ละพื้นที่ได้มารู้จักกันเชื่อมต่อเครือข่ายกัน เราไม่จำเป็นต้องไปเชิญคนดัง ๆ มา เพราะครูแต่ละคนเขาก็มีของอยู่แล้ว สามารถนำเอาไอเดียตรงนั้นมาสอนเพื่อนครูกันเอง เกิดเป็นพื้นที่ให้ครูได้มาคุยและแลกเปลี่ยนของกัน

ทำไมนะโมสร้างเพจ Inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ขึ้นมา

นะโม: เรามีความคิดว่าอยากทำอะไรสักอย่างกับการศึกษาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ตอนนั้นจึงเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นให้เราออกแบบอะไรก็ได้ให้กับชีวิตตัวเอง จึงคิดว่าเราน่าจะสามารถออกแบบสร้างสรรค์อะไรใหม่ให้กับการศึกษาได้ ประกอบกับเราชอบการเป็นครูอาสาสอนหนังสือ คาบเรียนที่เราอยากเห็นคือคาบเรียนที่เด็กได้สร้างความเป็นไปได้ในตัวเอง เป็นคาบเรียนที่อิสระ กล้าคิด กล้าจินตนาการ ไม่มีถูกหรือผิด เราอยากสร้างห้องเรียนแบบนั้น แต่การมานั่งออกแบบห้องเรียนแบบนั้นคนเดียวมันยากมาก

พอเริ่มค้นหาทำให้เราได้ไปเห็นคาบเรียนเจ๋ง ๆ ของต่างประเทศ คาบเรียนของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ต่อยอดออกแบบคาบเรียนดี ๆ ได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีพื้นที่รวบรวมไอเดียตรงนี้  ทั้ง ๆ ที่ครูไทยก็มีไอเดียการสอนแบบเจ๋ง ๆ เหมาะกับพื้นที่อยู่มากเหมือนกัน ตอนทำ Thesis จบ ก็เลยเลือกที่จะทำเพจ Inskru ขึ้นมา

เราตั้งใจให้เพจนี้ทำหน้าที่ empower ครู เป็นเพจที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นพื้นที่ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอน สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน และรวบรวมไอเดียทั้งหมดไว้ด้วยกันในพื้นที่จัดเก็บที่ค้นหาง่าย แยกเป็นรายวิชา ระดับชั้น ตั้งใจให้เป็นคลังอาวุธสำหรับครูที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้ครูได้เห็นว่ามีอาวุธอะไรให้นำไปใช้ได้บ้าง เรารู้สึกว่าทุกคนอยากเปลี่ยนแต่บางทีอาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

แล้วนะโมหาไอเดียการทำงานมาจากไหนบ้าง

นะโม: ไอเดียการทำงานมีทั้งจากตัวเราและครูท่านอื่น ๆ เช่น เราอยากรู้เทคนิคในการทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น เราก็จะไปโพสต์ในกลุ่มครูปล่อยของเพื่อนพลเรียน ก็จะมีครูเข้ามาตอบ เราก็เอาคำตอบนั้นมาย่อยเป็นประเด็น นำมาทำภาพประกอบให้เข้าใจง่ายแล้วโพสต์เข้าไปในเพจ กระจายไอเดียจากกลุ่มครูเล็ก ๆ ไปสู่ครูท่านอื่น ๆ  รู้สึกเหมือนตัวเองเป็น Curator (ภัณฑารักษ์) ที่ทำให้ทุกอย่างเข้าใจง่าย ย่อยง่าย แล้วนำเสนอ

สิ่งที่ทั้งสองคนทำร่วมกันคือการสร้างพื้นที่ Comfort Zone ใหม่ขึ้นมา เพื่อครูหรือใครก็ตามที่กำลังมองหาพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนได้เห็นเป็นไปได้ใหม่ๆ?

พล: ใช่ครับ ผมว่าครูหลายคนอยู่กับความรู้สึกเดิมมานาน อยู่กับความรู้สึก ‘เป็นไปไม่ได้’ แต่พอมีตัวอย่างของการคิดต่างแล้วทำให้เกิดเป็นรูปธรรมจริงได้ มันทำให้เขารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเขาก็ทำได้ ไอเดียแบบใน Inskru หรือแบบครูปล่อยของ มักถูกมองว่าต้องเป็นโรงเรียนทางเลือกเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ แต่พอเราเริ่มปล่อยของแชร์ไอเดียกันมาเรื่อย ๆ เริ่มมีกลุ่มครูหน้าใหม่ ๆ มาแวะเวียน มาช่วยแชร์ หรือบางทีใครไปสอนอะไรมาเขาก็โพสต์ขึ้น FB ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานขึ้น เพราะพอมันเกิดขึ้นจริงได้ เขาจึงเชื่อมั่น กล้าที่จะลองทำ และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์

นะโม: เมื่อก่อนห้องเรียนมันปิด ครูไม่ค่อยคุยกัน รู้สึกกลัวที่จะคุยว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร กลัวที่จะถูกตัดสินว่าห้องเรียนของตัวเองดีหรือไม่ดี แต่การเปิดห้องเรียนลง FB มันเป็นการออกจาก comfort zone ของครู

พล: เป็นความรู้สึกแบบใหม่ว่าเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ทำ ไปสอนอะไรมาก็เล่า พอครูเริ่มเห็นกันก็รู้สึกว่าอยากเล่าบ้าง

ปกติรูปแบบการสอนมักถูกกำหนดด้วยนโยบาย แต่สิ่งที่ทั้ง 2 คนทำ คือไม่ยึดติดกับทฤษฎีเหล่านั้น แต่เอาประสบการณ์จริงมานำเสนอ แลกเปลี่ยน และพัฒนาไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ครูกำลังต้องการกระบวนการที่ใช้ได้จริง ทำได้จริง แต่ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ใช่หรือไม่

พล: ใช่ ในระบบการศึกษาที่ผมสัมผัส ครูจะรู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าเขาถูกสั่ง และการจะไปท้าทายกับระบบถือเป็นเรื่องที่ห่างไกลมาก แต่พอมาเจอกันเชื่อมต่อกัน ทำให้เขาสามารถเปลี่ยนมุมมองต่อการสอนไปได้อีกเรื่อย ๆ สมมตินะโมสอน ไม่ใช่แค่ห้องเรียนของนะโมเปลี่ยน แต่คนอื่นสามารถนำไอเดียจากห้องนะโมไปใช้ต่อได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นพลังที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการสอนสามารถเปลี่ยนได้ ผมรู้สึกว่าพลังนี้ทำให้คนรู้สึกว่าการเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาสามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่ผมก็คิดว่าอย่างไรก็ยังคงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับใหญ่

เมื่อเรามีครูที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมกันเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายบางอย่างร่วมกันจนเข้มแข็งแล้ว ก้าวต่อไปของเราคือการขับเคลื่อน (Movement) ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อให้โครงสร้างนั้นเอื้อต่อการทำงานของเรา ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราทำงานไปเพื่อเยียวยากันเองเท่านั้น และจะเป็นการเยียวยากันไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเรารวมกันเป็นกลุ่มก้อนแข็งแกร่งพอที่จะไปกระทุ้งโครงสร้างได้ เราจะสามารถเปลี่ยนให้ระบบกลับมารับใช้เราหรือเอื้อต่อการทำงานแบบใหม่ได้

คำว่าแข็งแกร่งพอที่จะไปสู้กับอำนาจใหญ่ได้คืออะไร

พล: อย่างแรกคือถ้ามองในแง่ของกลุ่มก้อนคือความรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ให้ความเชื่อมั่นและพลังแก่กัน อย่างที่สองคือการมีงานวิชาการรองรับ เราไม่สามารถใช้เพียงประสบการณ์ไปยืนยันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ เพราะฉะนั้นประสบการณ์จะต้องถูกแปลงไปเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สามารถใช้ยืนยันได้ อย่างที่สามคือช่วยกันพัฒนาตนเองและเครือข่ายให้สามารถเคลื่อนที่ไปได้ ตรงนี้น่าจะสามารถทำให้ทีมแข็งแกร่งได้ สุดท้ายคือการมีเป้าหมายร่วมกัน ถ้าเราไม่มีเป้าร่วมกันเราจะสู้กันแบบกระจาย ๆ แล้วมาเยียวยากันเอง แต่ถ้าต่างคนต่างมาแต่มีเป้าบางอย่างร่วมกัน มีความรู้สึกร่วมกัน มันก็จะเคลื่อนไปด้วยเป้านี้ได้

 

Workshop ‘ครูปล่อยของ เมื่อการสอนเป็นไปได้’ ที่พลเรียนจับมือกับ Inskru ในการทำทุกภูมิภาคทั่วประเทศมีรูปแบบอย่างไร

นะโม: ใน Workshop เราพบว่าเมื่อครูมารวมตัวกันเขามีพลังมาก ๆ ได้ชาร์จแบตให้ตนเองเป็นคนใหม่ จากที่อยู่โรงเรียนแบบเฉา ๆ ดังนั้นเราจึงตั้งโจทย์ว่าอยากให้ครูสามารถนำไอเดียไปต่อยอดเป็นไอเดียใหม่หรือใช้งานได้มากขึ้น โดยนำเอาหลักของคนทำงานสายออกแบบ Creative thinking มาใช้พัฒนาไอเดียในการสอน ผนวกเข้ากับเรื่องที่ครูอยากรู้ เช่น Visual thinking, Design thinking พอมาในช่วงหลังเราจึงขยับมาให้ครูได้ลองปล่อยของกันเอง เพราะเราพบว่าครูบางคนไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเองหรือหรือรู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีคุณค่า ซึ่งเมื่อเขาได้ปล่อยของที่เขาได้คิดและได้เคยทดสอบมา เขาจะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ว่าสิ่งเขาทำสามารถจุดประกายให้กับผู้อื่นต่อได้ กิจกรรมของเรามีการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาเรื่อย ๆ

มีการติดตามเพื่อนครูที่นำความรู้จาก Workshop ไปใช้ในห้องเรียนหรือไม่

นะโม: เรามีกรุ๊ปไลน์ให้เขาได้แชร์ประสบการณ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางคนก็ไปเขียนลง FB กลุ่มครูปล่อยของ เราก็เอามาแชร์ลง Inskru พวกเราทำงานทั้งออนไลน์และออฟไลน์  เพราะการทำงานออนไลน์อย่างเดียวไม่มีทางที่จะสัมผัสถึงความใกล้ชิดกันได้ เราเลยต้องมีพื้นที่ออฟไลน์ด้วย เพื่อเชื่อมให้แต่ละคนได้ใกล้กันขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งสองคนมีแผนการทำงานในอนาคตอย่างไร

พล : ตอนนี้มันเกิดการเชื่อมต่อกันแล้ว แต่เราไม่อยากให้เป็นแค่การแลกเปลี่ยน เราอยากจะยกระดับจาก Event ไปเป็น Movement เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ผมมีภาพฝันว่าท้ายสุดแล้วจะเกิดการรวมตัวกันของครูที่มี Movement ทางการเมือง มีข้อเสนอต่อภาครัฐ หรือกระทรวงศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางในการด้านการศึกษาร่วมกัน ผมคิดว่าหลาย ๆ ประเทศครูสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้ แต่ประเทศเราเป็นแบบถูกสั่งลงมา เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ก็จะสามารถสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่เอื้อต่อการทำงานได้ ผมอยากลองสักตั้ง เราไม่ได้มองว่ากระทรวงหรือรัฐเป็นศัตรู แต่เราอยากให้คนที่ทำงานนี้กลับมาเห็นเด็ก กลับมาเห็นครู มาอยู่เคียงข้างกัน

นะโม: เรื่องนโยบายมันมีข้อเสนอมากมาย ถ้าเราคิดแบบลงรายละเอียดโดยใช้ความต้องการของคุณครูจริง ๆ อาจจะเกิดสิ่งใหม่ที่คิดไม่ถึงก็ได้ เพราะการที่คนภายในคิดค้นและจัดการปัญหาด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก มีเคสหนึ่งครูลองคิดและทำแบบประเมินตนเองแบบหน้าเดียวขึ้นมาแทนแบบเดิมที่มีหลายหน้า เขาไม่รู้หรอกว่า ผอ. จะเซ็นหรือไม่ แต่เขาก็ลองทำขึ้นมา สุดท้าย ผอ. ก็เซ็น ทำให้พบว่าจริง ๆ แล้วสามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้มีใครกล้าคิดกล้าทำ เราจึงมุ่งเสริมพลังในเรื่องของการกล้าคิดทำ เพื่อเสริมพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย

พล : ผมว่าเราไม่กล้าทำอะไรให้สุด ที่ผ่านมาเกิดปัญหาจึงทำได้แค่ก่นด่า แต่ไม่กล้าเสนอทางออกของปัญหา หรือหากเสนอทางออกแบบผิว ๆ เพราะฉะนั้นหากเรายังอยู่บนมุมมองวิธีการคิดแบบเดิม ๆ เรื่องนี้จะไม่ต่างอะไรจากห้องเรียนที่ผ่านมา หากเราเรียกร้องให้ครูเปลี่ยนแปลงการสอน แต่ครูเขาไม่เคยเห็นแนวทางอื่นที่จะปรับเปลี่ยนได้ เขาก็จะคิดภายใต้กรอบเดิม แต่หากเราช่วยกันเสริมเติมจินตนาการใหม่ และเติมความกล้าที่จะทำงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ถึงตอนนั้นเราจะมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น และสังคมก็จะยอมเปลี่ยนแปลง

อะไรคือข้อดีของการจับมือทำงานร่วมกันของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาอย่างพล และคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาอย่างนะโม

นะโม: เราไม่ได้อยู่สายนี้มาก่อน การได้มาทำงานกับพลทำให้เหมือนเราได้เรียนครุศาสตร์ในฉบับนอกระบบ เหมือนเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา ได้มุมมองเชิงลึก (Insight) ของครู เรามั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้เลื่อนลอย การที่เราสามารถเอาความถนัดของเราจากที่เราเรียนสถาปัตย์มาช่วยเติมเต็มตรงนี้ก็เป็นอะไรที่ใหม่ดี

พล: เราอยู่ในระบบเรา มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่พอเราได้ทำงานกับคนนอกระบบ เขาจะมีมุมมองวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มีทางเลือกมากขึ้น

 

จากการได้ทำงานร่วมกันรู้สึกอย่างไร

พล: มีความสุขมากครับ (ยิ้ม) มันไม่โดดเดี่ยว ที่จริงผมก็มีทีมของผมกระจายไปที่ต่าง ๆ แต่พอได้มาเจอนะโม ทำให้เราได้มีเพื่อนร่วมเดินทางเป็นคู่หูในการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีอะไรบางอย่างที่คิดเหมือนกัน มีความฝันบางอย่างที่คล้าย ๆ กัน

นะโม: นะโมเริ่มทำงานกับพลตั้งแต่ตอนทำThesis แต่พอทำเสร็จมันก็ถึงจุดที่เราโดนทอดทิ้งจากทีมทำ Thesis (หัวเราะ) เพราะพอเรียนจบ เพื่อน ๆ ก็แยกย้ายกันไป แต่การได้ทำงานกับพลทำให้เรายิ่งสนุก เหมือนเวลาเราฟุ้ง เราฝันอะไร ก็มีคนมาร่วมคิดไปกับเรา คิดคนเดียวทำไม่ได้หรอก บางทีพลก็โยนมาลอย ๆ นะโมโยนไปลอย ๆ แล้วมันก็เกิด เป็นอะไรที่สนุกจริง ถ้ามันไม่มีกันและกันแบบนี้อาจเฉาไปแล้วก็ได้นะ เราต่างมีจุดที่เคยเฉา แต่เราผ่านมาได้เพราะเรามีคนที่ช่วยสนับสนุนกันและกัน

สำหรับทั้งสองคน มีอะไรที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้บ้าง

พล: ผมช่วยเหลือข้อมูลทางด้านวิชาการได้ เพราะเราก็ตามงานทางด้านศึกษาศาสตร์อยู่ ก็จะเห็นทิศทางและวิธีคิด นอกจากนั้นตัวพลเรียนทำด้านการวิพากษ์การศึกษาก็จะมีชุดข้อมูลและองค์ความรู้บางอย่างอยู่มาก อย่างที่สองเรามีเครือข่ายครูจากหลากหลายภูมิภาค เพราะฉะนั้นหากอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดไหนเราก็พอช่วยหาได้ อย่างที่สามเราช่วยคิดสร้างสรรค์ห้องเรียนแบบใหม่ได้ เพราะเรามีเครือข่ายสามารถระดมสมองช่วยกันคิดได้

นะโม: เราสามารถช่วยทำให้สิ่งที่เข้าใจยากเข้าใจง่ายขึ้นได้ เราสามารถช่วยสื่อสารสิ่งที่ต้องการกระจายไปให้ครูรับรู้ได้

แล้วมีอะไรที่พวกเราต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น

นะโม: อยากให้มีคนมาช่วยมองในเรื่องของความยั่งยืนของงานที่ทำ ช่วยมองหาจุดที่คุ้มทั้ง Impact ของงานที่ทำ และเงินที่ได้กลับมา เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เราทำตอนนี้จะเน้นไปที่ Impact ที่จะเกิดขึ้น แต่เรายังไม่เจอจุดตรงกลาง ถ้ามีคนที่สามารถมองเห็นว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถสร้าง Impact ในสิ่งที่เราอยากทำและมีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงด้วยได้จะดี อีกเรื่องคือเรื่องวิจัย งานที่เราทำไปทั้งหมดยังไม่มีคนมาช่วยถอดบทเรียน หรือนำไปวิเคราะห์เป็นสื่อที่จะสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้

พล: สิ่งอำนวยความสะดวก เวลาออกไปจัด Workshop ตามภูมิภาคต่าง ๆ อย่างพวกสถานที่จัดงาน เราอยากทำงานกับคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถ้ามีใครช่วยตรงนี้ได้ การไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะง่ายขึ้น

 

มีหลายคนที่มองเห็นปัญหาการศึกษาของบ้านเรา แต่มีคนลงมาแก้ไขปัญหาจริงไม่มาก ทำไมทั้งสองคนถึงมาทำในเรื่องนี้ ในแบบที่ตัวเองพอทำได้

นะโม: เริ่มจากที่เราเชื่อว่าเราจะสามารถทำอะไรสักอย่างได้ บางคนเขาปิดไปเลย มันดูใหญ่และไกลตัวเหลือเกิน พอเขาปิดไปแล้ว เขาก็จะไม่มาแสวงหาทางว่าเขาจะสามารถทำอะไรได้ แต่นะโมเชื่อตั้งแต่แรกว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างได้ด้วยสิ่งที่เราพอทำได้ จึงยังเปิดความเป็นไปได้นี้อยู่ เรามองเห็นว่าเราไม่ได้อยู่ที่ 0 แม้มันจะยังก้าวไปไม่ไกลก็ตาม เรามีแค่เราจะก้าวไปหรือเราจะไม่ทำเลย

พล: เราถูกกระทำมา ก็เลยเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า เราจะส่งต่อสังคมแบบนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปหรือเปล่า ถ้าเราส่งต่อ แน่นอนคนรุ่นต่อไปก็จะก่นด่าซ้ำ ๆ ต่อไปว่าส่งต่อสังคมอะไรมาให้ ผมจึงต้องทำให้เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นได้ เราอาจไม่ได้ทำได้จนสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็จะเป็นอิฐก้อนหนึ่ง ซึ่งมีคนอื่นที่พยายามสร้างอิฐขึ้นมาในสังคมเช่นกัน เราจะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยก่ออิฐให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีคนช่วยกันต่อมันก็จะอยู่ตรงนั้น ผมจึงคิดว่าจุดนี้เป็นโอกาสที่ดีมาก ช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่น ถ้าเราคว้าโอกาสตรงนี้ไว้ได้ ก็จะมีโอกาสที่ทำให้สำเร็จ

เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ