ผู้นำภาคธุรกิจพบผู้นำภาคประชาสังคม : An Inspiring Meeting
Reading Time: < 1 minuteดวงตาใหม่ โลกทัศน์ที่ไม่เหมือนเดิม
ปัจจุบันนวัตกรรมถูกพูดถึงมากในฐานะเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยเรามักจะนึกถึงความทันสมัยหรือเศรษฐกิจใหม่ แต่โครงการผู้นำแห่งอนาคตเชื่อว่า แก่นแท้ของนวัตกรรม คือ การมี ดวงตาใหม่ ซึ่งหมายถึงการมีมุมมองหรือจินตนาการใหม่ต่อบริบทเดิม ซึ่งจะช่วยยกระดับแนวทางการจัดการบริบทต่าง ๆ และเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตามมา
โดยการมีดวงตาใหม่อาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงบริบทภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงการมีดวงตาใหม่ต่อตนเองและภาวะภายในของตนเองด้วย เช่น การตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมของตนเองที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนว่า เราอาจจะใช้ความกลัวในการกำหนดทิศทางชีวิตมาโดยตลอด การเห็นความงามในสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือการตระหนักถึงศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและโอบอุ้มผู้อื่นที่ตนเองมีอยู่
ซึ่งการมีดวงตาใหม่จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หรือวิธีการที่มักใช้ในการรับมือกับภาวะต่างๆ ที่เป็นมาได้
นำร่วม: Collective Leadership
ที่ผ่านมา เมื่อนึกถึงคำว่าผู้นำ ผู้คนมักจะนึกถึงวีรบุรุษ หรือ คนคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เป็นความหวังในการนำสังคมไปสู่ความเจริญ และเป็นผู้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ นับแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่ อันเป็นแนวคิดการนำแบบกระบวนทัศน์เดิม ได้แก่ การนำเดี่ยวหรือการนำแบบวีรบุรุษ (Heroic Leadership)
ซึ่งเป็นแนวคิดที่โครงการมองว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่แนวทางการนำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับปัจจุบัน ที่สังคมมีความซับซ้อนเกินกว่าปัญญาของผู้นำคนเดียวหรือผู้นำกลุ่มเล็ก ๆ จะรับมือหรือเข้าใจได้ ดังจะเห็นได้ว่า หลายครั้งการพึ่งพาการนำของผู้นำเหล่านี้แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในวงกว้าง
ด้วยเหตุนี้ โครงการจึงเชื่อว่าการนำและการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่ผู้นำแบบเดิมได้อีกต่อไป ต้องใช้การนำร่วมและปัญญาร่วมจากสังคมอย่างแท้จริง จึงถือเอาคำว่า การนำร่วมเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะการนำกระบวนทัศน์ใหม่
โดยหากมีพื้นที่ให้บรรดาผู้นำในสังคมได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความสัมพันธ์ รับฟังกันและกัน นอกเหนือจากเรื่องงาน รวมถึงมีการใช้กระบวนการทีอาจทำให้เกิดปัญญาร่วมของกลุ่มขึ้นมา น่าจะสร้างรูปแบบการนำอย่างมีส่วนร่วมแบบหนึ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้
คิดเชิงระบบ: System Thinking
หลายคนคงเคยประสบกับภาวะ เมื่อปัญหาบางอย่างได้รับการแก้ไขแล้ว ผ่านไปไม่นานปัญหาเดิมก็กลับย้อนมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากหลายครั้งการแก้ปัญหา เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่ได้จัดการกับต้นเหตุของปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่มีต้นตอมาจากอะไร ดังนั้นเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบจึงควรใช้ การคิดเชิงระบบ (System Thinking) เพื่อค้นหารากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาแล้วแก้ไขอย่างตรงจุด
การคิดเชิงระบบ (System Thinking) คือกระบวนการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยมองให้เห็นถึงระบบที่เป็นอยู่ว่ามีการทำงานอย่างไร องค์ประกอบภายในระบบมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้เกิดระบบขึ้นมีอะไรบ้าง
ดังนั้นความคิดเชิงระบบจึงไม่ใช่การมองแค่ปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึง แบบแผน โครงสร้าง และพลัง ที่ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์นั้นด้วย โดยการคิดเชิงระบบจะพิจารณาการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ 4 ระดับ
1. ระดับปรากฏการณ์ (Event) คือเห็นหรือรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ผู้คนมีความสุขน้อยลง เพราะมีเวลาสำหรับพักผ่อนและมีเวลาให้กับครอบครัวน้อย
2. ระดับแบบแผน / แนวโน้ม (Pattern) คือการเห็นถึงลักษณะร่วมบางอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น เราเห็นคนในสังคมทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีความสุขน้อยลง
3. ระดับโครงสร้าง (Structure) คือการเห็นระบบและแบบพลังต่างๆ ของระบบที่ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ เช่นในแต่ละประเทศมีตลาดเสรีมากขึ้นและเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะของการเน้นการแสวงหาผลกำไร และส่งผ่านต้นทุนการผลิตไปยังที่อื่นแทน เช่น การลดคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในสายพานการผลิต ต้องทำงานหนัก ใกล้ชิดสารเคมี แต่ได้ค่าจ้างต่ำ
4. ระดับความเชื่อ (Mental Model) คือเห็นถึงความคิดความเชื่อของคนที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการกระทำหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การเจริญเติบโตแบบเส้นตรงของภาคการผลิต นั่นคือ จากทรัพยากรธรรมชาติ ถูกส่งต่อเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยมีการออกแบบให้ใช้แล้วหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ต้องเกิดการผลิตซ้ำใหม่เรื่อย ๆ ตอบสนองความต้องการการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลกำไรให้กับนายทุน
การใช้ความคิดเชิงระบบมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ จะช่วยให้เรามองเห็นรากเหง้าของปรากฏการณ์เหล่านั้น และสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ตรงจุด ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจทำให้ปัญหาเหล่านั้นกลับมาอีกในเร็ววัน