Korkankru

กิจกรรม

โมเดลพัฒนาการหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม1 min read

Reading Time: 2 minutes โมเดลพัฒนาการทำงานรูปแบบใหม่ ในการหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม ด้วยการทำงานร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่ โดยอยู่บนฐานการปฏิบัติงานจริงทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็นปัญหา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านภาวะการนำกระบวนทัศน์ใหม่ รวมถึงการสร้างจินตนาการและค่านิยมใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ May 25, 2018 2 min

โมเดลพัฒนาการหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม1 min read

Reading Time: 2 minutes

โมเดลพัฒนาการทำงานรูปแบบใหม่ ในการหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม
ด้วยการทำงานร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่

โครงการผู้นำแห่งอนาคต ดำเนินงานภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาเป็นปีที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนบนฐานของสุขภาวะทางปัญญา โครงการจึงทำหน้าที่เสริมศักยภาพให้กับเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งเครือข่าย และภาคีของ สสส.

โดยอยู่บนฐานการปฏิบัติงานจริงทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็นปัญหา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านภาวะการนำกระบวนทัศน์ใหม่ รวมถึงการสร้างจินตนาการและค่านิยมใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

จากการทำงานที่ผ่านมา ในมิติความรู้ที่เชื่อมโยงงานวิชาการกับภาคปฏิบัติการในพื้นที่ พบว่า ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมหรือองค์กรยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเครื่องมือใหม่ ๆ และนวัตกรรมในการทำงาน เช่น วิธีการทบทวนและออกแบบกลยุทธ์เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืน การวัดผลกระทบทางสังคม การทำกิจการเพื่อสังคม และการสื่อสารความเข้าใจสู่สังคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้โครงการผู้นำแห่งอนาคตจึงได้ร่วมมือกับ School of Changemakers (SOC) ในการทดลองสร้างโมเดลการทำงานใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการทำงานและลดข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น

โดยได้นำเอาแนวคิดและวิธีการดำเนินงานของการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur : SE) และคนทำงานภาคธุรกิจ (Entrepreneurship) ที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับหน้างานของภาคประชาสังคม ผ่าน เวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้วยเครื่องมือสนับสนุนความยั่งยืนการขับเคลื่อนทางสังคม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 โดยเป็นการทดลองการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม 4 องค์กร คือ สมาคมประชาคมพังงาแห่งความสุข จ.พังงา, สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา จ.ลพบุรี, มูลนิธิบ้านครูน้ำ จ.เชียงราย และขอนแก่นนิวสปิริต จ.ขอนแก่น

โดยโครงสร้างหลักในการทำงาน คือ การสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งในการพัฒนาการทำงานให้ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะได้ออกแบบและทดลองการทำงาน โดยอาศัยองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับจากการจัดอบรมในรูปแบบกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้ง เว้นระยะครั้งละประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะ 3 ด้าน คือ

การสร้างกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสังคม (Strategy for Change Workshop)

จัดเมื่อวันที่ 10 – 12 พ.ย. 2560 : โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ตั้งแต่ Why องค์กรมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมอย่างไร ขั้นที่สอง What ทบทวนการทำงาน ตั้งเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และกลไกในการทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (Theory of change and Impact value chain) รวมถึงสกัดต้นทุนในการทำงาน (Extraction) ขององค์กร และเสาะหาลู่ทางในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ (Trends and Opportunities) และขั้นสุดท้าย คือ How การออกแบบกลยุทธ์โดยนำข้อมูลที่วิเคราะห์จากขั้น Why และ What มาปรับแผนให้ชัดเจนพร้อมนำไปทดลองใช้ปฏิบัติงาน

การคิดและวางแผนการเงินแบบผู้ประกอบการสังคม (Finance Matter for Social Entrepreneurs)

จัดเมื่อวันที่ 15 – 17 ม.ค. 2561 : โดยมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์ว่าจากแผนการทำงานของตนที่วางไว้ จะสามารถสร้างผลกระทบทางสังคม (Social impact unit) ได้มากน้อยเพียงไร แล้วการจะสร้างผลกระทบแต่ละหน่วยเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ (Impact unit cost) เมื่อได้ข้อมูลจากทั้งสองส่วนแล้วจึงนำมาปรับแผนการทำงานและกลยุทธ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (Scaling Challenge) อีกการเติมเต็มหนึ่งที่ควบคู่กันไป คือ การเรียนรู้จากตัวอย่างการบริหารเงินที่ได้ผลขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น การสร้างช่องทางการหารายได้ให้หลายหลายมากยิ่งขึ้น (Diversify) หรือการทำงานโดยใช้เงินทุนเท่ากับศูนย์ (Free) เป็นต้น

การจัดการและพัฒนาทีมในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Preparing Team for Transition)

จัดเมื่อวันที่ 1 – 3 มี.ค. 2561 : โดยมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์ว่า ในแต่ละวันแต่ละคนใช้เวลาในการทำงานเท่าไหร่ (Man hour) แล้วเราได้รายได้เท่าไหร่จากการทำงานแต่ละชั่วโมง ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าเราใช้เวลาในการทำงานเหมาะสมหรือไม่ แล้วจะใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร (Effective time management) และขั้นสุดท้ายของการอบรมซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการทำงานให้ยั่งยืน คือ การพัฒนาทีมในฝัน (Dream team) ออกแบบการทำงานของทีมให้มีประสิทธิภาพผ่านหลัก 5 ประการ (The Fifth Discipline by Peter M. Senge) ที่ทำให้คนทำงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาทีมและเติบโตไปด้วยกัน

โดยในระหว่างการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการนอกจากการที่ทั้ง 4 พื้นที่ จะได้มารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการสร้างความยั่งยืนในการทำงานและเติมพลังให้แก่กันและกันในเวทีแล้ว ยังมีการทำงานควบคู่กันไป คือ การนำกลยุทธ์เพื่อพัฒนาการทำงานให้ยั่งยืน ซึ่งช่วยกันพัฒนาในแต่ละเวทีไปทดลองใช้จริง โดยมีโค้ชติดตามพื้นที่ (Intrapreneurs) ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้นำหลักของแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยมองหาลู่ทางในการพัฒนา จากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ปรับแผนกลยุทธ์ ทดลองการทำงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนและเติมเต็มองค์ความรู้ เช่น การทำธุรกิจ และการบริหารการทำงาน ฯลฯ ทั้งจากตัวโคชเองและจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาร่วมเติมเต็ม

ทั้งนี้การมีโคชติดตามพื้นที่ (Intrapreneur) มาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เกิดขึ้นจากแนวคิดว่าการที่แกนนำของภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีอบรมอาจยังไม่เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทำงาน เมื่อผู้นำต้องกลับไปเผชิญกับปัญหาและบริบทการทำงานทั้งหมดด้วยตนเอง

ดังนั้นการมีคู่คิดที่มีมุมมองและความถนัดเฉพาะทางซึ่งแตกต่างออกไปมาช่วยมองปัญหาและทดลองการทำงานไปด้วยกัน อาจช่วยหนุนเสริมการทำงานให้เข้มแข็งและรอบคอบขึ้นได้

อีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม คือ การพัฒนาเรื่อง การสื่อสาร เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถสื่อสารการทำงานของตนได้มีประสิทธิภาพ ตรงประเด็น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือการนำเสนอให้คนทั่วไปเห็นถึง คุณค่าของการทำงาน (Impact Value) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาสนับสนุนการทำงาน และยังทำให้คนภายนอกได้เรียนรู้จากการทำงานของพื้นที่อีกด้วย

นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้ว ยังมีอีกทีมหนึ่งที่ทำงานร่วมกันตลอดเส้นทาง คือ ทีมวิจัย ซึ่งจะดำเนินการถอดบทเรียนทั้ง 4 พื้นที่ ถอดกระบวนการทำงาน การสร้างองค์ความรู้ รวมถึงการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและผลที่เกิดขึ้นในระระดับปัจเจกและเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมหนุนเสริมการทำงานครั้งนี้ ซึ่งผลในที่นี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการนำเอาแนวคิดและเครื่องมือของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (SE) การทำงานร่วมกับโคชติดตามคนทำงานภาคประชาสังคม และการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร มาใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อนำเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นไปใช้ในการพัฒนาโมเดลการสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

จากการทดสอบโมเดลนี้ในระยะเวลากว่า 7 เดือน ได้สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเดือน พ.ค. 2561 โดยได้มีการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดพังงาแห่งความสุข เมื่อวันที่ 12 – 13 พ.ค. ที่ผ่านมา การพูดคุยร่วมกันของผู้นำจากทั้ง 4 พื้นที่ โคชติดตามพื้นที่ นักวิจัย วิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานรูปแบบใหม่นี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกโดยเฉพาะทางด้านสุขภาวะทางปัญญา ทุกคนได้พัฒนาภายในตัวเอง โดยเฉพาะการเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformative Leadership) และผู้นำร่วม (Collective Leadership) รวมถึงการพัฒนาด้านกลไกการทำงานอย่างแท้จริง แม้ผลลัพธ์ (Output) และผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว (Outcome) จะยังไม่ปรากฏชัดด้วยระยะเวลาที่จำกัด แต่ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้เป็นหนึ่งใน

โมเดลการทำงานร่วมระหว่างภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา
และคนทำงานรุ่นใหม่ ในการพยายามแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

ที่พร้อมให้ผู้อื่นได้นำบทเรียนไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของบริบท ทั้งนี้งานวิจัยที่ได้จากการทำงานร่วมของทั้ง 4 องค์กรภาคประชาสังคมโดยละเอียด ทั้งประสบการณ์ วิธีการดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีทั้งอุปสรรคและความสำเร็จจะมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือและมีให้ดาวน์โหลดทางออนไลน์ในเว็บไซต์ในช่วงปลายปี 2561 นี้

Your email address will not be published.