Korkankru

กิจกรรม

สรุปการอบรมโมดูลที่ 2 ครั้งที่ 11 min read

Reading Time: 3 minutes การอบรมเรื่องการใช้ญาณทัศนะในการทำงานกับผู้คนที่คุณวิแกรม บัตต์ และคณะทำงานจากองค์กร Leadership That Works ประเทศอินเดีย เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ Sep 20, 2018 3 min

สรุปการอบรมโมดูลที่ 2 ครั้งที่ 11 min read

Reading Time: 3 minutes

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 1
โมดูลที่ 2: นำด้วยญาณทัศนะ (Leading with Intuitive Intelligence)

เวิร์คช็อป นำด้วยญาณทัศนะ เป็นการอบรมเรื่องการใช้ญาณทัศนะในการทำงานกับผู้คนที่คุณวิแกรม บัตต์ และคณะทำงานจากองค์กร Leadership That Works ประเทศอินเดีย เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ และนำมาจัดในเมืองไทยเป็นแห่งแรก โดยมีณัฐฬส วังวิญญู และ ไพลิน จิรชัยสกุล สองกระบวนกรที่ผ่านการเรียนรู้กับคุณวิแกรมที่อินเดีย และเป็นผู้จุดประกายให้คนไทยอีกหลายๆ คนตามไปเรียนด้วย เป็นล่าม

กระบวนกรเข้าสู่การอบรมด้วยการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับญาณทัศนะก่อนว่า ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ แต่เป็นธรรมชาติเหมือนลมหายใจ มนุษย์แค่ลืมไป หรือกลัวที่จะเข้าไปสัมผัส แต่ไม่ใช่สิ่งไร้เหตุผล ถ้าอนุญาตให้ตัวเองไปอยู่บนขอบและกระโจนลงไปเรียนรู้ร่วมกัน จะเป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่ความคิดแบบตรรกะที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

DAY 1

ก่อนจะค่อยๆ นำผู้เข้าร่วมสู่กระบวนการอบรม เริ่มด้วยการพาร่างกายและจิตใจตัวเองเข้ามาอยู่ในห้องอบรมและรับรู้ความเป็นปัจจุบัน เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ ก่อนจะให้จับคู่แบ่งปัน – ทำความรู้จักเพื่อนว่าเป็นใคร ทำไมถึงมาอบรม เกิดคำอะไรขึ้นเวลาคิดถึงญาณทัศนะ หรือถ้าตนเองมีพลังญาณทัศนะเต็มเปี่ยม จะทำให้ต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร และอะไรคือความกลัวเกี่ยวกับญาณทัศนะ และการสนับสนุนที่ต้องการเพื่อเข้าไปสัมผัสญาณทัศนะได้

หลังจากเปิดให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนหลายๆ ความคิดออกมา เช่น รู้สึกสนุก รู้สึกว่ามีหลายๆ อารมณ์ หลายๆ ความคิดเข้ามา หรือญาณทัศนะมักจะมาเวลาเราไมได้ตั้งใจหรือจดจ่อกระบวนกรกล่าวเสริมว่า ญาณทัศนะเป็นเรื่องที่ทำน้อยๆ แต่อยู่กับปัจจุบันขณะมากๆ เหมือนการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนสนิทที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ต้องการความใส่ใจมาก แต่ถ้าเราอยู่ในอันตราย เขาจะมาเตือน หรือถ้ามีโอกาสดีรออยู่ เพื่อนจะมาบอกว่าให้เราไขว่คว้าเอาไว้

การเรียนรู้เรื่องญาณทัศน์ที่ดีที่สุดคือการมีประสบการณ์ตรงในการเข้าไปสัมผัสญาณทัศนะ กระบวนกรจึงให้ผู้เข้าร่วมฝึกการรับข้อมูลจากญาณทัศนะสองขั้นตอนคือ

1. การขออนุญาต เพราะการขอและได้รับอนุญาต จะทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ยิ่งใหญ่กว่าการเข้าไปโดยไม่ขออนุญาต
2. หลังจากทำงานญาณทัศนะเรียบร้อยแล้ว ต้องนำพลังงานส่วนเกินออก เพื่อปลดล็อกตัวเองจากคนที่เชื่อมโยงด้วย ด้วยการให้เท้าสัมผัสพื้นแล้วอนุญาตให้พลังไหลผ่านเท้าหรือนิ้วมือออกไป

เพื่อทำความเข้าใจญาณทัศนะให้มากขึ้น กระบวนกรจึงให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่ม 3 คนใคร่ครวญดูว่าตนเองเคยได้สัมผัสญาณทัศนะเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไหร่ เกิดเหตุการณ์อะไร ถูกคนหัวเราะเยาะหรือสนับสนุน จุดแรกที่สัมผัสญาณทัศนะเป็นจุดสำคัญ เพราะหลังจากเราเติบโต สมองจะเริ่มเลือกว่าเราควรจะมีญาณทัศนะได้ระดับไหน หรือมีไม่ได้เลย

มีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมบอกว่า ญาณทัศนะ เป็นทั้งของขวัญและคำสาป เป็นเสียงมาจากภายในเมื่อเราสัมผัสกับตัวตนของเราข้างใน และเหมือนทักษะหนึ่งที่เราฝึกได้เพื่อจะไปเชื่อมต่อกับจิตไร้สำนึก ฯลฯ ญาณทัศนะคือทุกอย่าง แต่จุดสำคัญคือตอนเริ่มต้นของการได้รับรู้ญาณทัศนะ แล้วถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด เช่น เราอาจรับรู้ข้อมูลที่คนอื่นมองไม่เห็นในวัยเด็ก แต่ไม่รู้ว่าจะเล่าให้ใครฟัง เพราะเราอยากเป็นเด็กปกติ จึงต้องละทิ้งความสามารถดังกล่าวไปเพื่อจะได้เป็นลูกที่ดี เพราะวัฒนธรรมทั่วโลกจะมองข้ามการมีญาณทัศนะ แต่เมื่อเราตระหนัก จะเลือกได้ว่าต้องการยืนอยู่ตรงจุดไหน

ญาณทัศนะมีหลักการสำคัญ 6 ข้อ หลักการแรกคือความเป็นสากล (Universal) คือทุกคนมีความสามารถเข้าถึงญาณทัศนะได้ ไม่ใช่บางคนที่มีความพิเศษ

หลักการที่สองคือความมีชีวิต (Living) ญาณทัศนะเป็นพลังงานที่มีชีวิตชีวา ไม่ใช่ข้อมูลแห้งๆ ญาณทัศนะเป็นเหมือนเส้นทางหรือประตูที่จะเปิดไปสู่ความจริงในระดับของคลื่น และนำไปสู่ปัญญาในระดับสูงของตัวเราเอง

มีวิธีฝึกหลักการความมีชีวิตอยู่สามขั้นตอนคือ
1. กลับมาอยู่กับตัวเองในความเงียบ
2. ฟังสนามพลังที่อยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะในรูปแบบของความคิด การมองเห็น การสัมผัสความรู้สึกทางกาย กลิ่น ความรู้สึก และเสียง
3. แสดงออกหรือพูดออกมา

หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องญาณทัศนะมาทีละขั้นตลอดวัน ปิดท้ายวันแรก วิทยากรและอาสาสมัครจึงสาธิตวิธีการการรับและการให้ญาณทัศนะ และให้ทุกคนจะจับคู่ฝึกกับเพื่อน และฝึกแบบกลุ่ม ก่อนจะเขียนบันทึกการเรียนรู้ของตัวเอง แล้วแบ่งปันกันในกลุ่มว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรม และค้นพบขุมทรัพย์อะไรในตัวเอง

DAY 2

เป็นการเรียนรู้สามเรื่อง ได้แก่หนึ่ง ทำความเข้าใจกับแรงสั่นสะเทือน สอง ความเกี่ยวข้องของแรงสั่นสะเทือนกับการเกิดญาณทัศนะ สาม การค้นหาความมีเหตุมีผลของญาณทัศนะ

หลังจากเตรียมความพร้อมด้วยการอยู่กับตัวเอง เชื่อมต่อเข้ากับความเงียบของห้องแล้ว วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มสามคน แต่ละคนกลับเข้ามาสังเกตร่างกายของตัวเอง การหายใจ ความตึงของร่างกายและคลายออก สังเกตความรู้สึก แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ระหว่างกันและกัน พื้นที่รอบๆ กลุ่ม และพื้นที่ในใจแต่ละคน แล้วแบ่งปันสิ่งที่ได้รับรู้ออกมา โดยสิ่งสำคัญคือไม่พยายามวิเคราะห์ให้ความหมายกับสิ่งที่แต่ละคนรู้สึก เพราะแต่ละคนจะรู้ด้วยตัวเองว่าคืออะไร

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมแบ่งปันออกมาจากการทำกิจกรรม เช่น เหมือนหูได้ยินเสียงยิบๆ เหมือนแมลงร้องตลอดเวลา, รู้สึกว่าพื้นที่ตรงกลางระหว่างวงเป็นแสงสีขาว, เหมือนมีแรงคลื่นเบาๆ มาปะทะเรา, รู้สึกไหวๆ เหมือนพื้นไม่นิ่ง ส่วนตัวเห็นเหมือนถ้วยหมุนแกว่งๆๆ, รู้สึกยุบยิบๆ เหมือนเมามอร์ฟีน” สะท้อนหลักการหนึ่งของคลื่นแรงสั่นสะเทือน คือ คลื่นพลังมีอยู่ทั่วไป ไม่สามารถสร้างหรือทำลายได้ แต่มีหลายระดับ จากต่ำสุดถึงสูงสุด คือระดับความเฉยชา ความโกรธ/กลัว ความเศร้า ความสงสัยใคร่รู้ ความรัก ความกล้าหาญ พร การรู้สึกขอบคุณ ตระหนักถึงคุณค่าของสรรพสิ่ง ซึ่งแปรสภาพหรือเปลี่ยนระดับไปมาได้ เช่น จากความรู้สึกอยากจะให้ หลุดลงมาสู่เฉยชา หรืออยู่ที่ความเศร้าสักพัก แล้วไปที่ความกล้าหาญ ความรัก เป็นต้น จึงไม่มีการตัดสินเชิงคุณค่าว่าคลื่นระดับล่างสุดไม่ดีหรือบนสุดดี เพราะพลังงานที่ทำให้เกิดความเฉื่อยชาอาจนำไปสู่ความใจกว้างได้เช่นกัน แต่รูปแบบของญาณทัศนะจะชัดและมีพลังมากขึ้นเมื่ออยู่ในระดับคลื่นที่สูงขึ้น ถ้าอยู่ในคลื่นระดับล่างๆ อาจจะเกิดความสับสนระหว่างญาณทัศนะกับความคิดส่วนตัว

การเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว เป็นการฝึกให้รู้เท่าทันตัวเองว่ากำลังอยู่ในอารมณ์หรือคลื่นพลังงานแบบไหน แล้วเลือกว่าจะอยู่ตรงคลื่นพลังระดับไหน ผ่านการลงมือฝึกปฏิบัติ โดยการจับคู่ทดลองใช้ญาณทัศนะในการโค้ช เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนคลื่นพลังหรือความรู้สึก แล้วใคร่ครวญคำถาม 3 ข้อคือ

1. ญาณทัศนะคืออะไร
2. จะเข้าไปสัมผัสญาณทัศนะได้อย่างไร
3. ปัจจัยที่ทำให้เข้าถึงหรือใช้ญาณทัศนะได้ดี

ต่อมา วิทยากรกับอาสาสมัครร่วมกันสาธิตการหลอมรวมความคิดที่เป็นตรรกะเหตุผลเข้ากับญาณทัศนะ อันเป็นหลักการที่ 4 ของญาณทัศนะ เริ่มจากคนเป็นโค้ช

1. ถามโค้ชชี่ (ผู้ที่ได้รับการโค้ช) ว่าอยากทำงานเกี่ยวกับเรื่องอะไร
2. ระบุแรงสั่นสะเทือนของโค้ชชี่ว่าอยู่ระดับไหน
3. ค้นหาความต้องการของโค้ชชี่ให้เจอ
4. ขีดเส้นตรงแบ่งเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นญาณทัศนะ อีกด้านเป็นตรรกะเหตุผล ให้โค้ชชี่เลือกว่าจะทำงานด้านไหนก่อน แล้วเริ่มทำไปทีละด้าน
5. การเดิน 4 ขั้น ขั้นแรก โค้ชเข้าไปสัมผัสและระบุแรงสั่นสะเทือนของโค้ชชี่ ขั้นที่สอง ระบุสิ่งกีดขวางหรือโอกาส ขั้นที่สาม ระบุเส้นทางหรือคำตอบ

ขั้นที่สี่ ค้นหาเพื่อน มิตรสหาย หรือคนที่จะสนับสนุนโค้ชชี่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การหลอมรวมญาณทัศนะกับตรรกะเหตุผลเข้าด้วยกันโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วญาณทัศนะกับตรรกะเหตุหลอมรวมกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้แบ่งแยกกัน การแบ่งแยกระหว่างญาณทัศนะกับความมีเหตุมีผลเป็นสิ่งที่ความคิดสร้างขึ้น และกระบวนการดังกล่าวจะทำให้การแบ่งแยกข้างในเกิดเป็นภาพจริงแล้วอนุญาตให้ตัวเองหลอมรวมกลับเข้ามา

DAY 3

เป็นการเรียนรู้เพื่อนำญาณทัศนะกลับไปใช้ในชีวิตแต่ละวัน โดยกระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมเริ่มด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเอง ส่งผลผ่านความรักออกไปให้กับคนรอบข้าง ทุกสรรพสิ่งในโลกและจักรวาล ก่อนจะนำพลังงานดังกล่าวย้อนมาโอบอุ้มใจตนเองและกลับไปเยี่ยมเยียนตัวเองในวัยเด็ก วาดภาพหรือสีที่นำพาความสุข สนุกสนาน และพลังชีวิตออกมา ต่อด้วยการนึกถึงสถานการณ์ลำบาก เจ็บปวด แล้วเขียนออกมา ก่อนจะเข้าไปสัมผัสคลื่นสั่นสะเทือนในระดับการรู้สึกถึงพรหรือความงาม ความรู้สึกขอบคุณ เข้าไปสัมผัสถึงพลังงาน ญาณทัศนะ หรือข้อมูลบางอย่างที่ได้จากภาพในวัยเด็ก นำมาตอบเรื่องราวความเจ็บปวด อนุญาตให้สองเรื่องมาเชื่อมต่อกัน แล้วจึงนำไปจับคู่แบ่งปัน เอารูปให้เพื่อนดู เล่าปัญหาปัจจุบันของตนเองให้เพื่อนฟัง แล้วให้เพื่อนเข้าถึงญาณทัศนะเพื่อบอกสิ่งที่ผุดบังเกิดออกมาให้เราฟัง

กระบวนการดังกล่าวเป็นพลังของการปลดปล่อย เมื่อรู้สึกติดขัดตีบตัน ให้กลับไปเชื่อมกับวัยเด็กของตัวเอง คิดง่ายๆ และมองสถานการณ์ด้วยสายตาเด็ก จะแก้ไขปัญหาได้ง่าย

ต่อจากพลังแห่งการปลดปล่อย มาถึงการฝึกพลังของการเยียวยา ด้วยการจับคู่ นั่งหาเข้าหากัน มองตาคนข้างหน้าเราด้วยความเงียบ เข้าไปสัมผัสถึงความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด แล้วปลดปล่อยออกไป สัมผัสถึงใจที่กำลังขยายใหญ่ การให้อภัย ตอบรับทุกๆ ความรู้สึก ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่มีการกล่าวโทษ ค่อยๆ เข้าไปสัมผัสลมหายใจของตัวเองที่ไหลผ่านทุกส่วนในร่างกาย เป็นการเสริมพลังภายใน พลังในการเยียวยา แล้วนำพามือมาที่หัวใจ กล่าวขอบคุณทุกสิ่งบนโลก อนุญาตให้พลังไหลซึมผ่านเข้ามาภายใน ลืมตาและมองคู่ของเรา จะได้เห็นบางอย่างที่งดงาม คือภาพของตัวเองอย่างจริงแท้ ก่อนจะแบ่งปันกับเพื่อน แล้วจับกลุ่ม 6 คน แบ่งปันประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับญาณทัศนะจากการทำกิจกรรม

กระบวนการดังกล่าวคือการเรียนรู้หลักการไหลลื่น เพราะญาณทัศนะมีลักษณะเป็นคลื่นพลัง เหมือนน้ำไหลไปในที่ที่มีเจตนาบางอย่าง และหลักการสะท้อน ใคร่ครวญ อย่างเช่น กิจกรรมนั่งมองตากัน อยู่ในความเงียบ สัมผัสบางอย่าง แล้วสื่อสารกันไปมา ไม่ใช่แค่ไปสะท้อนคนตรงหน้า แต่คือการสะท้อนกลับมาเห็นตัวเองด้วย เพราะญาณทัศนะอยู่ในระบบปัญญาร่วมที่มนุษย์มีร่วมกัน อยู่ในสนามพลังที่เชื่อมโยงถึงทุกคน ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

หลังจากเรียนรู้เรื่องการเข้าถึงและการใช้งานญาณทัศนะแล้ว ประเด็นที่กระบวนกรให้ความสำคัญมากคือจริยธรรมในการใช้ญาณทัศนะ ได้แก่

1. การใช้ญาณทัศนะไม่ใช่การคุกคาม แต่คือการเปิดรับ และการต้อนรับ
2. การรู้เท่าทันความคิดที่แฝงตัวและแสร้งทำเป็นญาณทัศนะ และไม่ควรจะยัดเยียดว่าญาณทัศนะของตนเองคือสัจจะ
3. เปิดใจ สนใจ ใคร่รู้ตลอดเวลา ควรวางสิ่งที่รู้แล้วชั่วคราว เพื่อค้นหาว่ามีอย่างอื่นที่ยังไม่รู้อีกไหม เพราะสิ่งที่รู้แล้วอาจขวางทางญาณทัศนะที่บริสุทธิ์ได้
4. ควรจะเปิดรับญาณทัศนะของบุคคลที่เราหยิบยื่นญาณทัศนะให้เขาด้วย
5. การฝึกหลักการต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ฝึกฝนญาณทัศนะถ่อมตัว

แม้ว่าการอธิบายเรื่องญาณทัศนะจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะญาณทัศนะไม่มีภาษา การอธิบายในภายหลังเป็นเรื่องเสียเวลามาก เพราะบางคนคนอาจจะไม่เข้าใจ เหมือนการทำให้คนเห็นความแตกต่างระหว่างการสัมผัสถึงบทกวีกับการวิเคราะห์กวี การมีประสบการณ์การตรงจะช่วยให้เข้าใจได้มากกว่าการอธิบาย แต่ญาณทัศนะไม่ใช่เรื่องเหนือมนุษย์ หรือเรื่องพิเศษที่ทำได้แค่บางคน แต่อยู่ในตัวทุกคน เข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะในทางดีหรือร้าย อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ถ้าทำเพื่อตัวเอง จะเข้าถึงญาณทัศนะที่แคบๆ ไม่เท่ากับเจตนาที่จะค้นหาญาณทัศนะเพื่อช่วยคนอื่นหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

หลังจากเรียนรู้และฝึกฝนเรื่องญาณทัศนะหลายรูปแบบแล้ว จึงเป็นการนำมาญาณทัศนะมาใช้เป็นพลังงานในการสร้างสรรค์ตัวตนใหม่ โดยใช้คลื่นพลังงานในระดับการให้ที่แผ่กว้างและญาณทัศนะมาอธิบายว่า ตัวตนใหม่ของเราคืออะไร โดยให้จับคู่กับเพื่อน เดินไปคุยไป เหมือนการระบายหรือวาดภาพตัวเราให้เป็นภาพใหม่ แล้วอธิบายให้เพื่อนฟัง

ก่อนที่วิทยากรจะปิดงานอบรมด้วยการเชิญผู้เข้าร่วมให้ไปพบเพื่อนสามคน คนแรก แบ่งปันว่าเราได้ทิ้งอะไรเอาไว้ในห้องนี้ คนที่สอง แบ่งปันว่าเราได้ของขวัญอะไรนำกลับบ้านไป และคนที่สาม แบ่งปันว่าเราตั้งใจจะออกไปทำอะไรตามที่ตั้งใจไว้

วันพฤหัสบดีที่ 14 – วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
โดย โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์