หมอป่วย หมออกหัก หมอจึงเริ่มรักตัวเองเป็น
Reading Time: 2 minutesทำไมถึงตัดสินใจเป็นหมอ
เราอยากเป็นจิตแพทย์ตั้งแต่แปดขวบ เพราะรู้สึกว่าคนในบ้านฉันป่วย รู้สึกว่าอยากจะรักษาทุกคน
อะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้
ตามประสาครอบครัวคนจีน มีคนวุ่นวายอยู่ในบ้านสิบกว่าคน ค้าขายตลอดเวลาเปิดร้านตั้งแต่เช้าปิดร้านสามทุ่ม สี่ทุ่ม เที่ยงคืน ไม่มีวันหยุด
ทำไมไม่เคยเปลี่ยนความคิดจะเป็นจิตแพทย์
มันอยู่ในความรู้สึกลึกๆ เราอยากเรียนมาตลอดแต่เอนทรานซ์ไม่ติดนะ เลยไปเรียนอย่างอื่นมาก่อน ถึงอย่างนั้นความรู้สึกมันก็ยังอยู่ มันไดร์ฟให้เราอยากเรียนจิตแพทย์มาก บอกตัวเองว่าจบมาฉันจะเป็นจิตแพทย์ให้ได้ สุดท้ายได้มาเป็นหมอครอบครัว ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้
ตอนเด็กเรารู้สึกถึงการรายล้อมของปัญหาที่แต่ละคนต้องเผชิญ อาจเป็นเพราะเราเป็นลูกคนเล็กด้วยเลยรู้สึกได้ว่าทุกคนป่วย จากที่ควรเห็นโลกสดใสสวยงามกลับเห็นผู้ใหญ่ที่เครียดอยู่ในบ้านเต็มไปหมด ทุกคนเครียด พอเห็นแล้วก็ทำให้เกิดคำถามในใจว่า
ทำไมคนนั้นเครียดจัง ทำไมด่าเสียงดัง ทำไมเป็นแบบนี้
เราเลยคิดว่าแต่ละคนที่รายล้อมตัวเราน่ารักษาทุกคน
ได้ยินมาว่าจุดเปลี่ยนหนึ่งของหมอต่าย คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (สุนทรียสนทนา – Dialogue) แล้วเรื่องนี้ถูกนำไปเปลี่ยนชีวิตตัวเองและคนที่บ้านอย่างไร
เราค่อยๆ เอาไปแทรกซึมนะ มันดีมาก ตั้งแต่เรียน Dialogue (การฟังอย่างลึกซึ้ง – Deep Listening) กลับไปเรารู้สึกว่าแม่เราเปลี่ยน แม่ฟังเราเพิ่มขึ้นเพราะเราฟังแม่เพิ่มขึ้น ถึงมันจะไม่ได้สวยงามเหมือนวงที่มีการจัดตั้ง แต่มันดีขึ้นในความรู้สึกของเรา เราเริ่มรับรู้ได้ว่าเขาใส่ใจเราแบบไหน เขาเห็นเราแบบไหน ซึ่งแต่ก่อนเราจะไม่รับรู้เลย
การใช้กระบวนการ Dialogue กับคนที่เราต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา และต้องพูดเรื่องข้างในจริง ๆ ซึ่งต่างจากการมาทำกิจกรรมที่เดี๋ยวก็แยกย้ายกันไป หมอต่ายเริ่มต้นอย่างไร
โห (ลากเสียงยาวมาก) เริ่มต้นยังไงหรอ พอเราเรียน Dialogue มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (นึกย้อนความหลัง) พอเรากลับมาบ้านเราวาดภาพบนกระดาษที่บ้านเลย สื่อสารผ่านกระดานเนื่องจากเป็นครอบครัวคนจีนที่มีการสื่อสารด้วยคำพูดน้อย
เราชอบเรื่องการฟังแล้วตัดสินมาก
เพราะเราคิดว่าคนรอบตัวเราฟังแบบตัดสิน
เราเลยคิดว่าใครไม่เข้าใจไม่เป็นไร ให้เราได้เขียนไว้ก็โอเคแล้ว เราตัวเล็กที่สุดในบ้านเสียงน้อยสุดในบ้านเราไม่มีความสำคัญใด ๆ ที่จะไปทำให้เขาหันมาฟังเรา เราทำได้เท่านี้แหละ มันทำให้เรามีกลไกพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะบอกว่า ทำแล้ว ได้ทำก็มีความสุขแล้ว หลังจากนั้นเราก็เอา Dialogue มาใช้เรื่อย ๆ ตามจังหวะโอกาส จังหวะที่เขาเป็นทุกข์หรือเราเป็นทุกข์เราก็ฟัง ตอนนี้เราเป็นคนเดียวที่ฟังแม่พูดจากหัวใจแม่จริง ๆ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าตายไม่เสียชาติเกิด ที่เราสามารถฟังคนที่เราอาจไม่เห็นด้วยได้แล้ว เรายอมรับได้ ยินดีที่มันเกิดขึ้น
แม้ว่าแม่อาจจะไม่ฟังเราตอนที่เราอยากพูด เราน้อยใจกับแม่เรื่องนี้มานับครั้งไม่ถ้วน เราเคยไปร้องไห้กับตัวเอง เคยพร่ำบ่น แต่กระบวนการจิตปัญญาศึกษา การไปเรียนซาเทียร์โมเดล การปฏิบัติธรรม ทุกคอร์สช่วยเราผ่านพ้นเรื่องนั้นมาหมดจนกระทั่งเป็นเราในวันนี้ ที่แม่จะฟังหรือไม่ฟังเราก็ไม่เป็นไร เราฟังแม่ก็พอ
Dialogue ไม่จำเป็นต้องมานั่งคุยจับเวลาในวงจัดตั้งหรอ
ไม่จำเป็นเลย อย่างเรา Dialogue กับเพื่อนทุกเดือนตั้งแต่จบการเรียนจิตปัญญาศึกษา คุยในร้านอาหาร เราก็ฟังกันแบบนี้แหละ ทำกันมาหลายปีจนเราเข้าใจว่า Dialogue ไม่จำเป็นต้องมานั่งจับเวลา มันอยู่ที่ไหนก็ได้โมเมนต์ที่เราฟังคือโมเมนต์ที่เราฟังจริง ๆ พอเรารับรู้ผู้พูด เราก็จะสามารถตั้งคำถามสวนไปได้นะ เพราะเรารู้จังหวะเขาแล้ว มันไม่จำเป็นต้องฟังแบบอมพะนำตลอดจนเขาพูดจบ
การทำ Dialogue ไม่เพียงทำให้เข้าใจผู้อื่น แต่ยังทำให้เข้าใจตัวเองด้วย หมอต่ายเยียวยาตัวเองได้ เพราะเข้าใจตัวเองมากขึ้นใช่หรือเปล่า
แปดขวบเราก็อยาก ฆ่าตัวตาย แล้วนะ เรานั่งกอดเข่าอยู่ริมระเบียงเนิ่นนาน ติดอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่แปดขวบจนอายุ 44 จนภาวะซึมเศร้ามันฝั่งอยู่ในรากของเรา มันอยู่ในทุก ๆ การเคลื่อนไหว มันอยู่ในทุก ๆ อณูของการเป็นเรา ดูข้างนอกเราอาจสดใสสบายดี แต่ลึก ๆ ของเรา เราไม่เคยพอใจในสิ่งที่เราเป็น เราไม่เคยเห็นคุณค่าของตัวเองเลย เราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเรามีค่าพอที่จะอยู่บนโลกใบนี้ หรือควรค่าจะได้รับสิ่งดี ๆ สักสิ่งเดียว
น่าสงสารมากเนอะ แต่มันเป็นเรื่องจริง นี่คือรากของซึมเศร้า เราโชคดีที่รู้สึกว่าเราป่วย เราก็ขวนขวายจะเป็นจิตแพทย์ พอเป็นนักศึกษาแพทย์ปีห้าได้เรียนจิตเวชเลยวินิจฉัยตัวเองได้ว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้า โมเมนต์ที่รักษาตัวเองได้ก็ตอนปีห้าเป็นโมเมนต์ที่กำชัยชนะให้ตัวเองว่าชีวิตนี้กูอาจจะรักษาใครไม่ได้แต่ก็รักษาตัวเองได้หนึ่งคน พอวินิจฉัยตัวเองได้แล้วก็เริ่มรักษาตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น ไม่เคยกินยาเลย เริ่มต้นจากรู้ตัวเองก่อน รู้เท่าที่เด็กคนหนึ่งจะรู้ มันมาดีขึ้นตอนปฏิบัติธรรมอายุ 29 – 30
เราชอบเปรียบตัวเองเหมือนต้นไม้แห่งการซึมเศร้า การที่เรารู้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า
เหมือนค่อยๆ เอาใบของมันออกไป แต่ใบใหม่ก็งอกตลอด
การปฏิบัติธรรมเอาใบมันออกไปได้บ้าง แต่พอเรียนซาเทียร์เราเอากิ่งมันออกไปได้ด้วย พอมาเรียนจิตตปัญญาศึกษาก็ค่อย ๆ เอาโคนต้นออกได้บ้าง ค่อย ๆ เอาออกทีละส่วนแต่ที่เราเอาออกไม่ได้คือ ราก เราเอาออกไม่ได้เลย เรารู้ว่ามันยังอยู่กับเรา
เวลามีใครมาชมเราที่จบมาเป็นแพทย์ทุกอย่างก็ดูดีไปหมด ครอบครัวก็ดีขึ้น ทุกอย่างดูดีมากในสายตาคนอื่น แต่ลึก ๆ เราไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองเลยว่าเรามีดี เป็นอย่างนั้นมาตลอด สมมติมีคนมาชมเราว่าหมอต่ายวันนี้ผิวสวยแต่งตัวสวย เราก็ปล่อยให้ประโยคนี้ผ่านไปเลย ไม่รู้สึกว่าต้องขอบคุณเขาด้วย เพราะใจเราไม่เคยรู้สึกเลยว่าฉันสวย
โมเมนต์ที่ทำให้เราหาย หายเลยจริงๆ คือโมเมนต์ที่เราเสียใจสุด ๆ ไปเลย โมเมนต์ที่เราต้องสูญเสียคนที่เรารู้สึกว่ารักมากๆ ไปคนหนึ่ง มันทำให้เราหายจากภาวะซึมเศร้าไปเลยทำให้รากมันหายไป อกหักปั๊บหายซึมเศร้าเลย (หัวเราะ)
ทำไมอกหักถึงทำให้หมอต่ายหายจากโรคซึมเศร้า
เราติดอยู่กับความคิดความรู้สึกของตัวเองมาโดยตลอดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ยิ่งวันหนึ่งเรารู้สึกรักใครมาก ๆ แล้วคุณค่าของเราขึ้นอยู่กับเขา แล้ววันหนึ่งไอ้คุณค่านั้นมันดันหายไป แล้วเราก็นอนร้องไห้อยู่สามเดือนผอมลงจะเป็นจะตาย บอกตัวเองว่า เธอจะตายแล้วจริง ๆ นะต่าย’ มันมีโมเมนต์หนึ่งที่จิตมันดิ่งลงไปมาก ๆ แล้วเราคุยกับตัวเองว่า ก่อนหน้านี้เธออยากตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่พอวันนี้มีใครมาทำร้ายเธอบ้าง เธอกลับเคียดแค้นชิงชังอยากไปฆ่าเขา จิตตอนนั้นตื่นรู้เลยว่า ปึ้ง!! เอ็งไม่ได้อยากตายว่ะ เอ็งรักตัวเองมากว่ะ ใครมาทำร้ายเอ็ง เอ็งไม่ยอม เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมาเลย อ้าว!! หาย!!!
ต้องเจ็บก่อนถึงจะรู้สึกว่ารักตัวเอง
ใช่ ต้องเจ็บก่อน มันต้องเจ็บแบบสุดซึ้งแสบทรวงเลย ก่อนหน้านั้นมันไม่ยอมเจ็บ หนีมาตลอด แต่พอเรายอมเจ็บครั้งนี้เหมือนเราเป็นนกฟีนิกซ์ได้เกิดใหม่ ช่วงนั้นมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น คนไข้คนหนึ่งเดินมาจับมือเราแล้วบอกว่าเราเป็นสิ่งวิเศษ หมอต้องสูงขึ้นนะ เขาจ้องหน้าสบตาพูดกับเราอย่างมุ่นมั่นอยู่ 5 รอบ ตอนนั้นเราเปิดรับแล้ว รับความชื่นชม เราเห็นคุณค่าของตัวเอง
จริงๆ แล้วการจัดการกับความทุกข์หรือปัญหามันอยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก
ใช่เลยร้อยละร้อยอยู่ที่เรา เราเป็นผู้เลือกได้ว่าจะทุกข์แค่ไหน หรือจะไม่ทุกข์ เราจะรับสิ่งนั้นเข้ามา หรือเราจะตีโจทย์ให้มันเป็นแบบไหนก็อยู่ที่เรา เราเลือกได้หมดเลย
หมอต่ายอยากบอกอะไรกับคนที่ยังยึดโยงอะไรอยู่มากจนเกิดทุกข์ และยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร
ทำไมไปบีบคั้นตัวเองแบบนั้น คำว่าต้องเนี่ยพอพูดเมื่อไหร่มันคือการตัดสินทั้งตัวเองและคนอื่นทันทีเลย ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องมีคำว่าต้องกับสักเรื่องบนโลกใบนี้ กว่าจะเข้าใจประโยคนี้ได้เราทุกข์ทรมานกับตัวเองเยอะมาก เพราะเราก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของภาวะซึมเศร้า ที่เราต้องดีอย่างนั้นสิ ต้องสวยงามแบบนั้นสิ ต้องเป็นระเบียบแบบนั้น ต้อง ต้อง ต้อง ต้องตามสิ่งที่คิดว่าคนอื่นจะคาดหวังจากเราและสิ่งที่เราคิดเราคาดหวังกับตัวเองเต็มไปหมด มีกรอบกฎกติกา ขังตัวเองไว้อยู่อย่างนั้นมาเนิ่นนาน ตั้งแต่แปดขวบนั่นแหละ จนกระทั่งปีที่แล้ว ที่เราอกหัก