Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

สรุปการอบรมโมดูลที่ 3 ครั้งที่ 21 min read

Reading Time: 2 minutes สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 2 โมดูลที่ 3: นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ (Leading with Soul Purpose) Feb 16, 2019 2 min

สรุปการอบรมโมดูลที่ 3 ครั้งที่ 21 min read

Reading Time: 2 minutes

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 2
โมดูลที่ 3: นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ (Leading with Soul Purpose)

  • วันพุธที่ 12 – วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯโดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการผู้นำแห่งอนาคตดำเนินงานมาเป็นปีที่ 4 วัตถุประสงค์คือส่งเสริมเรื่องการผู้นำในรูปแบบต่าง ๆ ในปีที่ 4 โครงการจะเน้นการทำงานกับพื้นที่ขอนแก่น โคกสลุง ลพบุรี พังงา และเชียงราย อย่างเข้มข้น โดยเติมมุมมองและศักยภาพความเป็นผู้นำแบบรวมหมู่ เนื่องจากโครงการเชื่อว่าการทำให้ชุมชนฐานรากมีความเข้มแข็ง ต้องอาศัยภาวะการนำร่วม (Collective) รวมถึงมิติเรื่อง Ethical และ Transformation การย้อนกลับมาดูตัวเองให้มาก เปลี่ยนตัวเองมากกว่าการบอกให้สังคมเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับองค์กร Leadership That Works ของประเทศอินเดีย ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องภาวะการนำในมิติต่างๆ โดยภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น (Leading with Soul Purpose) เป็นโมดูลสาม

หลังจากเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเช็คอิน แนะนำตัวแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการอบรมอย่างเต็มตัวด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับเป้าประสงค์ เช่น ความหมายของเป้าประสงค์ ความหมายต่อตนเอง และเรื่องราวทรงพลังเกี่ยวกับคำว่าเป้าประสงค์ในชีวิตของแต่ละคน แล้วแบ่งปันในวงใหญ่ จนได้ข้อสรุปว่า เป้าประสงค์คือพลังงานความคิด อารมณ์ความรู้สึก และพลังงานในด้านการลงมือกระทำ เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้เราลงมือกระทำ เคลื่อนไหว ในฐานะความเป็นมนุษย์

ก่อนที่กระบวนกรจะอธิบายต่อว่า การทำงานกับเป้าประสงค์มีอยู่สามเรื่อง คือ ความตระหนักรู้ (Awareness) การร้อยเรียงสอดคล้องกัน (Alignment) และการลงมือกระทำ (Action) ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ แต่คือการที่ทุกคนเข้าไปปฏิบัติ นำพาเป้าประสงค์ออกมา แล้วอยู่ร่วมกับเป้าประสงค์อย่างไร และการฝึกคือการเอากายของเรากับความรู้สึกของแต่ละคนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเป้าประสงค์ เริ่มด้วยฝึกทำงานกับ 5 อารมณ์ความรู้สึก คือความรู้สึกมีความสุข สนใจใคร่รู้ เศร้าหม่นหมอง โกรธ และการไม่แน่ใจ สงสัยในตัวเอง

ต่อด้วยการเรียนรู้เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ มี 5 หลักการที่จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อน คือ หลักการแรก การเป็นองค์รวม (Wholeness) ทุก ๆ อย่างในชีวิตของเราเกิดมาเพื่อรับใช้และนำเราไปสู่เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตนเอง หลักการที่สอง เป้าประสงค์คือการเดินทาง (Journey) เป็นทั้งภาพปลายทางและการเดินทางไปหา หลักการที่สาม การเติบโต (Growth) การตระหนักรู้ว่า มีตัวตนที่ใหญ่กว่าเราคอยดูแลเราอยู่เสมอ และกำหนดไว้แล้วว่าจะให้เราทำภารกิจอะไร หลักการที่สี่ เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณมีเพื่อจะรับใช้ โอบอุ้มชุมชนหรือโลกที่ดำรงอยู่รอบ ๆ ตัวแต่ละคน (Serve the Wellbeing of Community)

วันแรก

กระบวนหยุดการอธิบายถึงหลักการที่ 4 แล้วให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ถามคำถามที่เชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนกับเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ 4 ข้อ เพื่อจะนำไปใช้ทำงานต่อในกระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อไป

  1. คุณรักที่จะทำอะไรเป็นพิเศษเมื่อคุณเป็นเด็ก ก่อนที่โลกจะบอกคุณว่าคุณควร/ไม่ควรทำอะไร บรรยายช่วงเวลานั้นและความรู้สึกที่คุณมีต่อสิ่งนั้น
  2. บอกเราเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายที่สุดของคุณสองเรื่อง ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้คุณกลายเป็นคนแบบไหน คุณจะเป็นอย่างไรถ้าปราศจากการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้
  3. สิ่งที่สร้างความเบิกบานที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร
  4. คุณปรารถนาที่จะสร้างตำนานอะไร คุณปรารถนาที่จะเป็นที่จดจำอย่างไรหลังจาก 10 ปีนี้

วันที่สอง

หลังจากจับคู่ถามคำถาม 4 ข้อ สลับบทบาทต่อจากเมื่อวานแล้ว จึงเป็นการจับกลุ่ม 6 คนแบ่งปันกันว่า จากการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พบว่าแก่นแท้ของเพื่อนคืออะไร คุณค่าที่เพื่อนยึดถือคืออะไร และตนเองรู้สึกอย่างไรต่อเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของเพื่อน ตามด้วยวาดภาพเกี่ยวกับเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตัวเองออกมา

ช่วงต่อมา เป็นการเรียนรู้แนวคิด Hero’s Journey ของโจเซฟ แคมเบลล์ ซึ่งศึกษาความเชื่อจากหลายศาสนา แล้วสกัดออกมาเป็นแนวคิดเรื่องวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่ใช้ชีวิตออกเดินทางตามหาบางสิ่งบางอย่าง โดยความเป็นต้นแบบที่วีรบุรุษต้องเผชิญอาจนำมาเทียบเคียงกับเรื่องราวการเดินทางไปสู่เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของแต่ละคนได้ การเดินทางมี 12 ขั้นตอน จากโลกธรรมดา ได้รับเสียงเรียก ปฏิเสธเสียงเรียก แต่ได้พบครู ก่อนจะตัดสินใจเดินทางข้ามไปสู่ดินแดนใหม่ เพื่อเผชิญบททดสอบ จนค้นพบวิถีทาง เผชิญหน้ากับความตาย แต่ก้าวข้ามไปได้จนได้รับรางวัลเป็นพลังวิเศษ แล้วเดินทางกลับสู่โลกเดิม เพื่อนำพลังวิเศษไปช่วยคนอื่นต่อ

หลังจากอธิบายแต่ละขั้นตอนให้ผู้เข้าร่วมฟังแล้ว กระบวนกรให้ทุกคนจับคู่เล่าประสบการณ์การเดินทางของชีวิตตนเองเทียบเคียงกับการเดินทาง 12 ขั้นตอนของวีรบุรุษ และแบ่งกลุ่มสามคนแบ่งปันภาพวาดเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของตนเองให้เพื่อนดูและช่วยกันสะท้อนสิ่งที่เห็น

วันที่สาม

กระบวนกรอธิบายหลักการข้อ 5 ของเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณเพิ่มเติม คือเรื่องของผู้เดินเคียงข้างที่คอยสนับสนุนกันไปบนเส้นทางเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ ประกอบไปด้วยผู้พิทักษ์, ผู้ถูกละเลย, ผู้กระทำ

ผู้พิทักษ์คือผู้ดูแลเราจากความเจ็บปวดหรือโดนกระทำ ไม่ให้เข้าไปสู่พื้นที่แห่งความไม่รู้หรือแตกต่าง เพื่อมาดูแลความเป็นอยู่ของเราที่เคยดีอยู่แล้วให้เหมือนเดิม ส่วนผู้ถูกละเลยคือเสี้ยวส่วนที่ถูกละเลยและเอาไปเก็บไว้ ไม่ให้แสดงศักยภาพออกมา การพาผู้ถูกละเลยกลับมาจะต้องทำควบคู่กับผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจเปิดปิดประตูว่าจะให้ใครเข้าใครออก และจับผู้ถูกละเลยไปอยู่ในซอกหลืบ

ผู้พิทักษ์มีหลายรูปแบบ

  1. คนยึดความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ถ้าไม่ชัดจะไม่ทำ
  2. จอมบงการ (Task Master) เป็นผู้ผลักให้ทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ไม่ให้ดูแลตัวเอง ทำให้ยุ่งตลอดเวลา เพื่อให้เราไม่ก้าวไปข้างหน้า
  3. คนที่ทำให้รู้สึกผิด (Guilt Tripper) ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา ไม่ถึงจุดที่ต้องไปต่อ
  4. คนขี้กังวล ตั้งข้อกังขา (The Skeptic) กลัว ไม่แน่ใจ ลังเลตลอดเวลา มองไปทางไหนมีแต่ปัญหาอุปสรรคไปหมด ไม่กล้าทำ ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ
  5. นักควบคุมภายใน (Inner Controller) จะคอยบอกเราว่า เราต้องเดินแบบนี้ รู้สึกแบบนี้
  6. ผู้จัดการภาพลักษณ์ (Image Consultant) ต้องมั่นใจ สง่างาม ไม่อนุญาตให้เราโกรธได้
  7. นักบั่นทอน (The Under Miner) เธอทำได้ดีกว่านี้ เธอเก่งไม่เท่าคนอื่น ไม่อนุญาตให้ตัวเองชื่นชมความงามระหว่างการก้าวเดินบนเส้นทางเลย
  8. นักจัดสรรปั้นแต่งตามแบบพิมพ์ (The Molder) จะมีภาพว่าเส้นทางที่เราก้าวเดินเป็นแบบไหนล่วงหน้า ถ้าไม่เป็นไปตามภาพที่เห็นจะถือว่าไม่ได้เรื่อง
  9. ผู้ทำลายล้าง (The Destroyer) อยากให้เราเป็นในแบบที่ดีที่สุด แต่พอถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ จะให้เราทำบางอย่างเจ๊ง เพื่อปกป้องเราจากการประสบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะเคยมีประสบการณ์ที่การพบความสำเร็จทำให้คนอื่นอิจฉาหรือเจ็บปวด

การดูแลผู้พิทักษ์เป็นสิ่งจำเป็น กระบวนกรจึงสาธิตและให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ฝึกการสื่อสารกับผู้พิทักษ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด แล้วโอบรับผู้ถูกละเลยให้กลับเข้ามา

กิจกรรมสุดท้าย เป็นการทำให้แต่ละคนตระหนักถึงเพื่อนร่วมทางสามคนที่จะสนับสนุนการเดินไปสู่เส้นทางเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตน คือ

  1. เพื่อนที่เป็นปัญญาญาณ (Wisdom) เป็นเพื่อนที่ช่วยพาเราเข้าถึงปัญญาญาณหรือให้ปัญญาญาณกับเรา
  2. เพื่อนที่หล่อเลี้ยงบำรุงเรา (Nurturing) จะเป็นเพื่อนที่ช่วยเรา คอยชื่นชม ให้กำลังใจเรา หรืออาจจะมาในรูปแบบหมอนวดของเราก็ได้
  3. เพื่อนที่ช่วยให้เราได้รับความน่าเชื่อถือ ความไว้ใจได้ (Accountability) คอยดูแลไม่ให้เราออกนอกเส้นทาง หรือตกหล่นออกนอกเส้นทางของเรา

โดยการให้แต่ละคนทบทวนและระบุเพื่อนสามประเภทดังกล่าวแล้วแบ่งปันกันในกลุ่มเพื่อช่วยกันหาในกรณีที่ยังไม่สามารถระบุได้ด้วยตัวเอง

ก่อนจะปิดวงร่วมกัน