Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก: บ่มเพาะกล้ามเนื้อประชาธิปไตยในตัวคุณ1 min read

Reading Time: 2 minutes แตกต่างแต่ไม่แตกแยก: บ่มเพาะกล้ามเนื้อประชาธิปไตยในตัวคุณ บทสัมภาษณ์คุณณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรสถาบันขวัญแผ่นดิน Mar 19, 2019 2 min

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก: บ่มเพาะกล้ามเนื้อประชาธิปไตยในตัวคุณ1 min read

Reading Time: 2 minutes

บทสัมภาษณ์คุณณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรสถาบันขวัญแผ่นดิน

ในสถานการณ์แบบนี้ ‘การที่เราไม่คุยกัน เพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์’ มีวิธีการจัดการหรือมีทักษะไหนที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยกันหรือไม่

แล้วแต่สถานการณ์ หากจะคุยก็ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุยเพื่ออะไร สำหรับผม ผมชอบที่จะเรียนรู้ความคิดเห็นของคนอื่น ความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น ทำไมเขาถึงสนใจแนวคิดของพรรคการเมืองนี้ อุดมคติเป็นอย่างไร ผมมองว่าในภาพรวมของการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย มีความจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้จากความหลากหลายอย่างเคารพและให้เกียรติกัน

จิตวิญญาณของประชาธิปไตยไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้งแล้วจบ แต่คือการมีส่วนร่วมทางความคิดและการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง การอยู่ร่วมกันเราไม่สามารถกำหนดจัดวางสิ่งที่อยากให้เป็นได้ด้วยตนเอง เราต้องเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ต้องมีทักษะที่จะอยู่กับความคิดเห็นที่แตกต่าง ดังนั้นถ้าจะคุยกัน สำหรับผมก็ต้องคุยด้วยความตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้ มากกว่าที่จะยืนยันว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น หรือเพื่อจะโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเชื่อตามเรา เจตนาต้องชัดว่าคุยเพื่ออะไร คุยเพื่อเรียนรู้ คุยเพื่อฝึกให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราและเขามีร่วมกัน

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ต้องฝึกเพื่อให้ทำได้จริง

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีวิธีการฝึกอย่างไรบ้าง

หนึ่ง คือต้องรู้ตัวทันทีที่เราเข้าสู่การพูดคุย เช่น เลือกตั้งครั้งนี้คุณสนใจพรรคไหนอยู่ ก็อาจต้องดูว่าเขาอยากคุยไหม มีสีหน้าท่าทางอย่างไร ถ้าเขารู้สึกกระอักกระอ่วน เราก็ต้องใส่ใจความรู้สึกนั้น ถ้าเขารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจที่จะคุยก็ไม่จำเป็นต้องคุย มันควรเป็น ทางเลือกมากกว่าการยัดเยียด

สอง คือเราต้องมีเจตนาร่วมกันว่าจะคุยเพื่ออะไรและคุยอย่างไร เช่นคุยเพื่อเรียนรู้จากกันและกันให้มากขึ้น เพื่อฝึกทักษะสำคัญของประชาธิปไตยคือ

การฟัง และ เคารพ ให้คุณค่ากับทุก ๆ เสียงถึงแม้จะเห็นต่าง
เพื่อฝึกที่จะยอมรับในความไม่เห็นด้วย

สาม คือเวลาพูดคุยไม่ควรพูดสวน ควรฝึกที่จะฟังให้จบฟังให้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เขา ให้คุณค่าและมีความสำคัญต่อเขา เช่น ถ้าใครสักคนบอกว่า ผมไม่ชอบพรรคนี้ เพราะพรรคนี้ไม่เคารพผู้ใหญ่หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศ เราก็ต้องฟังว่าเขาไม่ชอบสิ่งนี้เพราะเขาอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร เขาอยากให้สังคมยังมีความนอบน้อมต่อกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน เขาอาจจะอยู่ในฝ่ายของผู้ใหญ่ที่มีอภิสิทธิ์บางอย่างเหนือกว่าคนอื่น แต่นั่นก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราควรเห็นว่าสิ่งที่เขาปรารถนาและสังคมในอุดมคติของเขาเป็นอย่างไร และเราควรจะแสดงออกว่าเราสนับสนุนสิ่งที่เราเห็นด้วยกับเขา

เช่น เขาให้คุณค่ากับการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ เด็กไหว้ผู้ใหญ่ เราก็แสดงความคิดเห็นว่าเราก็สนับสนุนเช่นกัน ในรูปแบบที่เด็กไหว้ผู้ใหญ่จากใจ เพราะเราก็อยากเห็นภาพนั้น และเราก็ยังอยากเห็นผู้ใหญ่เอื้อเฟื้อให้เด็กได้มีพื้นที่มีความคิดเป็นของตัวเอง อยากเห็นความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เคารพและเห็นคุณค่ากันและกัน

พูดง่าย ๆ คือ ต้องฝึกทักษะของการค้นพบและปกป้องจุดยืนที่มีค่าของอีกฝ่ายให้ได้ แม้ว่าจุดยืนของเขาจะนำไปสู่การเลือกพรรคที่เราไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เขาจะเลือก ประเด็นคืออุดมคติหรือจุดยืนของทุกคนมีค่าเท่ากัน เราต้องช่วยผดุงจุดยืนเหล่านั้น จุดยืนจะเหมือนหรือแตกต่างก็ล้วนมีคุณค่าในตัวเอง บางทีเราอาจพบว่า ตัวเราบอกว่า โอเค ผมเข้าใจนะและเห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณเชื่อ

แต่เราใช้เวลาน้อยมากในการรับฟังหรืออยู่เคียงข้างจุดยืนของเขา
ทันทีที่เราพูดคำว่า ‘แต่’ จุดยืนมันบิดมาฝั่งเราเลย
ซึ่งบางทีมันเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

ดังนั้นทักษะที่ควรมี ทักษะแรก คือการฟังให้ลึกถึงความรู้สึกหรือสิ่งที่เขาให้คุณค่า ความต้องการ และภาพฝันของเขา ถัดมาคือช่วยทบทวนและทำให้เขาเห็นว่าเราเห็นคุณค่าตรงนั้นมากพอ จนเขารู้สึกว่าเราเป็นมิตรกับสิ่งที่เขาเชื่อ แล้วเราถึงจะแชร์ส่วนของเราว่าความเชื่อของเราคืออะไร บนจุดยืนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราควรระวังเสียงตัดสินที่ว่าข้อมูลของเขามันผิดนะ ข้อมูลเราถูกกว่า การบอกว่าข้อมูลของใครถูกของใครผิด มันจะยอมรับกันได้ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศของความเป็นมิตร

ในแง่ของการสื่อสาร เราควรฝึกอธิบายสิ่งที่เราชอบ เช่น เราชอบพรรคนี้เป็นเพราะเรามีความหวังเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่านโยบายของพรรคนี้ถูกเสมอ ถูกที่สุด เพียงแต่เราต้องบอกว่าเราสนใจพรรคนี้เพราะเราหวังอะไร เราแคร์อะไร และเราอยากเห็นภาพอะไร

สิ่งที่ควรทำซ้ำ ๆ คือการทำให้สามารถบอกกันและกันได้ว่า เราโอเคที่จะเลือกต่างกัน เราจะรักและเคารพกันเหมือนเดิม ผมว่าถ้าทำซ้ำๆ ความคงทนของภาชนะที่รองรับความเห็นต่างจะเพิ่มขึ้น เราไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเห็นหรือเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ ประเด็นอยู่ที่การเกิดการเรียนรู้ การเกิดความสัมพันธ์จากการรับฟังและเห็นคุณค่า เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะดีที่สุดเพราะเราต่างเดินทางอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราจะเดินทางอย่างแปลกแยกและแตกแยก หรือจะเดินด้วยความ แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

การโหวตเป็นเพียงปลายทาง กระบวนการสำคัญคือการพูดคุยและรับฟังกัน สมมติว่าเรารับฟังและพูดคุยกันอย่างเข้าใจจนเกิดการโหวตที่อิงกับเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยจะยังไม่พอใจแล้วออกมาคัดค้านหรือไม่ เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่รับฟังกันหรือเปล่า

ผมมองว่าการที่คนออกไปแสดงจุดยืนบางอย่างทางการเมืองบนท้องถนน เป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยแบบประชาธิปไตย เพราะกระบวนการประชาธิปไตยเป็นบทสนทนาที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าโหวตวันนี้แล้วจะจบแค่นั้น ต้องพูดคุยกันทีละเรื่องว่าทำไมคนถึงต้องออกมาแสดงจุดยืน จะให้ตัดสินว่าไม่ทำตามกติกาก็ไม่ใช่ เพราะกติกากำหนดไว้เพื่อจะตัดสินใจอย่างไร แต่กระบวนการโหวตไม่ใช่กระบวนการที่จบในตัวเอง

ณัฐฬส วังวิญญู

สมมติว่าพรรคหนึ่งได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าเขามีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงหน้าที่ของเขาไม่ใช่ดูแลแค่ประชาชนที่โหวตเขา เขาต้องดูแลกลุ่มที่เห็นต่างกับเขาด้วย แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่มีพละกำลังในการโหวต แต่อาจจะเป็นคนกลุ่มน้อยที่ให้ข้อมูลในการพัฒนาประเทศ ถ้าคนกลุ่มน้อยเป็นเสียงที่รักธรรมชาติ แต่แพ้เสียงส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางวัตถุ เราก็ต้องพิจารณาให้ความสำคัญของเรื่องนี้ร่วมด้วย

คนที่ได้รับการโหวตต้องท้าทายตัวเองให้มีวุฒิภาวะมากพอที่จะดูแลทุกเสียง
และที่สำคัญควรรู้ตัวด้วยว่าเสียงหรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าแตกต่าง
ความแตกต่างนั้นก็อาจเคยอยู่หรือแอบแฝงอยู่ในตัวเราเช่นกัน

เช่น เราบอกว่าเราไม่ชอบกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูไม่มีความรู้จริงหรือดูไม่น่าใช่ผู้นำที่รอบรู้ เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เราปฏิเสธนั้นเราก็เป็นหรือเคยเป็นหรือไม่ มีบางขณะหรือบางครั้งไหม ที่เราก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่ต้องการลองหรืออยากได้รับโอกาสบางอย่าง เสียงที่แตกต่างที่เราได้ยินรอบตัวเรา บางครั้งอาจอยู่ในตัวเราเพียงแต่เราไม่รู้ตัว

ทักษะเหล่านี้ต้องใช้เวลาบ่มเพาะนานเท่าไหร่ และควรเริ่มลงมือทำเลยไหม

ทักษะเหล่านี้เติบโตผ่านการกระทำ ไม่ใช่คิดเอา เรารู้ว่าเราควรทำอะไรแต่เราไม่ทำ เหมือนเรารู้ว่าต้องสร้างกล้ามเนื้อ แต่ไม่เคยออกกำลัง ได้แต่คิดว่าฉันจะแข็งแรงสักวันหนึ่ง กล้ามเนื้อเราก็เป็นเหมือนเดิม ทักษะเหล่านี้ก็เหมือนกัน เปรียบเสมือนเป็นกล้ามเนื้อก้อน ประชาธิปไตย ที่ต้องลงมือทำถึงจะแข็งแรง ต้องกล้าเผชิญความอึดอัดเมื่อต้องเชื่อมโยงกับคนที่คิดต่างมาก ๆ เผชิญกับความเจ็บปวด การที่เราเผชิญกับอารมณ์ทั้งหลายคือการปลดแอกตัวเองออกจากตัวตนเดิม อุดมคติเดิม เปลี่ยนไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์และเติบโต

ถ้ากล้ามเนื้อประชาธิปไตยเติบโตแล้ว สังคมจะมีความสุขร่วมกันไหม

ผมว่าน่าจะพบความเป็นไปได้หลายอย่าง เพราะกล้ามเนื้อที่เติบโตคือประสบการณ์และทักษะของการอยู่ร่วมกัน ถ้าเราแบ่งแยกกันจะไม่มีทักษะและพื้นที่ให้กับความแตกต่าง เมื่อหาข้อสรุปได้ยาก ส่วนใหญ่เรามักใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการตัดสิน ไม่เปิดพื้นที่ให้กับอำนาจของส่วนรวม จึงไม่มีการค้นพบอะไรใหม่ ๆ ไม่เกิดพัฒนาการด้านการเมือง

แต่ถ้าหากเรามีทักษะนี้แค่เพียงในระดับองค์กรก็อาจจะเกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้

Your email address will not be published.