Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

ครูวิศวกร ผู้ให้สังคมเป็นห้องเรียนของนิสิต1 min read

Reading Time: 3 minutes บทสัมภาษณ์อาจารย์แจว – ธนาทิพย์ จันทร์คง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เข้าร่วมเวที Intrapreneur for Change  Mar 29, 2019 3 min

ครูวิศวกร ผู้ให้สังคมเป็นห้องเรียนของนิสิต1 min read

Reading Time: 3 minutes

บทสัมภาษณ์อาจารย์แจว – ธนาทิพย์ จันทร์คง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เข้าร่วมเวที Intrapreneur for Change

ทำไมถึงสนใจเข้าร่วมเวที Intrapreneur for chang

สนใจเพราะเคยเข้าอบรมเครื่องมือ Idea Development ของ School of Changemakers มาก่อน แล้วรู้สึกได้เปิดโลกทัศน์ ทำความรู้จักกับเครื่องมือที่ทำให้สามารถคิดกระบวนการให้ไปถึงเป้าหมายโดยไม่หลุดกรอบ และจากการอบรมยังช่วยให้เราได้เห็นลู่ทางว่าเราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมและการศึกษาอย่างไร เราจึงเริ่มนำเครื่องมือนี้มาใช้ในกระบวนการสอนของเราที่มหาวิทยาลัย

ที่มหาวิทยาลัยพะเยา มีปรัชญาว่า ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน หลักนี้เป็นต้นทุนที่ดีให้แก่การทำงาน เราได้พานักศึกษาลงไปเรียนรู้ในชุมชนและทดลองใช้เครื่องมือ เพื่อศึกษาว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง แต่เราก็ยังพบว่างานของพวกเรายังไปไม่ถึงจุดของการสร้างความยั่งยืน จึงต้องมาคิดให้คมต่อว่าเราจะทำงานให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อใครและอย่างไร?

พี่นุ้ย – คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ หัวเรือใหญ่ของ School of Changemakers บอกว่า แจว แกควรใช้เครื่องมือ SSS Tool ในการคิดและวางแผนงานให้เกิด impact พอเห็นเวทีนี้ที่ SOC ร่วมกับโครงการผู้นำแห่งอนาคตเปิดรับสมัครและมีการใช้เครื่องมือนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการเราจึงมาลงเรียนรู้ เพราะเราเชื่อว่าโมเดลหรือแนวคิดทางธุรกิจ จะช่วยให้การทำงานเกิดความยั่งยืนได้

ธนาทิพย์ จันทร์คง

ในมุมของอาจารย์แจว ทำไมนิสิตควรตระหนักถึงการเป็น Active Citizen

ในอนาคตเดี๋ยวมันก็เป็นโลกของเขา โลกที่เขาต้องอยู่ และเขาก็คือคนที่จะเปลี่ยนให้โลกของเขาดีขึ้นได้ จะมาคาดหวังให้คนวัยเราสร้างโลกเพื่อลูกหลานมันไม่ใช่ โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเราไม่ปูให้เขาตระหนักว่าเขาคือคนที่จะทำให้สังคมและโลกดีขึ้น พอถึงเวลานั้นใครจะมาทำให้เขา

อีกอย่างคือเขาต้องรู้ด้วยว่าสังคมอยู่ได้ด้วยอะไร เราพูดถึงเทคโนโลยี Ai มันน่ากลัวเหลือเกิน แต่แท้จริงแล้วพื้นฐานการคิดมันอยู่ที่คน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เขากลับมาสู่การสร้างคน พัฒนาคน และช่วยดูแลคน การดูแลซึ่งกันและกันในสังคมสุดท้ายมนุษย์ก็ต้องพึ่งพากันเอง

ปกติในคอร์สเรียนเขาจะได้เรียนแต่เรื่องเครื่องกล สามารถประดิษฐ์ได้ เสียขึ้นมาก็ซ่อมได้ เขาควบคุมได้หมด แต่การไปคุยกับชุมชนทำให้เขาได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ตอนส่งเด็กวิศวะไปเรียนรู้จากวิสาหกิจชุมชน กลับมาพวกเขาก็อิน พยายามช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร เขาคิดจะทำชานมไข่มุกจากข้าวกล้องงอก เพราะชุมชนมีข้าวเหลือเยอะ เราก็คิดตามว่าทำได้ด้วยหรอวะ (หัวเราะ) เขาก็เริ่มคิดและพบว่าการจะทำได้ต้องช่วยเกษตรกรสร้างเครื่องบดที่สามารถบดข้าวได้ละเอียด เหมาะแก่การนำไปทำชาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยทุนเดิมมีฐานหัวเป็นวิศวกร จากปัญหาความต้องการของชุมชน เขาก็จะโยงเข้าสู่กระบวนการคิดแบบวิศวะโดยอัตโนมัติ เกิดเป็นมาสเตอร์เชฟเอ็นจีเนียร์ขึ้นมา (หัวเราะ)

จากการเข้าร่วมเวที Intrapreneur for change ซึ่งเน้นการเติมเต็มทักษะสำคัญของการเป็น Intrapreneur ทั้งการโค้ช และเครื่องมือ SSS Tool อาจารย์คิดว่าจะนำทักษะต่าง ๆ ที่ได้จากเวทีไปใช้ผนวกเข้ากับการสอนน้อง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

อันแรกเลยคือทักษะการโค้ช (Coaching) โดยเฉพาะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) แม้เราจะยังไม่ได้คล่องมาก แต่ก็ทำให้เราได้สะกิดใจว่า การรับฟังสำคัญมาก เราพยายามนำเรื่องนี้ไปใช้ เช่น ตั้งใจฟังเขาและทวนคำถาม มันเห็นผลว่าแม้เราจะยังไม่ได้เป็นผู้ฟังที่ดีมาก แต่เขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามเรา เขาเริ่มฟังและเริ่มทวนคำถาม เขาเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองโดยเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็นการเป็นตัวอย่างที่ดี ดีกว่าเราไปสอนผ่านการเล็คเชอร์

ส่วนเครื่องมือ SSS Tool (Scale Sustain and Social Change Tool) ของเวทีนี้เรายังไม่ได้นำไปใช้ แต่เราได้ลองใช้เครื่องมือจากเวทีก่อนหน้า Idea Development ซึ่งมีลักษะที่เป็น Template ให้เราสามารถหยิบไปใช้ได้เช่นกันเหมือนเครื่องมือ SSS Tool การเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการคิดและการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เขาได้ลองเขียน ต่อให้จะผิดหรือถูกเขาก็ได้มองเห็นสิ่งที่ตัวเองทำและได้ทบทวน เรานำไอเดียของเครื่องมือมาปรับใช้ให้เหมาะกับเด็กโดยคงแนวคิดเดิมไว้ มันช่วยนำทางให้เราสอนเด็กได้ถูกทาง

ผลตอบรับการเรียนรู้ผ่านการใช้เครื่องมือลักษณะนี้จากน้อง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

เขาก็ชอบนะ หลัง ๆ พอเราทำให้เขาเห็นว่าเครื่องมือนี้วาดขึ้นมาเองได้เลย ไม่จำเป็นต้องยึดกับฟอร์มที่ให้ เขาก็วาดเองจนจำได้และเห็นความเชื่อมโยง เหมือนเป็นการคิดผ่านภาพ (Visual Thinking) พวกเขาคิดเป็นระบบมากขึ้น รู้ว่าแต่ละส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น problem – activity (input) – output – outcome และจะเห็นภาพว่าจะต้องเริ่มคิดจาก problem และ outcome ก่อน ก่อนจะมามองหาว่าจะทำ activity (input) อะไรเพื่อให้เกิด output ที่ไปตอบโจทย์ outcome ได้

เครื่องมือนี้ช่วยเราในการตรวจสอบด้วยว่า เด็กเขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่ หากเขาไม่เข้าใจในส่วนไหน เราก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ทำไมถึงยังไม่ได้ลองนำ SSS Tool ไปใช้

เราต้องนำไปทดลองใช้ให้เข้าใจเครื่องมืออย่างลึกซึ้งก่อน โดยตอนนี้มีโปรเจ็คที่เหมาะแก่การนำไปคิดแล้ว เรากำลังจะนำไปทดลองใช้ โปรเจ็คที่กำลังจะทำ คือการพัฒนาเมืองโบราณเวียงลอ ที่อำเภอเมือนจุน จังหวัดพะเยา เป็นเมืองโบราณที่มีสตอรี่ดีมาก แต่ยังไม่โดดเด่นเลย จากที่คุยกับชุมชนหรือนายอำเภอเขาอยากให้พัฒนาศูนย์ข้อมูลและอยากให้มีการจัดการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น แต่เรามองลึกไปกว่านั้นว่าต่อให้มีการปรับปรุงสถานที่ลักษณะนั้นแล้ว ก็ยังทำให้มีคนมาท่องเที่ยวได้ยาก เพราะสถานที่ห่างไกลจากเมือง ไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าที่สร้างเสร็จแล้วจะมีคนมาเที่ยวทันที

เราจึงมองไปถึงการเป็นห้องเรียนให้กับคนในชุมชนอยากจะสร้างความยั่งยืนจากต้นทุนทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน อยากจะพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กในชุมชน เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องเข้าไปเรียนในเมืองเหมือนตอนนี้ ผลที่จะตามมาในระยะยาว คือ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับชุมชน เช่น ลดการเป็นชุมชนสูงวัย เพราะชุมชนไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

เราไปบอกเขาว่า เราจะสร้างบทเรียนทางด้าน STEM ซึ่งประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หลักวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ โดยใช้โบราณสถานแห่งนี้เป็นโจทย์ในการเรียนรู้ เช่น เราอาจเรียนหลักตรีโกณมิติเพื่อคำนวณระยะห่างของโบราณสถานจากภาพถ่ายมุมสูง (Bird eyes view) หรือการเรียนฟิสิกส์และเคมีจากการศึกษาอายุของโบราณวัตถุ

ตอนนี้เราก็เริ่มจากคุยกับโรงเรียนในชุมชน ซึ่งคุณครูเขาก็ร่วมด้วยกับเรา ดังนั้นเราจึงเริ่มลงมือทำกันแล้ว โชคดีที่ทาง สวทช. ภาคเหนือ เขามีระบบคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิตอล เราก็จะดึงเขามาช่วยเราทำงาน นำนิสิตของเราลงไปทำ และชวนครูกลุ่มสาระต่าง ๆ มาช่วยกันขยายสร้างบทเรียนที่จะสอนให้แก่ศิษย์ของเขา เขาก็พาเด็กนักเรียนของมาเรียนรู้ด้วยกัน ช่วยกันทำ

เวลาไปลงพื้นที่ บทบาทหน้าที่ของนักศึกษาคืออะไร

สำหรับโปรเจ็คนี้ยังไม่ได้เซ็ท ที่คิดไว้คือช่วยเก็บบันทึกข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุ พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ก็อยากให้ทำแผนที่เดินดิน เราจะชวนเด็กโยธามาช่วยทำ การมาเรียนรู้ภาคสนามนี้เขาจะต้องได้เรียนรู้เชิงวิศวกรรมไปด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ที่นี่มีระบบชลประทานที่ดีที่สุดของล้านนา แต่ยังไม่เคยมีใครมาศึกษาในเชิงวิศวกรรมโยธา เราจะพาเด็กโยธาไปศึกษาเรื่องนี้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่เขาจะได้ซึมซับ คือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนและสังคม เวลาที่เด็กไปคุยกับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย (คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน) จะเกิดมิติความสัมพันธ์ที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน ไม่เหมือนเวลาที่คุยกับพ่อกับแม่ตัวเอง พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยก็มีความสุข เพราะลูกหลานเขาไม่ค่อยอยู่ นิสิตเราไปเขาก็จะไม่ค่อยปล่อยเด็กเรากลับ อยากให้เด็กเราอยู่ที่นั่น เอาขนมมาให้กิน จนเด็กของเราก็พลอยไม่อยากกลับไปด้วย เป็นมุมที่น่ารักดี (ยิ้ม)

เวลาเด็กไปคุยบางทีก็ได้คำตอบที่ผู้ใหญ่ไปคุยแล้วไม่ได้มา เป็นความรู้สึกบางอย่างที่แตกต่างออกไประหว่างเด็กกับคนแก่ เราชอบมุมนั้นน่ารักดี

ในระยะยาวถ้า SSS Tool  ถูกนำไปใช้กับโปรเจ็คจนอาจารย์แจวค่อนข้างคมชัดกับเครื่องมือนี้แล้ว อาจารย์คิดว่าน้อง ๆ นิสิตจะได้ใช้เครื่องมือนี้กับชุมชนเช่นกันหรือไม่

ใช้แน่นอน เพราะเป้าหมายของเราคือการที่ไปช่วยชุมชนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ไม่ใช่การทำงานที่ฉาบฉวย ตอนนี้เด็กหาโจทย์ปัญหาได้ แต่ยังไม่รู้ว่าแนวทางการแก้ปัญหา (Solution) ตอบโจทย์แล้วหรือยัง

เมื่อก่อนเราเรียนรู้และทำงานแล้วมักจบที่ตัวเรา ไม่ได้ให้คืนกลับชุมชน แต่ตอนนี้เราได้คำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานของชุมชน เขาบอกว่า การให้คืนกลับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเป็นมุมที่เราไม่ได้นึกถึง ดังนั้นในระยะหลัง แผนการทำงานของเราคืองานที่เราทำไม่ใช่แค่เอาของที่คิดค้นได้ไปแสดงให้กับชุมชน แต่เราต้องบอกกับเขาได้เต็มปากว่า สิ่งนี้จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร

กลับมาคุยเรื่องเหตุผลสำคัญในการพาเด็กไปเรียนรู้การทำเพื่อสังคมอีกครั้ง มีอะไรที่เป็นแรงผลักเบื้องลึกเบื้องหลังให้อาจารย์ผลักดันในเรื่องนี้อีกหรือไม่ นอกจากเหตุผลที่กล่าวไปในข้างต้น ?

มหาวิทยาลัยเราไม่ใช่ดาวเด่นของการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรม แต่เรามาสะกิดใจว่าตอนที่เด็กออกไปเรียนรู้นอกชุมชนเขาทำได้ดีมาก ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนการวัดผลจากเขาสามารถคิดแก้โจทย์ปัญหาทางด้านวิศวกรรมได้ดีเท่าไหร่ เป็นเขาสามารถเห็นโจทย์ปัญหาในสังคมและคิดวิธีการแก้ไขได้หรือไม่แทนอาจจะดีกว่า การที่คุณยังแก้สมการไม่ได้คุณก็ต้องพยายามทำให้ได้ แต่เรากำลังมองหาจุดยืนใหม่ที่สามารถรับรองทักษะและประสบการณ์ของเขานอกจากเกรดตามรายวิชาหลัก อาจอยู่ใน Transcript หรือใบประกาศนียบัตรที่จะรับรองทุก ๆ กิจกรรมของเขา เราให้บุคคลสำคัญ เช่น นายอำเภอเซ็นรับรองให้ พวกเขาก็ภูมิใจในตัวเอง

รายวิชาที่อาจารย์ตั้งขึ้นเพื่อจะพานิสิตไปเปิดประสบการณ์เรียนรู้ คือ รายวิชาอะไร

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นความบ้าของเรา (หัวเราะ) ตอนนั้นเป็นช่วงกำลังจะเปลี่ยนหลักสูตร เราจึงแอบยัดวิชาที่เราอยากทำไปเป็นวิชาเลือกเสรี ความคาดหวังของเราคือการทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่อง การเอาใจใส่ (Empathize) เพราะวิศวกรหลายคนพูดกับคนไม่รู้เรื่อง ชอบทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ไม่ได้ทำเพื่อแก้ปัญหาให้ใคร

อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะแก้ คือ ความคิดที่จะทำเรื่องค่ายอาสา ที่ลงไปซ่อม สร้าง ทาสี เปลี่ยนหลอดไฟ แต่ไม่เคยไปค้นหาว่าจริง ๆ แล้วเขามีปัญหาอะไร และคุณจะสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไรบ้าง การซ่อมสร้างสถานที่มันเป็นเรื่องที่เขาสามารถหางบประมาณมาทำได้ แต่การที่คุณไปช่วยเขา มันไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ตัวอย่างผลงานของน้องๆ

งานล่าสุดเป็นการทำงานร่วมกับอำเภอดอกคำใต้ ทำงานร่วมกับนายอำเภอที่เราเคยพาเด็กไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานปิดทองหลังพระ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เราปรับกระบวนการสอนใหม่ในรอบนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการทำกระบวนการ Design Thinking ผลจากการจัดกระบวนการของเราทำให้เด็กคิดว่าการคิดงานจะได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีแล้ว

เราเลยออกแบบเป็นซีรีส์สามสัปดาห์ (เฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์) สัปดาห์แรกจะทำเรื่อง Empathize ให้เด็ก ๆ ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากนั้นสัปดาห์ที่สองหลังจากนำข้อมูลมาคลี่ ก็ให้เขาไปลงเจาะข้อมูลที่ลึกขึ้นอีก ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเข้ากระบวนการ Design Thinking หรือ Idea development ก่อนจะนำแบบจำลอง (Prototype) ไปนำเสนอและรับคำติชมรวมถึงข้อเสนอจากชุมชน (Feedback) จากนั้นเขาก็จะต้องนำกลับไปพัฒนาต่อให้ดีขึ้น เด็ก ๆ ทำ Prototype ได้ดีมาก เสาร์ – อาทิตย์ ที่จะถึงนี้ เขาจะนำไปแสดงที่ตลาดนัดดอกคำใต้ เราวางแผนให้นายอำเภอและผู้ใหญ่ของชุมชนมาดูให้ได้ว่า ผลงานของเด็ก ๆ นั้นเจ๋งนะ กิจกรรมมันสำเร็จ

ตัวอย่างผลงานจากเวทีนี้ คือ ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เด็ก ๆ ได้ลงชุมชนไปคุยกับกู้ภัย โรงพยาบาล และชาวบ้าน พบว่ามีสามแยกหนึ่งที่คนมักขับมาถึงแล้วเลี้ยวรถเลย ไม่ค่อยมองซ้ายมองขวาก่อน ขณะที่เด็ก ๆ กินไอติมอยู่ริมถนนก็เห็นเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ๆ เป็นสิบกว่าคัน แม้ร้านค้าจะคอยตะโกนเตือน เด็ก ๆ ก็เลยไปออกแบบมาว่าควรจะมีหลังเต่า มีไฟเตือน มีเสียงเตือน คิดกันไปถึงไอเดียว่าหากขับรถดีสามารถลดหนี้กับ ธกศ. ได้ เหมือนได้รางวัลคืนไป พอออกแบบกันเสร็จก็เอา Prototype ไปนำเสนอ ได้ Feedback กับกลับมาว่า ขอเสียงเตือนเป็นคำเมือง (หัวเราะ) ชาวบ้านเขาคิดว่าผลงานของเด็ก ๆ จะช่วยแก้ปัญหาได้ จึงปรึกษาหารือกันว่าจะสามารถนำไปติดได้เลยไหม เด็ก ๆ ก็อินกันมาก

มีอีกอันหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าเด็กๆ ไปพบสถานการณ์ปัญหาว่าชุมชนนี้กินน้ำฝน ทำเครื่องกรองกันเองซึ่งไม่ได้มาตรฐาน เราก็ตั้งข้อสงสัยไปว่า ชาวบ้านเขาไม่กลัวสารพิษปนเปื้อนกันเลยหรอ และบริโภคน้ำฝนกันแค่บ้านสองบ้านหรือเปล่า เด็กๆ ก็ไปตรวจสอบซ้ำให้มั่นใจว่าชุมชนนี้บริโภคกันจริงๆ หรือไม่ในสัปดาห์ที่สอง ได้ข้อมูลมาว่าไม่ใช่แค่บ้านสองบ้านแต่เป็นเจ็ดบ้านค่อนข้างมาก โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในน้ำประปาของชุมชนรวมถึงน้ำของธุรกิจส่งน้ำ พวกเขามั่นใจในคุณภาพน้ำที่เขากรองกันเองเท่านั้น

เด็กๆ ก็เลยไปคิดวิธีกรองน้ำโดยใช้ตุ่มเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านใช้น้ำจากตุ่ม โดยการเพิ่มชั้นกรองติดตั้งเข้าไปเป็นฝาตุ่มเพื่อให้รองรับน้ำที่ตกลงมากรองก่อนจะไหลลงไปในเก็บในตุ่ม (เดิมทีชาวบ้านใช้ผ้าขาวบางในการกรองน้ำ) และคิดเป็นเครื่องกรองน้ำแบบมีก๊อกเปิดได้ ให้ชาวบ้านนำน้ำมากรองและสามารถนำน้ำไปใช้ได้สะดวก

มี Feedback จากชาวบ้านว่า ปกติเขาต้มน้ำก่อนนำไปกรอง จึงอยากให้มีหัวต้มน้ำด้านบนก่อนแล้วค่อยกรองลงมา อีกบ้านก็บอกว่าพอกรองเสร็จแล้ว อยากให้เลือกได้ด้วยว่าจะใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็น เด็กๆ ก็บอกว่ายังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร พวกเด็ก ๆ เขาก็น่ารักดี (หัวเราะ)

การเรียนแบบเดิมกับการเรียนแบบลงชุมชน นิสิตเขารู้สึกแตกต่างกันอย่างไ

พวกเขาชอบ ได้เที่ยว (หัวเราะ) ชอบที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้ มีเด็กคนหนึ่งบอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะสามารถอะไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ ในอนาคตเราจะทำให้เขารู้สึกด้วยว่า รูปแบบการช่วยเหลือของเขามันทำได้เฉพาะเขาเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ไม่ใช่เพราะการคิดค้นเครื่องยนต์กลไกที่ซับซ้อน แต่เป็นการได้นำหลักวิศวกรรมไปช่วยเหลือชุมชนให้ดีขึ้น บนฐานของความเข้าอกเข้าใจ (Empathize)

Your email address will not be published.