ธนัน รัตนโชติ วิศวกรผู้หลงรักการตลาด และเชื่อว่าธุรกิจกับสังคมงอกงามไปพร้อมกันได้
Reading Time: 5 minutes“ภารกิจเดียวของผมคือต้องจีบสาวให้ได้”
คือคำอธิบายช่วงชีวิตเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาของ นก-ธนัน รัตนโชติ ผู้ที่ปัจจุบัน เรารู้จักเขาในนามของผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม PLANT-D สวนผักอินทรีย์ของคนเมืองที่ถือกำเนิดจากปัญหาผู้สูงอายุ
มากกว่านั้น เขายังเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ นักการตลาด Startup และ Founder ทว่าภาพทั้งมวลที่เรากล่าวมานั้น คือยอดภูเขาที่ธนันใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตล้มลุกคลุกคลานและประสบกับคำว่าล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน นั่นจึงทำให้บทสนทนาของเราในวันนี้ เริ่มต้นด้วยการนั่งไทม์แมชชีนไปสำรวจรายทางชีวิต ว่าเขาผ่านเส้นทางแบบไหนมาบ้าง
“วัยมัธยมและตอนใกล้จบเราไม่เห็นคุณค่าต่อการเรียนสักเท่าไหร่ แต่สนใจการเต้นเชียร์ลีดเดอร์ เต้นบีบอยมากกว่า เราไม่สนใจการเรียนเพราะมีอย่างอื่นน่าสนใจกว่า สุดท้ายก็สอบเอนทรานซ์ไม่ได้” เขาเริ่มต้นด้วยความล้มเหลวจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สู่จุดเปลี่ยนแรกของนายธนัน จากเด็กที่ชอบเล่น ชอบเต้น สู่ภารกิจพิชิตมหาวิทยาลัย โดยมีข้อความในวงเล็บว่า เพื่อตามหารักแท้
“เรารู้สึกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพราะเราไม่ตั้งใจเรียน เลยคิดกลับตัวกลับใจใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเรียนเพื่ออนาคตของชีวิตนะ เพราะบังเอิญเราไปชอบสาว เธอเป็นคนสวยและเป็นเด็กเรียน สอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ การทูต แต่เราไม่ติด เลยรู้สึกว่าเวลาไปไหนมาไหนด้วยกันคนจะชอบถามว่าเรียนที่ไหน แต่กูไม่มีที่เรียน (หัวเราะ) รู้สึกว่าเลวร้าย กลัวคนเขาจะรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่น่ามาคบกับธนันเลย ดูเสียอนาคตตัวเอง
“เราเลยต้องทำอะไรที่คู่ควร จึงหันมาตั้งใจเรียน ท่องหนังสือ เพื่อจะได้สอบติดคณะที่เวลาแนะนำตัวคู่กันแล้วดูสมฐานะ (หัวเราะ) ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุที่เราตั้งใจเรียน ซึ่งแรงขับดันในการเรียนบางทีมันไม่ได้เกิดจากการต้องการอนาคต (หัวเราะ) พอสอบครั้งที่สองก็ติดวิศวะ จุฬาฯ”
โลกมุมใหม่ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหา
ภารกิจของธนันดูจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หากเป็นละครก็คงตัดจบได้อย่างแฮปปี้ ทว่านี่คือชีวิตจริง และความน่าสนใจของชีวิตคือความไม่ง่าย เพราะในระหว่าง 1 ปี ของภารกิจพิชิตมหาวิทยาลัยชื่อดัง เขาเลือกเข้าเรียนรามคำแหงควบคู่ไปด้วย เพื่อที่หากเอนทรานส์ไม่ติดในครั้งที่ 2 เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาปี 1 แต่รามคำแหงไม่ได้เป็นแค่หลุมหลบภัยเผื่อสอบใหม่แล้วไม่ติดเท่านั้น เพราะสิ่งที่เขาได้รับตลอด 1 ปีนั้น คือโลกในมุมอื่นๆ ที่ธนันไม่เคยเห็น หรือหากเห็น เขาก็ไม่ได้รู้สึก โลกใบนั้นมีชื่อว่า ‘ปัญหา’
“เราไม่กล้าไปขอเงินพ่อแม่เพื่อไปเรียนเอกชน เลยไปเรียนรามฯ ซึ่งในสมัยนั้น หน้าประตูเข้ารามคำแหงจะมีคนยืนไฮด์ปาร์คตลอดเวลา ด่ารัฐบาล ด่านู่น ด่านี่ และตามทางเดินเข้าไปในรามฯ ก็จะมีป้าย มีบอร์ด หรือเรียกว่าเป็นนิทรรศการด้านการต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมและความไม่ยุติธรรมในสังคมทุกรูปแบบ เรียกว่าไปอยู่ในสถานที่ที่เป็นเหมือนมิวเซียมของความไม่เท่าเทียมในสังคม ตั้งแต่ชมรมสลัม ไปจนถึงการต่อต้านรัฐบาล เราก็ซึมซับสังคมในมิติที่ไม่เคยได้รู้ เพราะเรามาจากสาธิตจุฬาฯ ไปเช้าเย็นกลับ พ่อแม่ไปส่ง หรือถ้ากลับเองก็จะเป็นแค่ระหว่างบ้านกับโรงเรียน ไม่มีโอกาสสัมผัสเรื่องราวสังคมโดยเฉพาะมุมของปัญหา
แต่การไปเรียนหนังสือที่รามฯ ทุกวัน เราได้เดินผ่าน ได้หยุดดู หยุดฟัง ได้ถามเขาในมุมที่เราอาจจะมองไม่เหมือนเขาว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่จริงหรือ และเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างไร มันเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่า มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม และเหมือนไม่มีใครสนใจที่จะแก้ไขด้วยซ้ำไป แต่มีคนบางคนพยายามจะต่อสู้แก้ไขมัน ซึ่งเขาเหล่านั้นก็ต่อสู้อยู่อย่างโดดเดี่ยว หัวเดียวกระเทียมลีบ สิ่งนี้อาจจะเป็นต้นทุนหนึ่งที่ทำให้เราสนใจต่อปัญหาของสังคมที่ไม่ใช่แค่มิติการบริจาค”
มิวเซียมของความไม่เท่าเทียมในสังคม คือภาพบรรยากาศที่ง้างประตูแห่งความใคร่รู้ของธนันให้เปิดออก เพราะในทุกๆ วันตลอดระยะเวลาในรามคำแหง เขาได้เก็บเกี่ยว ซึมซับ และตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ใหม่ตรงหน้า
1 ปีหลังจากนั้นเขาสอบเอนทรานส์ใหม่ ผลของความพยามผลิดอก เขาสอบติดวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้นทุนจากเด็กรามฯ ทำให้มุมมองในฐานะนิสิตจุฬาฯ ที่มีต่อสังคมนั้นแตกต่าง
“พอเข้าวิศวะเราต้องเจอกับการรับน้อง และหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการพาไปบ้านเด็กกำพร้าปากเกร็ดเพื่อไปเล่นกับเด็กหนึ่งชั่วโมงแล้วก็กลับ ผมรู้สึกว่า เฮ้ย พวกคุณไม่ได้สนใจจะแก้ปัญหาอะไร แต่มาเพื่อจะได้กลับไปอธิบายว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมนะ พวกคุณรู้ไหมว่าเด็กๆ เขามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร และการที่เรามาเล่นกับเด็กที่นี่หนึ่งชั่วโมงแล้วกลับ มันจะเปลี่ยนอะไรได้หรือ
“หลังจากที่กลับไป ก็ยังมีเด็กที่ถูกทิ้งและต้องมาอยู่ที่นี่เพิ่มขึ้นทุกวัน และในฐานะที่พวกเราน่าจะเป็นผู้ที่มีโอกาสมากที่สุดในสังคม วิศวะ 400 กว่าคน คุณใช้เวลาที่นี่ 1 ชั่วโมงแล้วก็กลับไปซ้อมเชียร์กัน ไปกินเหล้าต่อ คุณทำตัวไม่สมควรกับการเป็นคนที่ได้โอกาสในสังคมเท่าไหร่เลย
“เราเริ่มมีความคิดที่ติดเชื้อมาจากรามคำแหง ผมอินในแบบที่ว่า คนที่อยู่ในฐานะที่มีโอกาสและเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็กวิศวะ จบไปก็เงินเดือนหลายหมื่นทุกคนเลย ถ้าเขาจะสนใจและคิดแก้มันสักนิด ผมสนใจในประเด็นความต่างของเด็กในช่วงอายุเดียวกันที่คนหนึ่งสนใจอยากจะแก้ไข แต่ไม่มีโอกาสจะแก้ กับคนที่มีโอกาส แต่เขาไม่สนใจเลย”
ทางไปต่อที่กว่าจะหาเจอ
เขาบอกกับเราว่านั่นคือความคิดของธนัน ณ วันนั้น โลกในมิติปัญหากำลังทำงานกับหัวใจของเขาอย่างหนัก เขาได้ปลดปล่อยให้ตนเองรู้สึก สงสัย และตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เขายังคงทำหน้าที่ของผู้เรียนควบคู่ไปกับคำถามที่นับวันก็มีมากขึ้น
“ผมเรียนโดยที่ไม่ได้มีความรักจริงๆ ต่อวิศวะ ยิ่งเหตุการณ์ตอนปี 3 ที่ต้องไปฝึกงาน เรารู้เลยว่าชีวิตนี้คงไม่ได้ทำงานตรงนี้แน่ๆ เพราะเดิมก็ไม่ได้รู้สึกกับการเรียนสักเท่าไหร่ แต่พอไปฝึกงานเท่านั้นแหละ โอ้โห (ลากเสียง) นี่ชีวิตของคนจบเป็นวิศวกรต้องมาอยู่ในตึกนี้เหรอ อยู่โรงงาน คุมคนงาน คุมเครื่องจักร มีหน้าที่ดูมิเตอร์ ดูไฟ ดูเข็มให้มีสีและชี้ถูกต้อง งานมันเลวร้ายมากในความรู้สึก เริ่มรู้สึกไม่ค่อยชอบ แต่ก็เรียนไปเรื่อยๆ
แต่ช่วงปี 4 วิชาเลือกเสรี เราไปนั่งในคลาสของคณะบัญชีที่เรียนเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นคลาสที่ขยันเชิญอาจารย์พิเศษมาสอน สนุกมาก เรารู้สึกเลยว่า กูเลือกผิดแล้วชีวิตนี้ ที่เรียนมาเราไม่ได้ชอบแต่การตลาดมันใช่ ก็เลยซื้อหนังสือพวก Marketing Management ภาษาอังกฤษมาอ่าน ของ ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler) คนอื่นเขาไม่มีใครเรียนแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่ามาเรียนทีหลังเขา ต้องล้ำหน่อย จากนั้นเราก็ไปสอบเข้าสัมมนาของนักเรียนการตลาดที่เขามีคลาสฝึกอบรม ซึ่งหลังจากที่จบจากวิศวะแล้ว เราก็เลือกมาทำงานด้านการตลาด”
“การตลาดสอนอะไร ถึงขั้นหักเหเส้นทางชีวิตโดยไม่ลังเล” – เราถามกลับ
“วิศวะจะทำงานกับคนในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิต แน่นอนว่าสมัยนี้มักพูดกันว่าเราต้องดูแลคน แต่แท้จริงแล้วคนที่อยู่ในระบบการผลิตของระบบอุตสาหกรรม ก็คือปัจจัยการผลิตนั่นแหละ แต่การตลาดเป็นวิชาที่ได้ทำงานกับคนในฐานะที่เป็นคน เพราะเขาเป็นลูกค้า ฉะนั้นมันจึงมีมิติการเป็นคนที่ต่างกัน
“และการตลาดในโจทย์หนึ่ง เปิดโอกาสให้เราสามารถคิดคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้หรือถูกต้องได้หลายวิธี เช่น ของขายยากหรือคนไม่รู้จัก เราจะทำยังไง? โอ้โห มีหลายวิธีมาก และอาจจะมีวิธีที่ถูกได้หลายทาง แต่วิศวะ ทำอย่างไรให้เดินท่อจากตรงนี้ไปถึงตรงนั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่านี้ มันมีคำตอบที่ถูกต้องอาจจะเพียงหนึ่งเดียว ผิดจากนี้ ระบบอาจจะไม่ทำงานหรืออาจระเบิดก็ได้”
นักการตลาดมือฉมัง
ธนันในฐานะว่าที่วิศวกร ได้ค้นพบตัวแปรที่สองของชีวิต เขาเรียกสิ่งนั้นว่า ความยืดหยุ่นทางความคิด ทำให้เส้นทางการตลาดคือศาสตร์ที่เขาเลือกเดินต่อจากนี้ในฐานะ นักการตลาดแห่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง
“อาจจะโชคดีด้วยที่งานแรกของเราเป็นบริษัทโทรคมนาคม ฝ่ายการตลาดก็อาจจะมาจากนิเทศหรือคณะภาคธุรกิจ ซึ่งช่วงนั้นที่บริษัทจะมีวิศวกรฝ่ายต่างๆ อยู่มาก ฝ่ายการตลาดทำงานกับวิศวกร บางทีคุยกันไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราเข้าใจวิศวกรและมีความรู้ทางการตลาดด้วย เขาเลยให้เราทำงานในบริษัทโทรคมนาคมซึ่งเติบโตเร็ว งบการตลาดเยอะ มีงานให้คิดและทำแบบไม่อั้น คิดมาเลยว่าอยากทำอะไรที่ควรทำ เอาเลยมีงบให้ สนุกสนาน”
ชีวิตของธนันเดินทางมาถึงความมั่นคงของอาชีพที่ควบคู่ไปกับความสนุกในการทำงาน ชีวิตมนุษย์เมืองอย่างเราๆ จะต้องการอะไรไปมากกว่านี้เล่า? ทว่าความมั่นคงดังกล่าวที่เราติ๊ต่างเอานั้น คือตัวแปรที่สามของเขา เมื่อได้เข้ามาทำงานในฐานะนักการตลาดและประชาสัมพันธ์
“ส่วนใหญ่เราทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร สมัยก่อนจะมีการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ใส่รูป ใส่กลอน ใส่ข้อความด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ และใส่ชื่อบริษัท ทุกคนทำแบบนั้น ส่วนเราศึกษาเรื่องการตลาดมาก็รุ่มร้อน และรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ได้ ไม่สร้างสรรค์ พอมีโอกาสในวันแม่ของปีหนึ่ง เรามานั่งคิดว่าแม่มีมิติอะไรที่เราจะทำได้บ้าง จนไปเจอโครงการหนึ่งชื่อว่า แม่อุปถัมภ์ เกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมที่อยากเลือกบริจาคเงิน ให้ทุนการศึกษาและส่งเสริมการเป็นอยู่ของเด็กบางคน แต่กำหนดเลยว่า หนึ่งคน เท่าไหร่ ต่อเดือนต่อปี และให้ยาวไปเลย และมีโอกาสให้ของขวัญวันเกิดเขาด้วย
“เรารู้สึกว่ามันมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แค่ไปบริจาคให้องค์กร หรือไปเลี้ยงข้าวไม่ให้เขาอดตาย แต่มันมีความเป็นแม่ในอีกมิติหนึ่งด้วย ถ้าอย่างนั้นเราทำประสัมพันธ์เรื่องนี้ก็แล้วกันโดยการให้ค่าโทรในวันนั้น นาทีละ 1 บาทบริจาคให้โครงการนี้ และก็ทำข่าวเป็นสกู๊ป เขาก็รู้สึกว่า เฮ้ย บริษัทเราทำแปลก เป็นที่ชื่นชอบกันในวงการ เราก็เริ่มได้ใจเพราะรู้สึกว่ามีผลประโยชน์เกิดขึ้นกับคนจริงๆ มากกว่าการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์
“ปีต่อมาเรารู้สึกว่าควรจะทำต่อ แต่คนที่อนุมัติเขาบอกว่าปีนี้เทรนด์อาจจะเป็นเรื่องอื่น เราก็เริ่มรู้สึกว่า การทำงานที่เป็นการประชาสัมพันธ์ มันไม่สามารถไปแก้ปัญหาได้ เพราะตอนอยู่รามฯ เราก็พอรู้แล้วว่าสังคมมีปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง แต่พอเป็นธุรกิจ เดิมเราคิดว่าจะใช้พลังทางธุุรกิจ กับใช้งบบริษัทมาแก้ปัญหาที่เราเห็น แต่ไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้ เราเลยรู้สึกว่าวิธีการแบบนี้มันไม่ครบถ้วนในการทำงานตามเป้าหมายที่เคยคิดไว้ เราเลยทดเรื่องนี้ไว้อยู่ในใจ”
แปดปีที่ธนันได้สาดใส่ไอเดียลงบนพื้นที่การทำงานเพื่อสังคมในแนวทางการตลาดแบบ CSR ได้ก่อเกิดความคาใจต่อความ ‘ไปไม่สุด’ ในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงปัญหา กอปรกับหลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตทำให้เขาเลือกหักเหเส้นทางชีวิตอีกครั้ง จากการทำงานประจำสู่ธุรกิจการให้คำปรึกษา (consulting)
“เราออกมาทำบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งห่างไกลจากคำว่าเพื่อสังคมมาก เพราะทำเพื่อลูกค้าอย่างเดียว เป็นการวางแผน แก้ไขปัญหา และการทำอย่างไรเพื่อให้มีกำไรเพิ่มขึ้น ในตอนนั้นเรามีโอกาสจากเพื่อนที่เป็นอาจารย์มาชวนให้แวะไปนั่งฟังงานประกวดธุรกิจเพื่อสังคม เผื่อมีมุมมองหรือไอเดียไปใช้กับการทำงาน ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จักหรือเข้าใจเรื่องของ Social Enterprise สักเท่าไหร่ แต่พอไปนั่งฟังแล้ว มันปิ๊งมากเลย
“เราได้ฟังเรื่องราวของผู้ประกอบการจากฟิลิปปินส์ เขาทำเรื่องการแก้ไขปัญหาสังคมของแม่บ้านที่อยู่ในสลัม แม่บ้านเหล่านี้ทำอาชีพโดยการไปขอเศษผ้าจากโรงงานแล้วนำมาถักเป็นพรมเช็ดเท้า เขาขายกันอยู่แค่นี้โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอะไร ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งเขามองว่า จะทำอย่างไรให้ขายได้แพงและได้เงินมากกว่านี้ เขาเลยไปคุยกับดีไซเนอร์ชื่อดังให้ช่วยมาออกแบบทีว่า จะทอผ้าเป็นลายอย่างไร สีอย่างไรถึงจะอินเทรนด์ แล้วเอาผ้าที่ทอเสร็จแล้วไปตัดเย็บต่อเป็นกระเป๋า ทำให้จากพรมเช็ดเท้าผืนละร้อย กลายเป็นกระเป๋าใบละหลายพันบาทได้ แม่บ้านก็ได้ผลตอบแทนเยอะขึ้น สามารถย้ายจากสลัมสังกะสีมาอยู่แฟลตได้
“เรารู้สึกเลยว่า สิ่งนี้เวิร์คมากเลย มันแก้ปัญหาบางอย่างในสังคมได้ และวิธีการแก้ไขของเขาใช้ความครีเอทโดยไม่ต้องไปขอเงินใคร สิ่งนี้มันเลี้ยงตัวเองได้และเป็นอาชีพได้จริงๆ เราก็ทดไว้ในใจว่าสิ่งนี้เป็นทางออกหนึ่งของคนที่อยากจะทำงานแก้ไขปัญหาสังคมโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราชอบมาก”
เช่นเดิม ธนันเริ่มศึกษาเรื่องของ Social Enterprise (SE) อย่างจริงจังผ่านหนังสือและนิตยสารต่างประเทศ จากเดิมที่เขารู้จักการทำงานบนฐานของประชาสัมพันธ์หรืองานมูลนิธิ แต่ขณะนี้ เขาได้เรียนรู้อีกว่า บนโลกของเรามีกิจการที่ทำโดยการเลือกปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้ง ออกแบบวิธีการแก้ และออกแบบว่าเราจะอยู่อย่างไรโดยใช้วิธีการทางธุรกิจ
“ระหว่างที่เริ่มรู้จัก SE และจากการทำงานเป็นที่ปรึกษา ทำให้เรามีความคมทางด้านการมองภาพธุรกิจมากขึ้น และเราเคยเป็นคนที่ถ้าถึงจุดหนึ่งแล้วอาจจะเรียกได้ว่า เป็นนักธุรกิจที่มีความเข้าใจเชิงกลยุทธ์ แต่ในขณะเดียวกัน เราตระหนักรู้กับการมีปัญหาอยู่ในสังคม และปัญหานั้นยังแก้ไม่ได้ เราเคยเห็นคนที่พยายามทำงานแก้ไขปัญหาสังคม พวกเขาเหนื่อยมาก ลำบากมาก ตั้งใจมาก แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และการจะอยู่รอดได้ไปปีหนึ่งๆ เขาก็ยากแค้นมาก นี่คือภาพที่มันประกอบกันอยู่ช่วงหนึ่ง”
เขาเรียกตนเองว่า ‘ลูกผสม’
ความรู้จากประสบการณ์ทำงานภาคธุรกิจของธนันประกอบกับการตระหนักถึงปัญหาสังคม สองสิ่งซึ่งทำให้เขาขนามนามตนเองว่า ลูกผสม ผู้ที่พยายามจะถักทอความรู้และความตระหนักรู้นี้เข้าด้วยกัน
หากย้อนไปในอดีต ความเป็นไปได้นี้ช่างคลุมเครือนัก แต่ ณ ขณะนี้ เขารู้จักเครื่องมือที่ชื่อว่า SE (Social Enterprise) พร้อมๆ กับการพาตนเองไปอยู่ในทุกๆ เวทีในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม ความป็นไปได้ในการเชื่อมโยง social (สังคม) และ enterprise (กิจการ) จึงชัดขึ้น และเป็นหมุดหมายสำคัญของธนันต่อจากนี้
“การไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมาย มันไปเพิ่มความเข้าใจในส่วนของคำว่า social เพราะคำว่า enterprise เราคิดว่าชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว แต่ social เรารู้แค่ว่ามีปัญหาอยู่นะ แต่เราได้ไปทำความเข้าใจจริงๆ ก็ตอนไปเข้ากิจกรรมต่างๆ ว่าปัญหาเหล่านั้นมีสิ่งที่เรียกว่า รากของปัญหา ซึ่งบางทีเรารู้บ้างไม่รู้บ้าง และวิธีการที่จะไปแก้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ
“ผมชอบพูดประโยคหนึ่งซึ่งก็ยังเกิดขึ้นคือ แจกผ้าห่มทุกปี ตั้งแต่ผมเด็กเลยนะ แล้วที่บ้านเราเวลาห่มผ้า ผ้าห่มผืนเดิมยังอยู่ไหม ก็ยังอยู่ ผ้าห่มไม่ได้สลายหายไป แต่ก็ยังมีข่าวว่าคนหนาวตายทุกปี คำถามคือเกิดปัญหานี้ขึ้นได้อย่างไร
“นี่คือปัญหาที่บางทีเราอาจจะยังไม่ได้เข้าใจในวิธีการแก้ เราได้เรียนรู้ว่า เวลามองปัญหา เช่น มีคนยากจนหรือคนแก่ที่หนาวตายนั้น อาจจะไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีผ้าห่ม แต่เกิดอะไรขึ้น เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน
“การสร้าง solution ในการจะแก้ปัญหา ต้องใช้การมองที่สร้างสรรค์มากๆ ถึงจะแก้ได้เพราะ หนึ่ง ต้องแก้ปัญหาจากรากจริงๆ ขณะเดียวกัน ถ้าจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีการออกแบบที่ดีพอ ไม่ใช่แก้ได้แค่กับคนบ้านเดียว หมู่บ้านเดียว ซอยเดียว แต่มีโอกาสที่จะขยายผลไปแก้ให้ปัญหานั้นหายไปได้เลย และระหว่างที่จะทำจนปัญหามันหายไปได้เลยนั้น คนที่ทำงานจะอยู่ได้อย่างไร นี่แหละคือ enterprise เราได้เรียนรู้ว่าคนที่เขาทำเรื่องนี้ เขาทำอะไรกันอย่างไรบ้าง”
“เขาทำอะไรกัน อย่างไรบ้าง ?” เราถาม
“เขาต้องเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งคำว่าเข้าใจก็ไม่ใช่ในเชิงศึกษาวินิจฉัยโรคอย่างเดียว เพราะว่าโรคทางสังคมมีองค์ประกอบในการก่อให้เกิดโรคได้เยอะ บางเรื่องก็เป็นเรื่องตรงๆ บางเรื่องก็เป็นคน หรือสังคม หรือระบบที่ประกอบกันและสร้างขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ ถ้าเรียนด้วยความง่ายก็คือ การไปฟัง ถ้าเรียนด้วยความยาก ก็เช่น ถูกด่า หรือมีความเจ็บปวดจากการไปเข้าร่วมวง”
บทเรียนที่ 1: คนนอกวงการ
“มีสองเหตุการณ์ที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ของชีวิต และส่งผลให้เรามาเริ่มต้นทำ Social Enterprise เหตุการณ์ที่หนึ่งคือ เราถูกชวนให้เป็น mentor ในงานประกวดแผนธุรกิจด้าน Social Enterprise เราก็ได้ไปคุยกับหลายๆ คนถึง background ว่าเขาทำอะไร ธุรกิจนี้เกิดจากอะไร เขาเข้าใจไหมว่ารากของสิ่งที่ทำอยู่ตรงไหน ซึ่งบางคนก็มี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีราก จากนั้นเราก็ชวนคุยในมุมที่เราถนัด นั่นคือการแก้ปัญหาไม่ว่าจะรากลึกหรือรากตื้น มันเป็นธุรกิจได้จริงๆ หรือเปล่า เราตั้งคำถามกับเขา ส่วนใหญ่เขาก็บอกว่าเป็นธุรกิจได้นะ เขาจะหาเงินแบบนี้ๆ ซึ่งคำว่าหาเงินมันก็อาจจะออกมาเป็นสินค้าบ้าง บริการบ้าง คำถามที่ถามต่อคือ ‘เคยทดสอบจริงๆ ไหมว่า สิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นสินค้าหรือบริการนั้น มีลูกค้าอยู่จริงๆ หรือเปล่า ลูกค้าซื้อไหม และซื้อต่อเนื่องไหม’ คำตอบก็คือ มีคนซื้อแน่นอน เพราะการซื้อทำให้คนซื้อได้ช่วยแก้ปัญหา และสินค้าเป็นเชิงคราฟต์ที่คนชอบซื้อ
“ผมจะเถียงทันทีเพราะรู้ว่าต้องไม่ใช่แน่นอน ผมบอกว่า การซื้อเพราะช่วยก็คือการบริจาค และเราจะไม่ซื้อพวงกุญแจทุกสัปดาห์ ซึ่งเขาก็ตอบมาว่า business plan ของเขาอาจยังไม่ชัด แต่ไม่เป็นไร พอทำงานไปซัก 2-3 ปี จะค่อยๆ พัฒนาเรื่องนี้ขึ้นมา ผมก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้า ณ วันแรกคุณไม่สามารถบอกได้ และ business plan คุณเป็นแบบนี้ ไม่มีทางหาได้ใน 3 ปีข้างหน้าแน่นอน
“คำพูดหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ‘ฝากไว้ก่อนนะมึง’ ก็คือ ‘พี่อยู่ในภาคธุรกิจ พี่อาจจะไม่เข้าใจคนที่ทำงานภาคสังคม’ ในครั้งนั้นผมรู้สึกว่า มึงพูดคำนี้กับคนอื่นได้ แต่กับกูไม่ได้เด็ดขาด อันนี้คิดในใจนะ (หัวเราะ)
“แต่ว่าสิ่งที่เราพูดไม่ค่อยมีคนเชื่อเพราะเราเป็นคนนอกวงการ เวลาคนถามว่าพี่ทำอะไร เราก็บอกว่าเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เขาก็จะบอกว่า นอกวงการ เราก็คิดว่า เฮ้ย หรือว่าเราต้องเป็นคนในวงการวะ เขาถึงจะเชื่อ คนในวงการก็หมายถึงว่า เป็น SE เต็มตัว”
บทเรียนที่ 2: คนอื่นหรือเรา ที่ไม่เข้าใจ
“เหตุการณ์ที่สองแรงกว่า เราไปเจอในโซเชียลว่า มีวงที่อยากชวนคนที่สนใจแก้ปัญหาสังคมมา brainstorm กันในการรณรงค์แก้ไขปัญหาเหมืองทองแห่งหนึ่ง ซึ่งพี่คนที่เป็นแกนนำเพื่อต่อสู้กับเหมืองที่ไม่ชอบธรรม เขาก็คิดว่ารณรงค์มาแล้วสู้ยาก มีใครสนใจจะทำงานนี้แล้วมาช่วยกันไหม เราก็คิดว่า ถึงเวลาของเราแล้ว เรามีมุมที่ต่างกับเขาแน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่ที่ทำงานนี้จะเป็นนักกิจกรรม แต่เราทำงานภาคธุรกิจมาก่อน ฉะนั้นเรารู้ว่าภาคธุรกิจเขาคิดอย่างไร และเรานี่แหละคือจิ๊กซอว์สำคัญที่จะเปลี่ยนสถานการณ์นี้ได้
“พอไปร่วม เขาก็แนะนำตัวกัน มีอาจารย์ นักศึกษา NGO นักเคลื่อนไหว เราก็แนะนำตัวว่า ‘ผมชื่อ ธนัน รัตนโชติ ทำงานที่ปรึกษาและด้านการตลาด และเป็นที่ปรึกษาความเป็นไปได้ในการเกิดโครงการใหญ่ๆ ของรัฐมาแล้ว’ หลังจากแนะนำเสร็จ บรรยากาศมันเริ่มมีไอสีเทา เกิดความตึงเครียด ทุกคนเริ่มมองผมไม่เหมือนเดิม พอเราเสนอไอเดียอะไรไปเขาก็เริ่มไม่อยากฟัง สุดท้ายก็ขอให้เรากลับ ด้วยเหตุผลที่เขาไม่แน่ใจว่าเราเป็นใคร เราอาจจะเป็นคนจากฝั่งเหมืองก็ได้
“เราเดินทางกลับบ้านซึ่งไกลมาก ในใจก็คิด ‘โถ่เอ้ย พวกคุณสู้เขาไม่ได้แน่ๆ เรามาช่วยแท้ๆ กล้าไล่เรากลับได้ยังไง’ แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มุมหนึ่งที่เราคิดได้คือ หรือเราจะไม่เข้าใจบางเรื่องของการทำงานภาคสังคม”
บทเรียนแรกคือความท้าทายที่สร้างแรงฮึดให้ธนันกระโดดสู่การทำงานแบบ SE หากแต่บทเรียนที่สองได้สะกิดเขาให้รู้ตัวว่า เขาเข้าใจการทำงานเพื่อสังคมจริงหรือ แล้วถ้าอยากทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เขาควรเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
“จากเหตุการณ์นั้น ผมได้มาเรียนหลักสูตรของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ ที่สอนเรื่องผู้นำยุคใหม่ในมุมเชิงมนุษย์ ได้มาอยู่ในแวดวงของคนที่ใส่เสื้อผ้าฝ้ายพื้นเมือง พันผ้าพันคอ สะพายย่าม และมานั่งคุุยกันมาสะท้อนมุมมองและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนๆ เขารู้สึกว่าเราแปลกมาก แต่เป็นแปลกที่ดีนะ เพราะคนทำงานเพื่อสังคมจะไม่ค่อยคิดในแบบที่เราคิด และเขาก็จะคิดอะไรที่เราไม่เคยรู้ว่ามีแบบนี้เหมือนกัน ใช้เวลา 4-5 ปีในการเรียนรู้อยู่กับสังคมใหม่นี้
“เราได้เรียนรู้มิติที่คราวนี้มันไม่ใช่เรื่องแค่วิเคราะห์ปัญหาที่สาเหตุแล้ว แต่เราเริ่มเข้าใจคำว่า ระบบนิเวศของปัญหา (ecosystem) แล้วจึงทำให้เริ่มมองและออกแบบวิธีการที่เกี่ยวข้องกับ ecosystem ด้วย เริ่มมีความคิดเวลามองปัญหาต่างๆ ในมุมที่มันอาจจะมีบางอย่างอยู่นอกซีนมากขึ้น หรือถ้าเราสนใจปัญหาไหน ก็รู้ว่าจะต้องศึกษามากกว่าแค่ปัญหาที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”
จิ๊กซอว์ของชีวิตเริ่มปะติดปะต่อความคิดของธนันจนเป็นรูปเป็นร่าง จากการออกไปตามหาความรู้ ความสัมพันธ์ และบทเรียนยากๆ ในการทำงานเพื่อสังคม ถึงตรงนี้ธนันพาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปสำรวจตัวตนของเขาอีกครั้ง และบทเรียนของชีวิตที่ตกตะกอนแล้ว ได้สอนเขาว่า
“trust เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ร้อน เพราะถ้าเราคิดว่าอยากช่วยคนคนนี้ เราไม่สามารถที่จะอยู่ดีๆ เดินเข้าไปในวงนี้ได้ และไม่สามารถไปชี้ด้วยว่า อันนี้ไม่ใช่ เพราะเรายังไม่ได้ trust กัน เพราะในสังคมนี้ลักษณะนี้ คุณต้องตั้งตนขึ้นมาว่า คุณเชื่ออะไร ต้องชัดว่าเราค้นพบหน้าที่ในชาตินี้แล้วว่าเราต้องการแก้อะไร และจงลงมือทำให้ปรากฏขึ้น เช่นนั้นแล้วเดี๋ยวแสงสว่างของคุณจะปรากฏขึ้นในจักรวาลนี้ และคนที่ทำงานจะเชื่อมกันเอง”
ถึงเวลาลงสนามจริง
“ในสมัยนั้นจะมีคำใหม่ คือ Startup ที่มีข้อดีอย่างหนึ่งคือก่อนหน้านี้ Social Enterprise คือการแก้ปัญหาแต่ทำเป็น business model แต่ Startup คือโอกาสของไอเดียที่มีความสร้างสรรค์หรือมีนวัตกรรมที่ดี มีรูปแบบที่ขยายการทำงานได้เร็ว รวมทั้งสามารถดึงดูดทรัพยากรหรือเงิน มาเริ่มต้นในการก่อร่างสร้างธุรกิจโดยที่ไม่เหมือนกับ SME เพราะ SME คือถ้าอยากได้เงินมาทำธุรกิจ มีบ้าน มีที่ มีอะไรก็เอาไปเข้าธนาคารแล้วเอาเงินออกมา แต่ Startup ใช้แค่ไอเดียที่ดีก็สามารถแลกเงินได้ เราเริ่มสนใจสิ่งนี้เพิ่มขึ้น”
อีกครั้งที่ธนันพาตนเองไปศึกษาในทุกๆ เวทีของ Startup ควบคู่ไปกับ Social Enterprise เพื่อเชื่อมแนวคิดของทั้งสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน กระทั่งมีกิจกรรมที่ชื่อว่า Hackathon ของ Startup Thailand หรือการประกวดแผนธุรกิจในโจทย์ Social Impact (ผลลัพธ์ทางสังคม) ธนันบอกกับเราว่า ‘ถึงเวลาลงสนามแล้ว’
“เราอยากจะลงมือสร้างอะไรอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งครั้งหนึ่งในระหว่างการทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ เรามีโอกาสให้คำปรึกษากับบริษัทที่ขายเคมีเกษตร ตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่าเคมีเกษตรมันฉีดน้ำยาอันตราย แต่พอเราไปลงพื้นที่ศึกษาในไร่ สวน นา เราเจอว่าเขาฉีดเยอะกว่าที่รู้มาก โอ้โห ของที่กูกินที่บ้าน ล้างยังไงก็ไม่ออก กลับมาบ้านก็รู้สึกว่ากำลังกินยาพิษอยู่ จึงเริ่มคิดว่าเราควรมีอาหารปลอดภัยกิน
“พอไปศึกษาก็พบว่า อาหารปลอดภัยบ้านเราโคตรแพง ราคาไม่ได้เผื่อให้คนกินได้ทุกวัน และเราในฐานะผู้บริโภคก็กลับมาคิดว่า ทำอย่างไรให้ที่บ้านมีของปลอดภัยกินในราคาไม่แพง จึงหาต่อว่ามันแพงที่ตรงไหน ปรากฏว่าต้นทางไม่ได้แพงมาก แต่มาแพงระหว่างทาง โลจิสติกส์ ค่าการตลาด บวกกับวัตถุมันถูกมองว่าเป็นของพรีเมียม และของพรีเมียมไม่ควรขายถูก
“เรารู้สึกว่าถ้าไม่ซื้อผ่านระหว่างทาง แต่ไปซื้อกับคนปลูกคนเลี้ยงน่าจะได้ถูกกว่า ซึ่งจริง แต่ต้องซื้อทีละเยอะๆ แล้วทำอย่างไรถึงจะซื้อได้ครั้งละเยอะๆ เลยคิดได้ว่าเราซื้อคนเดียวไม่ได้ ต้องซื้อทั้งหมู่บ้าน จึงไปคิดโมเดลรวมทั้งหมู่บ้านว่าใครอยากกินอาหารออร์แกนิค แล้วสั่งตรงจากเกษตรกรที่ไม่ไกลจากเรา ส่งมาที่หมู่บ้านเลยแล้วค่อยเอามาแบ่งกัน เราตั้งทีมชื่อว่า Green Save แล้วเอาไอเดียนี้ไปแข่งใน Startup Thailand ผลปรากฎว่าได้ที่หนึ่ง”
ธนันพบว่า เกษตรกรที่ปลูกเกษตรอินทรีย์หาลูกค้าไม่เจอ และคนกินอย่างเราๆ ก็หาที่ซื้อไม่ได้ ทำให้หลังจากการประกวด ธนันเดินหน้าเต็มสูบในการสานต่อ Green Save แต่เพราะอุปสรรคเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน ธนันจึงมาถึงทางที่ต้องเลือก ระหว่างธุรกิจที่กำลังไปได้ดี กับอาการป่วยของแม่
PLANT:D สวนผักอินทรีย์ที่ตั้งต้นจาก ‘แม่’
“คุณแม่เป็น Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) เมื่อกลับจากโรงพยาบาล แม่ไม่สามารถเดินสวนที่เป็นงานอดิเรกได้ จากคนชอบทำงานก็เฉา นั่งดูทีวีทั้งวัน เราก็รู้สึกว่า ไม่เวิร์คแล้วเพราะในระยะยาวจะต้องเจ็บป่วยแน่ๆ เลย เราก็เลยคิดว่า ปลูกอะไรดีที่ได้เดินดูแต่เดินนิดเดียว เราก็นึกถึงผัก จากนั้นจึงดีไซน์เป็นโต๊ะเล็กๆ ปลูกผักอะไรหลายๆ อย่าง ดูแลรดน้ำพรวนดินในกระถาง พอออกแบบเสร็จและให้แม่ทำ ซึ่งมันเวิร์ค แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจเพราะตอนนั้นเราก็กำลังเริ่มกับ Green Save เพราะชนะมาแล้ว ก็อยากวิ่งต่อ
“พอเราไปเล่าให้เพื่อนฟัง เขาก็ไปลองทำกับพ่อแม่ซึ่งเป็นที่สนใจมาก แต่พอปลูกเสร็จแล้วไม่เวิร์ค เพราะตอนเราทำงานเรามีเวลาอยู่ที่บ้านด้วย เราไปหยิบจับช่วยดูบ้าง แต่ไม่ได้เข้าไปช่วยทำสวนนะ ทำแต่ส่วนเล็กๆ น้อย แต่เพื่อนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาทำอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสูงอายุสามารถทำสวนผักเล็กๆ ในบ้านของตัวเองได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ได้คล่องแคล่วว่องไว
“เราเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นต้องมีใครสักคนมาช่วยดูแลแบบนี้ในชุมชนผู้สูงอายุ เพราะบ้านเดียวไม่ไหวแน่ๆ ถ้ามีใครสักคนมาช่วยก็ต้องจ้างเขา แต่จ้างอย่างไรจะไหว ก็ต้องเป็นหลัก 20-30 บ้าน ลงขันกันจ้าง บ้านละนิดละหน่อย เช้าอยู่บ้านนี้ สายอยู่บ้านนู้น หมุนเวียนกันไป อย่างนี้ถึงจะอยู่ได้ แต่จะเอาตังค์ที่ไหนมาจ้าง? ก็เลยมาคิดว่าเราไม่ควรปลูกผักเป็นงานอดิเรกเฉยๆ แล้ว ควรมี business model โดยการขายผัก และนำกำไรมาจ้างคน และเหลือพอให้เป็น operation ได้ด้วย นั่นคือโมเดลของ Social Enterprise”
เมื่อ PLANT:D ถือกำเนิดในขณะที่ Green Save ก็กำลังเติบโต ธนันในฐานะซีอีโอจึงมองว่าเขาไม่อาจทำสองสิ่งไปพร้อมๆ กันได้ เมื่อถึงทางแยกนี้ ธนันเลือกที่จะไปต่อกับ PLANT:D ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งนี้มีแม่ของเขาประกอบอยู่ เขาหยุดขยายงานของ Green Save และมาเริ่มต้นทำ PLANT:D อย่างจริงจัง
“ตอนนี้เรามี 5 ชุมชนที่เริ่มต้นทำงานและเริ่มมี โครงสร้างในการแก้ปัญหาผู้สูงอายุ เพราะเมื่อเขาเริ่มเกษียณ คนที่ไม่ค่อยมีเงินเยอะซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุวัยเกษียณ การออกจากบ้านจึงเป็นเรื่องสิ้นเปลือง พออยู่บ้านก็รู้สึกว่าเหงาและไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร เขาเหล่านั้นจะดูทีวีเป็นหลัก นั่งๆ นอนๆ และมีอาการออฟฟิศซินโดรม และพอไม่ได้มีการโต้ตอบสื่อสารกับคนเพราะดูทีวีอย่างเดียว ก็ทำให้เกิดการเสื่อมด้านสุขภาพและการทำงานของสมอง
“โจทย์ของ Plant:D คือ หนึ่ง ทำอย่างไรไม่ให้นั่งๆ นอนๆ ดูทีวีทั้งวัน ได้ลุกออกมาทำสวนผักในบ้าน สอง จัดการเรียนรู้ในชุมชนให้ออกจากบ้านมาเจอกัน มีเพื่อน มีสังคม มีเรื่องที่จะคุยกันเป็นสาระจริงๆ และสุดท้าย ขายผักเป็นรายได้ได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราทำ”
การเดินทางของ PLANT:D มีโจทย์ปลายทางที่ใหญ่ไม่น้อย เขาบอกกับเราว่า การแก้ปัญหาไม่ควรจบที่ซอยเดียว หรือหมู่บ้านเดียว เพราะธนันเห็นโอกาสในการขยายแนวคิดนี้ไปยังชุมชนทั้งเมืองหลวง ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ธนันรับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหามากมาย เขาเริ่มสนใจในประเด็นการศึกษา ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ผมเคยไปเรียนรามฯ มาแล้ว และ 1 ปีสามารถสอบเข้าวิศวะ จุฬาฯ ได้ แสดงว่าการเรียนในระดับที่เรียนดี คะแนนดี มันเรียนเองได้ แต่คำว่าเรียนเองได้ในสมัยนั้นมันแปลว่าสอบได้คะแนนเยอะเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเข้าใจอะไรเยอะ
“ขณะเดียวกัน เรามาทำกิจการส่วนตัว ไม่ต้องฝากชีวิตไว้ให้ใครมากำหนดว่าเราจะมีอนาคตความก้าวหน้าอย่างไร เรากำหนดเองได้ และระหว่างทำงาน เราจบวิศวะ แต่มาทำงานการตลาด มาเปิดธุรกิจเองซึ่งต้องเรียนรู้ทุกเรื่อง การเงิน บุคคล เรื่องพวกนี้ต้องเรียนใหม่หมดเลย เรามีประสบการณ์จากการเรียนรู้ในเรื่องที่เราไม่ได้เรียนจากสถาบันการศึกษาในระบบ เพื่อนำมาใช้เป็นวิชาชีพในการทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ทำให้เรามีความเชื่อมากว่า คนเราสามารถเรียนรู้เรื่องที่เราอยากเรียนรู้ได้เอง โดยที่ไม่ต้องผ่านโรงเรียนก็ได้”
แลนด์สเคปของการศึกษาผ่านแว่นตาของนักการตลาด
“ผมเคยไม่มีความหวังใดๆ ฝากไว้กับระบบโรงเรียนเลยนะ” เขากล่าวและเว้นช่วงให้ความคิดได้ย้อนเวลา
“ความหวังนั้นกลับมาตอนไหน” เราถามกลับ
“การเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ควรทำให้คนมีปัญญาถึงจะเปลี่ยนประเทศได้ แล้วคำว่าปัญญาไม่ได้แปลว่าสอบได้กี่คะแนน พอโรงเรียนวัดคนโดยการสอบ ผมจึงรู้สึกว่าโรงเรียนอาจไม่ใช่ทางออกของการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคนี้ แต่เชื่อมั่นว่าการศึกษาที่สร้าง ‘ปัญญา’ คือทางออก”
แม้ธนันจะเป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาไทย แต่รายทางชีวิตของเขาเท่าที่ผ่านมา ได้ย้ำกับธนันว่า การศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ได้สร้างคนให้เกิด ‘ปัญญา’ ถึงขั้นว่าธนันได้ทำ Home school เพื่อให้ลูกของเขาหลุดออกจากโซ่ตรวนของการผลิตคนสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรม แต่จากการทำงานที่ผ่านมาก็ทำให้ธนันได้มองมุมกลับของปัญหา ประกอบกับการได้มาร่วมงานกับ ‘โครงการผู้นำแห่งอนาคต’ ในฐานะ Intrapreneur และได้มาร่วมงานกับโครงการย่อยที่ชื่อว่า ‘ก่อการครู’ โลกทัศน์ต่อระบบการศึกษาของเขาจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป
“ผมได้เรียนรู้บางอย่างที่จะทำให้เริ่มต้นเข้าใจระบบนิเวศของสิ่งนี้มากขึ้น เช่น ระบบของการศึกษาทำให้ครูมีภาระมากเกินไปโดยเฉพาะการทำเอกสาร ถ้าในมุมของ Startup หรือ Innovation เราจะตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้กระบวนการนี้ถูกตรวจสอบว่าควรมีอยู่จริงไหม หรือในส่วนไหน แต่ถ้าต้องมีอยู่ ทำอย่างไรให้ไม่ไปกินหน้าที่หลักของครู ผมยังไม่เข้าใจว่า ทำไมระบบมันต้องทำอะไรเยอะขนาดนี้ ทำแล้วเป็นประโยชน์จริงหรือเปล่า วิธีการที่ทำอยู่ ทำแบบที่คนฉลาดทำแล้วหรือยัง สิ่งนี้ยังต้องหาต่อ
“มาเจอกับระบบนิเวศแบบไหนในโปรเจ็คต์นี้” เราถาม
“ผมเจอว่ามีครูที่ตั้งใจเยอะกว่าที่คาดคิด เดิมที่ผมคิดคือครูส่วนใหญ่ก็สอนไป เด็กได้ก็ได้ ก็ถ้าไม่ได้ก็เป็นกรรมของเด็ก ครูที่ตั้งใจทุ่มเทเหมือนในหนังอาจจะมีอยู่จำนวนน้อย แต่พออยู่ในมุมนี้แล้ว ผมคิดว่ามีพลังอยู่ในระบบของครู เป็นคนๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศเยอะเหมือนกันนะ แต่ก็มีพลังที่ดูดกินแบตเตอรี่ครูเยอะเหมือนกัน คือถ้าครูมีพื้นที่ที่ปลอดโปร่งโล่งจากการประเมิน เอกสาร หรือความกดดันจากเพื่อนร่วมงานเราจะเห็นได้เลยว่าครูทำอะไรได้บ้าง”
“การศึกษาเป็นโจทย์ที่ใหญ่ เราจะต้องคิดแบบไหนดีถึงจะไปต่อได้” เราถาม
“ผมไม่ได้อยู่ในระบบ ผมก็ห้าวได้ (หัวเราะ) แต่ในฐานะของคนที่อยู่ในระบบ เช่น มีน้องคนหนึ่งบอกว่า ผอ. บอกว่าไม่เห็นต้องมา มาทำไม ต่อให้มาเอง จ่ายตังค์เอง ก็ยังบ่น กลับไปก็อาจจะโดนบ่นอีก และอาจจะเป็นที่เพ่งเล็งด้วย คือเหมือนบริษัทที่ไม่ค่อยแอคทีฟมาก ใครขยันมาก็เป็นภัยต่อเพื่อนร่วมงานถ้า ผอ. สนใจ แต่ถ้าเขาไม่สนใจ ครูก็จะหัวเดียวกระเทียมลีบ”
“เราคิดว่าหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้จากนวัตกรรมข้างนอกแล้วเอาไปใส่ คือ ecosystem ของระบบมันก็มีเรื่องของระบบราชการ ผมเห็นโอกาสหนึ่งคือเรื่อง ระบบราชการที่ต้องมีเป้าหมาย มี KPI ในการทำงานภาคสังคมเราสามารถประสานพลังกับระบบ โดยการที่ทำให้เขาได้เป้าหมาย ได้ผลงาน แต่เราได้เนื้องานจริงๆ ด้วย โดยใช้ทรัพยากรของเขาและความแข็งแรงที่ระบบมีอยู่
“หรืออีกเรื่องคือ ระบบจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้หากมีบางที่ทำผลงานได้ดีมากๆ และเป็น role model เหมือนตอนผู้ว่าฯ เชียงราย (ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นที่รู้จักจากกรณีช่วยเหลือ 13 หมูป่า – ผู้เขียน) ฉะนั้นในราชการจะมีโอกาสในเชิงระบบอยู่ คือ การสร้างตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงให้ประจักษ์ จะเป็นกลไกหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง ใช้ธรรมชาติของระบบให้มันทำงานและขยายผล”
ธนันย้ำกับเราว่า ความเห็นของเขาคือสายตาของคนนอก และเป็นสายตาที่ไม่ได้มองผ่านแว่นของราชการ แต่เป็นแว่นของนักวางแผนกลยุทธ์
“เราสร้างระบบการศึกษาขึ้นมาในยุคที่โลกเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า แต่ตอนนี้ ตำราที่เรียนเพื่อปริญญา 4 ปี ก็เป็นความรู้ที่สรุปมาจาก 10 ปีที่แล้ว แถมเป็น 4 ปีที่อาจเกิดบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เอาง่ายๆ คนเรียนสื่อสารมวลชนบอกว่า ออฟไลน์จะไม่รอดแล้ว ออนไลน์กำลังมา แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า แม้แต่เฟซบุ๊ค ไอจี ทวิตเตอร์ อาจเอาท์ออฟเดทเหมือนกับทีวีในตอนนี้ก็ได้
“เมื่อโลกหมุนเร็วขนาดนี้ ระบบมันเคลื่อนไม่ทัน เพราะ หนึ่ง ระบบมันไม่เดือดร้อนทันทีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว และ สอง เพราะระบบมีองคาพยพที่ใหญ่ จะเปลี่ยนอะไรก็ช้า แต่ขณะเดียวกัน ที่ผมบอกว่าการเปลี่ยนระบบ บางครั้งมันเปลี่ยนได้ด้วยกลไกที่ทำให้ระบบเดือดร้อนในการคงอยู่แบบเดิม และถ้าเราไม่ทำอะไร ชาติเราคงอยู่ไม่รอด ชาติเราอาจจะเป็นได้แค่แรงงานของโลก งานไหนใช้แรง ใช้คนไทย ถ้าใช้สมองต้องจ้างคนอื่น น่ากลัวนะ”
เมื่อจักรวาลให้รางวัลกับความเหนื่อยยาก
หลายๆ บทเรียนของธนัน ที่เขาย่นย่อการเดินทางกว่าครึ่งของชีวิตผ่านบทสนทนาในครั้งนี้ ถูกบอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ผ่านสายตาที่เป็นประกาย และผ่านเจตจำนงที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นความรัก การเรียน การทำงานเพื่อความมั่นคงของชีวิต หรือการทำงานเพื่อความมั่นคงของสังคม คล้ายว่าเขาเองก็ได้กลับไปสำรวจตรวจสอบรายทางที่ผ่านมาอยู่เสมอ ทำให้วันนี้ เราสัมผัสสิ่งหนึ่งได้ว่า เขาค้นพบสิ่งที่ต้องทำในชาตินี้แล้ว
“ตัวผมค่อยๆ เปลี่ยนจากการยืนยันว่าเราเป็นคนที่คิดได้ดีและถูก มาเป็นการพยายามเข้าใจสภาวะและคนที่กำลังจะไปทำงานด้วยกันมากขึ้น ถ้าสรุปทั้งหมดที่ผ่านมาเราเปลี่ยนแปลงในมุมวิธีการคิด มุมมองต่อผู้อื่นกับเรา จากที่เราเคยรู้สึกว่าฉลาดกว่า ถ้าคุณมีปัญหาอยู่แล้วผมมาช่วย คุณจงฟังผม แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าอะไรที่มันเป็นปัญหาคือยอดบนสุดเลย แต่ข้างล่างของมันมีอีกเยอะมาก อย่าเพิ่งคิดว่าต้องทำอะไรจนกว่าเราจะพอเห็นภาพที่ชัดพอสมควร ซึ่งเราก็อาจยังไม่รู้ทั้งหมดด้วยนะ แต่ชัดพอสมควรที่จะเริ่มเข้าใจตรงกันกับเขา หรือชวนเขามองในมุมบางมุมแล้วเขาเห็นด้วย จึงจะเริ่มแก้ปัญหา
“มุมในการรับฟังและเชื่อว่าเขาทำเต็มที่แล้ว แต่เขามีขอบเขตเหมือนที่เรามีขอบเขต คือความเข้าใจ ความรู้ ความสามารถ ดังนั้นจึงต้องมาช่วยกันพัฒนาขอบเขตนั้นให้กว้างขึ้นทั้งสองฝ่าย และเอามาร่วมกันให้ได้ ตรงนี้ผมคิดว่ามันคือการเติบโตจากการทำงานในภาคสังคมที่ผ่านมาครับ”
อีกสิ่งหนึ่งที่เขาบอกเรา นั่นคือจักรวาลเริ่มให้รางวัลจากความเหนื่อยยากในการเป็นแบบอย่างให้กับลูก แต่มีสิ่งหนึ่งที่จักรวาลให้รางวัลเขามานานแล้ว สิ่งนั้นก็คือ
“สาวที่ผมลงทุนตั้งใจเรียน เธอคือภรรยาของผมในวันนี้นะครับ” ธนันยิ้มกว้าง