เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก ด้วยการใช้ปัญญาโลก และปัญญาชีวิต
Reading Time: 3 minutesโครงการผู้นำแห่งอนาคตได้ออกแบบจัดอบรมเวทีผู้นำร่วม หรือ CL ซึ่งเป็นการชักชวนกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายวงการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกระบวนการ dialogue และ world cafe หลังจากเคยจัดอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีแรกของโครงการ หลังจากการสรุปบทเรียนและปรับปรุงกระบวนการ ในชื่อ “เวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต “ผู้นำร่วมสร้างสุข” ( Leadership for Collective Happiness – LCH )” เป็นเครือข่ายใหม่โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีพื้นที่การทำงานของตัวเอง นำมาผ่านกระบวนการร่วมกันที่ออกแบบเป็น 3 โมดูล
โมดูลแรก เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองและเข้าใจสถานการณ์ของโลก โมดูลที่สอง เป็นการนำผู้เข้าร่วมไปสำรวจเรื่องราวภายในจิตใจ เพื่อค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในออกมา และโมดูลที่สาม เป็นการสำรวจทิศทางของเครือข่ายร่วมกัน โดยเป้าหมายหลักของโครงการคือสร้างผู้นำร่วมที่สามารถนำการเรียนรู้ที่ได้ไปขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อในพื้นที่ของตัวเองและสังคมโดยรวม
กระบวนกรแนะนำรูปแบบกิจกรรมในโมดูลแรกว่า เป็นการผสมผสานระหว่างการกลับเข้ามาฟังเสียงความรู้สึกนึกคิดหรือครูที่อยู่ข้างในตัวเอง พร้อมกับช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยของการสนทนาเพื่อรับฟังกันและกัน เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมแนะนำตัวเอง งานที่ทำ ความคาดหวังต่องาน พบว่าบางคนอยากมาฟื้นฟูพลังข้างใน มาเรียนรู้จากผู้เข้าร่วม มาหาเพื่อนใหม่ ความรู้ใหม่ เครื่องมือใหม่ และเครือข่ายใหม่
ต่อด้วยการทำความรู้จักกันและจับคู่ buddy ให้ผู้เข้าร่วมสนทนากันผ่านร่างกาย สิ่งดึงดูดและกวนใจกันในตัวเพื่อนที่เราจับคู่ด้วย หรือสถานที่ที่แต่ละคนผูกพัน เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เข้าร่วมค่อยๆ คลี่เปิดตัวเองออก ก่อนจะเข้าสู่ การรับฟังอย่างลึกซึ้งและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ยังคงเป็นกิจกรรมจับคู่ โดยกระบวนกรเชิญชวนให้แต่ละคนใคร่ครวญเส้นทางชีวิตของตนเอง แล้วสลับกันเล่าให้คู่ของเราฟังด้วยกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง ที่ไปพ้นการตัดสินตีความและจับผิด แต่ฟังให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เพื่อนอาจไม่ได้พูด หรือเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วให้ผู้ฟังสะท้อนคุณค่าและความงดงามที่เห็นในตัวผู้เล่ากลับไปเป็นของขวัญซึ่งกันและกัน แล้วจึงชวนคู่สนทนาของเราไปจับกลุ่มอื่นๆ รวมเป็น 6 คน เรียกว่า Home Base หรือกลุ่มบ้านที่จะทำกิจกรรมและสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันตลอดสามโมดูล
ช่วงบ่าย หลังจากกิจกรรม Body scan หรือผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์และยืดเส้นยืดสายด้วยการเล่นโยคะคู่แล้ว เป็นกิจกรรมสำคัญที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมรู้จักตัวเองและเพื่อนในอีกรูปแบบหนึ่งคือ เดินข้ามเส้น หรือ Crossing the line โดยกระบวนกรจะพูดหนึ่งคำ แล้วให้ผู้เข้าร่วมเลือกว่าตัวเองเป็นหรือมีประสบการณ์ตรงกับคำดังกล่าวหรือไม่ ถ้าตรง ให้เดินข้ามเส้นกลางจากฟากหนึ่งของห้องไปอีกฟากหนึ่งตามความสมัครใจ ตัวอย่างคำเช่น เกิดในครอบครัวที่อบอุ่น เคยถูกครอบครัวลงโทษโดยไม่ยุติธรรม เป็นต้น โดยแต่ละคำที่กระบวนกรพูดจะค่อยๆ ลงลึกไปถึงเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากๆ หรือความคิดความเชื่อในชีวิตและทางการเมืองที่แต่ละคนอาจจะไม่เคยใคร่ครวญหรือบอกกล่าวกับใครมาก่อน เป็นการฝึกที่จะเรียนรู้ ยอมรับประสบการณ์และสิ่งที่แตกต่างหลากหลาย สุ่มเสี่ยงกับการโดนตัดสิน กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างวุฒิภาวะข้างในจนหนักแน่นพอที่จะเข้าใจและยอมรับความเจ็บปวดที่อยู่ในตัวเองและเพื่อน มองเห็นความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากความแตกต่างของเพศ ผิว สถานะทางเศรษฐกิจ ถูกออกแบบให้ข้ามความแตกต่างและให้เกิดความเห็นใจ
หลังการพักเบรกจากการผ่านกิจกรรมที่ต้องทำงานกับความรู้สึกข้างในตัวเองอย่างหนักหน่วงไปแล้ว เป็นการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา เส้นทางชีวิต การเติบโตด้านใน และการรับใช้สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง (The Mythical Path of Hero’s Journey)
โดยกระบวนกรนำเสนอแนวคิดเรื่อง Hero’s Journey 12 ขั้นตอนอย่างคร่าวๆ แล้วให้ผู้เข้าร่วมทบทวนใคร่ครวญอยู่กับตนเองด้วยคำถาม 5 ข้อ คือ 1. ทำไมเราถึงทำสิ่งนี้ 2. เราทำแล้วได้อะไร เสียอะไร 3. ของขวัญ คุณสมบัติ พรสวรรค์ในตัวเราคืออะไร 4. เราผ่านอุปสรรคหรือวิกฤตที่สุดในชีวิตมาได้ด้วยอะไร 5. สิ่งที่อยากเฉลิมฉลองหรือไว้อาลัย ก่อนจะจับกลุ่ม 4 คนเพื่อแบ่งปันเรื่องราวสู่กันฟัง ก่อนจะพักผ่อนและพูดคุยกันตามอัธยาศัย
เข้าสู่วันที่สอง หลังจากกิจกรรมภาวนาในช่วงเช้า เป็นเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยกับวิทยากร 6 คน เริ่มจากเรื่อง สังคมไทยทำร้ายเด็กไทยอย่างไร โดย ทิชา ณ นคร ต่อด้วยเรื่องปัญหาด้านการศึกษา โดย อนุชาติ พวงสำลี ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมในสังคมไทย โดย สฤณี อาชวานันทกุล ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม โลกที่กำลังเปลี่ยน โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในสังคมไทย โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ และโลกที่กำลังเปลี่ยน โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นกิจกรรมช่วงที่มีการนำเสนอข้อมูลอย่างอัดแน่นและชวนให้เกิดประเด็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักในมุมมองที่เปิดกว้างบนพื้นที่ปลอดภัยแม้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากลาย
ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเป็นการ “จับกลุ่มสรุปประเด็นในช่วงเช้า และหาทิศทางของประเทศร่วมกัน” การพูดคุยแลกเปลี่ยนในช่วงเช้า ซึ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันการสอนแต่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่เพียงพอ เพราะทุกเรื่องเชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ ประชาธิปไตย การใช้อำนาจ สิ่งแวดล้อม อาหาร แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันส่วนมากยังขังตัวเองอยู่แต่ในห้องเรียน มีกรอบเป็นกรงขังตัวเอง ทำอย่างไรจึงจะทลายกรงกรอบดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนและการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ได้
เมื่อกระบวนกรเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมแบ่งปันประเด็นที่ตนเองสนใจและต้องการพูดคุยกันต่ออย่างลงลึก สามารถนำมาจัดกลุ่มได้หลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ, แนวทางการดูแลจัดการเด็กที่ล้มเหลวในระบบอย่างเหมาะสม, จิตวิญญาณแห่งความเวลาคืออะไร ชีพจรที่เรียกร้องแห่งยุคสมัยคืออะไร, จากดอกไม้สู่พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง, การสร้างความกล้าหาญทางจริยธรรมและเคารพตัวเอง, เราจะปกครองสังคมไทยด้วยระบบอะไรในอนาคต จึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมจัดกลุ่มพูดคุยตามความสนใจ และนำมาแบ่งปันในวงใหญ่
ก่อนที่ช่วงค่ำ จะร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง Where to Invade Next โดยผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ไมเคิล มัวร์ เป็นสารคดีที่พูดถึงตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่น่าสนใจของยุโรปหลายประเทศ
วันที่สาม ช่วงเช้า หลังจาก ทบทวนและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เมื่อวาน ทำให้ได้มุมมองความคิดเห็นที่หลากหลายมาก หลายคนมองเห็นความหวัง ในขณะที่หลายคนยังสับสนและลังเลสงสัยอยู่ เพราะข้อมูลที่ได้รับมีมากมายมหาศาลเกินกว่าจะย่อยสลายทำความเข้าใจได้ในเวลาจำกัด กระบวนการจึงเชิญชวนผู้เข้าร่วมทำกระบวนการ “วิถีศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ : เพื่อการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของสังคม” การตั้งแกน (Centering) โดยการจับคู่ฝึกกับเพื่อน เรื่องการรับแรง (ซึ่งเปรียบเหมือนสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ) แบบทั่วๆ ไปตามความเคยชินและแบบหยั่งรากลงสู่พื้นดิน การรับแรงแบบที่เป็นปฏิปักษ์และว่าร้าย กับการรับแรงแบบเข้ามาอย่างเป็นมิตรและขอบคุณ เพื่อเรียนรู้การกลับมาสร้างความมั่นคงภายในไม่ให้หวั่นไหวไปกับแรงหรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบไม่ว่าดีหรือร้าย และยังนำมาช่วยให้เกิดการเติบโตด้านในได้อีกด้วย
กิจกรรมท้ายสุดคือการกลับมาใคร่ครวญอยู่กับตัวเองถึงสิ่งที่ได้รับ ได้เรียนรู้ และการมองไปข้างหน้า ว่าตลอดสามวันที่ผ่านมา 1. สิ่งที่อยากชื่นชม ยินดี ขอบคุณมีอะไรบ้าง 2. การรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดของตัวเอง/โลก เรารู้สึกรู้สากับประเด็นอะไรบ้าง เพราะเราแคร์อะไร 3. เราได้มุมมองอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเอง/ชีวิต/โลก และ 4. การไปข้างหน้า อยากทำอะไรอีก และอยากชักชวนใคร แล้วจับคู่แบ่งปันประเด็นที่ใคร่ครวญและช่วยซักถามเพื่อให้เพื่อนคิดชัดกว่าเดิม ขอบคุณ ขอโทษกันและกัน
ก่อนที่จะให้แต่ละคนพูดปิดท้ายรอบวงเพื่อปิดเวทีอบรม
ภาพกิจกรรม Album1 Album2 Album3
บันทึกเวที
LCH1 script 200208-10 final