สื่อสารอย่างสันติ ไม่ใช่โลกสวย ให้สังคมอยู่รอดจากความโกรธและโรคระบาด
Reading Time: 2 minutesตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทั่วโลกมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บรรยากาศในประเทศไทยเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ประชาชนทุกคนใช้ชีวิตกันอย่างระวังตัว หลายคนหาทางออกเพื่อปกป้องตัวเองด้วยสวมหน้ากากอนามัยแทบจะตลอดเวลา บางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการพบปะผู้อื่น เลือกทำงานที่บ้าน เก็บตัว และเริ่มกักตุนอาหาร
ความหวาดระแวงที่เกิดขึ้น บ่มเป็นความเครียดสะสม และความเครียดนี่เองกลายเป็นชนวนชวนทะเลาะให้โหมกระหน่ำ ลำพังแค่กักตัวเองอยู่ในบ้านก็เหมือนโดนรุมด้วยความโกรธ เครียด แค้น เศร้า ท่วมโลกโซเชียลมีเดียไปหมด
เราต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกพักใหญ่แน่ๆ แต่จะเอาตัวรอด เอาใจผ่านสถานการณ์นี้อย่างไรให้บอบช้ำน้อยที่สุด อย่างน้อยก็โผล่ให้พ้นทะเลแห่งความหวาดระแวง ขึ้นมาสูดหายใจสู้ต่อไปได้ด้วยสภาพจิตที่แข็งแรง
ทุกอย่างน่าจะเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยการสื่อสารอย่างสันติหรือ NVC
เราชวน ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรนักจัดการเรียนรู้เพื่อสำรวจโลกภายในตัวเองและผู้ก่อตั้งสถาบันขวัญแผ่นดิน ที่ยืนยันว่า NVC ไม่ใช่วิธีการโลกสวย แต่ช่วยได้มากๆ ในสถานการณ์เปราะบางที่คนสวมหน้ากาก ไม่พร้อมจะมองตา-เพื่อทำความเข้าใจกัน
NVC คืออะไร มีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างไร
NVC ย่อมากจาก Non-Violent Communication เป็นรูปแบบการสื่อสารที่เกิดขึ้นโดย มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ภาษาไทยเรียกว่าการสื่อสารอย่างสันติหรือการสื่อสารอย่างกรุณา
‘ภาษา’ ถูกทำให้เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความรุนแรงหรือความเกลียดชังได้ ตามพฤติกรรมมนุษย์เมื่อไม่พอใจ มักจะตำหนิกล่าวโทษ กล่าวหากันและกัน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ บาดหมาง เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ ฉะนั้นหากบอกว่าภาษาเป็นประตูเปิดรับสำหรับการสื่อสาร ในอีกด้าน ภาษาก็เป็นกำแพงสูงในการสื่อสารได้เช่นกัน
ดังนั้นแนวคิดของ NVC จึงเกิดมาพร้อมความเชื่อที่ว่า การสื่อสารควรเกิดขึ้นพร้อมความตระหนักถึง ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต้องการเบื้องลึก’ ของตัวเองว่าคืออะไร โดยปราศจากการตัดสินหรือการลงโทษ ซึ่งเป็นหนทางที่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
การสื่อสารอย่างสันติคือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย โดยการสื่อสารนั้นจะต้องโฟกัสไปที่สิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจน
เช่น ครูบอกนักเรียนว่า “ไหนที่เธอจะส่งงานตอน 9 โมง ทำไมไม่ส่งมา ทำไมเธอขี้เกียจแบบนี้ เธอไม่ได้เรื่องเลย”
แท้จริงแล้ว ความต้องการของครูคืออยากให้นักเรียนส่งงาน แต่การที่ครูบอกเด็กว่าขี้เกียจและไม่ได้เรื่อง คือทัศนคติหนึ่งที่ครูตัดสินและเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ครูต้องการ
นอกจากนี้ NVC ยังเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (connection before solution) นั่นหมายถึงการจะเดินไปหาทางออก จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจและความสัมพันธ์มาเกี่ยวข้อง
เพราะเมื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดี จากการรีบด่วนตัดสินคู่สนทนา ความร่วมมือในการแก้ปัญหาก็จะยากมากขึ้น นอกจากเราจะใช้อำนาจเผด็จการบีบบังคับ ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจสามารถควบคุมการกระทำให้เป็นหนึ่งเดียวได้ แต่มันจะปราศจากความสัมพันธ์อันดีและขาดการใส่ใจความรู้สึกซึ่งกันและกันไป
แล้ว NCV จะทำงานอย่างไรภายใต้สถานการณ์หลากหลาย เช่น ครอบครัว ห้องเรียน สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ
NVC สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกๆ บริบท เพราะเป็นการสื่อสารที่เอาพลังชีวิตเป็นที่ตั้ง เอาความต้องการของผู้พูดและผู้รับเป็นที่ตั้ง
ครอบครัว: NVC ในครอบครัวสำคัญมาก เพราะคำว่าครอบครัวเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ ที่มักมีการประเมิน ความคาดหวังและตัดสินแทบตลอดเวลา เมื่อมีบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจหรือไม่สบายใจ อาจจะก่อให้เกิดคำพูดเชิงประชดประชันหรือจิกกัดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่กับลูก ลูกกับพ่อแม่ พ่อกับแม่ สามีภรรยา ฯลฯ
ห้องเรียน: อาชีพครูเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ NVC ทำงาน เช่น นักเรียนมาสาย แทนที่ครูจะต่อว่านักเรียน แต่ถ้าครูชวนคุยหรือสอบถามว่าสาเหตุที่เขามาสายเป็นเพราะอะไร ค้นหาความต้องการของนักเรียนว่าคืออะไร เช่น นักเรียนมาสายเพราะตื่นสายหรือมีเหตุสุดวิสัย ถ้าครูด่วนตัดสินว่าเด็กคนนี้ไร้ความรับผิดชอบ ดุด่าและลงโทษ ความสัมพันธ์ที่ดีก็จะไม่เกิด
หรือในกรณีเด็กคุยกันในห้องเรียน แทนที่ครูจะต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเด็กไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียน แต่ครูเริ่มต้นด้วยการรับฟังก่อนว่าทำไมเด็กๆ ถึงคุยเล่นกัน และถ้าเด็กรู้สึกปลอดภัยพอเขาก็จะอธิบายออกมา ครูอาจจะหาความต้องการของพวกเขาผ่านการใช้ NVC เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน เพื่อแก้ปัญหาเด็กนักเรียนมาสายหรือคุยกันในห้อง เพราะ NVC จะทำให้เด็กรู้ว่าครูสนใจและแคร์เขามากๆ บางครั้งการสื่อสารอย่างสันติก็ช่วยพัฒนาบรรยากาศและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้
NVC ทำให้เราตัดสินคนอื่นช้าลง ช่วยค้นหาความต้องการเบื้องลึกของเขา เพื่อให้เราหาทางออกเพื่อตอบสนองเหล่านั้น ซึ่งนี่คือจุดมุ่งหมายของการสื่อสารอย่างสันติ
สื่อโซเชียล: กรณีที่เรารู้สึกไม่พอใจอะไรบางอย่างแล้วระบายลงสื่อโซเชียล มันก็ไม่ผิด แต่อย่าลืมว่าการระบายของเราจะต้องมีทางเลือก เราจะทำอย่างไรให้การระบายความทุกข์ใจของเราไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่นและไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ลึกๆ เราอาจจะรู้สึกเจ็บปวด รังเกียจ แต่อย่าลืมว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเรารู้สึกอย่างไร เราอยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างไร ใช้เหตุผล ผมคิดว่าอารมณ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อารมณ์ที่ออกมาจากการตีตรามันทำให้เกิดการลดทอนและไม่เกิดประโยชน์อะไร
ผมเข้าใจว่าสื่อโซเชียลเป็นอะไรที่ควบคุมยาก มันอิสระมาก อยากชวนมองว่า มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าการสื่อสารของเราตรงประเด็นชัดเจนโดยที่ไม่ไปรุกล้ำ ไม่เหมารวม และไม่ทำร้ายคนอื่น
ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับ 2 สถานการณ์ใหญ่ที่พร้อมจะสาดใส่และทำร้ายกัน คือ Covid-19 และ ความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน การใช้ NCV จะมองว่าสุดโต่งหรือดูโลกสวยไปหรือไม่
NCV ไม่ได้บอกให้ทุกคนโลกสวย แต่ NCV ช่วยให้เรากลับมามองโลกตามความเป็นจริงว่าเบื้องหลังในสิ่งที่เรากำลังพูด กำลังสื่อสาร ความต้องการที่แท้นั้นคืออะไร หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์มันมีความไม่ตั้งใจและไม่ระวังอยู่แล้ว ซึ่งมันน่าจะดีกว่ามั้ยถ้าเราเลือกที่จะสื่อสารอย่างสันติเข้ามาช่วยเพื่อจะเปิดพื้นที่ให้เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ คนเราโกรธหรือเกลียดได้นะครับ เพราะประโยชน์ของอารมณ์โกรธบางครั้งก็เป็นชนวนในการจุดกระแสได้ดี หมายถึงเราสามารถใช้ความโกรธเกลียดมาเพื่อจุดกระแสสังคมได้ แต่เราต้องตอบตัวเองได้ว่าเราโกรธหรือเกลียดอะไรและเราต้องการอะไร เราเกลียดการกระทำของบุคคล เราเกลียดระบบ หรือเราเกลียดทั้งสองอย่าง แล้วเราอยากเห็นอะไร เราอยากเห็นเขาแค่การถูกลงโทษ ถูกสังคมเฆี่ยนตี ถูกประณาม หรือเราอยากเห็น Solution ผมว่านอกจากอารมณ์ของตัวเองที่เกิดขึ้น ประชาชนทุกคนมีส่วนรับผิดชอบและออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบได้
ในฐานะผู้มีอำนาจ การใช้ NVC ทำงานในประเด็นร้อนเช่นนี้ จะทำให้สังคมเป็นอย่างไร
ในสถานการณ์การระบาดของ COVID19 หน่วยงานต่างๆ ก็คงทำได้เต็มที่ คงไม่มีใครรู้ว่าดีที่สุดคืออะไร แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก คือการสื่อสารที่ชัดเจนว่า ณ สถานการณ์แบบนี้ประชาชนทำอะไรได้บ้าง การดูแลตัวเองต้องทำอย่างไร ค่าใช้จ่าย ฯลฯ ต้องทำให้เห็นวิธีการทั้งหมด
อีกกรณีหนึ่ง หลังจากพบผู้ติดเชื้อมีประชาชนบางส่วนโกรธ และเลือกจะเข้าไปโจมตีผู้ที่ติดเชื้อว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ในกรณีนี้ NVC จะช่วยได้อย่างไรบ้าง
เวลาเราจะทำอะไรต้องดูที่เจตนา ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากป่วยหรอก เราไปย้อนดูว่าทำไมเขาถึงป่วย เขาอาจจะไม่รู้จึงได้รับเชื้อมา แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปกล่าวโทษว่าเขาเป็นมารร้าย เขาเป็นตัวซวย เราต้องกลับมาเข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทางที่ดีเราควรจะเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันหรือเปล่า ยิ่งถ้าคนที่ป่วยเขาเกิดความสำนึกผิด มันยิ่งสะท้อนตัวตนได้ว่าเขายังมีคุณธรรม เขายังกักตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อส่วนรวม เขาไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ในกรณีนี้ NVC จะทำให้เราไม่ด่วนตัดสินและทำให้เรามีสติ เราสามารถไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจ
สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การออกไปตามที่สาธารณะต่างๆ เราจะใช้ NVC อย่างไร ในการประพฤติตัว มีปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันน้อยที่สุด
วิธีการที่ดีที่สุดมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนหวาดกลัว หากเรามั่นใจว่าเราป้องกันตัวเองดีแล้ว แต่อีกฝ่ายไม่ได้ป้องกัน ไม่สวมแมส เขาเผลอไอหรือจามออกมา เราอาจจะประเมินเบื้องต้นว่าเขาป่วยไหม และเราทำอะไรได้บ้างตอนนั้น เราอาจจะย้ายตัวเองออกจากตรงนั้นให้เร็วที่สุดหรือถ้าพูดได้ เราอาจจะถามเขาด้วยความห่วงใยว่า ‘เธอไม่สบายหรือเปล่า เธอหาหน้ากากใส่ได้ไหม หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคนะ’ หรือ ‘วันนี้เราขอไม่จับมือเธอนะ เพราะเราอยากลดความเสี่ยง เราไม่อยากป่วยและเธอจะได้ไม่ต้องป่วย เธอรู้สึกโอเคใช่ไหมถ้าเราจะทำแบบนี้’
เราใช้การพูดคุยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ แทนที่จะมัวใช้เวลาไปพูดถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น การเร่งร้อนไปต่อว่าคนอื่นว่าทำไมไม่ใส่แมส เราบอกความต้องการของเราไปเลย แสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของเราและเขา
ซึ่งแน่นอนว่าบรรยากาศของสังคมอาจทำให้ทุกคนระแวงขึ้น แต่ NVC จะช่วยให้เรากลับมาตั้งแกนได้อีกครั้ง เรากลับมารู้ตัว มีสติ และเมื่อเรารู้สึกมั่นคงปลอดภัยก่อนที่เราจะสื่อสารหรือทำอะไรออกไป มันทำให้เราควบคุมตัวเองได้ดีกว่าการโต้ตอบด้วยปฏิกริยาโดยที่เราไม่รู้ตัว ผมเชื่อว่าถ้าการสื่อสารที่มันเกิดจากการเห็นอกเห็นใจตัวเอง การเป็นห่วงเขา มันน่าจะมีผลมากกว่าการด่ากันและทำให้มันร้อนขึ้น
ส่วนเรื่องการใช้ NVC ในครอบครัวในกรณีพูดคุยกับลูกในเรื่อง sensitive เช่น เรื่องเพศ, sex, เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง
การใช้ NVC ในครอบครัวเป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณากับอีกหลายปัจจัย มันเป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก เช่น คุยกับลูกเรื่อง Sex พ่อแม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นและมุมมองที่ดีต่อเรื่องเซ็กซ์ด้วย เซ็กซ์ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ มันงดงามและสร้างความใกล้ชิดอย่างไร แต่บางครั้งเซ็กซ์ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองเรื่องความรักและการมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเราอาจจะต้องช่วยให้ลูกเข้าใจเหตุการณ์ตรงนี้มากกว่าไปสั่งห้ามหรือไปปิดหูปิดตาเขา ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อแม่ต้องประเมินลูกของตัวเองเพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับลูก ที่สำคัญที่สุดพ่อแม่ต้องรักษาความสัมพันธ์และพื้นที่ปลอดภัยเพื่อทำให้ลูกกล้าพูดกับเรา ไม่เต็มไปด้วยคำตัดสิน ไม่สั่งสอน ถ้าพ่อแม่ทำตัวเหมือนเป็นครูมากกว่าเป็นเพื่อนคู่คิดของเขา ลูกจะไม่เข้าหาทันที
ผมคิดว่าไดอะล็อกหรือการพูดคุยกันในครอบครัว พ่อแม่อาจจะต้องปรับมุมมองให้ตัวเองเป็นเด็ก เพื่อทำความเข้าใจลูก
ส่วนเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ลูกเองก็ควรจะเข้าใจมุมมองที่เห็นต่างของพ่อแม่ มองเห็นว่าสิ่งนั้นมันมีคุณค่ากับเขาอย่างไร เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นฝ่ายเชื่อว่าเผด็จการจัดการให้สังคมมีความสงบสุขเราต้องเข้าใจมันก็เป็นวิธีคิดหนึ่ง ซึ่งลูกจะแสดงความเห็นต่างก็ได้ถ้าทำบนพื้นฐานการไม่ยัดเยียด หรือพยายามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทำให้พ่อแม่รู้ว่าความเชื่อของเขามันละทิ้งใครไปบ้างและมันส่งผลกระทบอย่างไร
NVC เป็นเครื่องมือที่เสนอความเคารพความเห็นซึ่งกันและกันอยู่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์ ส่วนหนึ่งก็ต้องไว้อาลัยหรือยอมรับถ้าหากในเมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเห็นเหมือนที่เราเห็น อย่าลืมว่าเราและพ่อแม่ก็มาจากแบ็คกราวด์และวัยที่ต่างกัน สุดท้ายถ้าสังคมมันดำเนินไปและพ่อแม่เรียนรู้จนเปลี่ยนแปลงเอง เขาเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อกลับไม่ใช่ ผลลัพธ์เหล่านั้นก็จะทำให้เขาเปลี่ยน แต่ถ้าเราเอาแต่ไปประณาม ต่อว่า ดูถูก หรือเอาแต่คิดว่าพ่อแม่เปลี่ยนไม่ได้ นั่นแปลว่าเราอาจจะกำลังขัดขวางการเปลี่ยนแปลงอยู่ก็เป็นได้
ตัวอย่างการพูดเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัว เช่น พ่อแม่เชื่อว่าเด็กต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ หากเห็นพรรคการเมืองไหนที่ทำให้เขารู้สึกปั่นปวน เขาก็จะเกลียด หากเจอในสถานการณ์นี้เราอาจจะค่อยๆ พูดกับพ่อแม่ว่า เราเข้าใจความคิดของเขานะ แต่เราเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่เด็กจะรู้สึกเคารพก็คือผู้ใหญ่ที่เคารพเสียงเด็ก ดังนั้นถ้าเราอยากอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข อาจจะเริ่มจากการที่ลูกกับพ่อแม่เคารพความเห็นกันและกันมากกว่า
NVC มีความสำคัญอย่างไรกับคนยุคนี้
NVC อาจจะไม่ได้สำคัญไปมากกว่าหลักการอื่นๆ ในเมื่อมนุษย์ปราถนาจะอยู่ร่วมกันอย่างความสุข มีความสันติ ความเท่าเทียมเหมือนกัน ระหว่างทางจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือสื่อสารบางอย่างที่ทำให้เราไปถึงตรงนั้น ซึ่ง NVC อาจตอบโจทย์ในการดูแลเสียงและความคิดของทุกฝ่าย โดยไม่มีความรุนแรง เน้นไปที่ความต้องการเบื้องลึก สื่อสารในสิ่งที่เราต้องการ ใช้ภาษาที่ปราศจากปะทะ อดกลั้นไม่เอาชนะ ไม่ทำร้ายกัน และไม่ปิดโอกาสในการเรียนรู้ โดยเริ่มจากสังคมเล็กๆ จากสถาบันครอบครัว และมันจะนำไปบริบทสังคมในภาพที่ใหญ่
ผมเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่มี NVC เราอยู่โลกเต็มไปด้วย Hate Speech สังคมก็อาจจะเฮงซวยแบบที่เราพูด ถ้าเราบอกว่าลูกขี้เกียจ-สุดท้ายลูกก็อาจจะขี้เกียจ