คนรวย มลพิษ การผูกขาด ค้าสัตว์ป่า โรงงานสัตว์เลี้ยง 5 สิ่งที่ไวรัสโคโรน่ากำลังทำให้หายไป
Reading Time: 2 minutesเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติโดยตัวการที่ชื่อว่าไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ส่งผลให้ประชาชนล้มตายมากกว่า 3,000 ชีวิต และติดเชื้อมากกว่า 90,000 ราย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลก เมื่อการติดเชื้อนี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมวลมนุษย์ การเจริญทางด้านอุตสาหกรรมเองก็ตกไปอยู่ในจุดเสี่ยงจากโรคร้ายตัวใหม่นี้
อุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างไม่สามารถควบคุมได้นั้น ทำให้ระบบนิเวศน์ล่มสลายไปทั่วโลก โดยศาสตราจารย์เจม เบนเดล ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และนักปรัชญาการเมือง รูเพิร์ท รีท ได้ถกเถียงกันไว้ว่า มนุษยชาติได้เข้าถึงจุดล่มสลายอย่างแน่นอนโดยอาจมีผู้เสียชีวิตถึง 6 พันล้านคน
ส่วนทางด้าน ดร. นาฟีซ อาเหม็ด นักเขียนและนักวิชาการ กล่าวไว้ว่า
“การล่มสลายทางอารยธรรมของมนุษยชาติได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และอยู่ในจุดเสี่ยงที่เราทุกคนต้องยอมรับ”
นักวิทยาศาสตร์กว่า 11,000 คน จาก 153 ประเทศทั่วโลกเปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างฉับพลันไว้ว่า “ปฏิกิริยาลูกโซ่นี้อาจจะทำลายระบบนิเวศน์ สังคมและระบบเศรษฐกิจ และส่งผลให้พื้นที่มากมายทั่วโลกไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป”
ซึ่งนอกจากไวรัสโคโรน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก อีกด้านหนึ่ง ไวรัสนี้ยังเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่กำลังบอกว่า หลายสิ่งหลายอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยที่บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรน่าได้ส่งผลด้านที่ดีต่อระบบนิเวศน์ของโลกที่ถูกทำลายไปด้วยเช่นกัน
และนี่คือ 5 เรื่องดีที่เกิดขึ้น
เศรษฐกิจของคนรวยหดตัวลง
เปิดหนทางให้คนเล็กคนน้อยทำมาหากิน
จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และเศรษฐกิจที่เคลื่อนตัวช้าลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ผลิตคาร์บอนลดน้อยลงในประเทศจีน และเมื่อผลผลิตทางอุตสาหกรรมลดลง ก็ได้ทำให้ผู้คนมีวันหยุดยาวและมีข้อจำกัดในการเดินทางมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซมลพิษในจีนลดลงถึงหนึ่งในสี่ หรือ 100 ล้านตัน ผลที่ตามมาคือ การส่งออกสินค้าไปทั่วโลกลดลงอย่างมาก และการฝังกลบขยะที่ไม่ย่อยสลายก็น้อยลงไปด้วย
แม้ไวรัสโคโรน่าได้ทำลายการทำมาหากินและการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นมาแทนที่ คือสังคมที่พึ่งพาอุตสาหกรรมน้อยลง ทั้งเพื่อปกป้องการทำมาหากินและเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เช่นเดียวกัน มนุษย์ก็ต้องวางแผนชีวิตมากขึ้นด้วย นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเรียกว่า de – growth เศรษฐกิจของคนรวยและประเทศที่ร่ำรวยจะต้องหดตัวลงจากข้อจำกัดของทรัพยากรโลก ณ ขณะนี้
มลพิษที่ลดลงจากการเดินเรือและการบิน
เรือสำราญไดมอนด์ พรินเซสที่ผู้คนใฝ่ฝันจะได้ขึ้นไปสัมผัส ซึ่งปกติมียอดการจองที่ 45 พันล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปีได้หล่นไปถึง 40%
ในแต่ละวัน เรือสำราญแต่ละลำปล่อยมลพิษออกมาเท่ากับรถยนต์ 1 ล้านคัน ทำลายระบบนิเวศน์ที่เปราะบางในพื้นที่สำคัญต่างๆ ในโลก เช่น คาบสมุทรอาร์กติก ทะเลแคริบเบียน และหมู่เกาะกาลาปากอส
การเผาผลาญน้ำมันที่สกปรกที่สุดในโลกก่อให้เกิดการทำลายอากาศและเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยในชุมชนที่อยู่แถบชายฝั่ง บริษัทคาร์นิวัล คอร์ปอเรชั่น บริษัทการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปสร้างมลพิษทางอากาศมากกว่ารถยนต์ทั้งหมดในยุโรปรวมกันเสียอีก
เช่นเดียวกับการเดินทางทางอากาศที่ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ประเมินการสูญเสียราว 29 พันล้านดอลล่าโดยประมาณ จากรายได้ทั้งหมดของปีนี้
หลังจากมีการรณรงค์เรียกร้องให้ลดเที่ยวบินมานานทางภาคส่วนต่างๆ ในที่สุด การเดินทางทางอากาศก็ลดลงครั้งแรกหลังจากปี 2009 เป็นต้นมา และดูเหมือนว่า การเกิดขึ้นของไวรัสโคโรน่ากลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเดินทางทางอากาศลดลง ซึ่งก่อนหน้านี้ กฎหมายไหนๆ ก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการลดเที่ยวบินลงได้
การเผชิญกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การเดินทางที่ไม่จำเป็นลดลง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น รวมไปถึงอาจจะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดขึ้นของสถานการณ์ทางสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดได้
อาหารท้องถิ่นเข้มแข็ง
พึ่งพาตัวเองแทนการผูกขาดของยักษ์ใหญ่
ผู้คนมากมายต่างอาศัยอยู่ในเมืองและบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่ทั้งผลิตและนำเข้าโดยการขนส่งทางอากาศและน้ำโดยใช้พลังงานเชื้อเพลง ช่วงเวลาที่ยาวนานในการขนส่งอาหารทำให้เชื้อโรคกระจายได้มาก นอกจากนี้ การสูญเสียทางธรรมชาติและการแพร่กระจายเชิงเดี่ยวทำให้โรคระบาดเติบโตได้ดี
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา หรือราคาน้ำมันที่ตกฮวบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกไร้ความมั่นคงใดๆ เช่น หากเกิดการขัดข้องในการจัดหาเชื้อเพลิง ลอนดอนจะไม่มีอาหารเลยภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายทางอาหาร ทิม แลงกล่าวว่า
“เพราะทุกสิ่งอย่างอยู่บนทางด่วน พวกเราจึงมีระบบอาหารที่ทันเวลาพอดี”
แล้วถ้าทางด่วนหายไปล่ะ? อาหารก็หายไปด้วยใช่ไหม
การส่งเสริมให้ผลิตอาหารในท้องถิ่น เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการพึ่งพาการส่งออก และการพึ่งพาการค้าโลกที่ไร้เสถียรภาพนี้ด้วย มากไปกว่านั้นคือ มันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ด้วยเพราะระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จำกัดการทำงานและบริโภคของเรานั้น นอกจากจะไม่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว กลับยิ่งสร้างความทุกข์และความผิดปกติในการกินจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า อัตราการฆ่าตัวตายของคนรุ่นใหม่ก็เพิ่มขึ้นไม่หยุด
สังคมที่ยั่งยืนในอนาคตอาจจะหมายถึงการที่พวกเราส่วนมากต้องทำงานและเปลี่ยนแปลงให้น้อย มีส่วนร่วมกับชุมชนให้มากและผลิตแหล่งอาหารใกล้ที่อยู่อาศัย ให้เวลากับเพื่อนและครอบครัว สิ่งเหล่านี้คือการเพิ่มความสุขในมนุษย์ทั้งสิ้น
เฮลีนา นอร์เบิร์ก ฮอด์จ ผู้ก่อตั้ง โลคอล ฟิวเจอร์ กล่าวว่า “การที่เรามุ่งหน้าสู่การจำกัดอาหารในชุมชม ไม่เพียงแต่ทำให้เราลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคสู่การจัดสรรอาหาร แต่ยังทำให้เกิดความมั่งคั่งในชุมชนแทนการส่งออกไปยังบริษัทต่างชาติ พวกเราจะได้เอื้อเฟื้อแก่ผู้คนที่ถูกบีบให้ออกจากงาน และเราจะผลักดันการต่อต้านวิกฤตการณ์ทางภูมิอากาศโดยการลดการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิง การเดินทางจากแห่งหนึ่งสู่แห่งหนึ่ง เศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นจึงวิน-วินต่อทุกคน”
สิ้นสุดการค้าสัตว์ป่า
หายนะจากการค้าสัตว์ป่าส่งผลต่อการมีชีวิตรอดของมนุษย์มากเท่าๆ กับวิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศ ทุกสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถทดแทนได้เลย เดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศจีนสั่งห้ามค้าสัตว์ป่าทั่วประเทศ ทั้งในตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และการค้าพาณิชย์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า
จากคำแถลงการณ์ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลตลาด กระทรวงการเกษตร และสำนักงานป่าไม้ของประเทศจีน กล่าวว่าสถานที่ใดที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่าจะถูกคัดแยกออกไป และการขนส่งสัตว์ป่าถูกห้ามโดยเด็ดขาด
เนื่องจากมีรายงานออกไปว่า สถานการณ์โควิด–19 อาจเกิดขึ้นจากตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น ตัวลิ่นถูกสันนิษฐานว่าเป็นตัวพาหะนำเชื้อไวรัส ก่อนติดต่อสู่มนุษย์ผ่านค้างคาวอีกที
ตัวลิ่นหรือตัวนิ่มที่มีเกล็ดนี้เป็นสัตว์ที่น่ามหัศจรรย์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่มีเกล็ด และพวกมันยังเป็นสัตว์ที่โดนนำมาค้ามากที่สุดในโลก โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการปรุงยาจีน เช่นเดียวกับนอแรด เชื่อกันว่าเกล็ดของพวกมันมีสรรพคุณทางยา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีเลย การห้ามการค้าสัตว์ป่าจึงเท่ากับการหยุดรบกวนสัตว์พวกนี้และยังทำให้พวกมันได้ฟื้นตัวก่อนจะสูญพันธุ์ไปอีกด้วย
อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่จะต้องหมดไป
ในแต่ละปี สัตว์กว่าพันล้านตัวถูกเลี้ยงในโรงงานที่สกปรก คับแคบและไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ติดต่อได้ ยกตัวอย่างการแพร่กระจายของเชื้อโรคในหมู ปี 2009 ได้ถูกกระจายไปในฟาร์มหมูต่างๆ ในเมืองเวราครูส ประเทศเม็กซิโก หมูหลายร้อยตัวตายจากเหตุการณ์นี้ และเชื้อโรคยังเคลื่อนย้ายเข้าสู่คนอีกด้วย
แมนดี้ คาร์เทอร์ ผู้จัดการอาวุโสการรณรงค์ขององกรค์ Compassion in World Farming กล่าวว่า สัตว์ในฟาร์มโรงงานอาศัยอยู่อย่างแออัดและถูกกีดกันการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ สัตว์จำนวนมากทรมานจากการมีชีวิตในโรงงานซึ่งโหดร้ายที่สุดในโลก มันไม่ใช่แค่ทำร้ายสัตว์ แต่ยังทำร้ายธรรมชาติบนโลกและเราด้วย
“หากพวกเราต้องการที่จะยับยั้งการวิวัฒนาการของไวรัสที่ปรับตัวจนเข้ามาอยู่ในมนุษย์ ณ ขณะนี้ ตลาดค้าสัตว์จะต้องปิดอย่างถาวร โรงงานเลี้ยงสัตว์นับล้านต้องถูกกำจัด พวกเราจะต้องตระหนักได้ว่าวิวัฒนาการของโรคนี้มันใหม่และร้ายแรงแค่ไหน มิเช่นนั้นโรคร้ายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เพิ่มแล้ว เพิ่มอีก”
ความไม่ยุติธรรมและความไม่ยั่งยืนของโลก
ไวรัสโคโรน่าและวิกฤตทางระบบนิเวศน์ เป็นอาการป่วยที่เชื่อมโยงกับความไม่ยุติธรรมและความไม่ยั่งยืนในโลกของเรา ขั้นตอนที่เราสามารถทำตามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโคโรน่าคือขั้นตอนเดียวกับการที่เราต้องจัดการกับวิกฤตการณ์ทางด้านระบบนิเวศน์ คือ อยู่อย่างพอเพียงให้มากขึ้น ตระหนักถึงข้อจำกัดของชีวิต ให้ความเคารพต่อสัตว์ป่า
ไวรัสตัวนี้อาจเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าสุขภาพของมนุษย์ไม่สามารถรักษาได้อย่างเสรีตามสภาวะธรรมชาติของโลก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความเชื่อมโยงกัน
อารยธรรมของมนุษยชนสามารถปกป้องตนเองได้จากความตื่นตระหนกซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตและสามารถปรับตัวได้โดยการเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ลดการเผาผลาญทรัพยากรในประเทศที่ร่ำรวย ฟื้นฟูระบบธรรมชาติ และการหยุดระบบการกระทำที่ไม่ยุติธรรมต่อสัตว์คือคำตอบ
อ้างอิง
5 ways coronavirus could help humanity survive the ecological crisis