เมื่อพ่อแม่กลัวลูกโง่ และครูกลัวผู้บังคับบัญชา ‘ลูกศิษย์’ จึงเป็นแค่ ‘ลูกค้า’ ในระบบการศึกษาไทย
Reading Time: 2 minutesคลี่ออกมาเป็นฉากๆ อธิบายวงจรที่วนเวียนซ้ำซากทีละบรรทัด ทำไมระบบการศึกษาของชาติบ้านเมืองจึงทั้งกัดกร่อนโครงสร้าง และบอนไซให้สังคมไทยก้าวไปไหนไม่พ้น เบื้องล่างภูเขาน้ำแข็ง และใต้พรมผืนนั้นมีอะไรซุกซ่อนอยู่
เป็นอีกครั้งที่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพความผุพังของการศึกษา และเป็นอีกครั้งที่ต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมวิธีการแบบเดิมๆ ไม่เข้าท่า และถึงคราต้องบอกลามันเสียที
นี่คือบทสนทนาที่ชวนปัดกวาดฝุ่นควันทางความคิด เพื่อร่วมกันเดินออกจากอุโมงค์ที่มืดมิดของการศึกษาไทย หากชิงชังการอยู่ในตรอกอันคับแคบ ย่อหน้าถัดจากนี้คือการพาออกไปสู่ลานกว้าง และแสงสว่างส่องถึง
ไม้บรรทัดที่คับแคบ
การศึกษาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของสังคม เรื่องนี้ไม่ได้พูดเอาสนุกปาก แต่เป็นประเด็นคาราคาซังซึ่งจับต้องได้ทั้งในเชิงสถิติและประสบการณ์ตรง
“โรงเรียนเล็กๆ ในกันตังซึ่งผมเคยไปทำงานมีเด็กอยู่ 98 คน เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่แตกแยก อย่าถามเลยว่าสอบโอเน็ตได้เท่าไหร่ ไม่ต้องโต้เถียงกันว่าสอบคณิตศาสตร์นั้นยากหรือง่าย เอาแค่เด็กจะมาโรงเรียนหรือเปล่ายังต้องคิดกันก่อนเลย
“ตอนนี้ครู 4-5 แสนคน ใน 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศกำลังไปไม่เป็น โรงเรียนขนาดเล็กขนาดกลาง ยังคงมีคำถามว่าจะไปกันอย่างไร มันเกิดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่โรงเรียนนานาชาติไปจนถึงโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งครูไม่พอ เอาแค่จะเดินสอนให้ครบชั้นยังทำไม่ได้”
อาจารย์อนุชาติมองว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีสาเหตุมาจาก 2 เรื่องเป็นอย่างน้อย หนึ่ง – ทั้งที่มนุษย์มีความหลากหลายแต่สิ่งที่นำมาชี้วัดคือมาตรฐานแกนกลางนั้นกลับมีเพียงหนึ่งเดียว ผิดจากนี้คือไม่มีมาตรฐาน และ สอง – บรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งส่งผ่านกันเป็นทอดๆ กระทั่งเราเห็นความร้ายกาจผ่านบาดแผลของความสัมพันธ์ที่ถูกฉีกกระชาก
“ผมมีข้อสงสัยว่า สิ่งที่เราสมาทานมาใช้ในระบบการศึกษา และใช้กับระบบอื่นๆ ด้วยคือวิธีคิดในเชิงการออกแบบที่เราเชื่อในเรื่องของการศึกษาที่อิงมาตรฐาน ที่คิดว่าการออกแบบระบบการศึกษาให้เด็กจบ ป.6 จบ ม.3 จบ ม.6 รวมทั้งเด็กที่จบมหาวิทยาลัยจะต้องมีมาตรฐานความรู้แค่นั้นแค่นี้ ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องของการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตและงอกงามในแบบฉบับของตัวเอง สิ่งที่เราสมาทานกลับเป็นวิธีคิดเชิงมาตรฐาน
“เราจึงเห็นครูคนหนึ่งต้องตอบตัวชี้วัดประมาณ 200 ตัว และทุกอย่างมันไปปกคลุมวิธีคิดของสังคมว่า ทุกอย่างต้องได้เกรดตามมาตรฐาน ถ้าไม่ได้เกรดมาตรฐานก็จะถูกคัดออก และเราก็ชื่นชมยินดีกับโรงเรียนแบบที่ไปแข่งขันโอลิมปิก เพราะว่าทำได้เกินมาตรฐาน ดีและเป็นเลิศ แต่ความเป็นเลิศนั้น มันทิ้งคนที่ไม่เป็นเลิศอีก 90 เปอร์เซ็นต์ของสังคม”
บรรยากาศแห่งความกลัว
“ระบบคิดของการศึกษามันไปสร้างบรรยากาศของความกลัวในระบบอย่างรุนแรง และความกลัวนั้นมันไปทำงานกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ก็กลัวว่าลูกจะโง่ กลัวว่าลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ กลัวลูกจำศัพท์ไม่เก่ง กระแสสังคมก็กำลังบอกว่าตอนนี้เด็กต้องเก่งภาษาอังกฤษ ครูก็กลัวผู้บังคับบัญชาจะประเมิน กลัวว่าจะไม่ได้เลื่อนขั้น กลัวว่าจะสอนไม่ทันตามหลักสูตร เด็กก็พลอยกลัวตามไปด้วย ความกลัวนี้มันทำงานอย่างรุนแรงและปั่นป่วนมาเป็นเวลานาน แล้วมันก็ไปทำลายการเชื่อมต่อของสังคมให้หลุดออกจากกันหมด
“ครูกับลูกศิษย์ไม่มีความสัมพันธ์อันใดที่เชื่อมโยงต่อกัน ลูกศิษย์คือลูกค้า โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ชัดเจนมาก ครูคือผู้ให้บริการใช่ไหม นักเรียนก็คาดหวังว่า คุณต้องสอนให้เต็มที่นะ ฉันจะมาสายไม่เป็นไร แต่ครูต้องให้บริการนี้ดีๆ เพราะฉันจ่ายค่าเรียนแพง”
เมื่อพ่อแม่จ่ายค่าเทอมลูกสูง ก็คาดหวังว่าเมื่อส่งลูกถึงปากประตูโรงเรียน ลูกจะกลับมาและจะเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ เรายังพบอีกว่าชุมชนกับโรงเรียนมักกลายเป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกัน สภาพอันน่าอึดอัดดังกล่าวนี้เองที่อาจารย์อนุชาติบอกว่า เป็นระบบการศึกษาที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
“การกระทำใดๆ ของครูที่จะทำงานกับเด็ก มันอาจถูกตีความไปหมดว่าอย่าล่วงล้ำสิทธิของเด็กนะ ครูทุกคนมีสิทธิขึ้นโรงพักหรือถูกฟ้องตลอดเวลา บรรยากาศมันปกคลุมด้วยสิ่งเหล่านี้ ความรู้สึกที่มันจะเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกัน รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน มันขาดสะบั้น”
พอกันทีโรงงานการศึกษา
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ต้องเรียนโดยยึดเอาหลักสูตรแกนกลางมาขึง แล้วใช้ผลสอบของเด็กเป็นมาตรวัดความสำเร็จ การผลิตครูออกมาประมาณ 40,000 คนต่อปีโดยสถาบันการศึกษานับร้อยแห่งทั่วประเทศก็ใช้หลักสูตรแกนกลางเดียวกันทั้งประเทศเช่นกัน ไม่นับเมื่อเข้าสู่การเป็นครู ระบบการศึกษาก็ทำให้ผู้สอนเป็นเพียงหุ่นกระป๋อง ที่ถูกป้อนคำสั่งจากจากล่างขึ้นบนเป็นทอดๆ ซึ่งอาจารย์อนุชาติมองว่า เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับการเรียนรู้อันแตกต่างหลากหลายของมนุษย์
“ครูปฐมวัยอาจจะต้องการทักษะความเชี่ยวชาญแบบหนึ่ง ครูระดับประถมต้น ประถมปลาย ก็อาจจะต้องการทักษะความเชี่ยวชาญอีกแบบหนึ่ง ครูมัธยมก็อาจต้องการทักษะความเชี่ยวชาญอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้สายพานการผลิตแบบเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดมันก็มีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องระบบผลิตแบบอุตสาหกรรม แบบมาตรฐานเดียวทั้งสิ้น
“เราจะต้องตีให้แตกเรื่องระบบผลิตในมาตรฐานเดียวให้ได้ เราต้องพยายามขับเคลื่อนให้ระบบการศึกษาไม่ถูกผูกขาดอยู่ที่กระทรวงศึกษา ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาเป็นของประชาชน เป็นของใครก็ได้ เป็นของพ่อแม่ ของผู้ปกครอง เป็นของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โรงเรียนมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรเดียวที่เป็นหลักสูตรแกนกลางได้ไหม แต่ละโรงเรียนมีแบบฉบับของตัวเอง แล้วให้แต่ละคนได้เจริญงอกงามในแบบที่ตัวเองสนใจและอยากจะเติบโตขึ้น
“เราเห็นคุณครู 4-5 แสนคนทั่วประเทศ ที่ถูกกดทับด้วยกฎระเบียบ ทั้งยังมีข้อเรียกร้องจากสังคมมากมาย โรงเรียนๆ หนึ่งมีโครงการที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาดีไม่ใช่แค่ในกระทรวง แต่จากทั่วทุกสารทิศนับร้อยโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการนั้น ครูต้องไปทำหน้าที่หมด เพราะฉะนั้น ครูจะมีเวลาให้ลูกศิษย์น้อยมาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าให้เวลาอย่างมีคุณภาพหรือไม่ แค่เอาตัวให้รอดจากการเขียนรายงานไปให้เขตการศึกษา ให้จังหวัดส่งมาที่ส่วนกลางก็หมดเวลาทำมาหากินแล้ว
“ผมคิดว่าเราต้องกลับมาสู่การทำงานเพื่อจะเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้ อย่างโครงการก่อการครูที่เราพยายามทำอยู่ เราไม่ใช่แค่โครงการฝึกอบรม แต่เป็นโครงการที่เราอยากคืนความเป็นมนุษย์ให้กับครู โดยไม่ต้องทำให้ครูเป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษที่ทุกคนคาดหวังแล้วมันเกินจริงกว่าที่เขาจะเป็น”
จากเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต เมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล ‘บ้านผู้หว่าน’ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม