ละหมาดที่บ้าน เข้าโบสถ์ผ่าน FB Live ไม่ไปไหนคือทำบุญ
Reading Time: 2 minutesการมาเยือนของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เขย่าหัวใจคนทั่วโลกให้สั่นไหว ใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัว หนึ่งในที่พึ่งทางใจที่เหลืออยู่คือศาสนา
แต่เพราะศาสนกิจจำนวนไม่น้อย ใช้วิธีรวมกลุ่ม ยึดโยงกันใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรตอนเช้า การละหมาดของอิสลามิกชน และการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ของชาวคริสต์ อีกนัยหนึ่งก็เป็นการเชื่อมร้อยทั้งความเชื่อร่วมกันและความสัมพันธ์ในชุมชน
หากจังหวะเช่นนี้ ทุกฝ่าย ทุกคนต่างเข้าใจดี แยกย้ายกันประกอบศาสนกิจที่บ้าน เพื่อกอบกู้จิตใจให้แข็งแรงที่สุดในภาวะป่วยไข้
ศาสนาอิสลาม: จงละหมาดที่บ้านของท่าน
การละหมาด หนึ่งในศาสนกิจของศาสนาอิสลาม โดยชาวมุสลิมจะละหมาดวันละ 5 เวลา หนึ่ง เริ่มตั้งแต่ฟ้าสางจนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สอง เริ่มตั้งแต่ดวงตะวันคล้อยจนเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใดทอดยาวออกไปเท่าตัว สาม เริ่มตั้งแต่เมื่อเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยาวกว่าเท่าตัวของมันเอง จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน สี่ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดิน จนสิ้นแสงอาทิตย์ คือเวลาพลบค่ำ และห้า เริ่มตั้งแต่เวลาค่ำจนถึงก่อนฟ้าสาง
“การทำพิธีกรรมนั้น จะมีทั้งการทำส่วนตัวและส่วนรวม ถ้าเป็นผู้หญิงจะให้ทำส่วนตัวที่บ้าน จะได้ผลบุญดีกว่า แต่ถ้าเป็นผู้ชาย ในช่วงเวลาปกติจะให้ทำร่วมกันในสถานที่ละหมาด ฉะนั้น ชาวมุสลิมไปอยู่ที่ไหนเขาก็จะสร้างมัสยิด ซึ่งในภาษาอาหรับแปลว่า สถานที่ประกอบศาสนกิจ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของการประกอบศาสนกิจร่วมกัน”
ซิด-นายอับดุลรอซีด อาดำ ครูสอนวิชาสังคมในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เล่าถึงการประกอบศาสนพิธีรวมกันในมัสยิดที่เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม และเป็นวิถีชีวิตของเขา
“การละหมาดรวมกันในมัสยิดนั้น เหมือนเป็นศูนย์รวมของเราไปแล้ว ถ้าวันหนึ่งใครหายไปจะมีคนถามนะ ‘คนนี้ไม่สบายหรือเปล่า’ มันกลายเป็นสังคมหนึ่งเลย ลึกลงไปแล้วการไปมัสยิดนั้นได้หลายแง่มาก เพราะการละหมาดจะยืนแถวเดียวกันหมด คุณจะรวยมาจากไหน จะเป็นแค่คนเก็บขยะที่แวะมาหรือร่ำรวยมากมาย เมื่อคุณละหมาด คุณต้องเอาหน้าผากไปแตะที่พื้นเหมือนกันหมด ต้องแต่งชุดตามหลักการเหมือนกันหมด ต้องทำเหมือนกันทุกอย่าง ตรงนี้เราเห็นความเท่าเทียมของทุกคน เราจึงชอบมาละหมาดด้วยกัน และที่สำคัญ เราได้รับรู้ความเป็นไปของสังคมด้วย”
เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 และ social distancing – การเพิ่มระยะห่างระหว่างกันในสังคม คือหนึ่งในวิธีรับมือกับการระบาด การรวมตัวกันประกอบศาสนกิจจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง โดยจุฬาราชมนตรีก็ได้ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยให้ชาวมุสลิมละหมาดอยู่ที่บ้านแทนการรวมตัวกันในมัสยิด
“บางคนที่เขาปฏิบัติศาสนกิจอย่างนี้มาตลอดและไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เขาก็ยังอยากจะละหมาดรวมกันอยู่ ครั้นเราจะห้ามเลยก็กลัวเกิดการเข้าใจผิดกัน ชุมชนของเราเลยต้องค่อยๆ ขยับ คือขยับตามที่จุฬาราชมนตรีสั่ง
“มาตรการที่หนึ่ง คือจากเดิมที่ต้องเข้าแถวชิดกันตอนละหมาด ก็เริ่มขยับห่างกัน ซึ่งทุกคนก็ทำ มาตรการที่สอง คือเขียนป้ายไว้ว่า คนนอกพื้นที่ห้ามละหมาดร่วมกับเรา คนไม่สบายห้ามขึ้นมัสยิด คนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือไปจุดเสี่ยงมา ห้ามขึ้นมาละหมาดกับเรา พร้อมกับมีแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้คนสบายใจในช่วงหนึ่งก่อน
“ส่วนมาตรการที่สาม คือ ละหมาดที่บ้าน ทุกคนต้องปรับตัวตามสถานการณ์แต่ในทางปฏิบัติจริง ต้องค่อยๆ ปรับเป็นระดับไป ถ้าให้หยุดเลย บางคนอาจจะรับไม่ได้”
ครูซิดยังกล่าวถึงหลักของการศรัทธา 6 ข้อของศาสนาอิสลาม โดยข้อที่ 6 มีใจความว่า ‘ต้องเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้กำหนดไว้แล้วทั้งความดีและความชั่ว’
ทว่าการตีความข้อปฏิบัตินั้น ครูซิดเล่าว่า
“ถ้าเราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างทุกสรรพสิ่งบนโลก ฉะนั้น ของขวัญอย่างหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าให้เราคือ ร่างกาย ดังนั้นเราจงภูมิใจถึงแม้เราจะต้องละหมาดที่บ้านก็ตาม เราจะไม่รู้สึกผิด เพราะเราภูมิใจกับของขวัญที่พระเจ้าให้กับเราและเรารักษามันอย่างดีที่สุด”
เรื่องการประกอบศาสนกิจ ครูซิดอธิบายว่าอิสลามให้ความสำคัญกับชีวิต และไม่ใช่เพียงชีวิตของชาวมุสลิม หรือชีวิตของตัวเอง แต่เป็นชีวิตของคนบนโลก พระคัมภีร์อัลกุรอานบอกไว้ชัดเจนว่า พวกเจ้าอย่าได้โยนตัวของพวกเจ้าสู่ความหายนะ – อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อิสลามจึงมีหลักอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นมาสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือตัวเอง สิ่งนั้นถือว่าไม่เป็นประโยชน์
“เช่น การไปละหมาดรวมกันนั้นได้ประโยชน์เยอะ ได้รู้จักกัน สานสามัคคีกัน ได้ชุมชน แต่เมื่อวันใดวันหนึ่ง ประโยชน์ตรงนั้นมันทำให้เกิดโทษกับชุมชน มันจึงไม่เป็นประโยชน์ เราต้องหยุด”
ศาสนาพุทธ: การอยู่บ้าน นั่นแหละบุญ
“พอโควิดเกิดขึ้น ที่วัดก็ตกลงกันว่าปิดวัด ถ้าไม่มีเหตุก็จะไม่ออกไป ส่วนคนนอกเราจะมีเขตว่าเข้ามาได้ประมาณนี้นะ เอาอาหารมาถวายให้พระได้เท่าที่จำเป็น หลักๆ คือเรางดกิจนิมนต์ งดเทศน์ งานบวช งานศพก็เลื่อนไปก่อน งดการสอนทุกอย่าง”
พระปฏิพล ศรีวะรมย์ เล่าถึงมาตรการของวัดญาณเวศกวัน ที่สอดคล้องกับประกาศของคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ในมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไว้ 7 ข้อด้วยกันคือ หนึ่ง ให้หลีกเลี่ยงหรืองดเดินทางไปต่างประเทศ ที่มีการระบาด สอง งดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน สาม งดค่ายคุณธรรม สี่ งดกิจกรรมที่มีประชาชนร่วมจำนวนมาก เช่น งานวัด งานบุญประจำปี ห้า ให้สวมหน้ากากอนามัยขณะออกบิณฑบาต หก ให้ทุกวัดติดตั้งเจลทำความสะอาดมือตามจุดสำคัญ เจ็ด หากมีอาการผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์
ด้านข้อกังวลของชาวพุทธศาสนิกชนต่อการทำบุญ พระปฏิพลให้ความเห็นว่า
“ในภาวะของบุญนั้น คือความสุข ความสงบ ความอิ่มเอมใจ ความเบิกบานใจเป็นต้น ซึ่งสามารถทำได้หลายอย่างนะ การให้ทานก็ไม่จำเป็นต้องให้แค่พระ ให้พ่อ ให้แม่ ให้พี่ ให้น้อง ให้เพื่อน ให้สัตว์ ให้กับใครก็ตาม ถ้าให้แล้วมีความสุขที่ได้ให้ ความสุขนั่นแหละคือบุญ หรือบุญกับการที่ไม่เบียดเบียนคน ไม่ทำร้ายคน ไม่พูดโกหกใคร ความสุขความสบายและความโปร่งโล่งที่ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น นั่นแหละบุญ หรือบุญที่เกิดจากการมีสติอยู่กับลมหายใจ กับการทำงาน อยู่กับการขับรถ นั่นก็บุญเหมือนกัน”
การมาของโรคระบาดในครั้งนี้ หากมองในแง่ของพุทธศาสนา พระปฏิพลบอกว่า นี่คือแบบฝึกหัดหนึ่งที่ถือเป็นโอกาสของปุถุชนในการกลับมาสำรวจสภาวะทางใจ เตรียมตัวตั้งรับต่อโรคภัยและความตายที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ
“สิ่งที่คนทุกคนต้องเจอคือโรคภัยไข้เจ็บและความตาย ต่อให้ไม่มีเชื้อไวรัสนี้ คนเราก็ต้องเจอโรคอยู่ดี ต้องตายอยู่ดี สภาพใจแบบไหนล่ะที่พร้อมจะรับมือกับโรคที่จะเป็นหรือความตายที่จะมาถึง เป็นไปได้ว่า กายของเราที่เจ็บป่วย แต่ใจของเราไม่เจ็บป่วยด้วย ซึ่งถ้าคนที่ฝึกจิตฝึกใจมาพอสมควร จะพอเข้าใจว่ามันทำได้ ต่อให้ร่างกายเจ็บป่วยขนาดไหน ใจเราไม่ต้องป่วยก็ได้”
หรือกระทั่งการต้องอยู่ที่บ้านในสภาวะเช่นนี้ ชาวพุทธก็สามารถสร้างบุญได้ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นยันหลับ
“การอยู่บ้านคือปัจจัยหนึ่งของการลดความเสี่ยงของโรคที่จะระบาด นี่คือการทำบุญอย่างหนึ่งแล้วนะ เพราะคือการให้ความปลอดภัยแก่สังคม โดยการที่เรากลับมาจัดการที่ตัวเอง ไม่ให้โอกาสเสี่ยงมันมีมากขึ้น”
เพราะการอยู่บ้านคือการหักห้ามใจ คือการเสียสละที่ตัวเองจะอยู่บ้านเพื่อลดโอกาสของการแพร่ระบาด
“การที่เราเอาชนะใจตัวเองได้นั้น มันก็คือการทำบุญอย่างหนึ่งแล้วนะ เพราะมันคือภาวะที่ใจของเรามีสติ มีปัญญา ซึ่งสติและปัญญานั้น มันคือบุญ”
กระทั่งการทำความสะอาดบ้านเรือน ก็ถือเป็นบุญเช่นกัน…
“เบสิคเริ่มต้นที่พระพุทธเจ้าสอน คือการทำความสะอาดบ้าน เพราะเมื่อที่อยู่อาศัยของเราสะอาดหูสะอาดตา มันย่อมสร้างให้ใจของเราสบายได้ง่ายขึ้น ลองนึกภาพว่าเราอยากอยู่บ้านแบบไหนมากกว่ากันระหว่างบ้านที่มีแต่ขยะเต็มไปหมดกับบ้านที่สะอาดเรียบร้อยสวยงาม แบบไหนที่จะมีความสุขมากกว่า… นั่นแหละ บ้านที่เป็นระเบียบ ไม่รกหูรกตา มันก็ทำให้เรามีความสุข และความสุขที่เกิดขึ้นมันก็เป็นบุญได้”
ศาสนาคริสต์: ไปโบสถ์ผ่าน Facebook Live
“การไปโบสถ์ในวันอาทิตย์เป็นข้อปฏิบัติหลักของคริสเตียน กิจกรรมหลักๆ จะมีการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า นมัสการพระเจ้า และการฟังเทศนา ส่วนเด็กๆ ก็จะมี Sunday School หลังจากนั้นก็อาจจะมีทานข้าวร่วมกัน หรือมีการศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน มีกิจกรรมประชุมศึกษาหารือ วางแผนงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละคริสตจักรที่แต่ละโบสถ์ก็จะมีแตกต่างกันไป”
ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เล่าถึงบรรยากาศก่อนการระบาดของ COVID-19 ในการประกอบศาสนกิจทุกวันอาทิตย์ของชาวคริสเตียน ซึ่งคริสตจักรหลายแห่งในประเทศไทย ได้ประกาศมาตรการลดการแพร่ระบาดไปยังสมาชิก เบื้องต้นคือการงดจัดกลุ่มแคร์ตามบ้าน (คือการพบปะแบ่งปันประสบการณ์ คำสอน และพระพรในการดำเนินชีวิตคริสเตียน ผ่านการใช้เวลาร่วมกันของกลุ่มพี่น้องคริสเตียนนอกเวลาโบสถ์) และงดการนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรในวันอาทิตย์
“ส่วนใหญ่ผมคิดว่าทุกโบสถ์น่าจะใช้วิธีเดียวกัน คือใช้ Facebook Live เขาก็จะมีการนัดเวลาในช่วงนมัสการพระเจ้า ส่วนพิธีการบางอย่างก็ต้องตัดออกไป แต่ปกติเขาจะมีการถวายทรัพย์ให้กับโบสถ์ ก็จะถวายกันผ่านการโอนเข้าบัญชีครับ”
แม้กิจกรรมหลายอย่างต้องงดเว้น แต่ศุภกิจบอกว่า ร่มใหญ่ของการประกอบศาสนกิจนั้นมิได้อยู่ที่วัตถุหรือสถานที่ ดังนั้นการปรับตัวจากสถานการณ์ครั้งนี้จึงไม่ได้สั่นคลอนผู้มีความเชื่อแต่อย่างใด
“โดยหลักการศาสนาคริสต์จะค่อนข้างไม่ยึดถือกับวัตถุ คุณจะนมัสการพระเจ้าที่ไหนก็ได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าต้องไปที่โบสถ์เท่านั้นถึงจะเข้าถึงพระเจ้าได้ ด้วยหลักการตรงนี้ พอเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดขึ้นมันจึงไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่า เราขาด เพียงแต่ว่า ความรู้สึกว่าคนที่ไปโบสถ์ตั้งแต่เด็กและทุกอาทิตย์นั้น พอไม่ได้ไปก็จะรู้สึกเหมือนคนที่ติดออกกำลังกายแต่ออกไปไม่ได้ มันคือความรู้สึกลักษณะนั้นมากกว่า”
ถึงการเข้าโบสถ์จะหายไปแต่ในมุมมองของ ผอ. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน สิ่งหนึ่งที่ขึ้นมาทดแทนคือ การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว
“ผมเห็นประโยชน์และคุณค่าตรงนี้ว่า มันจะทำให้สถาบันครอบครัวยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในสภาวะที่เราไปไหนไม่ได้และต้องอยู่ร่วมกัน มันเกิดกิจกรรมและความสนุกในครอบครัวได้มากมาย และสิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีเมื่อโลกกลับสู่สภาพเดิม”
ศุภกิจกล่าวถึงคำสอนในพระคีมภีร์ที่เขามักฉุกคิดและนำมาเตือนสติของตนในคราวที่ชีวิตและผู้คนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ใจความว่า
‘จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด’
‘อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตนว่าจะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่าจะเอาอะไรนุ่งห่ม ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารไม่ใช่หรือ? และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มไม่ใช่หรือ?’
“พระเจ้าสอนให้เราชื่นชมยินดี ไม่ได้สอนให้เรามีความทุกข์ คำสอนเหล่านี้นั้นทำให้เรารู้เลยว่า เราสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้ และทำให้สภาพใจของเราไม่กลัวจนเกินไป”
ขณะที่สังคมกำลังเผชิญอยู่กับความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ตระหนก วิตก โกรธ เศร้า ไปจนถึงความเครียดสะสมกับการที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ศุภกิจชี้ว่า ‘ความรัก’ และ ‘การให้’ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยดูแลหัวใจของตนเองและเพื่อนมนุษย์ได้ในเวลานี้
“การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ นี่คือคำสอนหลักข้อหนึ่งของคริสเตียน เพราะฉะนั้น มันชัดเจนว่าทุกครั้งที่เราให้ ทุกคนก็จะมีความสุข มันคือหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ เมื่อใดก็ตามที่เรายิบยื่นสิ่งใดให้ใคร สภาพใจของเราจะรู้สึกดีทันที โดยเฉพาะความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ที่สังคมเราต้องการมากสุด ณ ขณะนี้”
หมายเหตุ : ภาพประกอบในบทความนี้ ถ่ายก่อนสถานการณ์ COVID-19