Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

ผู้นำในภาวะวิกฤติ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แค่ชัดเจน มีเป้าหมาย และเห็นอกเห็นใจคนอื่น1 min read

Reading Time: 2 minutes บทความของซูซ วิลสัน (Suze Wilson) อาจารย์ด้านการพัฒนาผู้นำแห่งมหาวิทยาลัยแมสเซย์ กับบทวิเคราะห์ 'ผู้นำประเทศ' ในช่วงวิกฤติผ่านการทำงานของ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ Apr 10, 2020 2 min

ผู้นำในภาวะวิกฤติ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แค่ชัดเจน มีเป้าหมาย และเห็นอกเห็นใจคนอื่น1 min read

Reading Time: 2 minutes

หากให้คุณลองจินตนาการว่าชีวิตของคนนับหมื่นคนตกอยู่ในมือของคุณ

หากให้คุณลองจินตนาการว่าการตัดสินใจของคุณมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนหลายล้าน เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก บริษัททั่วประเทศจะปลดพนักงานและทยอยปิดกิจการ หากคุณเป็นผู้กำหนดได้ คุณจะทำอย่างไร

COVID-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลก กลายเป็นสนามสอบให้ผู้นำประเทศทั่วโลก งัดทุกทักษะเท่าที่มีมาแก้โจทย์สุดหินเพื่อทำให้ประเทศของตนอยู่รอด

ที่สำคัญ มันเป็นโจทย์ซึ่งเดิมพันด้วยชีวิตคน

บทความของ ซูซ วิลสัน (Suze Wilson) อาจารย์ด้านการพัฒนาผู้นำแห่งมหาวิทยาลัยแมสซีย์ (Massey University) มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนิวซีแลนด์ ได้กล่าวและวิเคราะห์ประเด็น ‘ผู้นำประเทศ’ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ใจความสำคัญมีอยู่ว่า แม้ผู้นำประเทศจะมีอำนาจจัดการหรือออกคำสั่งทุกอย่าง แต่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจต่างๆ จะถูกหรือผิด ประชาชนเป็นคนกำหนด

แล้วเกณฑ์ของประชาชนคืออะไรบ้าง?

ในฐานะที่เป็นผู้ค้นคว้าและทำงานด้านความเป็นผู้นำ – วิลสันยืนยันว่าการทำงานของ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ คือตัวอย่างของนักการเมืองที่ทำงานภายใต้ภาวะวิกฤติได้ดี

จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

3 ทักษะที่ผู้นำควรมีในภาวะวิกฤติ

เมื่อเทียบมาตรการทางสาธารณสุขของประเทศอื่นๆ ศาสตราจารย์ไมเคิล เบเคอร์ (Michael Baker) อาจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) บอกว่า “การตัดสินใจรีบ lockdown ของนิวซีแลนด์เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดที่สุด” และเป็นการแสดงจุดยืนพร้อมกับการวางเป้าหมายจัดการ COVID-19 อย่างชัดเจน

แน่นอน มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย แต่ทำไมอาร์เดิร์นทำได้

งานวิจัยเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในภาวะผู้นำของ แจ็คเกอลีน (Jacqueline) และ มิลตัน เมย์ฟิล (Milton Mayfiel) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการ (management) แห่ง Texas A&M International University สหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ ดังนี้

  • กำหนดทิศทางหรือมีแนวทางแก่ประชาชนอย่างชัดเจน
  • ทำทุกอย่างอย่างมีเป้าหมาย
  • มีความเห็นอกเห็นใจ

การเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำ แม้หลายๆ ครั้งผู้นำอาจจะทำไม่ได้ก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาล มักใช้ข้อ 1 นั่นคือการกำหนดทิศทางอยู่บ่อยครั้ง และบ่อยเกินไปด้วยซ้ำ จนลืมที่จะใช้ข้อ 2 และ 3 คือการทำทุกอย่างอย่างมีเป้าหมายและทำด้วยความเห็นอกเห็นใจ

แต่วิธีการที่อาร์เดิร์นใช้จัดการกับ COVID-19 พบคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ผ่านประโยคที่ว่า “stay home to save lives” ที่แสดงถึงเป้าหมายชัดเจนพร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือ

ท่ามกลางความสับสนและความปั่นปวนทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว อาร์เดิร์นยอมรับว่าประเทศกำลังเจอความท้าทายใหม่

“ซึ่งอาจทำให้พวกเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ เช่น เราอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมงานศพของคนที่เรารักได้” ประโยคนี้สะท้อนถึงการกำหนดเป้าหมายแต่ก็พร้อมจะเข้าใจเห็นอกเห็นใจทุกคน

ทักษะทั้งหมดของอาร์เดิร์น สะท้อนออกมาผ่านการแถลงข่าวปิดเมือง เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เช่น การกำหนดทิศทางในการจัดการโรคได้อย่างชาญฉลาดและมีเป้าหมาย ผ่านวิธีการพูดที่ละเอียดอ่อนใส่ใจ และเปิดพื้นที่เพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนอย่างชัดเจน

ต่างจาก บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ประกาศ lockdown เช่นเดียวกันในวันที่ 24 มีนาคม แต่ไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามในประเด็นในดังกล่าว โดยให้เหตุผลไว้ว่านั่นเป็น ‘คำสั่ง’ จากรัฐบาล พร้อมย้ำว่านี่คือมาตรการภาคบังคับ

ผู้นำต้องจริงใจ โปร่งใส ไม่โกหก

เช่นเดียวกัน แนวทางการทำงานของอาร์เดิร์น ก็ถูกโต้กลับอย่างชัดเจนโดย ศาสตราจารย์โรนัลด์ ไฮเฟทซ์ (Ronald Heifetz) อาจารย์ด้านผู้นํา (leadership) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่า วิธีการแบบนี้ยากที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการนำพาผู้คนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

อาร์เดิร์น ใช้วิธีการถ่ายทอดสดเพื่ออัพเดทและประมวลสถานการณ์ทางโทรทัศน์ทุกวัน รวมถึงยังไลฟ์ใน Facebook เป็นประจำ เพื่อตอบคำถามในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ

ซึ่งก็ยังไม่สอดคล้องกับ ‘ภาวะผู้นำ’ ตามตำราของไฮเฟทซ์ นอกจากนี้อาร์เดิร์นยังจัดการภาระและความกดดันต่างๆ ด้วยการพัฒนากรอบการทำงานด้านการตัดสินใจให้โปร่งใส รวมถึงการแจ้งข่าว ยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมแจ้งเหตุผลทุกครั้งว่าทำไมต้องทำเช่นนี้

ยกตัวอย่างเช่น มาตรการการเตือนจะถูกแบ่งเป็น 4 ระดับ จะถูกประกาศและอธิบายแต่เนิ่นๆ ราว 2 วันก่อนจะประกาศ lockdown อย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารข้อมูลที่บิดเบือนเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร

ไม่มีการแก้ปัญหาไหนๆ ที่สมบูรณ์แบบ

ศาสตราจารย์คีธ กรินต์ (Keith Grint) แห่งสหราชอาณาจักร ศึกษาการทำงานและโฟกัสไปที่ภาวะผู้นำของอาร์เดิร์นท่ามกลางวิกฤติ เช่นกัน

กรินต์บอกว่า ความเป็นผู้นำนั้นมีอิทธิพลต่อการชักจูงหรือโน้มน้าวให้ส่วนรวมรับผิดชอบปัญหาร่วมกัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ คำวิจารณ์จากประชาชนต่ออาร์เดิร์นในฐานะนายกรัฐมนตรีมีเข้ามาจำนวนมาก ส่วนใหญ่บอกว่า ‘มีประสิทธิภาพ’ การสำรวจล่าสุดพบว่าประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ พร้อมสนับสนุนต่อมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการต่อสู้ COVID-19

กรินต์เสริมว่า เมื่อบ้านเมืองต้องรับมือกับ “ปัญหาที่โหดร้าย” เช่นนี้ มันย่อมตามมาด้วยความซับซ้อนและข้อถกเถียงมากมายที่เราไม่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นผู้นำควรจะต้องตั้งคำถามยากๆ ที่สามารถตัดตอนวิธีคิดและการลงมือทำแบบสูตรสำเร็จให้ได้

เพราะนี่คือปัญหาใหม่ วิธีคิดและการรับมือแบบเก่า ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

จาซินดา อาร์เดิร์น

มาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความรุนแรงของโรคระบาด รวมถึงการตัดสินใจปิดเมือง lockdown จึงทำได้เร็วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

ซูซ วิลสัน เจ้าของบทความชิ้นนี้ ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกการรับมือและมาตรการจัดการของอาร์เดิร์นจะสมบูรณ์แบบ แต่การที่รัฐบาลออกมาจัดการอย่างจริงจังต่อปัญหาโรคระบาดต่างหากคือประเด็นสำคัญ

เช่นเดียวกัน การศึกษาชิ้นนี้ไม่ใช่ข้อสรุป และยังถกเถียงกันต่อได้ภายใต้ธงร่วมกันว่าทุกคนอยากเห็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติ

แต่การถามหาความสมบูรณ์แบบบนโลกใบนี้ – มันมีจริงๆ หรือ?

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรอนุญาตให้ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ กลายมาเป็นศัตรูของ ‘การทำงานที่ดี’ เมื่อความรวดเร็วและความสามารถในการจัดการความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำประเทศ

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเปรียบเทียบการทำงานของอาร์เดิร์นกับผู้นำฝั่งตะวันตกหรือใครก็ตาม หากใช้ความพยายามมาเป็นมาตรวัด เราควรจะขอบคุณเธอที่พานิวซีแลนด์ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

ที่มา: Three reasons why Jacinda Ardern’s coronavirus response has been a masterclass in crisis leadership

Your email address will not be published.