Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

เรียนวิชาทักษะชีวิตกับครูที่ชื่อว่า ‘พ่อแม่’3 min read

Reading Time: 3 minutes คุยกับ นก-ธนัน รัตนโชติ ผู้ก่อตั้ง PLANT-D สวนผักอินทรีย์ของคนเมือง ในบทบาทพ่อที่ตั้งใจและต้องการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกด้วยสองมือของตัวเอง May 1, 2020 3 min

เรียนวิชาทักษะชีวิตกับครูที่ชื่อว่า ‘พ่อแม่’3 min read

Reading Time: 3 minutes

ในแวดวงกิจการเพื่อสังคม นก-ธนัน รัตนโชติ คือผู้ก่อตั้ง PLANT-D สวนผักอินทรีย์ของคนเมืองที่ตั้งต้นและต่อยอดจากปัญหาผู้สูงอายุ แต่อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือคุณพ่อลูกสองที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกด้วยตัวเอง

“มันเริ่มมาจากผมสนใจโรงเรียนทางเลือก”

ธนันเรียนจบสายวิศวะ แต่ปัจจุบันผันตัวมาทำงานด้านกิจการสังคม เขาแสวงหาความรู้ในสายการตลาดด้วยตัวเอง 

“ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่ผมทำงานประจำและเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ผมเรียนรู้วิชาหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง เช่น การเงิน การวางกลยุทธ์ การวางแผนองค์กร ผมเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้น ผมพบว่าคนเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานตรงสายที่เรียนมาก็สามารถเรียนรู้จากทุกที่ ไม่ใช่แค่สถาบันการศึกษาในกระแสหลักเท่านั้น”

ธนันมองว่าการเรียนในกระแสหลักไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กตั้งโจทย์หรือคิดนอกกรอบมากนัก นี่จึงเป็นประตูที่ทำให้เขาสนใจการศึกษารูปแบบอื่นๆ  และเมื่อเขามีครอบครัว มีลูก ธนันจึงตั้งใจให้ลูกเรียนในโรงเรียนทางเลือก 

ลูกคนโตของธนันเริ่มเรียนในโรงเรียนทั่วไปก่อนย้ายไปโรงเรียนทางเลือกอีก 2-3 แห่ง จนย้ายไปเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณช่วงมัธยม – ส่วนลูกคนเล็กเริ่มเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณตั้งแต่แรก ซึ่งธนันบอกว่าช่วงที่ลูกคนเล็กเข้าไปเรียนเป็นช่วงเดียวกับโรงเรียนรุ่งอรุณกำลังทดลองโครงการบางอย่างที่นำพ่อแม่มาจัดการศึกษาให้ลูก โดยมีจุดประสงค์ติดเครื่องมือให้พ่อแม่ไปสร้างห้องเรียนให้ลูกด้วยตัวเองที่บ้าน

“ในฐานะพ่อแม่ ผมและอีก 5 ครอบครัว จึงตัดสินใจร่วมในโครงการนี้ โดยมาเริ่มทดลองทำชั้นเรียนให้ลูกด้วยกัน”

ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกของธนัน จึงไม่ได้เริ่มต้นจากความอยากทำ Homeshcool ที่แท้จริง แต่เริ่มจากแนวคิดที่ง่ายและไม่ซับซ้อน คือ 

“แค่อยากให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนทางเลือก โดยพ่อแม่มีส่วนร่วมเท่านั้นเอง”

คุณครูที่ชื่อว่า ‘พ่อ-แม่’

ธนันจัดกระบวนการสอนให้ลูกด้วยตัวเองอย่างเต็มสูบกับลูกคนเล็ก ตั้งแต่ชั้น ป.1 

ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่ธนันเห็นคือการเรียนในโรงเรียนทางเลือกจะนำวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง 

ตามหลักสูตรทั่วไป เด็กๆ เรียนตามรายวิชาและเนื้อหาที่ถูกกำหนดไว้ แต่โรงเรียนทางเลือกบางแห่งทำในสิ่งตรงกันข้าม เช่น ดีไซน์กิจกรรมขึ้นใหม่ โดยพิจารณาว่าเด็กในช่วงอายุนั้น ควรจะมีประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรบ้าง สำหรับธนัน นั่นเป็นความยากที่สุดในการสร้างการเรียนรู้

“สมมุติเราอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องพันธุ์ดอกไม้ ผมจะคิดกิจกรรมให้เขาทำ ซึ่งกิจกรรมนั้นต้องเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้เขาคิดด้วยตัวเอง เด็กต้องเป็นเจ้าของความรู้ด้วยตัวเอง”

การจัดห้องเรียนของธนันช่วงแรกจึงอยู่ในรูปแบบการวางตารางกิจกรรมให้ลูกได้ ‘เล่น’ โดยที่กิจกรรมนั้นต้องสามารถนำกลับมาอธิบายเป็นองค์ความรู้บางอย่างได้ 

ธนันยกตัวอย่างบทเรียน ‘การนับจำนวน’ เขาพาลูกเล่นเกมทอยลูกบอลให้ลงตะกร้า ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของสาระวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

“เด็กโยนบอลลงตะกร้ากี่ลูก ออกนอกตะกร้ากี่ลูก ผมปล่อยให้เขานับด้วยตัวเอง จากนั้นลองให้เขาบวกลบจำนวนของลูกบอล เช่น หนูมีลูกบอล 10 ลูก โยนลงตะกร้า 6 ลูก เหลือกี่ลูกที่อยู่นอกตะกร้า” – นี่คือวิธีการเล่นที่พ่อสอนผ่านวิธีการสนุกๆ ให้ลูกรู้จักการนับในรูปแบบอื่น 

“วิธีการนี้จะทำให้เขาเห็นการรวม การหักล้างโดยที่ผมยังไม่ได้สอนทฤษฎีเชิงคำนวณ”

ธนันใช้เวลาในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถมจนขึ้นชั้นมัธยม

เมื่อเด็กโตขึ้น ธนันพบว่าลูกมีสไตล์และแพทเทิร์นการเรียนรู้ (learning patterns) ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เขารู้ว่าลูกถนัดหรือมีความสนใจโน้มไปด้านไหน 

“ดังนั้นเมื่อลูกขึ้นมัธยม ลูกจะได้เรียนในสิ่งที่ลูกชอบอย่างแน่นอน” ธนันบอก

ช่วงเวลานั้นธนันเห็นความสนใจของลูกคนเล็กชัดเจนขึ้น เขาสนใจเรื่องดนตรี อาหาร ภาษา 

“แน่นอนว่าการเรียนในระดับมัธยม มันจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นของวิชาการให้มากขึ้น แต่ผมคิดว่าลูกอาจจะไม่ได้ถนัดในการเรียนในเนื้อหาที่เข้มข้นมากขนาดนั้น ผมเชื่อว่าการทำให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ชอบหรือถนัด น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขและทำได้ดีกว่า”

ธนันจึงตัดสินใจสร้างการเรียนรู้ให้ลูกในแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขามากที่สุด 

วิธีการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกช่วง ม.1 – ม.3 จะใช้หลักการคล้ายกับที่ทำในช่วง ป.1 โดยเริ่มจากกางหลักสูตรแกนกลางตามกระทรวงฯ กำหนด เพื่อดูว่าแต่ละกลุ่มสาระวิชาในแต่ละชั้นปี เด็กจะต้องเรียนเรื่องอะไรบ้าง

จากนั้นพ่อแม่มีหน้าที่ถอดรหัสเพื่อหาวิธีสร้างสะพานการเรียนรู้ โดยตั้งโจทย์ว่า ‘ถ้าลูกจะต้องรู้เรื่องนี้ ลูกจะเรียนอย่างไร ทำอะไร ผ่านกิจกรรมอะไรที่เขาชอบ’ ธนันจึงสรุปหัวใจในการสอนหนังสือลูกในช่วงมัธยมต้นว่าคล้ายกับการทำ Project Based Learning (PBL)

ธนันยกตัวอย่าง “หากลูกชอบเรื่องดนตรี-ชอบเล่นดนตรีคลาสสิก ผมใช้ความชอบของลูกเป็นตัวตั้งต้นและแตกประเด็นไปศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ ศึกษาเรื่องภาษา ศึกษาโดยการอ่าน ดังนั้นถึงแม้ลูกจะเรียนในหัวข้อดนตรี เขาก็สามารถได้เรียนครบตาม 8 กลุ่มสาระตามแกนกลางหลักได้

“ส่วนการสรุปผลก็ทำได้ โดยถอดจากกิจกรรมทั้งหมดที่ลูกทำมาดูว่าแต่ละกิจกรรมที่เขาได้ทำ – เขาเรียนรู้อะไรและมันไปเชื่อมโยงกับตัวเขาอย่างไร”

ในช่วง ม.1 – ม.3 ธนันจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูก โดยจดทะเบียนร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งการประเมินการเรียนรู้ของลูกจะถูกประเมินผ่าน ‘การเก็บร่องรอยหลักฐานการเรียนรู้’ เช่น ภาพถ่ายหรือบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่พ่อแม่พาลูกทำ เช่น การเล่นเกม การสอดแทรกการสอนทักษะใช้ชีวิตประจำวันของเขา 

Unschooling เรียนรู้เองโดยไม่อิงกับหลักสูตรหรือวุฒิการศึกษา

เมื่อลูกเติบโตขึ้น ความสนใจของลูกก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

“พอ ม.4 ผมเห็นว่าเขาสนใจเรื่องดนตรี ภาษา การทำอาหาร แต่เมื่อดูตามรายวิชาของเด็กมัธยมปลายจะพบว่าการศึกษาไทยแบ่งเด็กออกเป็นแค่สายวิทย์-สายศิลป์ มันค่อนข้างเฉพาะทาง ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการเพิ่มขึ้น ถ้าเรียนสายวิทย์ต้องมีทั้งวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ต่างจากหลักสูตรของเด็ก ม.ต้น ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มสาระต่างๆ ซึ่งมีโอกาสกลมกลืนกับการใช้ชีวิตของเด็กๆ ได้ง่ายกว่า เราจึงคิดว่าให้ลูกได้เดินทางที่เขาถนัด”

เมื่อลูกขยับชั้นสู่มัธยมปลาย ธนันตัดสินใจไม่สอนหรือพาลูกทำกิจกรรมใดๆ อีกต่อไป แต่เลือกปรับมุมมองและหันทิศทางการศึกษาของลูกใหม่ โดยไม่ละทิ้งคำว่า ‘เรียนรู้’

“ในช่วงอายุที่ลูกคนเล็กเรียน ม.ปลาย เป็นช่วงที่ผมทำ PlanD พอดี ซึ่งเป็นงานด้าน Social Enterprise การเข้ามาทำงานด้านนี้ช่วยสะท้อนภาพระบบเศรษฐกิจและอาชีพของคนรุ่นใหม่ๆ ผมพบว่าในอนาคตน่าจะมีการพึ่งพาการเรียนรู้ตามหลักสูตรน้อยลงเรื่อยๆ และโลกจะถามหาความสามารถและทักษะของแรงงานมากกว่าวุฒิการศึกษา”

ธนันเชื่อว่าผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘คุณทำอะไรได้บ้าง’ มากกว่า ‘คุณเรียนจบอะไรมา’

“ส่วนตัวผมเชื่อว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย อาจไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ลึกและหยั่งถึงประสบการณ์ ผมจึงอยากสนับสนุนให้ลูกได้เดินในทางที่เขาสนใจ ซึ่งต่อไปข้างหน้าเส้นทางนี้จะทำให้เขาดูแลชีวิตตัวเองได้ – ซึ่งลูกก็โอเคและคิดแบบเดียวกับเรา”

ดังนั้นเมื่อจบ ม.3 ธนันไม่ได้จัดการเรียนรู้หรือทำ Homeschool ให้ลูกต่อ แต่เขาทำ Unschooling

Unschooling ที่ว่าคือการเรียนรู้เองโดยไม่อิงกับหลักสูตรหรือวุฒิการศึกษา

ธนันอธิบายต่อว่า เมื่อรู้ว่าลูกสนใจเรื่องดนตรี ภาษา หรือทำอาหาร ในฐานะพ่อแม่แค่ 1.สนับสนุนเขา 2.ชวนเขามองให้กว้างไกลขึ้น 

“พยายามนำสิ่งที่เขาชอบ มาเชื่อมต่อกับทักษะต่างๆ เพื่อให้เขาได้ออกไปสัมผัสและเดินในเส้นทางที่เขาชอบ นี่คือวิธีการเรียนที่ลูกเรียนในชั้น ม.ปลาย จนถึงปัจจุบัน เหมือนผมขยับจากหน้าที่ครูไปทำหน้าที่พี่เลี้ยง”

ปัจจุบัน ถ้าเทียบอายุลูกชายคนเล็กของธนันน่าจะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปี 3-4 ธนันบอกว่าตอนนี้ลูกชายเขาสามารถเล่นดนตรีได้ดี ทำอาหารได้อร่อย และกำลังสนใจธุรกิจขายผัก 

“ในสายตาผมเขาเหมือนเชฟคอยทำอาหารที่เล่นดนตรีได้และเป็นนักธุรกิจที่มีแปลงผักส่วนตัว ปลูกผักขายหารายได้เสริม บางครั้งเขาก็เป็นวิทยากรช่วยผมทำงาน เมื่อต้องไปบรรยาย แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วนะ” ธนันบอก

การเรียนรู้ท่ามกลางไวรัสระบาด

ขณะที่ทั่วโลกกำลังเจอวิกฤติโรคระบาด ธนันบอกว่าครอบครัวที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้ลูกหรือทำ Homeschool เป็นปกติอยู่แล้ว อาจจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่ถ้ามองภาพใหญ่ วิกฤตินี้ทำให้พ่อแม่หลายคนกังวลไม่น้อย

“สภาพการเรียนในระบบการศึกษาไทยคล้ายกับการมีกระถางต้นไม้ ตอนเช้าพ่อแม่มีหน้าที่เอากระถางไปส่งที่โรงเรียน ให้โรงเรียนพรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้เจริญงอกงาม แล้วตอนเย็นก็ไปรับกระถางนี้กลับมาบ้าน อาจจะมีหน้าที่รดน้ำตอนเย็นบ้าง แต่จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ต้นไม้ในกระถางโต”

ธนันมองว่าพ่อแม่เด็กไทยกับโรงเรียนไทยมักมีความสัมพันธ์ในลักษณะกระถางต้นไม้ดังกล่าว 

ยิ่งวิกฤตินี้ทำให้โรงเรียนหยุดเรียนนานเท่าไร การดำเนินชีวิตของครอบครัวไทยยิ่งผิดปกติมากขึ้นเท่านั้น จากเดิมที่บ้านเคยเป็นสถานที่พักผ่อน แต่วันนี้บ้านต้องกลายเป็นที่ทำงานของพ่อแม่ เป็นโรงเรียนให้ลูก พ่อแม่หลายคนเริ่มเสียหลักบ้างแล้ว

ธนันชวนพ่อๆ แม่ๆ มองให้แคบลง 

“ในระยะสั้นหากเราโฟกัสในมุมการเรียน พ่อแม่เองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกมาก่อน และถ้าวิกฤติมันรุนแรงและยาวนานขึ้น เราจำเป็นต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่บ้าน โรงเรียนในฐานะผู้ให้การเรียนรู้จำเป็นจะต้องมองประเด็นนี้อย่างรอบด้านเช่นกัน โจทย์ใหม่ของโรงเรียนอาจจะอยู่ในรูปแบบคำถามที่ว่า ‘จะสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียน ครู พ่อแม่ และเด็กอย่างไร’”

แม้จะไม่มีฮาวทูที่ชัดเจนว่าพ่อแม่จะสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร แต่ธนันมองว่าวิกฤติโรคระบาดนี้กำลังเรียกร้องการมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ในการสร้างการเรียนรู้ของลูก

“ผมนึกถึงตอนที่ผมสร้างการเรียนรู้ให้ลูกตอน ป.1 ที่พาลูกทำกิจกรรมต่างๆ”

หากการเปิดเทอมถูกเลื่อนออกไปถึง 2-3 เดือน ธนันชวนตั้งคำถามต่อว่าพ่อแม่จะใช้เวลาช่วงนี้อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

“การเรียนรู้ในโลกนี้มีทั้งในและนอกหลักสูตร พ่อแม่อาจจะเริ่มจากใช้ทรัพยากรมากที่สุดเท่าที่ในบ้านจะเอื้ออำนวย พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ full scale ค่อยๆ หยิบ-ค่อยๆ จับ-ค่อยๆ ทำ- ค่อยๆ เริ่ม จากกิจกรรมนอกหลักสูตรก็ได้ พาเขาเรียนรู้ชีวิต สังคม แล้วค่อยๆ เจือปนส่วนที่เป็นวิชาการ”

พ่อแม่สร้างทักษะให้ลูกได้ เริ่มจากการตักข้าว

ธนันยกตัวอย่างกิจกรรมที่อาจช่วยพ่อแม่ตั้งหลักได้มากขึ้นท่ามกลางภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้น 

สิ่งแรกที่ครอบครัวสามารถหยิบฉวยโอกาสท่ามกลางวิกฤตินี้คือ ‘ทักษะการพึ่งพาตัวเองของลูก’ เพราะการดูแลตัวเองมีความสำคัญและเป็นพื้นที่ที่เด็กควรจะทำได้ เช่น จากเดิมที่พ่อแม่ต้องเตรียมข้าวให้ลูกทุกวัน อาจจะใช้ช่วงโรงเรียนปิดฝึกลูกให้ดูแลตัวเองให้ได้ เริ่มจากเรื่องเล็กๆ เช่น รู้จักหาข้าวกินได้ด้วยตัวเอง รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ไม่ต้องรอพ่อแม่ทำให้ ซึ่งท้ายที่สุดแค่การตักข้าวจะกลายเป็นทักษะที่อยู่ในเนื้อในตัวในชีวิตจริงของลูกได้ 

“นอกจากนั้นพ่อแม่อาจจะใช้ช่วงเวลานี้พาลูกจริงจังในงานอดิเรกที่เขาชอบ บ้านที่ลูกยังไม่มีงานอดิเรก น่าจะเป็นโอกาสที่พ่อแม่พาลูกลองมาสำรวจว่าเขาชอบทำอะไร อย่างน้อยก็เป็นการให้เขาค้นหาตัวเอง ค้นหาสิ่งที่ชอบได้ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือชอบอ่านหนังสือ”

ธนันบอกว่ายิ่งบ้านไหนที่ลูกบ่นว่าอยู่บ้านนานๆ แล้วรู้สึกเบื่อ  ให้พ่อแม่รู้ไว้เลยว่านั่นคือเวลาทองที่ลูกเปิดโอกาสให้เราชวนเขาคุยหรือชวนทำกิจกรรมต่างๆ ได้ 

“สำหรับพ่อแม่ที่พอมีเวลา คุณอาจพาเขาทำสวนผักในบ้าน นอกจากได้ผักไว้กิน ลูกจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ระหว่างทางด้วย ซึ่งทักษะบางอย่างก็เป็นเรื่องของวิถีชีวิต ไม่มีสอนในหลักสูตร” นี่คือไอเดียของธนัน

วิกฤติช่วยสอนทักษะชีวิต

สิ่งที่ธนันย้ำมาโดยตลอด จากประสบการณ์การเป็นพ่อผู้สร้างการเรียนรู้ให้ลูก นั่นคือ การก้าวผ่านความกลัวของพ่อแม่

“พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจบทบาทของตัวเองใหม่ อย่ากลัว เพราะพ่อแม่ทุกคนเป็นส่วนประกอบที่จะสร้างบรรยากาศหรือกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตลอดเวลาสำหรับลูกได้ ความรู้มันทำได้ทั้งนอกโรงเรียน ในโรงเรียน และในบ้าน”

สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยได้ท่ามกลางสถานการณ์นี้คือ การเป็นโค้ชให้ลูกนำเอาความรู้ที่ลูกเรียนในห้องมาใช้ประโยชน์ และให้เขาเชื่อมโยงความรู้นั้นกับสถานการณ์ชีวิตของตัวเองได้

“ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาด มันทำให้เราเห็นมุมของความน่าจะเป็นในการเรียนรู้เรื่องบางอย่างที่อยู่นอกตำรา ผมคิดว่า COVID-19 ทำให้เห็นเรื่องนี้ได้ชัดขึ้น ยังมีทักษะอีกหลายๆ อย่างที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ ซึ่งบ้านหรือสถาบันครอบครัวมีส่วนในการช่วยให้ลูกๆ ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านั้นได้ ไม่ใช่ฝากภาระทั้งหมดไว้ที่โรงเรียนและครู”

และถึงแม้ครอบครัวที่ทำ Homeschool หรือสร้างการเรียนรู้ให้ลูกอยู่แล้ว ธนันยังบอกว่านี่คือความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญ

“คนที่ทำ Homeschool อยู่แล้ว ต้องอย่าลืมว่าเนื้อหาที่คุณสอนให้ลูกมันจะต้องมีความหมาย เป็นไปตาม curve ของการเรียนรู้ จะต้องสนุก น่าสนใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกได้เป็นเจ้าของความรู้นั้นเอง”          

สำหรับบ้านที่พ่อแม่ไม่เคยทำเรื่องเหล่านี้ ธนันแนะนำว่าให้เริ่มต้นเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก หมายถึง ขณะที่ลูกเรียนรู้ความรู้ พ่อแม่ก็เรียนรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้ 

“ค่อยๆ สร้างกันไป” 

ท้ายที่สุดธนันยืนยันว่าพ่อแม่ทุกคนสามารถเติมเต็มพัฒนาการ และสร้างการเรียนรู้ให้ลูกหลานของตัวเองได้แน่นอน

Your email address will not be published.