Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

คนเคลื่อนคน: กลศาสตร์ของประธานกิริยากรรม5 min read

Reading Time: 4 minutes หนังสือคนเคลื่อนคน เริ่มต้นจากบทความวิจั ย 5 ชิ้น ศึกษาชุมชน 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนคำถาม 2 ข้อ หนึ่ง-วิธีการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน สอง-เมื่อเกิดการเรียนรู้ในชุมชนแล้ว ชุมชนนำความรู้นั้นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร Sep 7, 2020 4 min

คนเคลื่อนคน: กลศาสตร์ของประธานกิริยากรรม5 min read

Reading Time: 4 minutes

คนเคลื่อนคน คือหนังสือรวมบทความภายใต้โครงการวิจัย ‘การศึกษาเรียนรู้ในชุมนุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม’ หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นโดยคณะนักวิจัยผู้ทำงานภาคสนาม

พวกเขาผลิตบทความวิจัยจำนวน 5 ชิ้น ศึกษาชุมชน 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนคำถาม 2 ข้อ หนึ่ง-วิธีการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน สอง-เมื่อเกิดการเรียนรู้ในชุมชนแล้ว ชุมชนนำความรู้นั้นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร

หนังสือเล่มนี้ไม่มีพระเอก

“เมื่อก่อนเรามองภาวะผู้นำในเชิง heroic มองแบบฮีโร่ ผู้นำมาช่วยเเล้ว” ไอยเรศ บุญฤทธิ์ เกริ่นนำถึงคอนเซ็ปต์ของหนังสือเล่มนี้

แต่ คนเคลื่อนคน อยากจะเปลี่ยนมุมมองใหม่

“เพราะ ‘การนำ’ ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มาจากการนำของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นการนำของผู้มีอำนาจเยี่ยงนักรบ แต่โครงการฯ มองว่า คนตัวเล็กตัวน้อยทุกคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการอะไรก็สามารถนำได้ เพราะกระบวนการนำนั้นมาจากการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส สร้างเครือข่ายที่เอื้อให้กับพวกเขา”

ทีมนักวิจัยได้เข้าไปร่วมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ สร้างจุดเริ่มต้นของงานวิจัย นักวิจัยเข้าไปศึกษาว่า ‘ผู้นำร่วม’ ในแต่ละพื้นที่มีกระบวนการทำงานอย่างไร โมเดลของ ‘การนำร่วม’ ที่ไม่ใช่การนำแบบฮีโร่ คืออะไร

“นี่คือจุดเริ่มต้นที่พวกเราได้เริ่มลงไปทำงานวิจัย” ไอยเรศเล่า

“เราจะเห็นว่าจากประโยค ‘คนเคลื่อนคน’ จะมี ‘คน’ ตัวแรก กับ ‘คน’ ตัวหลัง” ไอยเรศชี้ชวนให้สังเกตถึงชื่อของหนังสือ คนเคลื่อนคน

ปก-คนเคลื่อนคน_02-18-8-63-1

‘คน’ ตัวแรกเป็นภาพแทนของคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่เป็นผู้แทนภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในชุมชน

‘เคลื่อน’ คือ วิธีการ ซึ่งไอยเรศบอกว่า “เคลื่อน หมายถึง วิธีคิด วิธีบริหารจัดการ ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชน”

‘คน’ ณ จุดสิ้นสุดของประโยค คือ ชุมชน

“ความน่าสนใจของ ‘คนเคลื่อนคน’ ก็คือ คนที่เป็น ‘ประธาน’ ในประโยคนี้ สามารถกลายเป็น ‘กรรม’ ได้ เพราะว่าในประโยคนี้ประกอบไปด้วยประธาน กริยา กรรม คนที่เป็นประธานสามารถกลายมาเป็นกรรมได้ ส่วนกรรมก็เคลื่อนมาเป็นประธานได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ยั่งยืนกว่า ไม่มีใครกุมอำนาจ กุมความคิด กุมวิธีการอยู่คนเดียว แต่สามารถส่งต่อซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือความหมายโดยรวมของคนเคลื่อนคนในหนังสือเล่มนี้”

อาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่มีพระเอก ผู้กุมอำนาจ วิธีคิด และวิธีการ อยู่ฝ่ายเดียว

การต่อต้านคือการ ‘เคลื่อน’ อย่างหนึ่ง

กานน คุมพ์ประพันธ์ หนึ่งในนักวิจัยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ สนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘การต่อต้านขัดขืน’ 

การต่อต้านขัดขืนในบริบทที่เขาสนใจ คือการที่ชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้และต่อรองกับคู่ต่อกรที่มีอำนาจมากกว่า บางทีคู่ต่อสู้ของเขาคือ รัฐ 

“เช่น หมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งหนึ่งที่ถูกผังเมืองเข้ามาเปลี่ยนชุมชน จากพื้นที่ทำการเกษตรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้มีโรงงานมากมายมาตั้งในชุมชน เขาก็รู้สึกว่า เฮ้ย…ไม่ได้ ถ้ามาแบบนี้ชุมชนเละแน่ เพราะมันจะมีผลกระทบทั้งเรื่องสารเคมี ทั้งเรื่องอาชีพคน การต่อต้านและต่อรองจึงเกิดขึ้น”

กานน คุมพ์ประพันธ์

สิ่งที่กานนค้นพบจากการศึกษาพื้นที่ 4 แห่งก็คือ อาวุธที่ชุมชนแต่ละแห่งใช้ต่อสู้และต่อรองกับรัฐ คือ ‘ความรู้’

“เราพบว่า พื้นที่ศึกษาของเราทั้ง 4 แห่ง มีวิธีทำงานต่างกัน แต่มีจุดร่วมอย่างหนึ่งคือ การเรียนรู้ และการใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านขัดขืน เวลาที่พูดถึงการต่อต้านขัดขืน เรามักจะนึกถึงการประท้วง นึกถึงม็อบสมัชชาคนจน แต่ผมลองใช้ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาอธิบาย พบว่า การต่อต้านขัดขืนนั้นไม่จำเป็นต้องแสดงออกในลักษณะของการประท้วงหรือการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเสมอไป แต่มีวิธีการอื่นๆ มากมายที่สามารถต่อต้านขัดขืนได้หรือช่วงชิงอำนาจจากรัฐได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปประท้วงหรือใช้อาวุธด้วยซ้ำ”

หนึ่งในวิธีนั้นคือ การสร้างความรู้

“มันคือการใช้ความจริงที่ไม่เหมือนกับความจริงของรัฐ เช่น เราถูกสอนให้เชื่อว่า ชุมชนที่ดีคือชุมชนที่มีระบบเศรษฐกิจดี ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีในความหมายหนึ่งก็คือต้องมีโรงงาน แต่ความจริงแล้ว ชุมชนอาจจะบอกว่า วัฒนธรรมของเราก็ขายได้นี่ เราอยู่แบบเดิมได้ไหม แล้วชูจุดขายเรื่องวัฒนธรรมแทน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่ง

“เราถูกสอนว่า การใช้สารเคมีเป็นทางออก เป็นการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพ แต่มันจริงหรือ? ฉะนั้นต้องสร้างความรู้ใหม่ให้คน ให้คนในชุมชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ แล้วพอไม่ใช้มันก็ดีกว่านะ มันคือวิธีการแบบนี้แหละครับ มันแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน แทรกอยู่ในความคิดความเชื่อ อยู่ในตัวคน”

เป้าหมายร่วมของ ‘คน’ ต่างวัย

มูลค่าและคุณค่าของผู้สูงวัย คือหัวข้อที่ ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล สนใจและศึกษามาตลอด ในหนังสือ คนเคลื่อนคน เธอนำเอาชุดคุณค่าหนึ่งที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย – ‘ผู้สูงอายุคือร่มโพธิ์ร่มไทร’ มาเป็นจุดตั้งต้นในการศึกษา เพราะในสังคมร่วมสมัย ชุดคุณค่านี้กำลังถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง

“พอเราลงพื้นที่ เราจะเห็นว่าในพื้นที่มีทั้งกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ แม้กระทั่งคนวัยกลางคน เราอยากจะนำสิ่งที่เราสนใจเข้าไปทำงานและถอดบทเรียนออกมา อีกทั้งช่วงปีที่ผ่านมา กระแสสังคมค่อนข้างไปในทิศทางที่ว่า คนต่างวัยคุยกันไม่รู้เรื่อง แม้กระทั่งล่าสุด – ม็อบเยาวชนที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุทำอะไรก็ผิด มันเกิดอะไรขึ้นในช่องว่างระหว่างวัยตรงนี้ ซึ่งรุนแรงมาก อดีตมันไม่มีเช่นนี้ เพราะอะไร”

ฐิติกาญจน์ ยกตัวอย่างพื้นที่จังหวัดสงขลาที่มีตัวละครสองวัยร่วมกันทำงานท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างวัย แต่การทำงานก็ราบรื่นและน่านำมาศึกษา

“สงขลาฟอรั่ม เขาทำงาน social movement (ขับเคลื่อนสังคม) มานานมาก จะเห็นว่า ป้าหนูกับน้องน้ำนิ่ง ต่างวัยกันมาก แต่เขาทำงาน socail movment ร่วมกันได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราสนใจ งานที่เขียนในหนังสือ คนเคลื่อนคน ก็เลยมีหัวข้อว่า การนำร่วมกันระหว่างวัยในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม คือโครงการผู้นำแห่งอนาคต เน้นการนำร่วม หรือ collective leadership ทำมาตลอดตั้งแต่ปีแรก และเราก็ยังเกาะประเด็นนี้อยู่

“เราใช้คำว่า intergenerational learning เป็นสิ่งที่เราศึกษามาตั้งแต่แรก คำนี้เป็นศัพท์จากตะวันตก คือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย แต่เป็นแบบจัดตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้ว การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัยมีมาตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะคุณอยู่ในครอบครัว พ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีการถ่ายทอดค่านิยม ทัศนคติบางอย่างให้กับรุ่นลูก แต่พอระบบการศึกษาและสังคมเริ่มแยกเป็นหน่วยๆ ระบบการศึกษาก็ดึงเด็กออกไป ไปเรียนกับคนรุ่นเดียวกัน บางทีก็ยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างวัยยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงก็คือคนที่มีความหลากหลายเท่านั้นเอง”

พื้นที่ศึกษาของฐิติกาญจน์ มี 2 แห่ง คือ โคกสลุง ลพบุรี กับ สงขลา แม้ทั้งสองพื้นที่จะมีบริบทที่แตกต่างกัน และคนรุ่นใหม่กับผู้สูงวัยย่อมมีประสบการณ์และมุมมองต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อโลกแตกต่างกัน แต่จุดร่วมที่ทำให้ทั้งสองพื้นที่มีลักษณะการนำร่วม หรือ collective leadership ที่ทำให้การขับเคลื่อนชุมชนลุล่วงคือ การสร้างพื้นที่ทับซ้อนของความฝัน

“จุดร่วมสำคัญของทั้งสองพื้นที่นี้คือ การมีพื้นที่ในการพูดคุยกัน การยอมรับตัวตนของกันและกัน คนสูงวัยกับคนรุ่นใหม่สามารถพูดถึงข้อเสียของกันและกันได้ และทั้งคู่ก็สะท้อนมาว่า ตอนได้ฟังอีกฝ่ายวิจารณ์ข้อเสียของตนเองครั้งแรก มันรู้สึกโกรธ แต่พอมีเป้าหมายร่วมกัน เขาก็รู้สึกโอเคกับสิ่งที่อีกฝ่ายสะท้อนมา”

ดังนั้น ไม่ว่าจะโคกสลุงหรือสงขลา แต่สิ่งที่ทั้งสองแห่งมีร่วมกันคือ การสร้างเป้าหมายร่วม เพราะความแตกต่างระหว่างวัยคือระหว่างทางที่มีอุปสรรค 

“ถ้ามีปัญหาอะไร ขอให้ยึดเป้าหมายที่มีร่วมกันไว้”

เคลื่อน – คือเป้าหมายร่วมของคนทั้งสองวัย

ทุกข์ร่วมของ ‘คน’ รวมกันสุข

‘สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข’ คือสมาคมที่มีตัวตนทางกฎหมาย ความสุขสามารถขึ้นทะเบียนมีผลปฏิบัติทางกฎหมายได้!

 นี่คือสิ่งที่ กิตติ คงตุก สนใจศึกษา

“ถ้าพูดถึงกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มี 3 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง-ปฏิบัติการรวมหมู่ ในการเคลื่อนไหวทางสังคมมันต้องมีคนที่มีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน และเห็นว่าจะต้องทำสิ่งนี้เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่างร่วมกัน สอง-เขารวมทรัพยากรอย่างไร สาม-มีคำหนึ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่’ ก็คือจะไม่คาดหวังหรือคิดจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบน เช่น อำนาจรัฐ ธุรกิจ แต่จะเขยื้อนข้างล่างอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับวิธี ‘การนำร่วม’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง ผมจึงสนใจในประเด็นนี้”

กิตติ คงตุก

กว่าจะรวมตัวเป็นสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข พวกเขาเคยทุกข์มาก่อน ทั้งรวมตัวกัน ทำงานไม่ได้ ทะเลาะกันในเรื่องวิธีคิด เรื่องการจัดสรรทุน ทั้งหมดคืออุปสรรคในการทำงานขับเคลื่อนชุมชนหรือสังคม

กระทั่งคนพังงาเกิดความทุกข์ร่วม ความเจ็บปวดร่วม ทำให้พวกเขาเริ่มรวมตัวกัน

“เขาฉุกคิด เพราะเจ็บหนักสุดคือ สึนามิ ที่ทำให้เจ็บปวดร่วมกัน ของบริจาคเข้ามาเยอะแยะมากในช่วงนั้น แต่บริหารจัดการกันเองไม่ได้ เพราะว่าพวกกูต้องได้ก่อน ถ้าของถูกส่งต่อเมื่อไหร่จะมีปัญหาทันที ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องเริ่มหันมาคุยกัน”

การรวมคนทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่า collective identity เป็นสิ่งสำคัญ แต่อัตลักษณ์นี้มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ประสบพบเจอมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ บาดแผล

“มันเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘คนพังงา’ ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาให้ความสำคัญมาก”

สิ่งสำคัญในการเคลื่อนไปสู่การสร้างเมืองพังงาก็คือ การระดมสิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์ในชุมชน หรือทำข้อมูลเพื่อเป็นกุญแจแก้ไขปัญหา

“เขาเปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นการประท้วงเรียกร้องอะไรต่อมิอะไร มาเป็นการทำวิจัยแล้วก็เอาข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอ พอเป็นข้อมูลที่ดี ข้อมูลตัวนี้ก็กลายเป็นกุญแจเบิกทางให้เข้าไปนั่งคุยในวงประชุมทุกวงได้ เช่น ภาคธุรกิจหอการค้า ภาครัฐ ซึ่งทำได้จริง แล้วคนได้ใจ เลยกลายเป็นการเชื่อมโยงโดยปริยาย เกิดเป็นการลงมือสร้างเมืองขึ้นใหม่”

‘สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข’ เป็นเครือข่ายที่กิตติเรียกว่าเครือข่ายแบบคงทน

“เป็นการรวมกลุ่มที่มีลักษณะของการยืดหยุ่น นั่นคือเล่นกับปัญหาเรื่องเมือง ตอนนี้เขาไปถึงขั้นทำผังเมืองเสนอต่อรัฐ ซึ่งรัฐต้องฟังเขามากๆ ผู้ว่าฯ เปลี่ยนทุกๆ กี่ปีก็ตาม แต่คนข้างล่างจะส่งต่อเพื่อไม่ให้ขาดช่วง ความต่อเนื่องคงทนก็คือประเด็นที่มีความหลากหลาย และพวกเขาก็คิดไอเดียที่จะส่งต่อแบบรุ่นต่อรุ่น ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ที่ชัดเจนมาก”

ทฤษฎีเดียวกันแต่ปฏิบัติการ ‘เคลื่อน’ ต่างกันตามบริบทพื้นที่

ไอยเรศ บุญฤทธิ์ นิยามชุมชนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็น 2 รูปแบบ หนึ่ง – ‘physical community based’ คือชุมชนทางกายภาพ สอง – ‘issue based community’ คือชุมชนที่มีประเด็นร่วมกัน เป็นการรวมตัวของคนที่สนใจประเด็นทางสังคมประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และมุ่งหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลง

‘การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กรณีศึกษาชุมชนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง’ คือหัวข้อที่ไอยเรศศึกษา

“physical community based นั้นประกอบด้วย โคกสลุง จังหวัดลพบุรี กับจังหวัดพังงา ส่วน issue based community คือขอนแก่นนิวสปิริตกับสงขลาฟอรั่ม เราจะเห็นชัดเจนว่า สงขลานั้นจะสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม ชายหาด สิทธิมนุษยชน”

สิ่งที่เขาค้นพบไม่ว่าจะ physical community based หรือ issue based community คือ “การสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยคนในชุมชนจะศึกษาก่อนว่าเขามีทุนอะไร ซึ่งในข้อ physical community based จะเป็นการศึกษาว่า ชุมชนตัวเองมีทรัพยากรอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ทั้งทรัพยากรคน ทุนทางวัฒนธรรม

ไอยเรศ บุญฤทธิ์

“ส่วน issue based community ก็คล้ายกัน เป็นการค้นหาว่า ในละแวกชุมชนนั้นเขามีอะไรบ้าง ศึกษาเรื่องทุนเช่นเดียวกัน แต่ทุนในทีนี้อาจจะโยงไปถึงคน องค์กร หรือสถาบันอื่นๆ ว่าเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

“ทั้ง 4 พื้นที่ของการศึกษานี้มีประเด็นร่วมกันคือ การหาทุนในชุมชน สร้างการเรียนรู้ ควานหาวิธีการที่จะ ‘สร้าง’ และ ‘เคลื่อน’ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน”

กลศาสตร์ของประธานกริยากรรม

ไอยเรศมองว่า หนังสือ คนเคลื่อนคน เป็นแนวทางให้คนทำงานภาคประชาสังคมได้เห็นตัวแบบอื่นๆ นอกจากพื้นที่ของตนเอง

“หากถามว่าถ้าจะเริ่มต้นทำงานชุมชน ควรจะเริ่มต้นจากจุดไหน เราจะพูดถึงเรื่องของภาวะผู้นำที่จะต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง พูดถึงเรื่องของการสำรวจทุนในชุมชนว่ามีอะไรบ้าง และสามารถนำไปพัฒนาอะไรได้บ้าง พูดถึงการเฟ้นหาความรู้มาเติมเต็ม มาพัฒนาวิธีการต่างๆ พูดถึงเรื่องของจิตใจที่ทุกคนต้องเติมใจให้กันและกัน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือกรอบกว้างๆ ในการทำงานชุมชน”

แต่นี่ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป

“เพราะถ้าจะเอาโมเดลตรงนี้ไปสวมกับอีกชุมชนหนึ่ง ก็อาจจะไม่ใช่เช่นนั้น เช่น ประเด็นร้อน ประเด็นเย็น ถ้าเราเอาประเด็นเย็นไปสร้างที่สงขลา ณ ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ใช่ก็ได้”

อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น หนังสือเล่มนี้ไม่มีพระเอกผู้กุมอำนาจ วิธีคิด และวิธีการอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงสามารถถกเถียง สร้างความรู้ใหม่ นำประสบการณ์ของผู้อื่นมาปรับใช้กับตนเอง เป็น ‘คน’ ทั้งในฐานะประธานและกรรมที่มีกริยาร่วมกัน – ‘เคลื่อน’

เนื้อใน-คนเคลื่อนคน_01-14-8-63

Your email address will not be published.