To Be A Better Teacher- เป็นครูคนใหม่ด้วยวิจัยในชั้นเรียน
Reading Time: 2 minutesเมื่อพูดถึงคำว่า ‘วิจัย’ หลายคนคงกำลังเอามือกุมขมับและนั่งขมวดคิ้ว ด้วยความรู้สึกยุ่งยากกับภาพกองหนังสืออ้างอิงเป็นตั้งๆ แม้งานวิจัยจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูแสวงหาความรู้ใหม่ๆ แต่หลายครั้งการทำวิจัยนั้นอาจไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาห้องเรียนหรือผู้สอนเสมอไป การทำวิจัยจึงกลายเป็นภาระที่ครูต้องแบกรับและเกิดความทุกข์จากการทำวิจัยที่ไม่เชื่อมโยงกับบริบทในห้องเรียนและคุณค่าภายในของตัวครู ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การทำวิจัยเป็นไปเพื่อคืนอำนาจอธิปไตยในการแสวงหาความรู้ของครู โดยครู เพื่อครูและผู้เรียน
วันนี้อยากชวนให้ครูมานั่งล้อมวง ร่วมจุดไฟการเรียนรู้ผ่าน ห้องเรียน “เป็นครูคนใหม่ ด้วยวิจัยในชั้นเรียน” โดยกระบวนกร ผศ.ดร. สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการบัวหลวงก่อการครู โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ครูสามารถมองวิจัยในฐานะเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาศักยภาพการสอนและพัฒนาผู้เรียน โดยใช้หลักการวิจัยในชั้นเรียน หรือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ
วิจัยในชั้นเรียนคืออะไร ?
ตามคำนิยามง่ายๆ วิจัย หมายถึง การแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งการวิจัยแบบที่เรารู้จักกันดี ผู้วิจัยจะวางตัวอยู่ในฐานะคนนอก ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังวิจัยเพื่อไม่ให้เกิดอคติในการทำวิจัย แต่การวิจัยในชั้นเรียนนั้น ผู้วิจัยคือครูผู้สอน ที่ตั้งคำถามและทำงานวิจัยจากภายในห้องเรียนของตนเอง ใช้คุณค่าและความเชื่อของตนเป็นข้อมูลและเครื่องมือในการทำวิจัย ตัวครูจึงเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและเสริมคุณค่าให้กับตัวครูมากขึ้น การวิจัยในชั้นเรียนจึงเป็นการวิจัยเพื่อศึกษาตนเอง และเป็นการวิจัยเพื่อสะท้อนการทำงานของตนเอง นั่นหมายถึง ครูอาจเป็นผู้สร้างทฤษฎีการเรียนรู้ของตนเองจากการปฏิบัติงานจริงในห้องเรียนของตนเองได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพราะมาจากการลงมือทำ มาจากประสบการณ์การสอนของครูเอง เป็นความรู้ที่เชื่อถือได้ และเป็นเนื้อเป็นตัวของครูผู้สอน ซึ่งการสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ครูทุกคนล้วนทำอยู่เป็นปกติแต่มักไม่ค่อยได้บันทึกอย่างเป็นระบบ หรือทบทวนกับมันเสียเท่าไหร่นัก
“ทุกการสอนไม่มีความสมบูรณ์ ล้วนมีจุดด่างพร้อยเป็นธรรมดา บางครั้งจุดด่างพร้อยนั้นก็สร้างวันที่ล้มเหลวในความรู้สึกเรา แต่บางอย่างในตัวเราบอกว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องข้ามไปให้ได้ วันที่เราก้าวข้ามอะไรบางอย่างได้ วันนั้นเราจะเป็นครูที่ดีขึ้น”
จุดสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน คือ เราจะพัฒนานักเรียนของเราได้อย่างไรบ้าง วิจัยในชั้นเรียนจึงเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) เป็นปฏิบัติการ (action) เพื่อค้นหาสิ่งที่ไม่รู้ (research) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความรู้ที่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับชีวิตการทำงาน และใช้เป็นเครื่องมือประเมินตนเองตามแนวทางคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถนำผลสะท้อนจากการวิจัยในชั้นเรียนมาปรับแผนการสอนของเราให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนและตัวเราเอง
โดยกระบวนการของการวิจัยนั้นมีลักษณะเป็นวัฏจัก คือ วางแผน (Plan) – ลงมือทำ (Act) – สังเกตการณ์ (Observe) – สะท้อนคิด (Reflect) ระหว่างทางเราอาจพบกับวิธีการและนวัตกรรมการสอนที่เราเป็นคนคิดค้น หรือ เห็นคุณค่าความถนัดและตัวตนของเราเอง
ฉันจะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลได้อย่างไร ?
หลังจากที่เราวางแผนและลงมือทำแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตและเก็บผลการวิจัยของเรา ผู้ที่จะให้ผลสะท้อนการสอนของเราได้ดีที่สุดคือ นักเรียนและตัวคุณครูเอง ครูต้องสังเกตพฤติกรรมและความรู้สึกของนักเรียนในห้องอย่างสม่ำเสมอ ให้ผู้เรียนได้เขียนสะท้อนความรู้สึกของพวกเขาต่อการสอนของครูอย่างจริงแท้ จากนั้นครูในฐานะนักวิจัยก็นำข้อมูลที่รวบรวมใน 1 คาบมาวิเคราะห์ว่า ตอบเป้าหมายที่คาดหวังไว้หรือไม่ หากไม่สำเร็จ ครูก็กลับมาวางแผนใหม่ ลงมือทำ สังเกต สะท้อนผลอีกครั้ง จนกว่าจะเจอรูปแบบการสอนที่ตอบโจทย์ การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีลักษณะที่เป็นการทดลองปฏิบัติ ทำซ้ำ และสังเกตผลของมันจนกว่าจะได้ตัวแปรต้นที่ส่งผลให้เกิดตัวแปรตามได้ดีที่สุด สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ เราทำวิจัยนี้เพื่อผลประโยชน์ของผู้เรียนที่เราดูแล พัฒนาห้องเรียน และพัฒนาให้เราเป็นครูที่ดีในแบบที่เราอยากเป็นด้วยการทำวิจัยที่เราเป็นเจ้าขององค์ความรู้นั้นเอง
อ่านบันทึกกิจกรรม Click Here
โครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ก่อการครู ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ