“เพราะความฮู้มีอยู่สุเเก” | รู้จัก มหา’ลัยไทบ้าน #เรียนรู้ดูทำ
Reading Time: 2 minutesการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง? ในยุคที่การศึกษาเปลี่ยนผันตามความเปลี่ยนแปลง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในระบบปัจจุบัน อัดฉีดความรู้ได้เพียงพอไหม
“ความฮู้มีอยู่สุเเก” เสียงนักเรียนรู้ ‘มหาลัยไทบ้าน’ ดังก้อง สื่อความภาษาอีสานเป็นคำตอบบนความเชื่อว่า “ความรู้มีอยู่ทุกที่” และตอนนี้พวกเขาได้สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อแชร์ภาพฝันให้ชัดเจนขึ้นใน อ.สีชมพู อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และ อ.ภูกระดึง จ.เลย
The Active x ก่อการครู ชวนทำความรู้จัก ‘มหาลัยไทบ้าน’ เพื่อขยายความคำตอบจากหลักสูตรการศึกษาที่หาไม่ได้จากมหาวิทยาลัยในระบบ ผ่านอัลบั้มภาพชุด “เพราะความฮู้มีอยู่สุเเก : รู้จักมหา’ลัยไทบ้าน เรียนรู้ดูทำ” รวมเรื่องราวให้ร่วมเรียนรู้เหมือนเข้าไปอยู่ด้วยกัน
รับน้องใหม่ มหา’ลัยไทบ้าน
ในวันหยุดยาวต้นธันวาคม 2564 ลมหนาวภาคอีสานกระหน่ำพัดให้ชวนขนลุกเป็นระยะ ความอบอุ่นค่อย ๆ ยังขึ้นในช่วงสายจากแสงแดดและผู้คนที่เดินทางมาพบกัน
เราอยู่ที่ ‘ยายตา at home’ โฮมสเตย์ใน ต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ของคนรุ่นใหม่ที่หวนกลับบ้านมาทำให้ทุ่งนาธรรมดาไกลเมืองของคนรุ่นพ่อแม่ กลายเป็นจุดเช็กอินของคนรุ่นตัวเอง ด้วยการขยับขยายจากบ้านรับแขกเป็นบ้านพักนักท่องเที่ยวซึ่งโปรโมทกันภายใต้ชื่อ “เที่ยววิถีสีชมพู” การท่องเที่ยวโดยชุมชนจากพลังหนุ่มสาวคืนถิ่นที่ช่วยกันทำ 2 ปีมานี้
วันนี้ ‘ยายตา at home’ เป็นหมุดหมายของนักเรียนรู้ที่สมัครเข้าเรียน ‘มหาลัยไทบ้าน’ ปี 1 ลานโล่งด้านหน้าโฮมสเตย์ มีนิทรรศการและผลงานศิลปะฝีมือพวกเขาบางส่วนวางจัดแสดง ฉายให้เห็นที่เที่ยวและบ่งบอกเชิงสัญลักษณ์เรื่องการศึกษา หลังจากเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ‘ยายตา at home’ ได้รวมผู้คนซึ่งใช้ชื่อว่า “ก่อการครู 3 ภูพลัส” ทำภารกิจสร้างครูเป็นตัวคูณเคลื่อนสังคมผ่านแนวคิดขยายพื้นที่การเรียนรู้จากห้องเรียนไปสู่ชุมชน
บทที่ 1 ไทมุง ความสัมพันธ์
“ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การเปิดมหาลัยของพวกเราอย่างเป็นทางการ การมาของพวกท่านวันนี้มีความหมายมาก เพราะถือว่ามาเป็นประจักษ์พยานในการริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ด้วยกัน เราเชื่อเรื่องการศึกษาว่าทุกคนสามารถมีอำนาจลุกขึ้นมาทำอะไรสร้างสรรค์ในบ้านตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นไท”
เริ่มต้นเปิดวงต้อนรับคล้ายปฐมนิเทศนิสิตใหม่สู่รั้วมหาวิทยาลัยโดย ‘สัญญา มัครินทร์’ หรือ ‘สอยอ’ ครูแกนนำในโครงการก่อการครูที่ย้ายมาอยู่โรงเรียนใกล้บ้านได้สำเร็จตั้งแต่มิถุนายนที่ผ่านมา
นอกจากงานสอนในโรงเรียนสีชมพูศึกษา เขายังเป็นหนึ่งในทีมพัฒนา “เที่ยววิถีสีชมพู” สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เรื่องการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่นี่
“ผมเป็นลูกหลานบ้านอ่างทองอยู่ห่างไปประมาณ 500 เมตร แต่ไปเติบโตที่เมืองขอนแก่น เพิ่งได้กลับมาอยู่บ้าน ย้ายกลับมาก็มีนุ มีเพื่อน ๆ ชวนกันทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน คราวนี้จากทำสนุกมันน่าจะไม่พอแล้ว ความสนุกของเรา ความเชื่อของเรา มันน่าจะนำพาชุมชนของเราไปสู่มิติใหม่ ๆ พวกเราอยากเห็นความยั่งยืน เห็นความน่าอยู่ในชุมชนของเรา วันนี้ก็เลยมีวงนี้”
‘นุ – อนุวัตน์ บับพาวะตา’ ผู้ถูก ‘ครูสอยอ’ กล่าวถึง แนะนำตัวตัวเองบ้าง เขาเป็นเจ้าหน้าที่งานป้องกัน อบต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น และเป็นประธานกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู ที่ชวนวัยรุ่นในชุมชนและคนรุ่นใหม่ที่หวนกลับบ้านมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์สร้างรายได้ ตอนนี้ตั้งใจขยับขยายให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของทุกคนในชื่อ ‘มหาลัยไทบ้าน’
“ไท คือความเสรีอิสระไร้กรอบ บ้านคือบ้านของเราชุมชนของเรา มหาลัยไทบ้านจึงหมายถึงพื้นที่เรียนรู้ที่อิสระ ปล่อยให้ความคิดเดินทาง ไม่กำหนดกรอบเหมือนในองค์กร อยากทำอะไรก็ทำ เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ให้ทุกคนมีความสุขกับการมาเรียนมหาลัยแห่งนี้”
‘นุ’ เล่าต่อไปถึงหลักสูตรการศึกษาใน ‘มหาลัยไทบ้าน’ ว่าได้ไอเดียมาจาก ‘มหาลัยเถื่อน’ พื้นที่เรียนรู้แนวสร้างสรรค์ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อนในกลุ่มที่เคยไปเล่าให้พวกเขาฟังว่าที่นั่นเคลื่อนการท่องเที่ยวและการเรียนรู้แบบผลัดกันเรียนเปลี่ยนกันสอน เลยหาข้อมูลเพิ่มจากโลกโซเชียล เห็นว่าน่าสนุกจึงชวนพรรคพวกขยับขยายพื้นที่แบบนั้นในชุมชนนี้
“เฮาอยากให้คนอื่นฮู้จักเฮามากขึ้น เฮากะเอาตัวตนของเฮานี่หละ ผมเซื่อว่าความฮู้มีอยู่สุแก ไทบ้านกะสามารถแลกเปลี่ยนกันสอนได้แนะนำกันได้ มันกะเป็นการศึกษาคือกัน”
(นุ กล่าวเป็นภาษาอีสาน แปลว่า เราอยากให้คนอื่นรู้จักเรามากขึ้นเราก็ชูตัวตนของเรา ผมเชื่อว่าความรู้มีอยู่ทุกที่ ชาวบ้านทั่วไปก็สามารถแลกเปลี่ยนกันสอนแนะนำกันได้ มันก็เป็นการศึกษาเหมือนกัน)
กิจกรรมแรกพบน้องใหม่ ‘มหาลัยไทบ้าน’ เป็นวงคุยขนาดย่อมของผู้คนร่วม 30 ชีวิตจากหลายที่มา หลายอาชีพ หลายอายุ ตั้งแต่ 4 ขวบถึง 74 ปี มีทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง นักออกแบบ นักร้อง นักดนตรี สถาปนิก วิศวกร จิตรกร เกษตรกร นักการเมือง ครู อาจารย์ โปรแกรมเมอร์ ผู้สื่อข่าว นักธุรกิจ นักพัฒนา ผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่สีชมพู อำเภอใกล้เคียง ต่างจังหวัด และต่างภูมิภาค
วงสนทนาแบบบ้าน ๆ ทำให้กิจกรรมแรกพบมีอรรถรสกลมกล่อม เต็มไปด้วยมุมมอง ประสบการณ์ และที่คล้ายกันทุกคนคือยังสนุกกับการเรียนรู้และอยากเปลี่ยนการศึกษา เช่น ‘กุล – กุลชาติ เค้นา’ โปรแกรมเมอร์ที่หันหลังให้เมืองกรุงกลับมาทำงานแบบ work from home ที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
“ผมเป็นลูกครึ่งภูผาม่านกับสีชมพู พ่อเป็นคนภูผาม่าน แม่เป็นคนสีชมพู จุดเปลี่ยนของผมคือกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ผมมีภรรยาและลูกมาด้วย เลยมีคำถามว่าเราจะหาพื้นที่เรียนรู้ดี ๆ ใกล้บ้านให้ลูกได้ไหม ตอนนี้ผมได้ลงมือทำเทคไทบ้าน ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าชุมชน เป็นหยังต้องให้คนอื่นเล่าเรื่องบ้านจะของ ทำไมคนไทบ้านแบบเฮาบ่ลุกมาเล่าเรื่องบ้านเกิดจะของ เอาเทคโนโลยีมาเฮ็ดให้ชนบทของเฮามีแสง”
(กุล กล่าวภาษาอีสานช่วงท้าย แปลว่า ทำไมต้องให้คนอื่นเล่าเรื่องบ้านของเรา ทำไมเจ้าของพื้นที่แบบเราไม่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องบ้านตัวเอง เอาเทคโนโลยีมาทำให้ชนบทของเรามีแสง)
‘วิลลี่ – อนุสรณ์ นิลโฉม’ อีกหนึ่งครูแกนนำในเครือข่ายก่อการครู ที่เราเจอเขาแทบทุกครั้งที่มีกิจกรรมการศึกษาและพัฒนาชุมชนในย่าน “ก่อการครู 3 ภูพลัส” วันนี้ ‘ครูวิลลี่’ เกษียณจากอาชีพข้าราชการครูโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย ร่วม 3 เดือนแล้ว แต่เรามองเห็นไฟในตัวครูยังลุกโชน
“วันนี้ผมเป็นแค่เพียงไม้ขีดไฟก้านเล็ก ๆ ที่มีประกายนิดเดียว แต่อยากจุดพลุให้มันระเบิดส่องแสงสว่าง อยากใช้ความรู้ด้านการศึกษาวิชาการที่เรามีในหัว ซึ่งไม่รู้จะตายเมื่อไร เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ อยากถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนหรือการศึกษาไทย นี่คือสิ่งที่มุ่งหวังเพราะตอนนี้ถึงจุดหมายแล้ว แต่ยังไม่ถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต”
ตั้งใจพาลูกโดดเรียนออนไลน์ มาเรียนวิชาชีวิต คือคำแนะนำตัวของ ‘พ่อเต้ย – ปองพล ยุทธรัตน์’ สถาปนิกที่พา ‘ลูกตุลย์’ หนุ่มน้อยวัย 11 ขวบ เดินทางมาจากอุดรธานี
“เราตั้งคำถามกับการศึกษาว่ามันคืออะไรกันแน่ คือสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียนแค่นั้นหรือ แล้วเราก็ค้นพบว่าไม่ใช่นะ มันน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนี่แหละ แล้วมันก็น่าจะดีกว่าตรงที่มันเกิดจากประสบการณ์ตรง เราชวนลูกมา เพราะอยากให้เขามาเรียนรู้ว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด จริง ๆ ไม่ใช่แค่เพื่อลูกอย่างเดียว เพื่อตัวเราด้วย”
บทที่ 2 ไททอล์ก บันดาลใจ
“การศึกษาบนความต่าง การศึกษาที่สร้างสุข การศึกษาที่มีความหมายต่อตัวเองและผู้คน” กำลังทำงานบนความมุ่งหวังที่หน้าฮ่านรถอีแต๊กซึ่งดัดแปลงเป็นเวที มีฉากหลังเป็นภูเขาและป่าอ้อยพืชเศรษฐกิจในชุมชน ให้ธรรมชาติช่วยประดับประดา
‘มหาลัยไทบ้าน’ ทาบทาม 13 คนที่เข้าเรียน ขึ้นมาเล่าเรื่องและแรงบันดาลใจ ผ่านกลุ่มประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการขับเคลื่อนชุมชน และนักการศึกษา
“ก่อนที่หนูจะเข้ามหาวิทยาลัย หนูจำได้แม่นเลย พ่อหนูบอกว่าชีวิตที่อิสระเสรีมันอยู่ที่มหาวิทยาลัย อดทนรออีกแป๊บนะลูก และหนูก็เชื่อมั่นมาตลอดตั้งแต่ ม.4 จนได้เข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็พบความจริงว่าหนูโดนหลอก”
นี่คือ ประโยคเปิดเวทีของ ‘ป่าน – ปณิธาน คำภูธร’ เฟรชชี่คณะศึกษาศาสตร์ที่เผชิญกับความจริงในมหาวิทยาลัยที่ถูกกำกับด้วยรัฐ ซึ่งลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวที่กล้าวิพากษ์ระบบการศึกษาผ่านงานศิลปะชุด“แอบME” ที่เธอละเลงลงสมุดหนังสือเรียนตลอดวัยมัธยม
“ป่านชื่นชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน บวกกับความน่าเบื่อในบางช่วงเวลาของการเรียนหนังสือในโรงเรียน ในบางครั้งป่านก็มักที่จะวาดรูปไปด้วยและฟังครูสอนไปด้วยในเวลาเดียวกัน… สิ่งเหล่านี้ในสายตาของผู้คนอาจมองว่าเราเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน เกรดไม่ดี คะแนนแย่ ทำให้สมุดหนังสือเปื้อนสกปรก แต่ในอีกแง่ คุณลองเปิดดูภาพเหล่านั้นหรือยัง ภาพที่ไม่มีสอนในห้องเรียน ภาพที่ไม่มีผลต่อคะแนนในการตัดเกรด ป่านอยากเป็นการแสดงออกอีกแขนงหนึ่งกับนักเรียนหรือเด็กที่มีความสามารถในด้านที่ตนชอบ แต่ในระบบการศึกษากลับไม่มีสอน…”
ส่วนหนึ่งของคำอธิบายในนิทรรศการที่ ‘ป่าน’ เขียน และน่าจะส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ตัวเธอกับผู้ฟังได้ช่วยสนับสนุนนักเรียนให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้อง “แอบ ทำ” ในสิ่งที่ตนเองรัก
หน้าฮ่านรถอีแต๊ก ยังมี ‘ปั้น – ปฏิภาณ คำภูธร’ น้องชายของป่าน ซึ่งเป็นนักเรียน ม.ปลาย ออกมาเล่าเรื่องด้วยเหมือนกัน เรื่องราวของ ‘ปั้น’ เป็นการสร้างสรรค์ผ่านตัวอักษรในเล่มนวนิยายชื่อว่า “สูญ” ที่เกิดจากแรงบันดาลใจในวันที่ สูญ เสีย เด็กสาวที่เขาหลงรัก และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่รู้สึกอ้างว้างจากการเรียนออนไลน์
‘ปั้น’ สรุปว่า หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้ เพราะการสนับสนุนของครอบครัวที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูก ๆ ทำ ไม่มองว่าไร้สาระ เขาเชื่อว่า ถ้าครูในระบบมีสายตาเหมือนกับครอบครัว นักเรียนคงได้ฉายแสงในแบบที่ตนเองเป็น และวันนี้พ่อแม่ของ ‘ป่านกับปั้น’ ก็มาเรียนด้วย เราจะพาไปรู้จักพวกเขาทั้งคู่ในช่วงไททริป
บทที่ 3 ไททำ ลุยถึงที่
‘มหาลัยไทบ้าน’ พาเราไปเรียนแบบไม่รู้สึกว่ากำลังเรียน หนึ่งในหลักสูตรของที่นี่ คือเปิด 3 พื้นที่ให้ลงภาคสนามไปเรียนรู้และลงมือทำตามความสนใจ โดยมีคนในชุมชนเป็นผู้นำกระบวนเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็ชวนผู้เรียนให้ข้อเสนอเพื่อร่วมต่อยอดพัฒนา
ห้องเรียนที่ 1 ‘ครูทอม’ ศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งกลับคืนถิ่น พาออกไปหาหินสีที่ลำน้ำพอง สร้างงานศิลปะ สะท้อนผลงาน สะท้อนความคิด ชวนผู้เรียนบันทึกความรู้สึกและเรื่องราวผ่านการพิมพ์ด้วยเสียงบนสมาร์ตโฟน และไปกินเมี่ยงผักสดปลอดสารเคมีที่ไร่เครือข่าย
ห้องเรียนที่ 2 ‘บอล และ ต้น’ เกษตรกรยุคใหม่เจ้าของไร่ปูริดา พาไปเรียนการเกษตรผสมผสาน และเปิดร้านอาหารชวนผู้เรียนลงจับปลามาทำหลามปลาช่อนสูตรไทบ้าน และนั่งรถชมวิววิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งหาอยู่หากินริมอ่างเก็บน้ำห้วยลอมไผ่
ห้องเรียนที่ 3 ‘นุ’ เที่ยววิถีสีชมพู พาไปหา ‘พ่อสนั่น’ ครูภูมิปัญญาสอนทำ “สาโท” เครื่องดื่มพื้นบ้าน เราตามไปที่ห้องเรียนนี้ และนี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ไม่มีในตำรา
‘พ่อสนั่น’ วัย 68 ปี เป็นพ่อของ ‘อีฟ’ หนึ่งในทีมงานมหาลัยไทบ้าน การทำสาโทแบบคนโบราณ ดึงดูดให้พวกเรา 10 กว่าชีวิต เดินทางมาที่นี่ตามคำเชิญชวนของ ‘นุ’ ที่หวังเห็นคนรุ่นใหม่เรียนรู้สานต่อ ประยุกต์กับยุคปัจจุบัน และพาลูกหลานมาเยี่ยมเยือนผู้สูงวัย
“เมื่อก่อนสาโทพื้นบ้านไม่ผิดกฎหมาย เราจะนิยมทำในช่วงเทศกาลปีใหม่ ฤดูเกี่ยวข้าว เพราะคนสมัยก่อนไม่ค่อยมีเงิน จะใช้วิธีลงแขกคือเรียกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาช่วยกัน ทีนี้ความคิดของเราก็คือว่าญาติพี่น้องมาช่วยก็ควรตอบแทนอาหารการกิน ลาบไก่ ลาบวัว มีสาโทแก้เหนื่อยตอนเย็น”
‘พ่อสนั่น’ เล่าให้พวกเราฟังว่า แม้ทุกวันนี้การทำสาโทแบบ้าน ๆ ไม่สามารถทำได้อิสระเช่นอดีต แต่เขาก็อยากถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตดั้งเดิมให้ลูกหลานได้เรียนรู้
“เหล้าโทคนสมัยเก่าบ่ได้เฮ็ดยาก มีอยู่ 2 อย่าง ข้าวเหนียวกับแป้งหมักที่ในอดีตจะมีคนมาเดินเร่ขาย วิธีการก็ง่าย ๆ เริ่มจากหม่าข้าวเหนียวครึ่งถัง 1 คืน ก่อไฟนึ่งประมาณ 30 นาที ผึ่งให้ข้าวเย็น จากนั้นกะปริมาณข้าว 2 ลิตร ต่อแป้งหัวเชื้อ 1 เม็ด ค่อย ๆ เทน้ำ 2-3 ลิตรผสมซาวข้าวกับแป้ง บรรจุลงโอ่งหรือไหทิ้งไว้ 3-4 คืน ค่อยเติมน้ำไปใส่อีก 2-3 ลิตร หมักต่อ 7-15 วันก็นำมาดื่มได้”
‘พ่อสนั่น’ พาพวกเราลงมือทำทุกขั้นตอนหลังจากวางมือไปนาน เพราะกลัวกฎหมาย แต่ถ้าเมื่อไรเปิดเสรีให้ทำได้ ‘พ่อสนั่น’ บอกว่า คนน่าจะทำแทบหมดหมู่บ้าน ตนเองก็อยากทำหารายได้เสริม เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชาวนา สมมติ 1 ขวด ขาย 20-30 บาท ถ้าผลิตได้ 100-200 ขวด ก็เป็นรายได้มากกว่าการปลูกข้าวเพื่อขายเชิงเดี่ยว
พวกเราใช้เวลาเรียนรู้ที่นี่ร่วม 3 ชั่วโมง ‘พี่นุ’ ก็พาหิ้วโหลสาโทฝีมือ ‘พ่อสนั่น’ ขึ้นรถอีแต๊กซึ่งทำหน้าที่เป็นรถโรงเรียนพาไปเที่ยวเลาะ ต.ดงลาน ชมเขา ชมทุ่ง และวิถีชุมชนยามเย็น เป็นห้องเรียนที่หลายคนสุดประทับใจโดยเฉพาะ ‘ตุลย์ – ปิติ ยุทธรัตน์’ หนุ่มน้อยวัย 11 ขวบที่มากับพ่อจากอุดรธานี
“เปิดเทอมหลายเดือนแล้ว ยังไม่ได้ไปโรงเรียนเลยตั้งแต่ขึ้นชั้น ป.5 เรียนออนไลน์เกือบทั้งวัน ชอบมาข้างนอกมากกว่าเพราะว่ามีกิจกรรมให้ทำเยอะ การเรียนแบบนี้ที่อุดรมีนิดหน่อย พ่อไม่ได้บอกว่าพามาทำอะไร แต่ตอนนี้รู้ชื่อแล้วว่า มหาลัยไทบ้าน เลือกมาห้องเรียนนี้เพราะอยากนั่งรถอีแต๊ก”
บทที่ 4 ไททริป รู้ถึงถิ่น
อีกหนึ่งการเรียนนอกตำรา คือ พาตัวเองออกไปสัมผัสประสบการณ์ตรงกับที่ใหม่ ๆ ‘มหาลัยไทบ้าน’ พาเราออกเดินทางไปที่ ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย เพื่อเที่ยวบ้านเพื่อน 3 เส้นทาง
เส้นทางที่ 1 บ้านม้าไทย ของ ‘อาจารย์เกษม สมชาย’ นักบุกเบิกการท่องเที่ยวโดยชุมชนและนักพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่วันนี้มีชีวิตงดงาม เปิดบ้านย่างหมูต้อนรับ และพาเดินชมพื้นที่ จิบน้ำจุลินทรีย์สารพัดประโยชน์ที่พัฒนาขึ้นเอง
เส้นทางที่ 2 ไร่โนอาร์ 100 ไร่ ของ ‘พี่ทอม’ ที่กำลังพัฒนาพื้นที่ติดภูเขาให้เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมี พื้นที่แห่งการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
เส้นทางที่ 3 บ้านซอกเล็บนกเค้า ของ ‘ครูปุ๊ค ครูชิน’ พ่อแม่ของ ‘ป่านกับปั้น’ นักเล่าเรื่องไททอล์กที่เราเกริ่นไว้ช่วงแรก เราเลือกไปที่นั่น และนี่คือเนื้อหาที่เราสรุปเอง
“บ้านปูนหนึ่งชั้น” ขนาดกระทัดรัดในบรรยากาศคล้ายรีสอร์ต ตั้งตระหง่านมองเห็นผานกเค้าสวยชัด ถนัดตา ที่นี่เป็นทั้งบ้านพักกาย และพักใจ เวลาที่ ‘ครูปุ๊ค’ และ ‘ครูชิน’ เหนื่อยล้าเวลาถูกลดทอนพลังจากระบบการศึกษา แต่ไม่เคยลดพลังใจในการเป็นครู
‘ครูปุ๊ค’ เป็นชาว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ส่วน ‘ครูชิน’ เป็นชาวบ้านผานกเค้า จ.เลย ทั้งคู่เคยเป็นครูสอนเด็กพิการทางได้ยินที่โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่นร่วม 20 ปี การย้ายกลับมาเป็นครูโรงเรียนขยายโอกาสที่บ้าน ทำให้ทั้งคู่ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่
“ผมไม่ได้ภูมิใจในอาชีพครูเท่าไร แต่ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ บางทีครูสลัดความเป็นครูทิ้งไปเลยก็ดี บางทีการเป็นครูมากเกินไปก็สร้างปัญหา ลองเอาความเป็นครูทิ้งไป หลาย ๆ อย่างอาจจะดีขึ้น”
คำพูดของ ‘ครูชิน’ ในวงแลกเปลี่ยนบรรยากาศธรรมชาติ ชวนให้เรานึกถึงการออกเดินทางเป็น “ครูดิลิเวอรี” ของสามีภรรยาที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์นำการเรียนรู้ไปจัดส่งให้เด็ก ๆ ได้เรียน On Life ช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มรู้จักกับโควิด-19 ระลอกแรก
วันนี้ ลานโล่ง 4 ไร่ สลับกับแมกไม้ขนาดเล็กใหญ่ อาจถูกมองว่าเป็นบ้านพัก แต่เหมือน ‘ครูปุ๊ค’ และ ‘ครูชิน’ จะถนัดไปที่การเปิดให้เป็นห้องเรียนมากกว่า แต่ไม่ใช่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นห้องเรียนฟ้ากว้าง ที่ทั้งคู่ชวนลูกศิษย์ละวางความรู้ในตำรา มาเล่นและเรียนรู้ในโลกจริงอยู่บ่อย ๆ ทั้งดูหิ่งห้อย นอนดูดาว ทำงานศิลปะ และฟังนิทาน รอยยิ้มของนักเรียนน่าจะเป็นเหตุผลเดียวในการดำรงอยู่ในฐานะครูในระบบการศึกษาของเขาทั้งคู่
เชื่อหรือไม่ ? แม้ในวงจะมีแต่คำชื่นชม และทึ่งในความตั้งใจเป็นครู แต่ทุกครั้งที่มีการประเมินเลื่อนขั้น ปรับเงินเดือน ‘ครูปุ๊ค’ และ ‘ครูชิน’ ได้คะแนนที่โหล่ของโรงเรียนเสมอ คิดกันเอาเองว่าน่าจะมาจากความนอกกรอบและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหลื่อมออกจากวิธีในระบบที่ใคร ๆ ก็ทำกัน
ไฟความดื้อเพื่อศิษย์ของครูทั้งสอง ต่อยอดพลังการแสวงหาความรู้และส่งต่อแรงบันดาลใจให้พวกเราที่ได้มาเรียนวันนี้อย่างโชติช่วงทีเดียวหละ
บทที่ 5 ไททวน ชวนมอง
ที่เล่ามาทั้งหมด ก็คือกิจกรรมเกือบครบที่ The Active พาตัวเองไปร่วมเรียนรู้ใน ‘มหาลัยไทบ้าน’ เรารู้สึกสนุกกับการเดินทางและการมีเพื่อนใหม่ที่ช่วยทำให้คำว่า “Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เข้าใจง่ายและชัดเจนขึ้น
ก้าวต่อไปของ ‘มหาลัยไทบ้าน’ ได้ถูกวางแผนไปที่การขยายผลต่อยอด คือ จะไม่ทำให้เป็นเพียงแค่กิจกรรมหรืออิเวนต์ที่ทำเป็นครั้ง ๆ แล้วจบเลิกรากันไป แต่ ‘มหาลัยไทบ้าน ปีที่ 1’ จะเป็นเครือข่ายเพื่อนพี่น้องที่เป็นพลัง ให้กำลังใจ แรงบันดาลใจ ร่วมกันสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งการเรียนรู้ในระบบและไร้กรอบขอบรั้วโรงเรียนร่วมกันต่อไปใน ‘มหาลัยไทบ้าน ปีที่ 2’ และปีอื่น ๆ ตามมา
———————————————————————————————————
งานเขียนภายใต้ความร่วมมือเเละเผยเเพร่ร่วมกันระหว่าง ก่อการครู x The Active
อ่านงานจาก The Active คลิก