Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์

ภัสรัญ สระทองนวล: “วิชาใจ สำคัญไม่น้อยกว่าวิชาการ”1 min read

Reading Time: 2 minutes วิชาใจเปลี่ยนคุณครูหมดไฟให้กลายเป็นครูผู้เปลี่ยนแปลงการศึกษาในห้องเรียน นอกจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ที่เรียนไปเพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตจริงในสังคมแล้ว "วิชาใจก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน" ครูคือมนุษย์ นักเรียนก็คือมนุษย์ ฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจการดูแลสุขภาพจิต ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน Aug 10, 2022 2 min

ภัสรัญ สระทองนวล: “วิชาใจ สำคัญไม่น้อยกว่าวิชาการ”1 min read

Reading Time: 2 minutes

เริ่มต้นจากการเป็นครูแนะแนวไฟแรง งัดทุกกลวิชามาถ่ายทอดสู่นักเรียน เป็นครูที่เด็กๆ วิ่งเข้าหา ด้วยท่าทีเป็นกันเอง เปิดเผย รับฟัง  ทำให้ในเวลาไม่นานนัก ครูแก้ว – ภัสรัญ สระทองนวล ครูแนะแนวแห่งโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา ก็กลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ โดยปริยาย

งานสอนไม่บกพร่อง งานกิจกรรมก็ไม่แพ้กัน 

ครูแก้วปลุกปั้นทีมวอลเล่ย์บอลโรงเรียนในฐานะโค้ชครั้งแรก ก็หอบรางวัลที่ 3 ของจังหวัดมาประดับโรงเรียน ส่งประกวดสภานักเรียน ก็คว้าที่หนึ่งระดับชาติมาครองในปี 2552 หรือกระทั่งส่งทีมนักเรียนเข้าแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน กิจกรรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (YC:Youth Counselor)  ก็คว้าที่หนึ่งระดับชาติมาได้ในปี 2561 

“ก็เจ๋งอยู่เหมือนกันนะเรา ธรรมดาซะที่ไหน” 

ครูแก้วเล่าพลางสาธิตสีหน้าที่ถูกระบายด้วยความภูมิใจ ใครๆ ก็มองว่าครูแก้วประสบความสำเร็จที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์​ได้อย่างยอดเยี่ยม 

“แต่รู้มั้ยคะ สามปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น มีห้องเรียนนึงที่โรงเรียนมอบหมายให้เราสุดๆ เลยค่ะห้องนี้ใครๆ ก็บอกว่า ‘ครูแก้วเอาอยู่ เอาเลย ห้องนี้’ เราก็ตอบอย่างมั่นใจ ‘ได้ค่ะ ครูแก้วรับมือก็ได้ค่ะ’  ถามว่ากลัวมั้ย มีเหรอคะที่จะไม่กลัว กลัวมากด้วย ได้แต่ปล่อยใจตัวเอง เราเป็นครูมืออาชีพ ความจริงใจของเราจะโอบอุ้มเขา 

“แต่ในที่สุด หนึ่งปีผ่านไป ครูแก้วล้มไม่เป็นท่าเลย ความภูมิใจทั้งหมดที่มีล่มสลาย ทุกครั้งที่ต้องสอนห้องนี้ เรากอดสมุดเช็กชื่อไป แล้วเราก็ (สูดหายใจลึก ถอนหายใจแรงๆ 2 ครั้ง) แล้วเข้าไปด้วยอารมณ์แบบนี้”

ครูแก้วไม่มีความสุข เธอรู้ดีว่าจะอยู่ในสภาวะหมดแรง แพ้พ่าย และหมดไฟเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ ยิ่งในฐานะครูแนะแนว เธอจะส่งต่อพลังบวกเช่นไรหากสภาวะภายในของเธอเต็มไปด้วยความทุกข์

‘ก่อการครู’ คือปลายทางที่ครูแก้วมุ่งหน้ามาหาคำตอบที่ว่า “ฉันจะทำยังไงดี”

โมดูลหนึ่ง: ทบทวนความเป็นมนุษย์

“ฉันจะหลับมั้ยเนี่ย ก็ฉันเป็นมนุษย์อยู่แล้ว จะต้องทบทวนอะไรอีก” ครูแก้วสารภาพความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา หลังก้าวเข้ามาร่วมก่อการครูในครั้งแรก 

ความเป็นมนุษย์สำคัญอย่างไร เหตุใดเราจึงต้องทบทวนและสำรวจมันอย่างถี่ถ้วน 

ก่อการครูเริ่มต้นด้วยการทำงานกับภายในจิตใจของครู บนความเชื่อที่ว่า ‘ครูคือมนุษย์’ ในระบบการศึกษาที่ทำราวกับครูเป็นเครื่องจักร ครูถูกคาดหวังให้เป็นสารพัดสิ่ง เป็นต้นแบบที่ดีงามทั้งปวง เป็นผู้เสียสละและทุ่มเทชีวิต จนสังคมและการศึกษาลืมไปว่า ครูก็เป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่ยุติธรรม ครูทุกคนมีตัวตนที่หลากหลาย ผิดพลาดได้ ร้องไห้ได้เช่นคนอื่นๆ

“สิ่งที่พบคือ เราได้เห็นสายตาของครูทุกคน ได้เพื่อน ได้เปิดใจ ได้สำรวจพลังข้างในของเรา คุณค่าที่มีอยู่ในตัวเรา ความประทับใจ และความสำเร็จ อะไรที่เราก้าวข้ามผ่านมาได้แล้วทำให้ความสำเร็จในตัวเรามันยิ่งใหญ่ เราได้ขุดลึกมันออกมา เรา มันรู้สึกเหมือนเราเดินเข้าไปในอุโมงค์ที่มีต้นไม้ล้อมรอบ เราได้ออกซิเจนกลับมา”

กลับมาที่ห้องเรียนของครูแก้ว หลังสูดออกซิเจนมาเต็มปอด เธอเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนเล็กๆ เปลี่ยนจากครูแนะแนวที่สอนหนังสือ สู่ ‘วิชาชีวิต’ ใช้กิจกรรม ทักษะการฟัง และการแลกเปลี่ยนสนทนาในห้องเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้  “ปรากฏว่า เราให้เด็กๆ เขียน Reflection กลับมา เขาเขียนว่า หนูรู้สึกว่าที่นี่คือที่ปลอดภัยของหนูและเพื่อนจริงๆ 

“เมื่อก่อนเราไม่อินกับคำว่า พื้นที่ปลอดภัย แต่พอมาอ่านคำพูดของเด็กคนนี้ เรารู้สึกว่า เฮ้ย ห้องแนะแนวของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จริงๆ แล้วเราจะทำอยู่คนเดียวทำไม เราจะให้ห้องเรียนของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยห้องเดียวทำไม ในเมื่อโรงเรียนของเรามีตั้ง 52 ห้อง” 

เมื่อห้องเรียนเล็กๆ ที่ถูกออกแบบการเรียนรู้ผ่านความเชื่อว่า ‘นักเรียนก็คือมนุษย์ ครูก็คือมนุษย์’​ กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ยืนยันผ่านเสียงของเด็กๆ ครูแก้วเดินหน้าต่อโดยการสานต่อชุมนุม ‘นักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (YC: Youth Counselor)’ โดยการเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ให้เด็กๆ โดยมีครูแก้วเป็นโค้ช

“ในวันประชุมประจำเดือน ประโยคสุดท้ายของ ผู้อำนวยการถามว่า ‘ว่ามีใครจะเสริมอะไรไหม’ เรารวบรวมความกล้าทั้งชีวิตบอกว่า ขออนุญาตพูดถึงเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน เพราะตอนนี้มีนักเรียนอยู่ในภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เราพูดทุกอย่างที่ครูแก้วแบกมานานว่า  ‘นักเรียนของเราเขาไม่มีบ้านเป็นที่ปลอดภัย บางคนมี บางคนไม่มี ดังนั้น เมื่อเขามาโรงเรียน ขอให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยของเขาเถอะค่ะ” ผลคือ …ผู้อำนวยการอนุมัติเต็มที่

บ้าน โรงเรียน ชุมชน คือฐานในการเติบโตของเด็กๆ ครูแก้วจึงไม่หยุดเพียงรั้วโรงเรียน แต่เธอใช้วิธีสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพราะท้ายที่สุด การศึกษาคือรากฐานของทุกระบบของสังคม การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของครูคนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งครู โรงเรียน พ่อแม่ ชุมชน สังคม และรัฐ คือปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น

 

Your email address will not be published.