ภายใต้ระบอบแห่งภาพลักษณ์: มายาคติทางเพศ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม และทัศนคติของนักเรียนในพื้นที่การศึกษาไทย
Reading Time: < 1 minute“เพศ” เป็นประเด็นที่มักถูกตีตราจากสังคมไทยว่าไม่เหมาะสมที่พูดถึงในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาได้รับความคาดหวังจากสังคมไทยให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะประชากรให้มีศีลธรรมอันดีตามขนบแบบไทยๆ ซึ่งมักรวมถึงการละเว้นจากการแสดงออกทางเพศและพูดคุยเรื่องเพศที่เกินพอดีอย่างไรก็ตามการปฏิเสธการรับรู้เรื่องเพศในโรงเรียนอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การไม่ได้เรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศ ไม่ว่าจะในมิติการทำงานของร่างกาย สิทธิเหนือพื้นที่บนร่างกาย ตัวตนทางเพศที่หลากหลายของมนุษย์รสนิยมทางเพศ การเคารพต่อผู้อื่น รวมไปถึงทักษะ และทัศนคติที่สำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเมื่อเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศในโรงเรียน เป็นการผลิตซ้ำวัฏจักรความไม่รู้และความกลัวเรื่องเพศ ซึ่งทำให้ประชากรในสังคมไทยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศทั้งในระดับกว้างและลึก ถูกครอบงำด้วยความไม่รู้และพร้อมที่จะส่งต่อความกลัวจากรุ่นสู่รุ่น
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกและการใช้แบบสอบถามกับครูและนักเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เรื่องเล่าเพื่อศึกษามุมมองและประสบการณ์ร่วมของครูและนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องเพศในสถานศึกษาไทย และใช้การวิพากษ์วาทกรรมเพื่อศึกษาวาทกรรมและอำนาจที่รักษามายาคติเรื่องเพศในสถานศึกษาไทย ผู้วิจัยใช้แนวคิด “ระบอบแห่งภาพลักษณ์” (Regime of Images) และ “วัฒนธรรมแห่งความกลัว” (Culture of Fear) เป็นแนวคิดหลักในการอธิบายมายาคติเรื่องเพศในสังคมไทย โดยสะท้อนให้เห็นกลไกที่สถานศึกษาไทยมีบทบาทในการรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง ผ่านการปิดกั้นเรื่องเพศ การลงโทษ และการควบคุมพฤติกรรมของครูและนักเรียน รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าความกลัวส่งผลอย่างไรต่อความสามารถในการเรียนรู้สุขภาวะ และความพึงพอใจในชีวิตของครูและนักเรียน แม้ความกลัวจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปิดกั้นเรื่องเพศที่ถูกใช้มาตั้งแต่อดีต แต่ความกลัวก็ได้ทิ้งบาดแผลและปัญหาไว้ในกลุ่มเยาวชนในหลายด้าน การปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศยังได้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นเพียงพื้นที่สำหรับการรักษาภาพลักษณ์แต่กลับไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อย่างเสรีโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่ในการให้ความรู้และไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศที่มีความละเอียดอ่อนแก่นักเรียนการพยายามรักษาภาพลักษณ์ด้วยการปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศจึงอาจย้อนกลับมาทำลายภาพลักษณ์ในด้านการเป็นสถาบันการศึกษาของโรงเรียน และทำให้บทบาทของโรงเรียนต้องเปลี่ยนไป