มายาคติว่าด้วยความสำเร็จของผู้เรียน : กรณีศึกษาเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย
Reading Time: < 1 minuteงานวิจัยนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นหมุดหมายแสดงถึงความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน ก่อให้เกิดกระแสการแข่งขันการกวดวิชา และความพยายามอย่างหนักที่จะประสบความสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัย การประสบความสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัย ถูกผูกโยงเข้ากับความสำเร็จในชีวิตภายภาคหน้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทั่งทางใจ ทางกาย ทางสังคม ของผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น ผู้ปกครองและครู
ปัจจุบัน การศึกษาที่ทำความเข้าใจถึงที่มาของชุดความคิดที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ ว่ามีการก่อร่าง ส่งต่อ และส่งผลอย่างไรต่อสุขภาวะผู้เรียนและสังคม มีจำนวนน้อยมาก ดังนั นงานวิจัยนี จึงมีวัตถุประสงค์ 1. ศึกษาวาทกรรมว่าด้วยความสำเร็จของผู้เรียน กรณีสอบเข้ามหาวิทยาลัย 2. วิเคราะห์ที่มาและการสร้างความหมายของวาทกรรมดังกล่าว และ 3. ศึกษาอำนาจของวาทกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย โดยเฉพาะผลที่มีต่อสุขภาวะของผู้เรียน
ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ครูและผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษากระแสหลักของประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 16 คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) ร่วมกับการวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) เพื่อทำความเข้าใจระดับของวาทกรรมที่ปรากฏในรูปของการให้ความหมาย ประสบการณ์ และการประกอบสร้าง
ผลการศึกษาทำให้เห็นวาทกรรมแข่งขัน 2 ชุดในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องความสำเร็จของผู้เรียน ได้แก่ “ความสำเร็จหมายถึงความมั่นคงทางอาชีพ” และ “ความสำเร็จหมายถึงความสุข และการค้นพบตัวเอง” ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวประกอบสร้างมาจากความเชื่อ ค่านิยม และแนวคิดร่วมสมัยในสังคมไทยแต่ละยุคสมัย ได้แก่ความเชื่อเรื่องของการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ อิทธิพลของพ่อแม่ในการด ารงชีวิตของลูก แนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดกระแสในสังคมเรื่องความสุข และการแข่งขันเพื่อมีทักษะสำหรับตลาดแรงงาน
ผลการศึกษาชี้ ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้เรียน อันเนื่องจากวาทกรรมที่ยังคงแข่งขันกัน เช่นผู้เรียนมีความเชื่อว่าจะต้องค้นพบตัวเองและมีทางเลือกที่ให้ความสุขกับตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเลือกเรียนเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วย การไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ส่งผลให้ตัวผู้เรียนรู้สึกว่า “ดีไม่พอ” โดยการปราศจากการคำนึงถึงโครงสร้าง และระบบในสังคมที่ก็มีอิทธิพลต่อความสำเร็จระดับบุคคลเช่นกัน
นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า ด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับคุณวุฒิ การมีหลักฐานว่าได้ประสบความความสำเร็จ ดังนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นสนามแข่งขัน ที่นักเรียนใช้พิสูจน์ความสามารถของตนเอง ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อสุขภาวะของผู้เรียน การศึกษาชิ้นนี้ ได้เสนอว่า การทำความเข้าใจมิติอันหลากหลายของมุมมองความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในสังคม อาจช่วยคลี่คลายปัญหาสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องความสำเร็จในการเรียนของเยาวชน