ชุดภาพ จุดไฟในใจครูด้วยเวทมนตร์แห่งรัก
Reading Time: 3 minutesท่ามกลางต้นไม้ร่มครื้มในโรงแรมฟ้าหลวงรีสอร์ท จังหวัดอุดรธานี บรรดาครูโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายนกว่า 40 ชีวิตนัดหมายกันที่นี่เพื่อถอดบทเรียน พร้อมเติมพลังให้กันและกันเพื่อพัฒนาห้องเรียนด้วยหลักสูตรใหม่ที่ตัวแทนครูบางคนได้เข้าเรียนรู้หลักสูตร “บัวหลวงก่อการครู” ซึ่งเป็นหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของครูเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับเหล่าอนาคตของชาติ
ก่อนเริ่มจุดไฟในใจครู
ก่อนจะเริ่มอบรมปฏิบัติการ “จุดไฟในใจครู สร้างการเรียนรู้เปี่ยมพลัง” ศรีสมร สนทา ผู้อำนวยโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จ.อุดรธานี
ได้ปลุกไฟในตัวครูรุ่นลูก
มีใจความสำคัญว่า ก่อนจะมีการประชุมวันนี้ พวกเราต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทั้งจากเหตุการณ์โควิดบ้าง กลัวตายกันบ้าง แต่ครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเรามาอยู่ด้วยกันทั้ง 40-50 คน ซึ่งก็ทำให้พวกเราตื่นเต้นกันยกใหญ่ที่จะได้มาเจอกัน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พวกเราแทบไม่มีโอกาสได้เจอกันแบบนี้ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องเตรียมตัวเพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นครูเพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งโครงการบัวหลวงก่อการครูสนับสนุน ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของตัวเองคนแรกก็คือ ตัวเราเอง
“ไม่ได้คาดหวังว่า จะเติมประสิทธิภาพให้กับทุกคนได้เต็มร้อย แต่แอบหวังว่า การถ่ายทอดจากเพื่อนสู่เพื่อนครูจะเป็นการจุดประกายและเติมพลังให้กัน ให้ไฟในใจของเราที่มันมอดไหม้ได้ลุกโชน เข้าใจว่า เหนื่อย ท้อ แต่วันนี้เราจะเติมใจให้กัน จะจับมือกันแล้วก้าวไปพร้อมกัน”
ห้องเรียนแห่งรัก
กิจกรรม “ห้องเรียนแห่งรัก” ที่ครูสังคม หาญนาดง หรือครูเต้ ครูประจำชั้น ป.3 โรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จ.อุดรธานี และเหล่าเพื่อนครูร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดบทเรียนผ่านกระบวนการและการเล่นเกม “เชื้อโรค” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนได้คิดว่า เมื่อคนที่ถูกมองว่า เป็นเชื้อโรคนั้นรู้สึกอย่างไร จากนั้นจึงมีกิจกรรมทลายภูเขาน้ำแข็งในใจครูเพื่อให้มองตัวเองและมองนักเรียนสองด้าน โดยเฉพาะด้านที่ซ่อนอยู่
เวทมนตร์คาถา
กิจกรรม “เวทมนตร์คาถา” ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการที่ครูแต่ละคนใช้ในการจัดการห้องเรียนให้อยู่หมัด ในที่นี้ครูแต่ละคนก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางคนก็บอกว่า “ให้นักเรียนยิ้มก่อนเข้าเรียน” บางคนก็สะท้อนว่า “เวลานักเรียนเสียงดังก็ให้จำลองการอมลูกมะนาว ถ้ายังไม่หยุดก็จะมีให้จำลองอมมะนาวลูกโตขึ้นเรื่อยๆ” หรือ บางคนก็ให้นั่งสมาธิ
แน่นอนเวทมนตร์คาถาของบรรดาคุณครูก็มีวิธีที่แตกต่างกัน ดังนั้นทุกคนจึงนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด
ออกแบบกระบวนการ
การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ วิทยากรที่เป็นเหล่าบรรดาครูในโรงเรียนอนุบาลหนองหาน
วิทยายนได้มีเซ็คชั่นให้ครูทุกคนได้ถามตัวเองว่า ที่ผ่านมาเคยทำผิดพลาดอะไรบ้าง เพื่อเป็นการทบทวนตัวเอง เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำ ด้วยการจัดกลุ่มย่อยให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนกัน
หลายคนสะท้อนออกมาจากประสบการณ์และออกมาจากใจให้เพื่อนร่วมงานได้รับรู้
แน่นอนไม่มีตัดสินใจว่า สิ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องเลวร้าย แต่จะเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้อยู่กับปัจจุบันและอนาคตได้ ด้วยการทบทวนตัวเองจากความผิดพลาด แล้วออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง
จุดไฟในใจครู
และแล้ว….กระบวนการจุดไฟในใจครูก็มาถึงจุดไคล์แม็กซ์ที่ครูแต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ “ครูในฝัน”
ด้วยการวาดภาพครูที่เคยอยู่ในความทรงจำ ครูต้นแบบที่ตัวเองอยากเป็น ครูที่รักที่ยังคงคิดถึง “ใต้เสียงเทียน” เพื่อกระตุ้นให้ครูแต่ละคนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินตามรอย
แสงเทียนอันริบหรี่ได้กระตุ้นให้ครูแต่ละคนมีจินตนาการและขับเน้นความระลึกถึงได้ออกมาอย่างจับใจ
บทสุดท้ายของ “การจุดไฟในใจครู” คือ เรียนรู้ถูกผิด ซึ่งผู้บริหารโรงเรียน อย่าง ผอ.ศรีสมร ที่เหลืออายุราชการอีกไม่นานได้ฝากรักและหวังถึงเพื่อนครูว่า
“จากนี้ไปขอให้ทุกคนเป็นครูที่ทั้งรักตัวเอง รักห้องเรียนและรักอาชีพครู ให้เป็นครูเหมือนที่ตัวเองตั้งปณิธานในการเข้ามาเป็นครูในวันแรก หากใครอยากจะขอโทษเพื่อนร่วมงานก็ใช้โอกาสนี้ขอโทษ บอกรักและเริ่มต้นใหม่เพื่อเป็นครูที่ดีให้กับโรงเรียน สังคม”
ถือเป็นการจุดไฟในใจครูด้วยน้ำตาแห่งความตื้นตันและเป็นการเติมพลังในใจครูอย่างแท้จริง