ห้องเรียนแห่งความรู้ ห้องเรียนแห่งความรัก
Reading Time: 3 minutesห้องเรียนทุกห้องจะมีแต่เสียงหัวเราะ ถ้าทั้งครูและนักเรียนเปิดใจคุยกัน ด้วยความเข้าใจ
ถ้าโรงเรียนไหนอยากร่วมสร้างห้องเรียนแห่งรัก ลองฟังประสบการณ์จากครูโรงเรียนอุนบาลหนองหานวิทยายนที่ช่วยกันถอดบทเรียนเพื่อทำให้ทุกห้องเรียนเบ่งบานด้วยความรักและความเข้าใจ
“มีนักเรียนคนหนึ่งเข้ามาใหม่เรียนตอนกลางเทอม เขาอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ พอเราพยายามกระตุ้นน้องเพื่อให้เรียนทันเพื่อน แต่เขากลับร้องไห้ ซึ่งเราก็ตกใจมาก เพราะไม่คิดว่า การถามว่า ทำไมไม่ส่งการบ้านจะทำให้เขาร้องไห้ หลังจากนั้นเราก็ใส่ใจและสังเกตเขาพฤติกรรมเขามากขึ้น”
เป็นประสบการณ์ตรงของ “วิไลลักษณ์ รู้กิจ” หรือ ครูลิลลี่ ครูประจำชั้น ป.2 โรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จังหวัดอุดรธานี ที่เล่าให้เพื่อนครูกว่า 40 คนฟัง ขณะที่ช่วยกันถอดบทเรียนในการสัมมนา “จุดไฟในใจครู สร้างการเรียนรู้เปี่ยมพลัง” ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2565 เพื่อทลายภูเขาน้ำแข็งในใจเด็กและครูสร้าง “ห้องเรียนแห่งรัก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “บัวหลวงก่อการครู”
เธอเล่าเหตุการณ์เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานว่า ตอนนั้นเธอพยายามใช้ใจสำรวจพฤติกรรมเด็กและให้เวลานักเรียนคนนั้นมากขึ้นก็ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง กระทั่งวันหนึ่งผู้ปกครองมาหาที่โรงเรียน พร้อมกับรายงานความประพฤติที่เปลี่ยนไปของเด็กที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือน
“ย่าของนักเรียนคนนั้นบอกว่า อยากมาขอบคุณที่ทำให้น้องเปลี่ยนไป น้องอยากมาโรงเรียนทุกวัน อยากเจอเพื่อน อยากเจอครู ทำการบ้านทุกวัน ตอนแรกนึกว่าผู้ปกครองจะมาลาออกเสียอีก”ครูลิลลี่ เล่าพร้อมกับอมยิ้ม
“พอได้ยินก็ดีใจ ใจฟู ตอนแรกนึกว่าเขาจะไม่โอเค แต่ที่ไหนได้มันทำให้มองเห็นว่าลึกๆ แล้วเขาก็อยากพัฒนาตัวเอง อยากเป็นเหมือนเพื่อน อยากเรียนให้ทันเพื่อน แค่ต้องให้เวลาเขาหน่อย”เป็นความรู้สึกที่พรั่งพรูออกจากใจของคนที่ทำหน้าที่ครูมากว่า 12 ปี
ผู้ปกครองยังเล่าให้ครูลิลลี่ฟังอีกว่า พ่อแม่ของเด็กแยกทางกันเมื่อหลายปีก่อน เมื่อพ่อต้องไปทำงานจึงนำลูกมาฝากไว้ ทำให้เด็กเรียก ปู่กับย่าว่า “พ่อ-แม่”
แม้ความรักจากปู่และย่าจะทำให้เด็กชายวัย 8 ขวบ ดูเหมือนไม่ได้ขาดความรัก แต่ก็ทำให้เด็กเหม่อลอยและสมาธิสั้น
ประเด็นนี้เธอวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นเพราะช่วงการระบาดของโควิด -19 นักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ ผู้ปกครองก็อาจไม่ค่อยได้ใส่ใจกับการเรียนการสอนจึงทำให้พัฒนาการเรียนของเด็กเป็นไปได้ช้า
กิจกรรมกระตุ้นต่อมคิดในเขา-ใจเรา
ปัญหาที่ครูลิลลี่เล่าให้เพื่อนครู รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนฟังได้รับเสียงปรบมือให้กำลังใจและชื่นชมในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีต่อการทลายภูเขาน้ำแข็ง ทั้งในใจเด็กและในใจครู
“สังคม หาญนาดง” หรือครูเต้ ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาห้องเรียนแห่งรักฯในโครงการบัวหลวงก่อการครู ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าว่า หัวใจหลักของวิชาห้องเรียนแห่งรักฯ คือ การมองนักเรียน ทั้งจากมุมที่มองเห็นและมุมที่ซ่อนอยู่ ด้วยความเข้าใจและด้วยความรัก
กิจกรรมที่ครูเต้และทีมนำมาแชร์กับเพื่อนครูกว่า 40 คน มี 3 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมเชื้อโรค 2.กิจกรรมภาวะปกติ/ภาวะปกป้อง และ 3.การทลายภูเขาน้ำแข็ง
ครูเต้นำครูทุกคนเล่นเกมกิจกรรมเชื้อโรคด้วยการแบ่งกลุ่มๆ ละ 3 คน โดยครึ่งหนึ่งจำลองเหตุการณ์ว่า ตัวเองเป็นเชื้อโรค ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจำลองเหตุการณ์ว่า ตัวเองไม่ติดเชื้อ จากน้ันให้ผู้ที่ติดเชื้อวิ่งหาคนที่ปลอดโรค
เสียงหัวเราะและการวิ่งวนทั่วห้องประชุมทำให้ครูวัยกระเตาะและครูเกือบเกษียณอายุแทบเป็นลมจับ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่อยากติดเชื้อจึงวิ่งวนกันอย่างสุดฤทธิ์
จากนั้นครูสังคมและทีมนำกิจกรรมก็มาเฉลยว่า ทำไมถึงเล่นกิจกรรมนี้คนที่ร่วมกิจกรรมถึงกับร้อง “อ๋อ”
“เราทำกิจกรรมนี้เพื่อให้ครูจำลองเป็นเชื้อโรค ซึ่งในห้องเรียนก็เปรียบเหมือนนักเรียนที่มักจะสร้างปัญหา แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น เมื่อลองเป็นนักเรียนแล้วครูก็จะเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน ซึ่งความจริงไม่มีใครอยากเป็นเชื้อโรคและไม่ได้อยากสร้างปัญหา”ครูเต้สรุป
ภาวะปกติ/ภาวะปกป้อง
เมื่อกระตุ้นให้ทุกคนเข้าใจกระบวนการเป็นเชื้อโรคและคนปลอดเชื้อแล้ว ครูสังคมและทีมงานก็นำสู่กระบวนการอีกอย่างที่ช่วยให้ครูฉุกคิด นั่นคือ “กิจกรรมภาวะปกติและภาวะปกป้อง”
ด้วยการถามแต่ละคนว่า “เวลาอยู่บ้านแสดงออกอย่างไร เวลาอยู่โรงเรียนแสดงออกอย่างไร”
แน่นอนทุกคนมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากนักเรียนที่มีทั้งเด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้อง โดยนักเรียนทั้งสองประเภทก็มีข้อเสียและข้อดีแตกต่างกัน บางครั้งเด็กหน้าห้องก็ต้องการปกปิดบางอย่าง ส่วนเด็กหน้าห้องก็ต้องการปกปิดบางอย่างเช่นกัน
กิจกรรมนี้ครูส่วนใหญ่จะได้รับเสียงสะท้อนว่า นักเรียนจะอยู่ใน “ภาวะปกป้อง” มากกว่า เพราะต้องการเอาใจครูจึงไม่ได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง ยกเว้นเด็กหลังห้องบางคนที่แสดงอาการ “ไม่เชื่อฟัง” บางครั้ง
ทลายภูเขาน้ำแข็งในใจคน
การถกเถียงด้วยการเข้าในสภาวะอารมณ์และพฤติกรรมนักเรียนแล้วจึงมุ่งสู่จุดไคล์แม็กซ์ นั่นก็คือ การทลายภูเขาน้ำแข็งในใจคน
ด้วยการตั้งคำถามว่า ครูแต่ละคนเคยเข้าใจเด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้องไหม พวกเขาแตกต่างกันอย่างไร แล้วจะมองเห็นพวกเขาทั้งสองด้านอย่างไร
“กิจกรรมนี้เป็นการทลายภูเขาน้ำแข็งที่คนส่วนใหญ่จะมองเห็นเฉพาะด้านบน มองไม่เห็นด้านล่าง เพราะบางทีครูเจอเด็กจำนวนมาก แล้วมองไม่รอบด้าน วิชานี้จึงเป็นการพยายามกระตุ้นให้ครูคิดและมองนักเรียนด้วยการเปิดหัวใจคุย ให้เขากล้าพูดเป็นสิ่งที่ครูบางคนลืมไป”ครูเต้เล่าในสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน
เติมเต็มความรักที่หายไป
ครูเต้บอกด้วยแววตามุ่งมั่นว่า หากครูที่เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วสามารถนำหัวใจของวิชาห้องเรียนแห่งความรักฯไปปรับใช้ในห้องเรียนก็จะเป็นการเติมเต็มส่วนที่หายไปได้
“เมื่อใช้วิชานี้ในห้องเรียนก็จะช่วยคลายปมในใจ เอาหนองออกจากหัวใจเด็กได้”ครูสังคมเล่าอย่างจริงจัง
จากประสบการณ์ตรงในการสอนหนังสือมากว่า 7 ปี ครูเต้เรียนรู้ผิดถูกด้วยตัวเองทำให้หลงทางอยู่นานกว่าจะได้เจอเคล็ดลับที่ไม่มีสอนในหลักสูตรการศึกษาทั่วไปนั่น คือ การสร้างห้องเรียนแห่งรัก ที่เรียนรู้จักหลักสูตรของโครงการบัวหลวงก่อการครู
“แต่ก่อนผมหลงทาง จากที่ต้องตะโกนแผดเสียง วันจันทร์เสียงมี วันอังคารเสียงก็จะลดลง พอถึงวันศุกร์เสียงแหบเลย แต่ทุกวันนี้สบายมาก เพราะว่า ตกลงกับเด็กก่อน ถามความต้องการก่อน พอรู้ว่า เด็กต้องการอะไร จากนั้นก็สามารถปรับตามความต้องการเขา จากนั้นเขาก็จะเงียบ จะนิ่ง จะฟัง จะเรียน จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้หมดเลย”นี่เป็นเคล็ดลับที่ครูสังคมประสบพบเจอด้วยตัวเอง หลังจากหลงทางอยู่นาน
“อยากให้หลักสูตรนี้แทรกอยู่ในทุกวิชาของทุกโรงเรียน เพราะจะทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนสีเขียวและเป็นเซฟโซนของนักเรียนได้”ครูสังคมเชื่อมั่นเช่นนั้น
หนุนห้องเรียนแห่งรัก
วิชาห้องเรียนแห่งรักฯนี้ แม้กระทั่ง ศรีสมร สนทา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน ที่ดูแลนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มากว่า 13 ปีเกือบหนึ่งพันคนก็เพิ่งได้เรียนรู้ครั้งแรก
ประสบการณ์ทำงานเป็นทั้งครูและผู้บริหารมาเกือบ 40 ทำให้เธอรู้ทันทีว่า วิชานี้จะช่วยให้นักเรียนของเธอได้รับการเอาใจใส่จากครูภายในโรงเรียนมากขึ้น
“เราต้องการให้คุณครูได้ทบทวนตัวเองแล้ววิเคราะห์ว่า ในความเป็นครูของเรา บางคนอาจจะเป็นครูมาแล้ว 20-30 ปี บางคนก็ 5-10 ปี ความตั้งใจในการที่จะเป็นครูครั้งแรกกับตอนนี้บางคนมันเปลี่ยนไปไหม”เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้บริหาร
แม้เธอจะเห็นด้วยว่า การสร้างห้องเรียนแห่งรักมีความจำเป็นต่อการศึกษาไทย แต่ด้วยปัจจัยที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้วิธีการและรูปแบบการเรียนการสอนจำเป็นต้องลู่ตามหลักสูตรจากส่วนกลาง
“เรายังไม่กล้าคิดใหญ่ไปถึงการปรับปรุงหลักสูตร แต่เราคิดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู เพื่อให้ครูรู้จักรักตัวเองและรู้จักรักเด็ก เพียงเท่านี้ก่อนก็จะทำให้ห้องเรียนกลายเป็นเรียนแห่งความรักและกลายเป็นห้องเรียนแห่งความสุขในที่สุด”เป็นความหวังของผู้อำนวยการที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการ แต่ยังมีความเป็นครูเต็มหัวใจ