Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

กิ่งก้านใบ LearnScape: การเรียนรู้นอกห้องเรียนของผู้ประสบภัยทางการศึกษา1 min read

Reading Time: 2 minutes ไม่ใช่เด็กทุกคนที่อยากจะโตไปแล้วเป็นหมอ เป็นวิศวะ ลึกๆ แล้วเด็กมีปัญหาอยู่ในใจที่เขาไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ไม่มีพื้นที่สบายใจให้เขา หรือไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะให้เขาได้เติบโต คือพื้นที่การเรียนรู้แบบองค์กรในโรงเรียนไม่ได้ปลอดภัยมากพอที่จะบ่มเพาะการเติบโตด้านในของเขา Feb 28, 2023 2 min

กิ่งก้านใบ LearnScape: การเรียนรู้นอกห้องเรียนของผู้ประสบภัยทางการศึกษา1 min read

Reading Time: 2 minutes

“ผมโตมากับยาย อยู่บ้านในชทบท ชอบฝันไปเรื่อยว่าอยากเป็นทนาย อยากเป็นปลัด อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ผมพยายามพิสูจน์ตัวเอง ผมอยากเป็นที่หนึ่ง อยากได้รับการยอมรับตามค่านิยมของสังคม แต่ก็ไม่เคยถูกยอมรับเลยสักครั้ง

“บ้านผมไม่ได้อบอุ่น ไม่ได้ปลอดภัย ท้ายที่สุด ผมเลิกเรียน ไม่สนใจอะไร ทำให้ผมติดเพื่อน รู้สึกสนิทใจกับเพื่อน เพื่อนพาทำอะไรผมก็ทำด้วย พอการพิสูจน์ตัวเองมันไม่มีคุณค่ามากพอ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปเพื่ออะไร

“ผมกลายเป็นเด็กที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง กลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง  มีปัญหายาเสพติด ถูกจับไปเข้าค่ายบำบัดยาเสพติดอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้รู้จักกับพี่ๆ กิ่งก้านใบ และได้รู้จักกระบวนการที่ชื่อว่า ละครเร่”

อ็อด-ทองแสง ไชยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ พาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปสำรวจเส้นทางชีวิตในวัยเด็กของเขา จากการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะในรั้วบ้าน รั้วโรงเรียน หรือรั้วชุมชน ถึงที่สุด เขาหันหลังให้การศึกษา ก้าวออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่ให้คุณค่า และมองเห็นตัวตนของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง 

อ็อดโชคดีที่ค้นพบพื้นที่ที่มีความหมายต่อการมีชีวิต ขณะที่รัฐไทยยังมีเด็กโชคร้ายอีกมหาศาล ทั้งที่ในความเป็นจริง การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีพื้นที่การเรียนรู้หลากหลาย มีครอบครัวที่ปลอดภัย และมีชุมชนที่แข็งแรงสำหรับเด็กคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ควรต้อง ‘พึ่งโชค’

“จุดเปลี่ยนของผมเริ่มขึ้นตอนที่ได้ทำกิจกรรมละครกับกลุ่มกิ่งก้านใบ ผมจำได้ว่า พี่ๆ ให้เราเล่นละครที่พูดถึงความรุนแรง ให้แสดงสดต่อหน้าคนดู สบตาคนดู สมัยนั้นผมเป็นเด็กที่ใช้ความรุนแรง แต่ต้องมาเล่นละครเรื่องความรุนแรง ผมได้เป็นตัวละครที่พูดบทประมาณว่า ‘อย่าใช้ความรุนแรงนะ’ 

“ตอนที่ซ้อมก็ไม่เท่าไหร่ แต่ตอนไปเล่นจริง มันรู้สึกสะเทือนกลับเข้ามาข้างในหัวใจ มันสะท้อนกลับมายังประสบการณ์ที่เราเคยทำ คนที่เราเคยไปทำร้ายเขา ‘เขาจะรู้สึกแบบนี้ไหมนะ’ ผมรู้สึกสะเทือนกับตัวเองอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับคำถามมากมายที่เกิดขึ้นว่า 

“เราเกิดมาทำไม เราเป็นใคร เราสำคัญต่อใครไหม” 

ละครเร่ เป็นศาสตร์ทางศิลปะแขนงหนึ่งที่กลุ่มกิ่งก้านใบนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร กระบวนการละครทำหน้าที่เสมือนการสะท้อนตัวตน ปลุกเร้าแรงบันดาลใจ และกระตุ้นความใส่ใจต่อมนุษย์ กระทั่งสะท้อนปัญหาของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดขี่กดทับ 

“หลังจากนั้น เราเริ่มทำงานละคร เริ่มหล่อหลอมความคิด แล้วลงมือทำ เราอยากทำงานไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่เราอยากทำงานเพื่อสังคม เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมเกิดขึ้น”

แผ่กิ่งก้านใบ ขยายการเรียนรู้ 

กิ่งก้านใบ LearnScape เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ก่อตั้งจากการรวมตัวของเครือข่ายคนทำงาน นักกิจกรรม อาสาสมัคร และคนรุ่นใหม่ ทำงานในมิติสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ไปจนถึงการพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

กว่า 13 ปี ของการก่อตั้งกลุ่ม กิ่งก้านใบหยิบจับงานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตามบริบทและกลุ่มเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเทศกาลการเรียนรู้ในพื้นที่ พวกเขาทำสารพัดกิจกรรม และปัจจุบันพวกเขาปักธงในการทำงาน ผ่านการทำ ‘พื้นที่การเรียนรู้’

“แก่นสำคัญของพื้นที่การเรียนรู้คือ เราอยากทำงานกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะไปถึงไหม แต่เรามีภาพฝันร่วมกันว่า เราอยากให้เกิดเป็นชุมชนคนรุ่นใหม่ เป็น The Youth Village ปัจจุบันมีเด็กประมาณ 30 คน ที่เข้ามาทำงาน ทำกิจกรรม ทำกิจการในพื้นที่ไร่ของเรา”

The Youth Village จะประกอบด้วย หนึ่ง-พื้นที่และโปรแกรมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย สอง-การผลักดันรูปแบบกิจกรรมให้เป็นกิจการ ผ่านการดำเนินงานของเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและการดำเนินงาน

“เราพยายามทำหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น เรื่องสุขภาพจิต (mental health) ซึ่งเราไม่ได้พูดเรื่องนี้กับเด็กตรงๆ ว่า พื้นที่จะสนับสนุนทำให้สุขภาพจิตดี แต่เราใช้สภาพแวดล้อม ใช้กระบวนการ ใช้กิจกรรมเพื่อให้เขาได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน

“เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพแวดล้อมและกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็กเปราะบาง นักเรียนในระบบ เด็กเล็ก เด็กโต กระบวนการจะไม่ตายตัว แต่ยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย”

อ็อดยกตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ในกิ่งก้านใบ เรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่เข้ามาด้วยแววตาขุ่นมัว นิ่งเงียบ ไม่กล้าแสดงออก และไม่กล้าทำกิจกรรมส่วนรวม

เด็กชายสนิทกับอ็อด หากอยู่กันตามลำพัง เขาสามารถสนทนาปราศรัยสนุกสนานตามวัย แต่หากถึงเวลาร่วมกิจกรรม เขาจะก้มหน้า เอานิ้วเขี่ยพื้น นับเวลาถอยหลังให้กิจกรรมสิ้นสุด เป็นเช่นนี้นานราว 3-4 เดือน

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าจะให้เขาทำอะไร เมื่อไหร่จะเห็นแววตาที่เขาเจออะไรที่เขาชอบ ผมก็เลยหางานให้เขาทำ งานที่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะทำได้ ก็คือให้ก่อไฟทุกครั้งที่มีค่าย ตอนแรกก่อไฟไม่ติด เป็นชั่วโมงก็ก่อไฟไม่ติด เขาค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ เขาสามารถแชร์เรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง ‘ถ้าใครอยากก่อไฟเรียกผมนะครับ ผมก่อไฟเก่งมาก’

“ผมมีความเชื่อบางอย่างว่า พวกเขามีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ แค่เขายังไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นชินกับศักยภาพนั้นเฉยๆ เขาถูกกดทับ ถูกสั่งสอนตั้งแต่เด็ก เขาจะมางอกงามตอนนี้แค่ 2-3 เดือน หรือ 1-2 ปี ก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อการที่ได้ทำและรับผิดชอบกับผลที่ตัวเองทำอย่างภาคภูมิใจ”

การศึกษาในระบบ กับคุณภาพที่ถดถอย

เด็กไทยใช้เวลาประมาณ 12 ปี เพื่อเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

ใช้เวลาราว 19 ปี เพื่อเรียนจบปริญญาตรีตามความคาดหวังของสังคมส่วนใหญ่ 

ยังไม่นับว่า คนไทยใช้เวลาไปกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนมากที่สุดในโลก 

สวนทางกับสถิติจากหลายสำนักเมื่อหลายปีที่ผ่านมาที่บ่งชี้ว่าการศึกษาไทยกำลังเข้าขั้นย่ำแย่ เช่น ตัวเลขดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ ซึ่งจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 ประเทศ ในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 56 และตกเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการจัดอันดับ นั่นหมายความว่า แม้รัฐจะใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษามีอัตราการถดถอยลงอย่างชัดเจน 

นอกจากตัวเลขข้างต้น ปัญหาของการศึกษาไทยยังสะท้อนผ่านประสบการณ์ตรงของผู้คนมากมาย บางคนใช้เวลากว่าค่อนชีวิตไปกับการศึกษา บางคนถูกการศึกษาพรากตัวตนและความสร้างสรรค์ หลายคนเผชิญกับความเครียด ความกดดันจากมายาคติความสำเร็จที่ผู้ใหญ่พร่ำบอก และอีกหลายคนพ่ายแพ้บอบช้ำระหว่างทางจากระบบอำนาจนิยมฝังราก

ใครรอดก็เก่งไป ใครแพ้ก็ถือว่าไม่พยายามมากพอ เช่นนั้นหรือ?

กิ่งก้านใบเชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์สามารถงอกงามได้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่การอยู่ภายใต้รั้วโรงเรียน สถาบันหรือองค์กรการศึกษาของรัฐเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ พื้นที่การเรียนรู้ในประเทศนี้ไม่เคยเพียงพอ วิสัยทัศน์ทางการศึกษาของรัฐยังคงคับแคบล้าหลัง 


“ไม่ใช่เด็กทุกคนที่อยากจะโตไปแล้วเป็นหมอ เป็นวิศวะ ลึกๆ แล้วเด็กมีปัญหาอยู่ในใจที่เขาไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ไม่มีพื้นที่สบายใจให้เขา หรือไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะให้เขาได้เติบโต คือพื้นที่การเรียนรู้แบบองค์กรในโรงเรียนไม่ได้ปลอดภัยมากพอที่จะบ่มเพาะการเติบโตด้านในของเขา 

“คนเราจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อความสัมพันธ์ดี โรงเรียนไม่ได้ให้พื้นที่ความสัมพันธ์แบบนี้กับพวกเขา แต่เราก็เชื่ออีกว่า เราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่คืนความเป็นมนุษย์ให้กับคนได้ เขาควรจะได้มีอิสระเต็มที่ในการบ่มเพาะศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา”

อ้างอิง https://research.eef.or.th/schools-in-poor-countries-are-failing-women/ 

Your email address will not be published.