เผด็จการศึกษา กับห้องเรียนของครูก่อการ
อัพเลเวลการเรียนรู้ ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ไม่รอแล้วนะ
Reading Time: 2 minutesในขณะที่นักเรียนตกอยู่ภายใต้ความคาดหวัง บรรยากาศการแข่งขัน และแรงกดดันจากการระบบสังคมและการศึกษา เอาเข้าจริงแล้ว ครูเองก็มีสภาพอิดโรยไม่ต่างกันนัก พวกเขาต่างก้มหน้าก้มตาทำงานหนักราวกับหนูติดจั่น น่าเศร้ากว่านั้นคือ งานกว่าค่อนห่างไกลจากห้องเรียนที่พวกเขาวาดหวัง สภาพเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมา และยังคงดำเนินต่อไป
ครูถูกพรากจากห้องเรียน เด็กๆ ถูกพรากจากความรักในการเรียนรู้ โรงเรียนดูไร้ชีวิตชีวา การศึกษา แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ครูจำนวนไม่น้อยตั้งหลักขยับขยายความเป็นไปได้ในการสร้างห้องเรียนที่มีความหมายแก่ผู้เรียน แม้จะพบอุปสรรคที่ชื่อ ‘ระบบ’ อยู่เบื้องหน้า แต่พวกเขาเชื่อว่า มันเป็นไปได้ และเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่
วงสนทนาของครูก่อการวันนี้ มาในหัวข้อ ‘ยกระดับการเรียนรู้ในชั้นเรียน’ ผ่านเรื่องราวของครูเคมี กับการเรียนการสอนที่เปี่ยมไปทุกคนสนุกและมีส่วนร่วม ทีมครูอาชีวะ ที่อยากให้ผู้เรียนมีทักษะอาชีพที่หลากหลาย มากกว่าการกอดวุฒิการศึกษาแล้วเคว้งคว้างในโลกของการทำงาน ไปจนถึงเรื่องราวของทีมครู ที่เริ่มต้นยกระดับห้องเรียน ด้วยการยกภาระเอกสารออกจากตัวครู เพื่อให้เหล่าครูมีเวลาและแรงกายมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น
นี่คือเรื่องราวของพวกเขาที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีระบบใดกดทับเราได้อย่างสมบูรณ์
สอนเคมีอย่างไรให้ Meaningful
Happy Classroom หรือห้องเรียนที่มีความสุข คือเป้าหมายสูงสุดของครู ‘นัท’ณัฏฐพล อิสรเสรีรักษ์ ไม่ต่างจากความฝันของครูจำนวนมหาศาล ที่ปรารถนาการเรียนรู้ความหมายแก่ผู้เรียนและผู้สอน ห้องเรียนที่ไม่หวาดกลัวเคร่งเครียด และห้องเรียนที่ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้
มันไม่น่าจะยากใช่หรือไม่ ทว่าภายใต้ข้อกัดของระบบการศึกษา และบริบทของสังคมหลายประการ ผู้เรียนไม่น้อยตกอยู่ในสภาวะทุกข์ระทมกับการศึกษา ที่วาดหวังให้พวกเขาต้องเป็นเลิศทางวิชาการ ต้องมีทักษะทุกประการที่ตลาดแรงงานเรียกร้อง
ครูนัทลองผิดลองถูกอยู่นาน เพื่อควานหาวิธีสร้าง Meaningful Classroom หรือการเรียนรู้แบบมีความหมาย จนกระทั่งพบว่า Authentic Learning (การเรียนรู้จากความเป็นจริง) และจิตวิทยาเชิงบวกและกระบวนการเรียนรู้ (Positive Psychology and Learning) คือหลักคิดสำคัญที่เขาสามารถนำปรับใช้ และการรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ให้กับห้องเรียน
หากจิตวิทยากระแสหลักมองไปยังด้านมืดของมนุษย์ จิตวิทยาเชิงบวกคือการมองไปยังด้านสว่าง และดึงจุดแข็งของมนุษย์กลับมาสร้างคุณค่าในการดำรงอยู่ของมนุษย์ผ่านกระบวนการเชิงบวก โดยมีองค์ประกอบที่เรียกว่า PERMA Model ดังนี้
- P – Postive Emotion สร้างความรู้สึกเชิงบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย อยากรู้ อยากเอาชนะ ชื่นชมตนเอง และชื่นชมผู้อื่น
- E – Engagement สร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรม การเรียนรู้ การทำงาน มีส่วนในการรับผิดชอบ มีส่วนในการเป็นเจ้าของ
- R – Relation สร้างปฏิสัมพันธ์ มีความร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) มีการสื่อสาร (Communication) มีการแบ่งปันทุกข์สุข (Sharing)
- M – Meaning สิ่งที่ทำมีคุณค่าและมีความหมาย ต่อเป้าหมายของชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นแรงจูงใจให้ทำต่อไป
A – Accomplishment การได้กระทำสิ่งนั้นจะทำให้เกิดความสำเร็จ ทั้งเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้เกิดการเรียนรู้ ได้ทักษะ ได้ทัศนคติ รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างการสำเร็จโจทย์เป้าหมายของชีวิต
ครูนัทออกแบบการเรียนโดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองถนัด นั่นคือ Engagement สร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรม และ Meaningful โดยการหากิจกรรมที่เด็กมีส่วนร่วม แล้วรู้สึกว่าการเรียนรู้นั้นเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันด้วย เพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่า ห้องเรียนนั้นมีความหมายกับพวกขา
“มีช่วงหนึ่งระหว่างที่สอนเคมีอยู่ มีเด็กคนหนึ่งอยู่เกือบ ๆ หลังห้อง เขายกมือถาม ว่า ประเด็นที่ครูอธิบายเมื่อกี๊ มันเป็นอย่างนี้ใช่ไหม และจังหวะที่ผมกำลังจะอ้าปากอธิบาย เพื่อนข้าง ๆ อีกคนหนึ่งก็บอกว่าไม่ใช่ ต้องเป็นอย่างนี้ คือเด็กเขาาพยายามถกกันในประเด็นที่เขาถาม ต่างคนต่างเถียงและต่างคนก็ต่างหัวเราะ แล้วผมก็หัวเราะไปด้วย พอท้ายคาบ เด็กเขาเขียน reflection บอกว่า แปลกมากเลยอ่ะ ไอ้คาบเรียนนี้ ปกติเขาไม่เคยเจอเลยว่าเด็กเถียงกันแล้วทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องด้วยนะ เถียงกันในความไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้ แล้วครูแทนที่จะบอกว่าเงียบ ๆ เดี๋ยวครูอธิบายให้ ครูกลับไม่หยุดการถกเถียงกันแล้วหัวเราะตามไปด้วย ผมรู้สึกเลยว่าถ้าในบรรดา 5 ปีที่ผมอยากจะทำห้องเรียนให้มีความสุข ปีนี้ผมว่าผมทำสำเร็จแล้ว
ก่อการครูอาชีวะ กับวิชาบะหมี่ 101
ครูกร รัตติกร จ้างประเสริฐ สอนด้านสถาปัตย์ในโรงเรียนอาชีวะขยายโอกาส เขาเริ่มต้นฟอร์มทีมเล็กขึ้น โดยกันรวมตัวครูอาชีวะหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะ เทคนิคพื้นฐาน ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของสายพาณิชย์ก็จะมีบัญชี การตลาด คหกรรม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อถักทอความสัมพันธ์ พร้อมๆ กับการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน
แน่นอนว่า โรงเรียนอาชีวะ จะเน้นการเรียนการสอนในระดับวิชาชีพ จากการที่ครูกรได้วิเคราะห์บริบทของโรงเรียน ‘ขยายโอกาส’ เขาพบว่า ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ ความสามารถ ความสนใจ ความเข้าใจแตกต่างกัน และไม่ทราบเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ของตนที่ชัดเจน เด็กเรียนจบโดยไม่รู้ว่าตนเองสนใจหรืออยากทำอาชีพอะไร และต้องเคว้งคว้างในโลกการทำงานในที่สุด
“ถ้าเราจะผลักดันให้เขา ไปอัดวิชา ๆ อย่างเดียวเลยให้เขาจบแล้วก็ไปเรียนไปทำงานตรงสายสาขาที่ตัวเองจบไปคือน้อยมาก ที่จบไปแล้วไม่รู้จะทำอะไร ตรงนี้แหละก็คือจุดที่ผมจับขึ้นมาเป็นประเด็นที่อยากพัฒนาผู้เรียน”
เช่นเดียวกัน ครูกรสนใจกระบวนการของ authentic learning เขาอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้จากโลกจริงที่พวกเขาสนใจ และลงมือทำผ่านประสบการณ์ตรง
“ในภาพก็คือภาพของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เขาสนใจอยากออกแบบแฟรนไชส์ของร้านบะหมี่ เขาสามารถออกแบบเป็นรูปภาพเป็นภาพสามมิติได้ แต่ผมพยายามที่จะปลุกเร้าเขา โดยการชวนคิดว่า ร้านบะหมี่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ถ้าเราจะไปทำเป็นอาชีพจริงๆ เขาก็ช่วยกันคิดว่า มันยังต้องมีเรื่องของโลโก้สินค้านะ มีชื่อร้าน มีเรื่องเมนู มีจุดขาย มีการตลาด มีท้อปปิ้ง มีอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนอาจจะกินบะหมี่อย่างเดียวไม่อิ่ม ต้องใส่ข้าวเข้าไปด้วย นั่นแหล่ะคือมันเป็นประเด็นที่เขาสนใจเพิ่มเติมขึ้น”
เมื่อผู้เรียนสะท้อนเช่นนี้ก็ถือว่าเข้าทางครูกร เขาต่อยอดคำตอบโดยการชักชวนเพื่อนครูที่สอนในวิชาการตลาด จัดคอร์สเล็กๆ เรียนรู้เรื่องการออกแบบโลโก้สอนค้า ชวนครูคหกรรมมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้านโภชนาการอาหาร ไปจนถึงการชวนครูสาขาเทคนิคพื้นฐาน มาแลกเปลี่ยนเรื่องการออกแบบโครงสร้างของร้านบะหมี่
“ผมได้เรียนรู้ว่าทีมกระบวนกรเราไม่จำเป็นที่จะสอนพร้อมกันในครั้งเดียว แต่เราสามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาตามโอกาสที่นักเรียนสนใจ หรือประเด็นที่นักเรียนสนใจในการเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตรงนี้ผมพยายามให้ผู้เรียนสามารถทำแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงกับชีวิต ถึงแม้เราจบไปแล้วจะไม่ได้เรียนต่อหรือไม่ได้ไปเรียนต่อในสาขาที่จบไป แต่อย่างน้อยเขาก็มีพื้นฐานตัวนี้ที่สามารถเป็นไกด์ไลน์ในการไปประกอบอาชีพหรือเอาไปทำได้จริง ”
Plc Reform อย่างที่ควรจะเป็น
“PLC ส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมเฉย ๆ เอาเสื้อมาเปลี่ยน แล้วถ่ายรูป ผมไม่อยากเห็นภาวะแบบนั้นเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยอีก เราก็เลยคิดว่างั้นเราเลือกมาหนึ่งอย่างที่เราน่าจะพอทำได้ แล้วมารีฟอร์มมันให้กลับมาเป็นตัวมันอย่างที่ควรจะเป็น ก็เลยเกิดเป็นโหนด Plc Reform ขึ้นมา” ครูกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย
PLC – Professional Learning Community หรือที่รู้จักกันในชื่อชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ คือการสร้าง ‘บรรยากาศและวัฒนธรรมในโรงเรียน’ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครูกับครู ครูกับผู้บริหาร ผู้บริหารกับผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งกับผู้ปกครองและชุมชน
ทว่าจากเสียงสะท้อนของครูที่ผ่านมาพบว่า วง PLC มักล้มเหลว จากการที่ครูไม่มีระบบสนับสนุนและพื้นที่ในการได้ออกแบบการเรียนรู้มากเพียงพอ ครูจำนวนมากจึงรู้สึกว่าตนไม่มีส่วนร่วมขาดความรู้สึกความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ขาดอำนาจการตัดสินใจ และขาดเวลาที่เพียงพอ จากภาระงานสารพัดที่ทับถมครูจนหนักอึ้ง
“ผมพบว่า เหตุผลที่เราทำ Pcl แล้วมักไม่สำเร็จ เป็นเพราะตอนนั้นเราโฟกัสที่เด็ก ผมลองเปลี่ยนสมมติฐานว่า งั้นเราชวนคุณครูเขาคุยเรื่องปัญหาที่เขาเจอก่อนไหม มันเหมือนกับว่าถ้าคุณครูเหล่านี้กำลังว่ายน้ำอยู่แล้วกำลังจะตาย เขาไม่มีแรงไปช่วยเด็กหรอก”
“เริ่มต้นคือ เราทำโปสเตอร์ชวนคุณครูในโรงเรียนว่า ‘ทำ Plc คนเดียวมันเหงา มาทำกับเราไหม’ สร้างความรู้สึกเป็นมิตรก่อน ซึ่งการ PCL กับเพื่อนครูครั้งแรก เราชวนคุยเรื่อง ‘คุณค่าของความเป็นคน และคุณค่าของความเป็นครู’ วันนั้นมีแค่ 16 คน จากนั้นเราก็เริ่มตั้งคำถามว่า ‘ อะไรที่ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของครู’ ที่สุดแล้ว คำตอบสุดท้ายที่ได้คือ ภาระงานของครู”
วง PLC ครั้งต่อมา จึงว่าด้วยหัวข้อ ‘ภาระงาน’ ผ่านสามโจทย์หลักคือ หนึ่ง อะไรคือสิ่งที่คนเป็นครูต้องทำ สอง-อะไรเป็นสิ่งที่ควรเลิกทำ และสาม – สิ่งที่ควรทำ แต่ลดภาระมันหน่อย
“สรุปได้ว่า งานสอนและงานดูแลนักเรียน อยู่ในกลุ่มที่ครูต้องทำ ส่วนงานเอกสารที่เกี่ยวกับเรียน บางอย่างสามารถลดปริมาณลงมาได้ไหม และสุดท้ายคือ โครงการนอกโรงเรียนทั้งหมด จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ควรเลิกทำ
“ผมตั้งคำถามต่อ โดยการเอาตัวชี้วัดของการประเมินที่เขาเรียกกันว่า wall EA มาใช้ แล้วชวนคุณครูจับคู่ว่าตัวชี้วัดนี้ไปอยู่กับงานไหนของเราบ้าง ปรากฏว่าจริง ๆ ต่อให้เราไม่รับโครงการนอกโรงเรียน เราก็สามารถประเมินได้”
จากครูที่มาเข้าร่วมเพียง 16 คนในวันนั้น ได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่าค่อนโรงเรียน มันคือจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างเครือข่ายและทีมในการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังราก ที่สุดแล้ว วง PLC ก็ได้มาถึงเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ การควานหาเครื่องมือเพื่อช่วยในการลดภาระงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนการสอนของครู
“เราทำแบบนิเทศขึ้นมา โดยที่เราต้องเข้าไปดูในห้องเรียน แต่ก่อนจะไปในห้องเรียนเราต้องมีวางแผนก่อน ซึ่งเราเขียนตัวชี้วัดที่ต้องประเมินให้อยู่ในแบบนิเทศ ดังนั้น เวลาที่คุณครูจะต้องประเมินท้ายเทอม ก็ให้เขียนหลักฐานอ้างอิงว่าให้ไปดูจากแบบนิเทศ ซึ่งผมก็เขียนเลย ทุกข้อแทบจะโยงไปแบบนิเทศหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นการลดภาระเอกสารที่เกิดขึ้นได้จริงแล้วผมก็ประเมินผ่าน”
มากกว่าการช่วยลดภาระงานเอกสารได้จริง สิ่งที่ตามมาคือความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกัน ไปจนถึงการตอบโจทย์การเรียนการสอนแบบ active learning เพราะเมื่อครูมีเครื่องมือทุ่นแรงเอกสาร ภารกิจต่อมาของวง PLC จึงมุ่งหน้าไปสู่การออกแบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมและการเรียนรู้ และเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็น