ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

Sensory Integration ห้องเรียนเคลื่อนไหวร่างกายที่ช่วยเติมเต็มจิตใจ ครูธิดา โรงเรียนสุจิปุลิ

Reading Time: 3 minutes คุยกับ ‘ครูธิดา’ ธิดา ทัศนพงศ์ จากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง กับการเป็นครูประจำวิชาชื่อไม่คุ้นหู ที่จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาตัวตนอย่างเป็นองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความภูมิใจในตนเองโดยมีความรักของครูเป็นพลังเสริม May 25, 2023 3 min

Sensory Integration ห้องเรียนเคลื่อนไหวร่างกายที่ช่วยเติมเต็มจิตใจ ครูธิดา โรงเรียนสุจิปุลิ

Reading Time: 3 minutes

เด็กหญิงยืนอยู่ที่มุมห้อง บนพื้นเต็มไปด้วยห่วงสีแดงวงใหญ่เรียงเป็นแถวๆ ในมือเธอมีกระดาษแผนที่บอกทิศทาง ภารกิจคือนำตุ๊กตาไปวางในห่วงสีแดงอันสุดท้ายตามเส้นทางที่กำหนด หลังจากหยุดยืนชั่งใจอยู่สักครู่ เธอก็ค่อยๆ ก้าวเดิน จากห่วงอันหนึ่งไปยังอีกอัน

เด็กๆ กระตือรือร้น ยกมือขอทำภารกิจเป็นคนต่อไป แม้บางคนจะมีผิดพลาดบ้าง ลังเลบ้าง แต่บรรยากาศในห้องยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานจากเสียงเชียร์ของเพื่อนๆ และคำพูดให้กำลังใจของคุณครู  นี่คือห้องเรียนวิชา Sensory Integration ของ โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีครูประจำวิชาคือ ธิดา ทัศนพงษ์ หรือ “ครูธิดา” หนึ่งในครูผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนปล่อยแสง  

วิชา Sensory Integration คือการฝึกประสิทธิภาพการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การสัมผัสทางผิวหนัง การรับรส รวมไปถึงการทรงตัวเพื่อเคลื่อนไหวอย่างสมดุล และการรับรู้ท่าทางของร่างกายผ่านข้อต่อกล้ามเนื้อ ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และมั่นคงค่ะ”

ครูธิดาเริ่มอธิบายถึงวิชาเรียนชื่อแปลกที่เธอรับหน้าที่เป็นผู้สอน

ปกติกระบวนการทำงานภายในสมองจะคอยจัดระเบียบ คัดกรองความรู้สึก และสิ่งเร้าต่างๆ ที่กระตุ้นร่างกาย ผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก และสั่งให้ร่างกายแสดงพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ  แต่เด็กบางคนสมองอาจมีการแปลและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับผ่านระบบประสาทรับความรู้สึกทั้ง 7 ด้านผิดพลาด เกิดความไม่สมดุลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการต่างๆ เช่น การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การเขียน การอ่าน สมาธิ ความคิดเชิงนามธรรม การคิดวิเคราะห์วางแผน ฯลฯ  แล้วถ้าเด็กไม่สามารถทำกิจกรรมตามวัยได้อย่างเหมาะสมก็อาจส่งผลไปถึงอารมณ์และจิตใจด้วย เช่น ความกล้าแสดงออก ความภาคภูมิใจในตัวเอง  

โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงนำกระบวนการบูรณาการระบบประสาทมาออกแบบเป็นวิชาเรียนสำหรับเด็กอนุบาล ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน  กิจกรรมในห้องเรียนและแนวคิดนี้จะเป็นอย่างไร ขอเชิญทุกท่านมาขยับแข้งขยับขาในห้องเรียนวิชา Sensory Integration ไปพร้อมๆ กัน

เคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกฝนความคิด เติมเต็มจิตใจ

“ที่นี่เราจะเรียนวิชา Sensory Integration กันตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงอนุบาลสาม ถือเป็นวัยทองของการพัฒนาเด็กเล็กช่วง 2-6 ขวบ โดยบูรณาการกับการพัฒนา EF หรือสมองส่วนหน้าด้วย ถ้าสมองและระบบประสาทได้พัฒนาอย่างเหมาะสม เด็กๆ ก็จะมีความคิดยืดหยุ่น ยับยั้งตนเองได้ ไตร่ตรองได้ แล้วก็สามารถจำเพื่อนำไปใช้งานได้”

ครูธิดาเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่าวิชานี้เหมือน “พละเด็กเล็ก” มีการจัดฐานกิจกรรมให้เด็กฝึกฝนประสาทสัมผัส การรับรู้และเคลื่อนไหวร่างกายตนเอง ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการคิดและจิตใจ

“กิจกรรมที่มีห่วงแดงบนพื้น เราฝึกการคิดเป็นระบบ สำหรับเด็กอนุบาลหนึ่งหรืออนุบาลสอง เราจะติดลูกศรไว้ในห่วงแต่ละวง แล้วให้เขาเริ่มเดิน หันเปลี่ยนทิศตามลูกศร  ส่วนเด็กอนุบาลสามก็จะท้าทายขึ้นมาหน่อย ไม่มีลูกศรติดบนพื้นแล้ว แต่จะเขียนไว้ในกระดาษเหมือนแผนที่แทน ซึ่งเขาต้องเชื่อมโยงทิศทางบนกระดาษกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ แล้วขยับร่างกายไปตามกระบวนการคิดของตนเอง”

ครูธิดาย้ำเสมอว่ากิจกรรมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกฝน ลองผิดลองถูก ลองใช้วิธีคิดของตัวเองแก้โจทย์ ซึ่งความถนัดของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป เราจึงได้เห็นผลของการจัดการความคิดที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนถือกระดาษนิ่งๆ แล้วหมุนร่างกายตัวเองไปมาตามทิศ  เด็กบางคนหันหน้าไปทิศเดิมเสมอ แต่อาศัยการหมุนกระดาษแทน 

บางคนอาจทำสำเร็จ บางคนอาจต้องลองใหม่ แต่ถึงจะพลาดก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะครูธิดาและเพื่อนๆ ในห้องก็พร้อมจะส่งเสียงเชียร์ ส่งกำลังใจ ให้คนที่พลาดได้ลองใหม่อีกครั้งเสมอ

นอกเหนือจากกิจกรรมฝึกกระบวนการคิดในห้องเรียนแล้ว วิชา Sensory Integration ยังพานักเรียนออกไปเรียนนอกห้องในพื้นที่ที่เรียกว่า “Win-Win Land” ให้เด็กๆ ได้ออกแรงและใช้ร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความผ่อนคลาย  

“ชื่อของสนามเด็กเล่น Win-Win Land มาจาก Think Win-Win หรือ หลักการคิดแบบ ชนะ-ชนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดอุปนิสัยที่โรงเรียนสุจิปุลิมุ่งพัฒนา การเล่นในสนามเด็กเล่นแห่งนี้ เด็กๆ จะได้ร่วมสร้างข้อตกลงในการใช้พื้นที่ ถ้าเกิดทะเลาะกันหรือแย่งของเล่นกัน ทุกคนจะได้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ ร่วมหาทางออก เพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ร่วมกัน อย่างการรักษาสภาพแวดล้อม เก็บของเล่นให้เรียบร้อย เล่นไม่รุนแรง ซึ่งช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ที่จะรับฟังและเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้ที่จะจัดการกับความขัดแย้ง  สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นของการใช้ Win-Win Land ร่วมกัน”

นับเป็นแนวคิดการใช้พื้นที่สนามเด็กเล่นที่สอดแทรกการพัฒนาความคิดและจิตใจผสมกับการเล่นสนุกของเด็กๆ 

การได้เห็นรูปแบบและกระบวนการสอนในคาบเรียน Sensory Integration ของครูธิดา ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า การพัฒนาร่างกาย ความคิด รวมถึงจิตใจของเด็กนั้นไม่ควรแยกขาดจากกัน ทั้งการขยับกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ฝึกฝนทดลองกระบวนการคิด หรือแม้แต่การช่วยเหลือ แบ่งปัน และการทำเพื่อส่วนรวม ทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องเรียนนี้พร้อมกันเป็นองค์รวม 

จากครูสู่เด็ก

“เราเชื่อว่าเด็กเรียนรู้จากสิ่งที่เราเป็น มากกว่าสิ่งที่เราสอน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าครูเป็นสิ่งไหน ซาบซึ้งกับสิ่งไหน เขาก็จะทำให้เด็กซาบซึ้งไปกับเขาด้วย  เราเลยอยากพัฒนาตัวเอง และพัฒนาการสอนของตัวเองเพิ่มเติม คิดว่าการไปอบรมน่าจะช่วยให้เราปลดปล่อยศักยภาพ หรือสะท้อนมุมมองบางอย่างในชีวิตประจำวันของเราไปสู่การเรียนการสอนได้” 

ครูธิดาเล่าย้อนถึงการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปล่อยแสงว่า เธอตั้งใจจะเป็นครูที่เป็นต้นแบบให้เด็กได้  ในโมดูลตลาดวิชาของโรงเรียนปล่อยแสงที่เปิดให้ครูเลือกหัวข้อที่สนใจจะพัฒนา ครูธิดาเลือกเรียน 3 วิชา คือ “วิชาห้องเรียนแห่งรัก” ซึ่งเน้นเรื่องการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ “วิชาการโค้ชเพื่อครู” ซึ่งเน้นการสะท้อนคำถามอันทรงพลังกลับสู่ผู้พูด และสุดท้ายคือ “วิชาการเงินส่วนบุคคล” ซึ่งเน้นการกลับมาสำรวจวินัยทางการเงินของตนเอง

ธิดา ทัศนพงษ์ หรือ “ครูธิดา”

“วิชาการเงินฯ พาเรากลับมาสำรวจตนเองว่าตอนนี้มีวินัยทางการเงินมากน้อยแค่ไหน เราเสพอะไรอยู่ มีเครื่องมือให้วิเคราะห์และคำนวณว่าจะออมเงินอย่างไรโดยไม่หักดิบเกินไป  เราตั้งใจลงวิชาการเงินฯ เพราะมองว่ามันใกล้ตัวและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วก็ส่งต่อให้เด็กๆ ได้ด้วย”

ครูธิดาเล่าว่าพอเธอลองคำนวณสถานะทางการเงินออกมาว่าควรจะมีเงินเก็บอยู่ประมาณหนึ่งเพราะรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ แต่ตอนนั้นเธอไม่รู้เลยว่าเงินที่เธอ “น่าจะมี” ก้อนนี้หายไปไหน

“บรรยากาศในห้องเรียนตอนนั้นตลกมากเลยนะ เพื่อนๆ หลายคนคำนวณออกมาได้ว่ามีเงินเก็บติดลบ ตัวเลขเป็นสีแดง เขาก็งงว่า แล้วเขารอดมาถึงทุกวันนี้ได้ยังไงนะ” ครูธิดาหัวเราะเสียงดัง

“ตอนนั้นก็นั่งไล่รายการใช้จ่ายใหม่ จนเจอว่านานๆ ครั้งเราก็จะใช้เงินก้อนใหญ่ ทำให้เงินเก็บของหลายๆ เดือนรวมกันมันหายไปหมด  เราได้ลองวางแผนว่าถ้าอยากมีเงินเก็บตอนเกษียณเท่านี้ ควรต้องเริ่มวางแผนออมเท่าไหร่  เราได้ข้อสรุปว่าวินัยทางการเงินสำคัญมาก ถ้ายอมเจ็บปวดกับวินัย เราจะไม่เจ็บปวดกับผลลัพธ์”

ครูธิดานำสิ่งที่เรียนรู้ในการอบรมมาเชื่อมโยงและส่งต่อในวิชา Sensory Integration ว่านี่คือการฝึกทักษะการกำกับควบคุมตัวเอง การหยุดเพื่อยั้งคิดและไตร่ตรอง เช่น เมื่อเราเจอของที่อยากได้ เราควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไหม มีวินัยกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน  เธอมุ่งมั่นจะทำสิ่งนี้ให้ดี เพื่อให้พร้อมเป็นตัวอย่างที่เด็กๆ จะจดจำ นำไปเป็นแบบอย่างในชีวิตของพวกเขาต่อไป

กายแข็งแรง ใจแข็งแรง

และแล้วเวลาของห้องเรียนก็กำลังจะจบลง เด็กๆ ใน Win-Win Land ค่อยๆ ทยอยเก็บของเล่นกลับเข้าที่ทางเดิม เราเหลือเวลาคุยกับครูธิดาอีกแค่สั้นๆ ก่อนจะหมดเวลาเรียน

“ครูธิดาว่า… สำหรับเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 7 อย่างเหมาะสม เด็กที่ตอนนี้อาจจะควบคุมตัวเองได้ไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะเรื่องอารมณ์หรือพฤติกรรม เราควรทำอย่างไรดี” เราถาม

ครูธิดายิ้มและตอบว่า หากเด็กๆ ถูกตัดสิน ถูกตีกรอบ บางครั้งมันทำให้เขาเสียความเป็นตัวตนของเขา ระบบความคิดก็จะรวน ไม่สามารถควบคุมความรู้สึก เด็กจะรู้สึกสับสน เขารู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัย มันยากเหลือเกินที่เขาจะกลับมาเป็นตัวเอง และพัฒนาตัวเองได้  การสร้างให้เขามีความมั่นอกมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวตนของตัวเองจึงเป็นกุญแจสำคัญ 

ถ้าฐานใจแข็งแรง ฐานกายก็จะแข็งแรง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เมื่อไหร่ที่ฐานกายเขาแข็งแรง แต่ฐานใจไม่พร้อม มันก็ยากที่จะขับเคลื่อน  เมื่อไหร่ที่ฐานใจเขาแข็งแรง เขาจะพร้อมเผชิญทุกปัญหา ทุกก้าวย่างการเติบโตของเขาจะมั่นคง…จากภายใน”

การพูดคุยกับครูธิดาและรู้จักวิชา Sensory Integration ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้อยู่กันอย่างแยกส่วน กายไม่ได้แยกกับใจ หรือชีวิตครูก็ไม่ได้แยกจากชีวิตนักเรียน  การมุ่งพัฒนาหรือแก้ปัญหาเฉพาะส่วนอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เมื่อใดที่เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศ เราก็อาจพัฒนาทุกสิ่งได้อย่างเหมาะสม ทั้งโรงเรียน ครู และนักเรียน

Array