‘แหย่ให้อยาก ยุให้สงสัย’ วิชาวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนไม่เบือนหน้าหนี1 min read
“เราไม่ได้อธิบายเยอะ แค่แหย่นิดหน่อยว่า ไฟที่เราเปิดกันทุกวัน มันติดได้ยังไง”
ใครจะเชื่อว่าคำถามเรียบง่ายเช่นนี้จะสามารถกระตุ้นให้นักเรียนกระหาย จดจ่อ และเปลี่ยนความเซื่องซึมของวิชาวิทยาศาสตร์ให้อยู่ในบรรยากาศที่นักเรียนสามารถสรุปผลการทดลองตามแบบฉบับของตนเองได้โดยปราศจากความหวาดกลัว
ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จังหวัดอุดรธานี อธิบายว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเธอไม่ใช่การถ่ายทอดเนื้อหา แต่เป็นการดึงความสนใจและกระตุ้นความอยากรู้ของนักเรียน
เธอเล่าว่า ตัวเองผ่านการอบรมครูมาหลายต่อหลายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการแจกชีทและทำการทดลองตามวิทยากร เสมือนห้องเรียนที่ให้นักเรียนจดตามที่ครูบอก เสมือนการจ่ายยาไม่ตรงตามอาการ และวินิจฉัยไม่ลึกซึ้งเพียงพอ แต่โครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’ สอนตั้งแต่การพิจารณาอุปกรณ์ สอนให้รู้จักเครื่องมืออย่างชัดเจน แล้วจึงสอนวิธีการใช้ ทำให้อุปกรณ์หนึ่งชิ้น สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายสถานการณ์
หลังจากจบการอบรม ครูเจี๊ยบนำ ‘Team Teaching’ มาประยุกต์ใช้กับการสอนเรื่องการนำไฟฟ้า เธอเล่าว่า ก่อนสอนต้องพูดคุยกับครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นั่นจึงทำให้เธอสอนเนื้อหาระดับมัธยมให้เด็กระดับประถมเข้าใจได้ แม้ในช่วงแรกเธอจะเต็มไปด้วยความกังวล แต่พบว่าเด็กนักเรียนสนใจและเรียนรู้อย่างได้ตามผลเกินคาด
เริ่มจากผู้สอนเปลี่ยนวิธีคิด และ ‘แหย่’ ให้ผู้เรียนสงสัย
ครูเจี๊ยบเล่าย้อนถึงความล้มเหลวครั้งหนึ่งจากการพานักเรียนทดลองการเกิดไฟฟ้าสถิต เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย มีความชื้นในอากาศ ทำอย่างไรผมก็ไม่ฟู ทำอย่างไรกระดาษก็ไม่ติดไม้บรรทัด กิจกรรมที่ล้มเหลวสร้างความรู้สึกท้อแท้กับเธอ ขณะเดียวกัน ก็กระตุ้นให้เธอต้องปรับวิธีการสอน
“ถ้าเด็กทำไม่ได้ เขาจะไม่ยอมสรุป เขาจะไม่เขียนอะไรเลย เขาจะนั่งเฉย ๆ”
แน่นอนว่าการไม่สัมฤทธิ์ผลท้ายคาบ ทำให้ครูเจี๊ยบตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ทำไมผลการสอนจึงเป็นเช่นนั้น นักเรียนได้ประโยชน์อะไร และสิ่งที่แย่ที่สุด อาจเป็นการทำให้เด็กคนหนึ่งเบื่อวิชาวิทยาศาสตร์ไปเลย ดังนั้น เธอจึงปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยใช้เป้าหมายของบทเรียนนั้น ๆ เป็นตัวตั้งและสรรหากลเม็ดต่าง ๆ เช่น คำถาม ภาพ สิ่งของ หรือการสาธิตบางอย่างมากระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียนรู้เสียตั้งแต่ต้น ส่งผลให้การเรียนการสอนมีความลื่นไหลมากขึ้น
“กระบวนการแหย่เป็นหัวใจหลัก ทำให้เด็กอยากเรียน และอย่างอื่นจะตามมา เราต้องค่อย ๆ ตะล่อมเขาเข้ามา”
ตัวอย่างคือ การสอนเรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า ครูเจี๊ยบเริ่มจากการปิดไฟห้องเรียน พร้อมถามนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบคือห้องมืดลง และเมื่อเปิดไฟ นักเรียนก็ตอบว่าห้องสว่างขึ้น
“แล้วพวกเธอเคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาปิดไฟ ไฟถึงดับ ทำไมเวลาเปิดไฟ ไฟถึงสว่าง เขาก็ตอบว่าเพราะสวิตช์ เราก็ชวนคุยต่อว่า แล้วทำไมต้องใช้สวิตซ์ เขาก็คิดต่อไปพร้อมกับเรา”
เมื่ออธิบายคร่าว ๆ ว่าการต่อไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนานมีหน้าตาอย่างไร ขั้นตอนต่อไปเป็นการลงมือ สิ่งสำคัญคือ ครูเจี๊ยบไม่ได้ชี้ทางและจำกัดกรอบเด็กแต่อย่างใด เธอเตรียมอุปกรณ์อย่างสายไฟ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และบอกให้นักเรียนพยายามเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าด้วยกันเพื่อทำให้ไฟสว่าง
“พอท้ายคาบ เราเดินรอบห้องและฟังว่าเขาพูดอะไรกัน เด็กเสียงดังกันมาก แต่เขาคุยเรื่องนี้กัน เขากำลังหาวิธีแก้ปัญหาที่เราพยายามให้เขาคิด”
ผลที่ได้คือ นักเรียนสามารถต่อสายไฟได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังสามารถอธิบายการเกิดแสงสว่างได้ ซึ่งการ ‘แหย่’ ทำให้การทดลองไฟฟ้าสถิตในเทอมนี้มีความเปลี่ยนแปลงในทางบวก
“มันสามารถทำให้เด็กคิดได้มากกว่า 1+1=2 เขาคิดได้ เขาทำได้จริง ๆ ”
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ครูเจี๊ยบแบ่งปันคือ การทดลองเรื่องการเกิดสารใหม่โดยใช้ผงฟูกับลูกโป่ง แม้จะดูเป็นเรื่องพื้นฐานในห้องครัว แต่เด็กกลับตื่นเต้นไม่น้อย เพราะหลายคนไม่รู้ว่าการนำผงฟูกับน้ำส้มสายชูมาผสมกันจะทำให้เกิดก๊าซ เด็กสามารถคิดต่อเองได้ว่า ถ้าเพิ่มปริมาณของผงฟูจะเป็นอย่างไร ปฏิกิริยาจะเปลี่ยนแปลงกี่มากน้อย นักเรียนสามารถทดลองต่อและได้คำตอบเอง
ครูเจี๊ยบสรุปว่า หากต้องการให้นักเรียนจดจ่อกับเนื้อหา ขั้นแรกตอนแรกคือการจุดเชื้อไฟแห่งความช่างสังเกตและสงสัย ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์ นอกจากทำให้เด็กรักวิชาเรียนแล้ว ยังทำให้ครูสนุกกับการสอนเช่นกัน
ไม่มีเด็กที่ไม่เก่งในโลกใบนี้
ครูเจี๊ยบรับผิดชอบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 เธอเล่าว่า เด็กนักเรียนจากโครงการ SMT (Science Math and Technology) ตามมาตรฐานสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หรือโครงการพิเศษด้านวิทย์-คณิต ย่อมมีความพร้อมและสามารถเรียนรู้เร็วกว่าเด็กห้องธรรมดา แต่ท้ายสุดแล้ว หากใช้เวลากับเด็กห้องธรรมดามากขึ้น เด็กกลุ่มนี้ก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ต่างจากเด็กห้องพิเศษ
“ในชั้น ป.6 มีห้องหนึ่งที่มีเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้กว่า 10 คน เช่น สมาธิสั้น อ่านหนังสือไม่แข็ง และเด็กที่ก่อความวุ่นวายในห้องตลอดเวลา ไม่มีใครอยากสอนห้องนี้ คุณครูทุกคนเอือมระอา เพราะงานก็ไม่ค่อยส่ง แต่เขากลับชอบเรียนกับเราและรบเร้าให้เข้าสอนเร็ว ๆ ”
เนื่องจากครูเจี๊ยบเน้นให้เด็กทดลองเป็นหลัก กิจกรรมการสอนจึงนับเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับผู้เรียนที่ต้องจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ห้องเรียนจึงมีเสียงดังและมีนักเรียนลุกขึ้นเดินไปมาในห้อง เพราะเด็กสนุกกับการเรียนรู้และทำทุกวิธีเพื่อหาคำตอบ การกระตุ้นผู้เรียนด้วยวิธีนี้ยังเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้เด็กที่เคยทะเลาะบาดหมางกัน ต้องทำงานร่วมกัน ครูเจี๊ยบเล่าว่า เด็กบางกลุ่มที่ไม่ลงรอยกัน กระทั่งเด็กบางคนที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ก็สามารถทำงานกลุ่มร่วมกันอย่างราบรื่น ฉะนั้นแล้ว นอกจากการกำกับดูแลห้องพิเศษหรือห้องธรรมดามีระดับความยากไม่ต่างกัน ผลพวงจากการกระตุ้นผู้เรียน ยังทำให้พวกเขารักใคร่กลมเกลียวมากขึ้นด้วย
และสำหรับนักเรียนที่เรียนรู้ช้าหรือไม่คล่องเนื้อหา ครูเจี๊ยบจะใช้วิธี ‘แหย่’ เพิ่มเติมรายบุคคล ซึ่งกุญแจสำคัญคือ ‘เพื่อนต้องช่วยเพื่อน’ เรียกได้ว่า บรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เรียนหันหน้าเข้าหาวิชานั้น ๆ แต่ยังทำให้ระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นมิตรกับทุกคน
“ถ้าเขาอยากรู้ เขาก็จะจดจ่อกับตรงนั้น” ครูเจี๊ยบสรุปการทดลองการสอนแบบบูรณาการของตน หลังจากผ่านการเข้าอบรมในโครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’
เธอพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังจากออกแบบห้องเรียนใหม่ว่า บรรยากาศการเรียนรู้มีความสนุกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ถามว่านักเรียนเขียนผลการทดลองถูกต้องไหม เขาก็เขียนไม่ถูกต้องทุกคำนะ แต่พออ่านเนื้อความแล้ว เขาสามารถสรุปและตอบสิ่งที่เราพาเขาทำได้
“เมื่อก่อนเราเคยบังคับให้เขาคิดและสรุปตามเรา แต่พอเราไม่บังคับและใช้กิจกรรมพาไปสู่คำตอบของเขาเอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก”
การ ‘แหย่’ และ ‘ยุ’ ให้เด็กอยากรู้ รวมถึงการปูทางเข้าสู่บทเรียนอย่างประณีต ทำให้สภาวะตื่นตัวและผ่อนคลายของเด็กอยู่ในจุดที่เหมาะสมพร้อมเปิดรับเนื้อหา ทำให้ชั้นเรียนมีความกระตือรือร้น สนุก ครูใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น และยังส่งผลต่อมุมมองที่ครูเจี๊ยบมีต่อวิชาชีพของตนด้วยเช่นกัน
“สำหรับเรา ครูไม่ใช่แค่หน้าที่ มันเป็นความสุขมากกว่า พอเห็นนักเรียนมีความสุขและสนุก เราก็มีความสุขไปกับเขาด้วย” ครูเจี๊ยบทิ้งท้ายพร้อมเสียงเด็กนักเรียนเรียกตามไปสอนเจี๊ยวจ๊าว