Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

เปิดใจรับฟังเสียงเด็ก สร้างห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อความแตกต่างหลากหลาย1 min read

Reading Time: 2 minutes กุญแจสำคัญของแนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมคือ เด็กควรได้รับการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายจากทุกภาคส่วน May 29, 2023 2 min

เปิดใจรับฟังเสียงเด็ก สร้างห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อความแตกต่างหลากหลาย1 min read

Reading Time: 2 minutes

“ทุกคนมีความแตกต่าง แล้วแตกต่างจากอะไร”
“ฐานะ ความเป็นอยู่ ภูมิหลัง ความสนใจ ร่างกาย พรสวรรค์-พรแสวง ฯลฯ”
“แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรล่ะ”
“ไม่รู้หรอก แต่เราเปิดใจและรับฟังกันมากขึ้นได้นะ”

ตัวแปรมากมายเกินนับไหวและเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจลึกซึ้งในทุก ๆ รายละเอียดของแต่ละบุคคล ทว่าโลกสอนเราว่าต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีคุณภาพ โดยที่ไม่ลิดรอน เบียดบัง หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

คำถามคือ ครูควรเริ่มปลูกฝังให้เด็กรู้จักโลกของความแตกต่างหลากหลายอย่างไร

ปริมณฑลของคำตอบ อาจเริ่มจาก ‘ห้องเรียน’ ซึ่งเป็นบ้านหลังที่สองที่เด็กจะได้เริ่มเข้าสังคมและหัดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น การเรียนการสอนที่โอบอุ้มความฝัน ความสามารถ ความสุข และโอกาสของเด็ก ๆ เอาไว้อย่างอารีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่นเช่นนี้เองที่เป็นบันไดขั้นแรกให้เด็กได้เติบโตไปตามเส้นทางของตนอย่างไม่สั่นคลอน

‘Inclusive Education’ ห้องเรียนที่เป็นมิตรกับทุกคน

เด็กบางคนอาจสมบูรณ์เพียบพร้อมจากพื้นฐานครอบครัวและสติปัญญา ขณะที่บางคนอาจไม่พร้อมตั้งแต่สภาพร่างกาย เส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างของเด็ก ๆ จึงถูกขีดลากขึ้นมา หลายครั้งหลายครา ห้องเรียนจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ได้โอบรับทุกคน

แต่จะดีกว่าไหม หากสังคมเราปลูกฝังค่านิยมของการเคารพซึ่งกันและกันตั้งแต่ต้น เพราะท้ายที่สุด เด็ก ๆ ต่างต้องเติบโตเพื่ออยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างผาสุก ห้องเรียนจึงควรเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและอบอุ่น

แนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม คือการจัดการห้องเรียนสําหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องหรือความต้องการพิเศษให้สามารถเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไปในระดับชั้นที่เหมาะสม และควรเป็นโรงเรียนทั่วไปที่อยู่ในละแวกบ้าน

สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องหรือพิการ ไม่ได้หมายถึงความบกพร่องด้านร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงความบกพร่องทางการเรียนรู้และสุขภาวะทางจิต ซึ่งคุณลักษณะของการศึกษาแบบเรียนรวมเชื่อว่า ต้องรับเด็กทุกคนเข้าชั้นเรียนปกติอย่างไม่มีเงื่อนไข สอดคล้องกับหลักการที่ว่า นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ เข้าเรียนในห้องเรียนทั่วไป มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตร หรือให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เด็กทำได้มากกว่าสิ่งที่เด็กทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กทุกคนรู้สึกได้รับการยอมรับ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมในอนาคต  

ผลรูปธรรมของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ชี้ชัดว่านักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ และสังคม ตามเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงนักเรียนที่มีพัฒนาการด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม จากปัจจัยครอบครัวมีประวัติพูดช้าพูดไม่ชัด ปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือขาดการกระตุ้นด้านการสื่อสารในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบเรียนรวมแล้ว ล้วนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมชั้น และเสริมสร้างวัฒนธรรมการเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกันได้ดีขึ้น

หากเด็ก ๆ ใช้เวลาในห้องเรียนมากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวจะลดลง ก่อให้เกิดแรงจูงใจเชิงบวกในการเรียนรู้ตามมา แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะออกนอกห้องเรียนไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรเด็กบางคนอาจต้องการความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวนอกเวลาเรียน

ขณะเดียวกัน นักเรียนทั่วไปก็แสดงทัศนคติเชิงบวกออกมามากขึ้น พวกเขาไม่ได้เรียนเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังเรียนเพื่อเป็น ‘โค้ช’ ให้กับเพื่อนที่ไม่คล่องเนื้อหา หรือเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กก้าวข้ามกรอบของเกรดและความสำเร็จทางวิชาการ ทั้งยังมีความเครียดลดลง

ในเบื้องต้น ครูอาจเริ่มจากการจัดกลุ่มให้มีความยืดหยุ่น เช่น กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ หรือจับคู่ จากนั้นก็ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นรูปภาพ แบบจำลอง การพูด-ฟัง หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งในชั้นเรียนของเด็กเล็ก ครูอาจต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ แต่ในระดับชั้นของเด็กโต พวกเขาสามารถช่วยเหลือกันและกันได้ สลับกันเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างไม่เคอะเขิน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลาย หรือ  ‘เฉดสี’ ของผู้คนร่วมสังคมได้

กุญแจสำคัญของแนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมคือ เด็กควรได้รับการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายจากทุกภาคส่วนจึงจะประสบผลสำเร็จ

แต่หากต้องการให้การเรียนการสอนลักษณะนี้มีความยั่งยืน ไม่เพียงครูเท่านั้นที่ต้องพัฒนาความรู้ เครื่องมือ และเป็นศูนย์กลางของการสอน แต่ปัจจัยของหลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์ของเด็ก รวมถึงปัจจัยผู้ปกครองและภาครัฐก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กล่าวอย่างถึงที่สุด ถ้าโจทย์ร่วมกันของสังคมคือการสร้างเด็กให้มีความสุข ภารกิจนี้ย่อมเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย 

‘เปิดใจและรับฟัง’ ต้นทุนเรียบง่ายในการจัดการห้องเรียน

ห้องอบรมย่อยในหัวข้อ ‘การจัดการห้องเรียนสําหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและความต้องการพิเศษ’ โครงการบัวหลวงก่อการครู ภายใต้การดูแลของ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมโดยเริ่มจากกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมกับสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเพื่อนครูผ่านกิจกรรม ‘ต่อข้อศอก’

จากนั้นจึงตั้งโจทย์ให้ครูแลกเปลี่ยนสิ่งที่ภูมิใจ พรสววรค์ อวัยวะที่ชอบของตัวเอง แม้คำถามจะเรียบง่าย แต่คำตอบที่ได้กลับหลากหลายและยากจะคาดเดา เปรียบดั่งความแตกต่างหลากหลายของห้องเรียนหนึ่ง ๆ

บ้างเขียนหนังสือได้ทั้งมือซ้ายและมือขวา

บ้างห่อลิ้นได้

บ้างชอบปักผ้าครอสติช

บ้างเคยคัดทีมชาติกีฬายูโด

บ้างมีเซ้นส์ด้านความฝัน

ฯลฯ

ความแตกต่างจึงมีหลายมิติ มากไปกว่าความถนัดในวิชาใดวิชาหนึ่ง มากไปกว่าสภาพร่างกาย มากไปกว่าปูมหลัง หากมีวิธีการตั้งคำถามอย่างประณีต สอนอย่างบรรจง สัมผัสถึงความเป็น ‘มนุษย์’ ของเด็กทุกคน  ผลสัมฤทธิ์ที่ได้อาจเป็นการสร้างความสุขให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน

กิจกรรมสุดท้ายในห้องย่อยนี้คือ ‘Road map: ถนนชีวิต’ เริ่มจากการวาดภาพเหตุการณ์หรือคนสำคัญในชีวิตที่ผ่านมา จากนั้นผู้เข้าร่วมอบรมจึงแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตระหว่างกัน

‘การเล่า’ และ ‘การฟัง’ ที่สะท้อนกลับไปมาเช่นนี้เองที่เป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่กลับส่งผลต่อการจัดการห้องเรียนอย่างมีนัยยะ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเสมือนเห็นตนเองในเรื่องราวนั้น การแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างเท่าเทียมทั้งสองฝ่าย ยังนำไปสู่ความสามารถในการเชื่อมโยงหรือทำความเข้าใจกับสิ่งที่แตกต่างออกไป

เสียงของครูผู้เข้าร่วมโครงการบัวหลวงฯ สะท้อนประกายความมุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตน ซึ่งสุดสายปลายทางคือความปรารถนาที่จะโอบอุ้มทุกความฝันของเด็กเอาไว้ให้บอบช้ำน้อยที่สุด

“อยากให้เด็กมีความฝันที่กว้างขึ้น เนื่องจากเราเป็นโรงเรียนเล็ก นักเรียนมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ครอบครัวมีปัญหา ความฝันของเขาค่อนข้างเล็ก ๆ เพราะพ่อแม่ทำงานรับจ้าง เขาก็คิดว่าจบ ม.3 ไปก็ทําแค่นี้พอ เขามีความฝันไม่เยอะ แต่เราอยากให้เขามีความฝันที่กว้างขึ้น อยากให้ไปเจอโลกภายนอกที่ยิ่งใหญ่ขึ้น อยากให้ห้องเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่เป็นอยู่…”

“อยากจะเปลี่ยนเป็นห้องเรียนแห่งความสุข ไม่อยากให้มองเป้าหมายว่า ต้องเรียนให้ได้เกรด 4 เรียนเก่งได้ที่ 1 แต่อยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและมีความสุขในการเรียน…”

“เราพยายามจะหาวิธีการสอนให้เชื่อมโยง ให้เป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจําวัน ให้เด็กมีความสุขมากกว่าผลสัมฤทธิ์ตามที่นโยบายต้องการ คือเด็กเบื่อมากทั้ง ๆ ที่เราพยายามทํามาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายแล้วคนที่ไม่ได้อะไรเลยก็คือเด็ก…”

“เราอยากจะเปิดโลกให้เขาว่า ชีวิตเราไม่ได้มีแค่นี้นะ เราสามารถออกไปหาประสบการณ์สร้างทางเลือกใหม่ ๆ ได้…”

“การเรียนรู้ไม่เปิด เพราะความรู้สึกข้างในยังไม่เอาออก ไม่มีคนรับฟัง…”

ความแตกต่างหลากหลายจึงไม่ได้แขวนอยู่ที่ปัจจัยทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีมิติทางวิชาการแฝงฝังอยู่ในค่านิยมการศึกษาไทย ซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ระบบการศึกษาไทยเปิดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็กทุกคน

ท้ายสุด แม้เส้นแบ่งที่ขีดคั่นผู้เรียนจะมีหลายระดับ แต่หากกลไกสำคัญอย่าง ‘ครู’ สามารถสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อความแตกต่างหลายเฉดสีของเด็ก ก็จะช่วยให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความสามารถของตนที่ไม่จำเป็นต้องสอดรับกับความคาดหวังของสังคมเสมอไป การจัดการห้องเรียนที่เป็นมิตรจะสลายเส้นแบ่งของเด็ก ๆ ไม่ว่าแต่ละคนจะแตกต่างกันเพียงใดก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ 

จากเสียงสะท้อนอันหลากหลายของครูข้างต้น สะท้อนว่าสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้เกิดขึ้นแล้ว

Your email address will not be published.