ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

‘กล้าที่จะไม่สอน’ สร้างห้องเรียนที่ปราศจากความกลัว

Reading Time: 2 minutes วิธีการสร้างห้องเรียนที่สร้างสรรค์และปราศจากความกลัว ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ครูต้องทำอะไรบ้าง จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายระบบการศึกษาทั้งระบบ May 29, 2023 2 min

‘กล้าที่จะไม่สอน’ สร้างห้องเรียนที่ปราศจากความกลัว

Reading Time: 2 minutes

“เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ และวินัยที่เกิดจากการใช้อำนาจบังคับก็ไม่ยั่งยืน” 

คำพูดของ พฤหัส พหลกุลบุตร หรือ ‘อาจารย์ก๋วย’ จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม) ได้กล่าวไว้บนเวทีการเรียนรู้ ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดอุดรธานี ได้สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของปัญหาในระบบการศึกษาไทยมาตลอด หัวใจที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาที่ดีไม่ควรเกิดจากการบีบบังคับ และห้องเรียนที่ดีควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 

พฤหัส พหลกุลบุตร หรือ ‘อาจารย์ก๋วย’

ผลลัพธ์ของการใช้อำนาจในโรงเรียนยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามีผลดีจริงหรือไม่นอกจากมายาคติที่เล่าสืบกันมา ทว่าเด็กที่ถูกอำนาจกดทับอาจเกิดบาดเจ็บในใจจนยากที่จะเยียวยา 

“อํานาจไม่ได้เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณเท่านั้น แต่ถูกโปรแกรมในตัวเราไปโดยธรรมชาติ แล้วบางทีเราอาจจะพลั้งเผลอใช้ไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระบบการศึกษาหรือห้องเรียน เราจึงควรเท่าทันเรื่องนี้ เพื่อจะไม่ส่งต่อความรู้สึกที่ไม่ดีไปยังลูกศิษย์ของเรา”

กิจกรรม ‘กล้าที่จะไม่สอน’ จากการสอน สู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์’ ของโครงการบัวหลวงก่อการครู เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พยายามหาคำตอบให้กับวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปให้มากขึ้น และพยายามสร้างเครื่องมือสำหรับครูทุกคนเพื่อเปลี่ยนห้องเรียนให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลไปกว่าสิ่งที่อยู่ภายในตัวของครูทุกคน 

เมื่อประสบการณ์ของครูถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

“พอเด็กคนนั้นเติบโตมา เปลี่ยนสถานะจากนักเรียนมาเป็นครู ซึ่งเราอาจจะเคยพลาดพลั้งบางอย่างกับเขาเช่นกัน ถามว่าตอนที่เราเป็นผู้ใช้อํานาจ เรารู้สึกดีไหม ก็ไม่ค่อยดีนะ แต่คําถามคือถ้าเราไม่รู้สึกดี ทําไมเราถึงทําสิ่งที่เราไม่ชอบในตอนนั้น ทําไมเรายังทําสิ่งเดียวกันกับลูกศิษย์ของเรา นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ” พฤหัสกล่าว

คำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อกระบวนกร (Facilitator) นำครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ แล้วเริ่มทบทวนถึงอดีตในวัยเด็กของตนเอง ว่าเคยถูกผู้ใหญ่กระทำต่อตนเองอย่างไรในชั้นเรียน ทั้งในแง่การใช้คำสั่ง สีหน้า น้ำเสียง และท่าทางประกอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะฝังลึกลงไปในความทรงจำ โดยหากนึกย้อนกลับไปหลายคนก็มักจะยังจดจำความรู้สึกเหล่านั้นได้อยู่เสมอ 

ข้อสมมุติฐานหนึ่งคือ หากครูเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเผลอทำสิ่งนั้นต่อเด็กนักเรียน ซึ่งอำนาจที่อยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนมีลักษณะเป็นสัญชาตญาณพื้นฐาน และเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติที่หากไม่ตรวจสอบให้ดีก็อาจใช้มันอย่างไม่ยั้งคิด เหมือนสมองที่สั่งว่าเมื่อหิวก็ต้องกิน เมื่อเหนื่อยก็ต้องพัก ซึ่งพฤหัสในฐานะกระบวนกรในกิจกรรมนี้ระบุว่า ครูเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีโอกาสทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน การหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

จากประสบการณ์ของครูที่เข้าร่วมกิจกรรม บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ปัญหานี้ก็จะยังถูกสืบทอดต่อไปเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่น การเริ่มต้นเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียน การสอน และวิธีการจัดการพลังงานในห้องเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทำทันที 

“ครูหลายคนที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในห้องเรียนไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เขาพบว่าเขามีความสุขมากขึ้น นักเรียนก็มีความสุขมากขึ้น และห้องเรียนก็กลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ได้อย่างน่าชื่นใจ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ฝึกฝนในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

บรรยากาศที่สร้างสรรค์ในชั้นเรียน 

องค์ประกอบที่ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนไม่เป็นมิตร อย่างเช่นการใช้คำประชดประชัน การดูถูก และการพูดล้อเลียนของครู ขณะเดียวกันการละเมิดที่ไม่ใช่ทางคำพูดก็ประกอบไปด้วยการเพิกเฉย การสั่งการบ้าน เพียงเพื่อต้องการจะสร้างวินัย หรือการลงโทษเมื่อนักเรียนไม่สามารถทำตามแบบฝึกหัดหรือตอบคำถาม เป็นต้น ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าต้องหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีการเข้าหาครู ความรู้สึกนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกไร้อำนาจ (Powerless) เนื่องจากสุดท้ายก็ยังคงติดอยู่ในห้องเรียนกับครูคนเดิม จึงส่งผลโดยตรงกับสภาพอารมณ์ของนักเรียนจนไม่เกิดความพร้อมในการเรียนรู้และมีปัญหาด้านพัฒนาการต่อไป

การตัดวงจรของปัญหาจึงควรเริ่มต้นที่การปรับวิธีการเรียนการสอนโดยครูแต่แรก เพื่อป้องกันการส่งต่อแนวทางการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมไปยังนักเรียนรุ่นต่อไป

ดังนั้นวิธีการสร้างห้องเรียนที่สร้างสรรค์และปราศจากความกลัว ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ครูต้องทำอะไรบ้าง จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายระบบการศึกษาทั้งระบบ

ลดการตีตรา สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกัน

เนื้อหาตอนหนึ่งของบทความ How to Create a “No Fear Learning” Environment in Your Classroom โดยนักเขียนด้านการศึกษาอย่าง ลี ครอกเก็ตต์ (Lee Crockett) ระบุว่า ห้องเรียนต้องพร้อมที่จะรองรับความผิดพลาด โดยยกตัวอย่างการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาของ เฮเลน สนอดกราส (Helen Snodgrass) อาจารย์ประจำโรงเรียนมัธยมศึกษา YES Prep North Forest ในฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่มีคำขวัญประจำชั้นเรียนว่า “ในชั้นเรียนนี้ ความผิดพลาดไม่ใช่ตัวเลือก แต่คือวัตถุประสงค์” (In this class, failure is not an option. It’s a requirement.) ที่เปิดให้นักเรียนได้เผชิญหน้ากับความท้าทายในการเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้มีความผิดพลาดในระหว่างการเรียน โดยไม่ตีตราความผิดว่าเป็นเรื่องที่ล้มเหลว สิ่งนี้ทำให้บรรยากาศในการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น และนักเรียนก็ได้เริ่มเรียนรู้จากความผิดพลาดในครั้งก่อนหน้ามากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การโอบรับความผิดพลาดเพื่อเพิ่มที่ว่างให้แก่การพัฒนาระบบการศึกษายังไม่ใช่องค์ประกอบเดียว แต่ยังต้องส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาการเรียนการสอนในแบบของตนเองด้วย ไม่ใช่การตีความเนื้อหาของครูเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ดังเช่นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอย่าง Teach Better ระบุว่า ด้วยวิธีนี้จะยิ่งทำให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ในจังหวะที่สม่ำเสมอตามแบบฉบับของพวกเขาเอง ไม่ถูกกดดันด้วยเวลาที่จำกัด หรือกังวลว่าตนเองจะถูกตีตรา จนทำให้ไม่สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ ผลที่ตามมาคือนักเรียนจะมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันนักเรียนที่ไม่หวาดกลัวความผิดพลาดจากการปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนตามข้อแรกแล้ว ก็จะเกิดความพยายามที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของตนเองดีขึ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์ความรู้ในชั้นเรียนร่วมกับครู และยินดีที่จะหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในแบบของตนเอง

อาจารย์วิชาปรัชญา เคียธ เอ็ม. พาร์สันส์ (Keith M. Parsons) แห่งมหาวิทยาลัย Houston-Clear Lake ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยวิธีการจัดชั้นเรียนรูปแบบนี้มีทั้งหมด 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ

  1. การชี้แนะแนวทาง : ขั้นตอนนี้คือการที่อาจารย์จะไม่สอนให้นักเรียนได้ความรู้โดยตรง แต่จะแนะนำวิธีการค้นหาความรู้ วิธีการเรียนรู้ ยกตัวอย่างรูปแบบที่ดีที่สุดและรูปแบบที่ใช้ไม่ได้ผลมากที่สุด โดยเปรียบเทียบเหมือนกับการปีนภูเขาที่ให้นักเรียนได้เป็นผู้เลือกเส้นทางการปีนด้วยตนเอง ซึ่งการมีอยู่ของครูรูปแบบนี้จะทำให้การปีนป่ายขึ้นไปถึงยอดปลอดภัยมากขึ้น 
  1. การสะท้อนคิด (Feedback) : ครูต้องคอยสะท้อนปฏิกิริยากับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจจะให้คำแนะนำที่มากขึ้นกับนักเรียนรายบุคคล นักเรียนกลุ่มเล็ก ไปจนถึงระดับใหญ่ทั้งห้องเรียน เป้าหมายคือการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนโดยไม่มีการบังคับ
  1. การสร้างแรงจูงใจ : นักเรียนหลายคนอาจไม่ได้ขาดความสามารถในการเรียนรู้ แต่ขาดความมั่นใจ ครูที่ดีต้องคอยสนับสนุนให้พวกเขาก้าวข้ามความผิดพลาดในแต่ละแบบฝึกหัด และคอยให้กำลังใจ รวมไปถึงคำชม ซึ่งมีความสำคัญมากกับการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในระยะยาว 

ถึงแม้ว่าคำแนะนำของพาร์สันส์ จะใช้สำหรับนักศึกษาปีแรกในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นแนวทางที่ครูในระดับชั้นอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน เป้าหมายที่สำคัญคือ การลดการใช้อำนาจ ลดความหวาดกลัวในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้โดยไม่ต้องมีครูคอยสอนอยู่ฝ่ายเดียว 

ห้องเรียนแห่งความเป็นไปได้นี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อครูเปลี่ยนวิธีการสอน สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และเพิ่มความอิสระให้นักเรียนมากขึ้น เพื่อขจัดช่องว่างในการเรียนรู้ของนักเรียน สร้างความเข้าใจร่วมกันว่าการผิดพลาดเป็นส่วนประกอบตามปกติของการเรียนรู้ สนับสนุนให้พวกเขาได้ลองผิดลองถูกและโอบรับผลลัพธ์อย่างเข้าใจ จะสามารถทำให้เกิดห้องเรียนแห่งความรัก และทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลไปถึงการศึกษาทั้งระบบในอนาคตได้อีกด้วย  

ที่มา:

  1. Purple Speaks. (2020). On Emotional Abuse and Resilience. The Medium https://medium.com/purple-speaks/on-emotional-abuse-and-resilience-a0517e8247bf 
  2. Finiki Nearchou. (2018). Resilience following emotional abuse by teachers: Insights from a cross-sectional study with Greek students. Child Abuse & Neglect. 78. 96-106. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0145213417304064#bib0010 
  3. Valerie Strauss. (2015). Teacher: In my class, failure is not an option. It is a requirement. The Washington Post. https://www.washingtonpost.com/news/answer-sheet/wp/2015/05/20/teacher-in-my-class-failure-is-not-an-option-it-is-a-requirement/ 
  4. Lee Crockett. (2021). How to Create a “No Fear Learning” Environment in Your Classroom. Future Focused Learning. https://blog.futurefocusedlearning.net/no-fear-learning 
  5. Chad Ostrowski. (2015). 3 Ways To Remove Fear From Your Classroom. Teach Better. https://teachbetter.com/blog/3-ways-to-remove-fear-from-your-classroom/ 
  6. Maryellen Weimer. (2015). What Is Teaching without Learning? Faculty Focus. what-is-teaching-without-learning 
Array