ก่อการครู – Korkankru

โรงเรียนปล่อยแสง

คืนอำนาจการเรียนรู้ให้เยาวชน บ่มเพาะทักษะจำเป็นนอกตำราเรียน

Reading Time: 3 minutes เมื่อหันกลับมาที่ระบบการศึกษาไทยซึ่งทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ กลับพบว่าการปลูกฝังทักษะประเภทการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการให้ความสำคัญกันเท่าที่ควร Jul 17, 2024 3 min

คืนอำนาจการเรียนรู้ให้เยาวชน บ่มเพาะทักษะจำเป็นนอกตำราเรียน

Reading Time: 3 minutes

เมื่อต้นปี 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ติดตามสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) พบว่า Soft Skill เป็น 6 ใน 10 ทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลก ซึ่งทักษะการทำงานนอกเหนือจากความรู้เฉพาะวิชาชีพมีความจำเป็นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อหันกลับมาที่ระบบการศึกษาไทยซึ่งทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ กลับพบว่าการปลูกฝังทักษะประเภทการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการให้ความสำคัญกันเท่าที่ควร

โรงเรียนปล่อยแสง ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนสร้างสรรค์นิเวศการเรียนรู้ (Creative Youth) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ ชวนน้องๆ จากโรงเรียนมัธยมศึกษา 3 แห่ง ให้ลองเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้รับความรู้’ เป็น ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากพวกเขาจะมีโอกาสทำตามความฝันและสิ่งที่สนใจแล้ว ระหว่างการทำกิจกรรมยังเก็บเกี่ยวทักษะใหม่ที่จะสามารถนำไปใช้กับการทำงานในอนาคตอย่างเต็มที่

กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เกิดขึ้น ได้แก่ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี หยิบยกเอาปัญหาใกล้ตัวนั่นก็คือเรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นมาริเริ่มเป็นโครงการ ศิลปะเพื่อการบำบัดใจ ชวนเพื่อนๆ ลองทำงานศิลป์เพื่อสำรวจความรู้สึกนึกคิดที่ซ่อนอยู่ภายใน และเป็นสะพานให้นักเรียนหลายระดับชั้นมีโอกาสรับฟังทุกข์สุขของกันและกัน เยาวชนโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ริเริ่มโครงการ สะออนหลายเด้อ ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการด้วยการแต่งตัวคอสเพลย์เป็นตัวละครที่ชอบ และทำ ตลาดนัดดอกจาน เปิดพื้นที่ให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ ด้านเยาวชนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ร่วมกันทำโครงการ บ้านฉันมีดี ช่วยกันตั้งคำถามและค้นหาว่าท้องถิ่นของพวกเขามีของดีอะไรซ่อนอยู่บ้าง นำไปสู่การเปิดตลาดในโรงเรียน และการเรียนรู้เรื่องต้นกฤษณาซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายากของท้องถิ่น

การทำโครงงานของน้องๆ ไม่ได้เริ่มต้นจากการกางตำราหรือใช้ทฤษฎีใดๆ แต่นำสิ่งที่ตนสนใจมาลองหาความเป็นไปได้ในการทำงานกับเพื่อนๆ งานนี้ครูไม่ใช่ผู้ผูกขาดความรู้หรือสั่งสอนเหมือนเช่นเคย แต่เป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกช่วยให้นักเรียนปลดล็อกอุปสรรคและเดินไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ได้ราบรื่นยิ่งขึ้น

น้องฟ้า – จิตรดารัตน์ พุทธิวงษ์ นักเรียนจากโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ เล่าถึงการริเริ่มตลาดนัดดอกจาน เพื่อให้เพื่อนๆ หารายได้ระหว่างเรียน ว่า “ตลาดที่พวกหนูจัดมันไม่ใช่แค่ตลาดที่มีการซื้อมาขายไปเท่านั้น แต่เป็นการนำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ อาจจะเป็นสิ่งของหรือทักษะของตัวเองนำมาสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง …เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ขายได้เกิดการเรียนรู้ เพราะก่อนที่จะนำสินค้ามาขาย เราต้องมีการศึกษาหาข้อมูลว่าเราจะครีเอตสินค้าออกมาอย่างไรเพื่อให้สินค้ามันน่าดึงดูดและน่าสนใจ”

ในวงการสตาร์ทอัปมีคาถาที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ว่า “Fail Fast” การล้มเหลวย่อมจะนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ปัญหา การทำงานของน้องๆ ก็เช่นกัน จากก้าวแรกไปจนจบเต็มไปด้วยตัวแปรต่างๆ ที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ หลายคนสะท้อนตรงกันว่าแม้วางแผนมาอย่างดีแล้วก็พลาดได้ ซึ่งพวกเขาก็พยายามหาทางปรับปรุงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะดีที่สุด

“ตอนแรกทุกอย่างผ่านไปได้อย่างราบรื่น จนหนูคิดว่ามันจะไม่มีปัญหาเลยเหรอ ง่ายไปรึเปล่า พอถึงวันสุดท้ายเรามาซ้อมรวมกันปรากฏว่ามันบ้งมาก หลังได้ฟีดแบ็กจากครูพวกเราก็ท้อมากเครียดเลย กลายเป็นว่าเราตั้งใจจะทำโครงการช่วยเพื่อนจัดการความเครียด แต่เรายังจัดการความเครียดของตัวเองไม่ได้ สุดท้ายเราก็จับเข่าคุยกันแล้วก็หาทางออกของปัญหา” น้องนัท – ณัฐธิดา วัฒนเวช นักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง กล่าวถึงปัญหาที่พบ

อุปสรรคที่น้องๆ เยาวชนต้องเผชิญ ไม่ใช่เพียงปัจจัยที่อยู่ภายนอกเท่านั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้ก็คือเรื่องภายในจิตใจของตนเอง ทั้งเรื่องความไม่มั่นใจ การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ความเครียดความกดดัน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฯลฯ สถานการณ์ต่างๆ ในการทำงานที่น้องๆ ไม่เคยพบเจอมาก่อน ช่วยกล่อมเกลาแต่ละคนให้มีวุฒิภาวะและจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้นด้วย

น้องปอร์เช่ – ธัญมน ดาราภิรมย์ นักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ทบทวนตนเองและแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า “ปกติหนูไม่ค่อยฟังใครจะยืนตามความคิดเห็นของตัวเองอย่างเดียว เวลาใครออกความคิดเห็นมาจะไม่ค่อยพอใจ การทำโครงการนี้ทำให้หนูรู้ว่าเราควรฟังคนอื่นมากขึ้นกว่าเดิม ฟังมากกว่าพูดอย่าเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลัก การที่เราพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นมันจะทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

แม้การทำงานร่วมกับเพื่อนๆ จะเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่สุดท้ายแล้วโครงการที่ทุกคนร่วมกันทำกลับกลายเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีชีวิตชีวา พวกเขาได้เผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่สดใหม่ งัดเอาความรู้ที่มีอยู่เดิม ประกอบกับสัญชาตญาณตามธรรมชาติมาใช้จนงานลุล่วงไปได้ ต่างจากห้องเรียนปกติซึ่งเปรียบเหมือน Safe Zone แม้ง่าย ปลอดภัย แต่ไม่สามารถให้การเรียนรู้ที่ลุ่มลึกเหมือนกับการสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง นักเรียนหลายคนได้พบทักษะใหม่ของตัวเองและแสดงศักยภาพที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน มีโอกาสทำรู้จักตัวเองและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

พี่ขวัญ – ขวัญหทัย สมแก้ว กระบวนกรโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ซึ่งมีโอกาสใกล้ชิดกับแกนนำเยาวชนจากทุกโรงเรียน อธิบายว่ากระบวนการทำงานของน้องๆ ทุกโครงการ ล้วนมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วยทักษะสำคัญ 5 ด้าน หรือ 5C

“การทำงานที่ร่วมมือกัน (Collaboration) มีคนแตกต่างหลากหลายมาทำงานด้วยกันมันจะเกิดการเรียนรู้มาก เด็กบางคนขี้อายไม่มั่นใจ การสื่อสาร (Communication) จะทำให้เขาได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดและมีพื้นที่รับฟัง นอกจากนี้เรายังอยากให้เด็กออกจากกรอบเดิมๆ ให้ได้ทำงานที่สร้างสรรค์ (Creativity) สุดท้ายก็เป็นเรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) แบบเป็นเหตุเป็นผล พัฒนาสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์”

จากตัวอย่างโครงการต่างๆ เงื่อนไขสำคัญที่ช่วย ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ คือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ นักเรียนไม่ใช่ภาชนะว่างเปล่าที่คอยรับความรู้ แต่พวกเขามีศักดิ์ศรี มีความคิดอ่าน มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ความรู้และสิ่งที่มีคุณค่าให้ผู้อื่น เมื่อไม่มีอำนาจใดมาบีบคั้นหรือกดทับ พวกเขาสามารถนำทางการเรียนรู้ของตนเอง ทำหน้าที่เป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ผ่านการหารือกับครู ครอบครัว และคนในชุมชน จนกระทั่งเกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง

“กิจกรรมของโครงการช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียน เราพยายามชวนให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น กล้าที่จะพูด กล้าที่จะถาม กล้าที่จะสื่อสารความต้องการของตัวเองและรับฟังเพื่อนคนอื่นๆ อย่างเข้าใจ หวังว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนจะเห็นพลังแล้วส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าที่จะเปล่งแสงโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง” น้องนัท – ณัฐธิดา วัฒนเวช นักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สรุปถึงคุณค่าที่ตนและเพื่อนๆ ได้รับจากการเรียนรู้นอกกรอบห้องเรียนครั้งนี้

ที่มา

เวที ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ โครงการโรงเรียนปล่อยแสง: การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ (School Learning Eco-system Development) จัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

บทความ เรื่อง เปิด 10 ทักษะแรงงาน ที่นายจ้างในไทยต้องการมากที่สุด จากการวิเคราะห์ด้วย Big Data และ AI โดย TDRI จากเว็บไซต์ https://thestandard.co/

Array