ก่อการครู – Korkankru

การศึกษาไทย ดินแดนนิเวศการเรียนรู้ โรงเรียนปล่อยแสง

โรงเรียนปลอดขยะ จุดเริ่มต้นการสร้างจิตสำนึกสู่สังคม เพิ่มบรรยากาศการเรียนรู้ต่อนักเรียน

Reading Time: 2 minutes เมื่อโรงเรียนที่มีนักเรียนกว่า 2,000 คนเผชิญกับปัญหาขยะจำนวนมาก ซึ่งแม้จะเคยทำโครงการจัดการขยะมามากมาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่พบทางออกที่ยั่งยืน กระบวนการเรียนรู้การออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยสร้างวินัยในการทิ้งขยะจึงเป็นโจทย์ที่โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์มองหา Aug 7, 2024 2 min

โรงเรียนปลอดขยะ จุดเริ่มต้นการสร้างจิตสำนึกสู่สังคม เพิ่มบรรยากาศการเรียนรู้ต่อนักเรียน

Reading Time: 2 minutes

ก่อนเทอมสุดท้ายของภาคเรียนที่ 2 ปี 2566 จะปิดลง ในเวลาใกล้เลิกเรียนมีดอกอินทนิลสีม่วงจางคว้างกลีบไปมาเป็นฉากหลัง พร้อมกับบรรยากาศจอแจของเด็กนักเรียนด้านหน้าประตูทางออก ท่ามกลางแก้วน้ำพลาสติก ขวดน้ำ และเศษขยะยิบย่อยก็ปลิวเกลื่อนกระจัดกระจายทั่วถนน 

ผลมาจากขยะของทุกคนในโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ที่ทิ้งมาแต่เช้าจรดค่ำจนล้นถัง

“ตอนนั้นยังไม่ได้ย้ายมาบรรจุที่นี่แต่มีโอกาสเข้ามาคุมสอบ กศน. ที่โรงเรียนคำแสนฯ เราเห็นสภาพโรงเรียนมีแต่ขยะ เอ๊ะทำไมอะไรกันนักหนาเรียกว่าสกปรกเลยว่าได้” ครูปิ๋ว-อุไรวรรณ บุญเต็ม ครูชำนาญการพิเศษ ที่เล่าถึงสภาพแวดล้อมเมื่อหลายสิบปีก่อน 

ร่องรอยในอดีตนั้นยังหลงเหลือตกค้างมาถึงปัจจุบันอยู่บ้าง แม้จะมีหลายโครงการนในโรงเรียนเข้ามาบรรเทาปัญหา แต่พอทำไปได้สักพักก็ขาดความต่อเนื่อง สภาพก็กลับไปเป็นเหมือนเคย 

สิ่งเหล่านี้ทำให้คณะครูหันกลับมามองหาสาเหตุและทางแก้ไขที่แท้จริงว่าคืออะไร เพราะการมีระบบการจัดการขยะอาจไม่ใช่ มีถังขยะทุกจุดก็อาจไม่ใช่ 

หนองบัวคำแสน

โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์เป็นโรงเรียนประจำอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู มีเรื่องเล่าว่าเหตุที่ไม่ตั้งชื่อว่าโรงเรียนนากลาง เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ที่มีผู้ก่อการร้ายชุม นายอำเภอสมัยนั้นจึงอยากแก้เคล็ดเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นหนองบัวคำแสน แต่ได้มาใช้ตั้งชื่อโรงเรียนหนองบัวคำแสนแทน หลังจากนั้นก็เป็นเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกหนคือ โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ 

ปัจจุบันโรงเรียนคำแสนฯ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมแล้วนักเรียนประมาณ 2,300 กว่าคน

ครูปิ๋วเล่าถึงสภาพโรงเรียนสมัยเธอมาคุมสอบ กศน. ที่สภาพโรงเรียนเต็มไปด้วยขยะ กระทั่งถังขยะในห้องเรียนก็ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่วห้อง  

“เรามีความรู้สึกว่าเอ๊ะนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดบ้างเลย”

จากวันนั้นจนถึงตอนนี้ โรงเรียนคำแสนฯ มีโครงการหลายอย่างตั้งแต่การแบ่งเขตรับผิดชอบการจัดการขยะ มีโครงการโรงเรียน 5 ส. มีระบบการจัดการที่หน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนช่วย มีการเพิ่มจำนวนถังขยะในโรงเรียน การคัดแยกขยะตามประเภท กิจกรรมใช้แก้วน้ำส่วนตัว ทุกอย่างเกิดขึ้นและทำมาหมด แต่ขยะก็ยังไม่หมดไป

“เราเห็นแล้วว่าขยะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ เพราะนักเรียนสองพันกว่าคนทิ้งขยะวันละไม่ต่ำกว่า 5 ชิ้น แล้วหนึ่งวันขยะในโรงเรียนก็เป็นหมื่น เป็นปัญหาทั้งต่อโรงเรียน ต่อผู้เรียน และต่อคุณครูด้วย”

ครูหยุย-ณพรรษกรณ์ ชัยพรม ครูชำนาญการ ที่มีโอกาสกลับมาสอนใกล้บ้านเกิด เล่าถึงการแก้ไขปัญหาขยะในโรงเรียนคำแสนฯ ที่ยังไม่เกิดความยั่งยืนขึ้น

“ผมรู้สึกเหมือนนักเรียนทิ้งตามกันคล้ายอุปทานหมู่ เวลาเห็นพี่ทิ้ง น้องก็ทิ้งตาม  เคยถามเด็กว่าเพราะอะไร ทั้งถามเด็กในห้องเรียน รวมไปถึงถามผ่านแบบสำรวจ เด็กก็บอกว่าถังขยะไม่พอ และคนอื่นเขาก็ทิ้งได้ทำไมพวกหนูจะทิ้งไม่ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่น่ากลัวมาก คือรู้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดแต่ว่าเห็นคนอื่นทำก็ทำตาม”

เก็บเพชรเก็บพลอย

โรงเรียนคำแสนฯ เข้าร่วมกับโครงการโรงเรียนปล่อยแสง เริ่มต้นจากการพัฒนาครูและการทำงานเป็นทีม ใช้เกมการเรียนรู้สร้างห้องเรียนที่มีความหมาย จนถึงปีที่ 3 โจทย์เฉพาะของโรงเรียนที่อยากขับเคลื่อนและแก้ไขจึงเป็นเรื่องของการจัดการขยะในโรงเรียน เป็นที่มาของโครงการสำคัญที่ชื่อว่า “คำแสนปลอดขยะ” 

ครูหยุยเล่าว่าการเข้ามาของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงช่วยสนับสนุนความคิดคุณครูอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวอย่างถังขยะหลากหลายจากต่างประเทศมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำจุดทิ้งขยะให้น่าทิ้ง เช่นทำเป็นรูปการ์ตูน แป้นบาส แต่ยังมีปัญหาสำคัญที่ซ่อนไว้

“คือเรื่องของวินัย วินัยในการทิ้งขยะ คือการฝึกจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก ได้มากได้น้อยก็ยังดี เราไม่มุ่งหวัง 100% แต่ขอให้โรงเรียนดูดีขึ้น สะอาดขึ้น สร้างวินัยตรงนี้ให้มีจิตสำนึก แค่ทิ้งให้ถูกที่เท่านั้น”

หลังจากจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เด็ก ๆ สภานักเรียนและครู ก็ได้ร่วมกันออกแบบแนวคิดและกระบวนการออกมา เรียกว่ากิจกรรมเก็บเพชรเก็บพลอย

วันนี้ถ้ามาที่โรงเรียนคำแสนฯ ก่อนจะเลิกโรงเรียนเล็กน้อย เราจะเห็นภาพนักเรียนถือขยะคนละ 1 ชิ้นยืนเรียงต่อแถวยาวไปจนถึงตึกอาคาร 1 แบ่งเป็นสองแถวซ้ายขวา ทีมนักเรียนสภาก็พร้อมให้บริการทุกวันก่อนเลิกเรียน

“โรงเรียนเราจะเลิกตั้งแต่ 15.45 น. แต่ว่าก่อนหน้านี้สักประมาณ 15.30 น. ทีมสภานักเรียนจะลากถังขยะแต่ละประเภท และถุงตาข่ายไปวางไว้ที่หน้าประตูโรงเรียน พอประตูโรงเรียนเปิด นักเรียนสองพันกว่าคนก็จะออกจากโรงเรียนไปโดยการทิ้งขยะลงถัง” ครูหยุยเล่าถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้น

“หลังจากนั้นทีมสภานักเรียนจะนำขยะมาคัดแยก ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จะทิ้งลงถังขยะกลางของโรงเรียน เพื่อให้เช้าวันต่อมารถเทศบาลเข้ามาเก็บ ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกขวดน้ำ ก็จะเอาไปคัดแยก ถอดฝา แล้วไปรวมกันไว้ที่ห้องสภานักเรียน ทุกเดือนร้านรับซื้อของเก่าจะเข้ามารับซื้อ ซึ่งเงินตรงนี้เราก็ให้กับสภานักเรียนไปใช้ทำกิจกรรมต่อ”

แม้กิจกรรมจะดูเรียบง่ายมาก แต่กลับสร้างผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงอย่างตรงไปตรงมา 

“สังเกตดูขยะว่าขยะนอกถังปริมาณลดลง เราทำสถิติก่อนทำและหลังทำ แม่บ้านที่มีหน้าที่กวาดขยะทุกเช้าเย็นก็บอกว่าขยะลดลง ขวดที่เขาเคยเก็บไปขายทุกเดือนก็ไม่มีให้เก็บ เพราะฉะนั้นขยะลดลงจริง โรงเรียนสะอาดขึ้น” ครูปิ๋วสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

“กิจกรรมเก็บเพชรเก็บพลอยช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เด็กและครูรู้ว่าหลังเลิกเรียนก็ต้องทำ ถือเป็นการปลูกจิตสำนึกทั้งครูทั้งนักเรียนให้เดินไปในเส้นทางเดียวกัน” 

ส่งต่อจิตสำนึกสาธารณะ

“คือสุดท้ายนอกจากโรงเรียนจะสอนด้านวิชาการแล้ว โรงเรียนยังสอนให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสาและกตัญญู ซึ่งถือว่าครอบคลุมให้นักเรียนดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เหมือนอย่างที่โรงเรียนต้องการสอนให้เด็กเป็นคนดีมีสุข” ครูปิ๋วให้มุมมองถึงความเชื่อมโยงจากการสร้างวินัยในการเก็บขยะไปถึงจิตสำนึกและจริยธรรมด้านอื่น ๆ 

เช่นเดียวกับครูหยุยที่เห็นว่าวินัยในการทิ้งขยะเป็นเรื่องเดียวกับการมีจิตสาธารณะต่อส่วนรวม 

“จิตสาธารณะต่อส่วนรวม สามารถตีประเด็นไปได้อีกกว้าง ไม่ใช่แค่เรื่องขยะ อย่างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในโรงเรียนที่ต้องใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ โต๊ะเรียน ห้องเรียน ถ้าเริ่มจากการมีวินัยของเด็ก ซึ่งมาจากจิตสำนึกข้างในเด็ก ก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ลดลง ไม่ใช่แค่ปัญหาในโรงเรียน แต่รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ ของการใช้ชีวิตในสังคมข้างนอกด้วย”

แม้การสร้างจิตสำนึกในการทิ้งขยะในโรงเรียน จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ก็อาจปลูกฝังสิ่งที่จะส่งผลยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต

“เพราะการทำอะไรก็ตามแต่มันก็เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อนเสมอ ถ้าเราเริ่มต้นที่ครอบครัว ปลูกจิตสำนึกตรงนี้ติดตัวเด็กได้ ไปอยู่ที่ไหนก็สามารถอยู่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านเล็ก บ้านใหญ่ ครอบครัวเล็ก ครอบครัวใหญ่ นำไปสู่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือประเทศ ทุกอย่างก็อยู่ที่จิตสำนึก ขึ้นอยู่กับวินัย”

ครูปิ๋วกล่าวด้วยความเชื่อมั่น และมีความหวัง 

แต่ก่อนจะถึงปลายทาง สิ่งสำคัญที่สุด คือการเริ่มต้นยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน และเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนเป็นโจทย์ในชีวิตจริงที่นักเรียนและครูได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนพูดคุยแนวคิด และออกแบบทางแก้ไข คือตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ที่โรงเรียนอื่น ๆ ก็สามารถนำไปต่อยอดได้

Array