ก่อการครู – Korkankru

Reading Time: 2 minutes ระบบการศึกษาที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องสะดุดกับรอยต่อไหนๆ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในภาพใหญ่ แต่ก็มีกรณีศึกษาเล็กๆ ที่สมานรอยต่อต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ให้เราได้เรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกันไม่น้อย Nov 11, 2024 2 min

สู่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ

Reading Time: 2 minutes

สู่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ

จากการทำงานในระยะที่หนึ่งของ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ หรือ Strategic Agenda Team ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานทางวิชาการ และเครือข่ายของหน่วยปฏิบัติการ ที่มีชุดความรู้จากการปฏิบัติให้กับ สกสว. เพื่อนำความรู้นี้มาขับเคลื่อนระบบการศึกษา เราพบว่าการศึกษาไทยนั้นมี “รอยต่อ” ทั้งในแง่ของตัวระบบเอง ในด้านความหลากหลายของผู้เรียน ในด้านของศาสตร์ความรู้ หรือแม้แต่รอยต่อของผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการศึกษา 

การศึกษาไร้รอยต่อ (Seamless Education) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อแรกในการทำงานระยะที่สองของ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ ในงาน Thailand Education Forum ครั้งที่ ๑ “ทอผ้าผืนใหม่ สู่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ” วันที่ 23 มีนาคม 2567 โดยมุ่งหวังที่จะลดรอยต่อในระบบการศึกษาไทย ผ่านการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียนสำคัญ ผสานความรู้ และชวนทุกท่านจินตนาการถึงระบบการศึกษาใหม่ที่ดีกว่านี้ร่วมกัน

40 ปี รอยต่อของระบบการศึกษาไทย

“จากข้อมูลของ World Development Report 2018 โดย ธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่าเด็กไทยที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาเป็นระยะเวลา ๑๐.๕ ปี จะเกิดการเรียนรู้เท่ากับเด็กสิงคโปร์ที่ศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นระยะเวลา ๗.๓ ปี สะท้อนว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการศึกษาไทยอยู่ในสภาวะวิกฤต” ณิชา พิทยาพงศกร คณะทำงานวิชาการ SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ นำเสนอในงานสัมมนา

ปัญหาของระบบการศึกษาไทยไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มีความพยายามจะแก้ไขมาอย่างยาวนาน เช่น เมื่อย้อนกลับไป 40 ปี ใน พ.ศ. 2517-2523 มีความพยายามปฏิรูปการศึกษาโดยตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และมีการเสนอเป้าหมายปฏิรูป 10 ข้อ มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ออกแบบเนื้อหาและกระบวนการเรียนที่ยืดหยุ่นระหว่างในและนอกโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและลงทุนทางการศึกษาให้เหมาะสม แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง 

ปัจจุบันปัญหาที่เด็กคนหนึ่งจะเข้าถึงการศึกษาในระบบค่อยๆ คลี่คลายลงจากนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่กลับพบวิกฤตการเรียนรู้ คนที่เข้าเรียนในระบบอาจไม่ได้เกิดการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น จึงเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ที่ให้บริการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น จึงเกิดเป็น “รอยต่อ” หรือเส้นแบ่งระหว่าง “โลกในห้องเรียน” และ “โลกนอกห้องเรียน” ที่ขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม

จากการสำรวจของคณะทำงานพบว่ามี 3 ปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ไทย 

ปรากฏการณ์ที่ 1 ทักษะและวุฒิการศึกษาแยกตัวออกจากกัน (Decoupling of Skill and Qualification) คนที่มีวุฒิอาจไม่ได้มีทักษะที่เป็นที่ต้องการ คนที่มีทักษะเป็นที่ต้องการก็อาจไม่ถูกรองรับด้วยวุฒิ 

ปรากฏการณ์ที่ 2 สภาวะเสื่อมถอยของการศึกษาในระบบ (Decline of Public Schooling) อัตราการเกิดใหม่ของประชากรน้อยลง ส่งผลต่อหลายเรื่อง เช่น รูปแบบการจัดสรรทรัพยากรในโรงเรียนขนาดเล็ก ค่านิยมของพ่อแม่ นักเรียนและครูที่เปลี่ยนแปลงไป มีการแทรกแซงทางการเมือง 

ปรากฏการณ์ที่ 3 ทางเลือกการเรียนรู้เกิดใหม่และหลากหลาย (Rise of Learning Alternative) ในตลาดการเรียนรู้มีผู้เล่นหน้าใหม่ การเติบโตของเทคโนโลยีทางการศึกษาและการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยนวัตกรรม (EdTech & Edupreneurs) การสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกัน (General Educational Development : GED) การปรับตัวของโรงเรียนกวดวิชาและการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ 

ในยุคสมัยที่ “การศึกษาไม่เท่ากับการเรียนรู้” โจทย์ที่ คณะทำงานวิชาการ SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ อยากจะชวนทุกท่านมาช่วยกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไร “การศึกษา” และ “การเรียนรู้” จะกลับมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้การเรียนรู้เป็นของคนทุกคน

รอยต่อใหญ่ที่ทำให้ผู้เรียนหลุดร่วงจากระบบ

เมื่อเราเปลี่ยนวิธีการมองปัญหาของระบบการศึกษาจากภาพใหญ่มาเป็นมองผ่านชีวิตจริงของเด็กคนหนึ่ง ลองคิดตามว่าหากเขาเกิดมาแล้วต้องการเรียนรู้ เขาจะต้องพบกับอุปสรรคอะไร รอยต่อแบบไหนที่สร้างปัญหาให้กับเด็กและเยาวชนจำนวนมาก คณะทำงานวิชาการ SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ พบว่ามี 4 รอยต่อขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้เรียนหลุดร่วงออกจากระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย ดังนี้

รอยต่อของในระบบและนอกระบบ การเรียนในระบบอาจไม่ตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่ม ทั้งรูปแบบ เนื้อหาและทักษะ ระบบผลิตคนที่มีวุฒิแต่ขาดทักษะที่สังคมต้องการ การศึกษานอกระบบมีให้เรียนรู้มากขึ้นแต่ผู้เรียนต้องใช้ทุนของตัวเอง และแม้จะมีทักษะจากการเรียนนอกระบบแต่ก็อาจไม่ได้รับการรับรองทักษะที่ตนเองมี

รอยต่อของความหลากหลาย ผู้เรียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสัญชาติ ข้อมูลจากยูนิเซฟ (UNICEF) คาดการณ์ว่ามีลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทยอยู่ราว 3-4 แสนคน แต่ระบบการศึกษาออกแบบมาเพื่อวัฒนธรรมแบบเดียว จึงเกิดอุปสรรคกับเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เด็กที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง เด็กต่างด้าวมีสิทธิ์เข้าเรียนในระบบโรงเรียนไทยแต่จบการศึกษามัธยมน้อย (๑% ของเด็กที่เข้าเรียนประถม) ทำให้ไม่อาจเข้าถึงงานที่ใช้ทักษะสูงในอนาคต การศึกษายังพบอีกว่าเด็กเหล่านี้รู้สึกแปลกแยกและมีแนวโน้มถูกกลั่นแกล้งมากกว่า ส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กในโรงเรียน (sense of well-being)

รอยต่อของศาสตร์ความรู้ ปัญหาในโลกปัจจุบันซับซ้อนขึ้น ต้องอาศัยการผสานองค์ความรู้หลายศาสตร์เพื่อแก้ไข แต่การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังแยกวิชาและคณะ การเรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา ปรัชญา มีน้อยเมื่อเทียบกับวิชาการ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในด้านการวิจัยยังพบว่าประเทศไทยลงทุนกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากกว่ามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์หลายเท่า แม้ว่าความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะช่วยอธิบายปรากฏการณ์สังคมและรับมือกับสภาวการณ์ตัดสินใจที่ซับซ้อนในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยให้คุณค่ากับความรู้เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาสังคม

รอยต่อของผู้เล่นในภาคการศึกษา ปัจจุบันมีองคาพยพของผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาจำนวนมาก โดยมีรัฐเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เป็นผู้กำหนดวาระทางการศึกษา ขณะที่ผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการศึกษาส่วนมากไม่ได้จากภาครัฐ และยังขาดพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน

นอกเหนือจาก 4 รอยต่อใหญ่ที่คณะทำงานนำเสนอในการสัมมนา ผู้เข้าร่วมยังได้มีการแลกเปลี่ยนรอยต่ออื่นๆ ที่แต่ละคนค้นพบในพื้นที่การทำงานของตัวเอง

“ตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเราพบเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมมากขึ้น แต่คุณครูที่ต้องรับหน้าที่ดูแลไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ จึงเสนอว่าเป็นรอยต่อระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาในระบบกับหน่วยงานที่ช่วยเหลือสนับสนุนเด็กที่มีความต้องการพิเศษครับ” ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน กลุ่มไม้ขีดไฟ แลกเปลี่ยน

“เสนอรอยต่อในเชิงกฎหมาย พบว่ารัฐหรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในนโยบายการศึกษาไม่ได้อ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างเข้าใจแตกฉานและนำไปปฏิบัติ หลายเรื่องไม่อาจดำเนินต่อได้เพราะรัฐไม่ได้สนับสนุน ไม่ได้นำบทเรียนเหล่านี้ไปทำให้กลายเป็นนโยบายที่ยั่งยืน อีกรอยต่อหนึ่งคือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้ความรู้หรือโอกาสในการจัดการศึกษากระจายออกจากรัฐมากขึ้น ทำอย่างไรให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเข้มแข็งและมีอำนาจขยายออกไปสู่แหล่งเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่วัฒนธรรมมากขึ้น” ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอเพิ่มเติม

จินตนาการใหม่เพื่อการศึกษาไร้รอยต่อ

การศึกษาไร้รอยต่อ หรือ Seamless Education ที่เราชวนทุกท่านมาร่วมสร้าง ร่วมจินตนาการ คือระบบการศึกษาที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องสะดุดกับรอยต่อไหนๆ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในภาพใหญ่ แต่ก็มีกรณีศึกษาเล็กๆ ที่สมานรอยต่อต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ให้เราได้เรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกันไม่น้อย

เพื่อสมานรอยต่อระหว่างการศึกษาในระบบและนอกระบบ มีการตั้งพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ที่เอื้อให้ผู้เรียนเคลื่อนย้ายข้ามไปมาระหว่างในและนอกโรงเรียนได้ผ่านระบบธนาคารเครดิตและการรองรับประสบการณ์ เช่น 

โครงการเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งทำงานร่วมกับคุณครู เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและผู้ประกอบการในอำเภอเชียงดาว เพื่อสร้างหลักสูตรบูรณาการระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ 

การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ “ควาญช้าง” โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพร่วมสถาบันคชบาลแห่งชาติ ให้เป็นส่วนหนึ่งของสาขาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อาชีพควาญช้าง 

โครงการโรงเรียนมือถือ โดยศูนย์การเรียน CYF ร่วมกับ กสศ. และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดนครพนม พัฒนาช่องทางการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเด็กนอกระบบและเด็กที่ถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ

ในการสมานรอยต่อของความหลากหลาย หลักสำคัญคือมุ่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ อยู่ร่วมและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง เช่น การจัดการเรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม การเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน ห้องเรียนเชิงวิพากษ์ และการสร้างจินตนาการใหม่ของพลเมือง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรอยต่อของศาสตร์และความรู้ ปัจจุบันพบว่ามีโรงเรียนที่พยายามจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่หลากหลาย มุ่งเน้นการสร้างกลไกให้ผู้เรียนได้เรียนสิ่งที่ตนเองสนใจ แก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น

นวัตกรรม Project-based learning และจิตศึกษา โรงเรียนลำปายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์

ห้องเรียน STEAM Design Process โรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่

โครงงานฐานวิจัย สร้างความรู้จากชุมชน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล

รอยต่อสุดท้ายซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษา เริ่มมีกลไกจัดสรรทรัพยากรที่เป็นมิตรและเป็นธรรม เอื้อให้คนทำงานสร้างนวัตกรรม การทำงานแบบภาคีและกำหนดวาระร่วมกันมากขึ้น รวมถึงมีหน่วยงานที่พยายามทำหน้าที่เป็น “กาวใจ” เชื่อมร้อยผู้เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น การทำงานร่วมกันของเครือข่ายเอกชนและสังคมเพื่อผลักดันนโยบายครอบครัว หรือแม้แต่การร่วมกันจากหลายภาคส่วนเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เยาวชนในช่วงปิดเทอม

ก้าวต่อไปของการศึกษาไร้รอยต่อ

“หลายครั้งที่การศึกษาทำให้เด็กไม่เห็นอนาคต ไม่กล้าคิดและไม่กล้าฝัน เด็กจะกล้าฝันได้ต้องการจินตนาการทางการศึกษาใหม่ ศาสตร์การสอนแบบใหม่ การวัดผลใหม่ และผู้จัดการเรียนรู้ที่มากกว่าภาครัฐ ‘การศึกษาไร้รอยต่อ’ เป็นจินตนาการใหม่ที่ซับซ้อนและสร้างการรับรู้ที่น่าสนใจกว่า ‘การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ โดยแสดงให้เห็นว่ามีผู้ขับเคลื่อนการศึกษาอยู่นอกภาครัฐ ที่ผ่านมาผู้มีส่วนจัดการศึกษาคู่กับรัฐยังคงถูกผลักให้อยู่ในชายขอบ ทำอย่างไรให้สิ่งนี้เป็นกลไกที่มีชีวิตชีวาและพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” 

ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความคิดเห็นต่อการศึกษาไร้รอยต่อ ทั้งยังเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการเปลี่ยนแปลง ‘ปรัชญาการศึกษา’ สลายแนวทางปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถะนิยม (Essentialism) มาสู่การมุ่งสร้างให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง

“นิยามของ ‘โรงเรียนดี’ ไม่ได้มีความหมายเดียว หลายครั้งที่ต้องเลือกว่า ‘ดี’ ที่เหมาะสมในบริบทของตัวเองคืออะไร หลายครั้งที่ความปรารถนาดีจากหน่วยงานภายนอกโดยไม่เข้าใจบริบทการจัดการศึกษาที่มีความเฉพาะในแต่ละแห่งอาจสร้างปัญหาให้แก่โรงเรียนนั้นได้ การออกแบบโรงเรียนไม่ได้ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ ครู และนักเรียน โดยมองไม่เห็นคนขับรถ รปภ. แม่บ้าน หรือจิตแพทย์ โจทย์คือการออกแบบโรงเรียนในอนาคตควรมีองค์ประกอบของบุคลากรอย่างไร” ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ให้ความเห็น

“กรณีโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา จังหวัดเพชรบุรี ที่มีการใช้หลักสูตรแบบ ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ ซึ่งกฤษฎีกาได้มีข้อวินิจฉัยว่าโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบนี้ได้ แต่พอหน่วยงานต้นสังกัดทราบว่าเด็กไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาเรียนปกติ เด็กมาเรียนในช่วงเย็นหรือค่ำแทน สุดท้ายผู้อำนวยการจึงโดนหมายศาล ‘รอยต่อด้านกฎหมาย’ จึงเป็นอีกรอยต่อหนึ่งที่สำคัญ มักถูกพูดถึงและยังไม่ได้รับการแก้ไข” เมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยกล่าวเสริม

รอยต่อที่สองที่เมธชนนท์นำเสนอเพิ่มคือ “รอยต่อทางช่วงวัย” เพราะเมื่อมองระบบการศึกษาผ่านสายตาของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้เรียนไม่ได้มีเพียงแค่เด็กและเยาวชนอีกต่อไป แต่เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่วัยทำงานและผู้สูงอายุ

“วันนี้ระบบการผลิตครูยังใช้ชุดความรู้แบบเดิมหรือศาสตร์การสอนเด็ก (Pedagogy) ระบบการผลิตครูมีความสามารถในการสอนจำกัดตัวเองอยู่ที่เด็กในวัยเรียน หากวันหนึ่งยุบโรงเรียน ครูเหล่านี้จะมีทักษะความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด กระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการศึกษาจึงไม่อาจสนใจแค่เฉพาะเด็กและเยาวชน แต่เป็นรอยต่อที่เกิดขึ้นกับคนในทุกช่วงวัย”

คำถามที่ยังต้องหาคำตอบ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพของจินตนาการใหม่เพื่อการศึกษาไร้รอยต่อที่คณะทำงาน SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ นำมานำเสนอในงาน Thailand Education Forum ครั้งที่ ๑ อย่างไรก็ตามข้อเสนอว่าด้วยการศึกษาไร้รอยต่อนั้นเป็นแค่เพียงกรอบในการทำความเข้าใจปัญหาการศึกษาไทย แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาในทุกเรื่อง ยังมีคำถามอีกมากที่เรายังต้องหาคำตอบ เช่น วุฒิรับรองและการประเมินที่เอื้อต่อการเรียนรู้ข้ามศาสตร์จะมีหน้าตาแบบไหน จะสร้างรูปแบบการเรียนและเงื่อนไขการจบเพื่อผู้เรียนหลากหลายได้อย่างไร อะไรคือสมรรถนะใหม่ที่บุคลากรการศึกษาต้องมี   

หรือแม้แต่คำถามเชิงระบบในภาพใหญ่อย่างการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณควรเป็นแบบไหน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องใน-นอกภาครัฐ การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ครู และผู้ปกครองต่อการกำหนดนโยบาย ตลอดจนโครงสร้างและกลไกภายในภาครัฐที่เอื้อต่อการประสานงานกับหน่วยงานนอกภาครัฐจะมีหน้าตาอย่างไร 

ทั้งหมดนี้คือประเด็นคำถามที่เราอยากชวนทุกท่านมาร่วมคิด ร่วมเสนอ ร่วมถอดบทเรียน ร่วมหาคำตอบ เพื่อถักทอเป็นผ้าผืนใหม่ที่ไร้รอยต่อให้กับการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

Array