ก่อการครู – Korkankru

การศึกษาไทย คลังความรู้ เยาวชนไทย โรงเรียนปล่อยแสง

การศึกษานั้นไม่ได้แย่ และมีความเป็นไปได้ใหม่

Nov 16, 2024 3 min

การศึกษานั้นไม่ได้แย่ และมีความเป็นไปได้ใหม่

Reading Time: 3 minutes

โครงการโรงเรียนปล่อยแสง พัฒนานิเวศการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ กลุ่มธุรกิจทีซีพี จัดงาน ‘มหกรรมการศึกษา นิเวศการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้’ ชวนผู้อำนวยการ ครู และนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมาร่วมกันส่งต่อพลังและจุดประกายว่า ความเป็นไปได้ใหม่ของการศึกษา จากความรู้ที่โครงการได้ทดลองพัฒนากับโรงเรียนมาเป็นเวลาสามปีคืออะไร หากอยากเห็นเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมาย โรงเรียนต้องจัดและปรับอย่างไร 

กิจกรรมภายในงานต้อนรับผู้คนในวงการการศึกษาและผู้ที่สนใจ มีทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ นิทรรศการรูปธรรมนิเวศการเรียนรู้จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เสวนา ‘นิเวศการเรียนรู้ เปลี่ยนอะไร อย่างไร’ ที่ชวนผู้อำนวยการ ครู และนักเรียน มาเล่าถึงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ของโรงเรียน มีการนำเสนอข้อค้นพบจากการวิจัยติดตามผลโครงการ ขมวดให้เห็นว่าโมเดลการพัฒนาโรงเรียนแบบโครงการโรงเรียนปล่อยแสงหน้าตาเป็นอย่างไร รวมถึงเสวนา ‘การขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ความเป็นไปได้ใหม่’ ที่ชวนภาคนโยบาย ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคสังคมมาร่วมกันพูดคุยว่าความเป็นไปได้ใหม่ของการศึกษาจะเป็นอย่างไรได้บ้าง รวมถึงพื้นที่เวิร์คชอปโดยทีมครูและนักเรียน

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงคืออะไร

เมื่อเข้าไปภายในงาน นิทรรศการภายในงานช่วยไขข้อสงสัยว่าโครงการโรงเรียนปล่อยแสงนั้นสนใจการเสริมพลังให้โรงเรียนได้พัฒนาทั้งระบบ  ตั้งแต่เป้าหมายของโรงเรียน พัฒนาบุคลากร พัฒนาสื่อและวิธีจัดการเรียนการสอน รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน โดยใช้แนวคิด ‘นิเวศการเรียนรู้’ เพื่อที่โรงเรียนจะได้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีความสุขและจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายกับนักเรียน ซึ่งกว่าโรงเรียนจะปล่อยแสงแบบนี้ได้โครงการใช้เวลา 3 ปี

ปีแรก ปรับกระบวนทัศน์ พัฒนาศักยภาพครู ผู้บริหาร ผ่านการอบรมโมดูลต่างๆ เพื่อปรับความคิดความเชื่อและเติมเครื่องมือใหม่ๆ ปีที่สอง นำความรู้ไปใช้ในโรงเรียน และปีที่สามเริ่มสร้างนิเวศการเรียนรู้ตามโจทย์ปัญหาของแต่ละโรงเรียน โดยผู้บริหารและครูร่วมกันออกแบบและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง  รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนมัธยมทำโครงการนิเวศการเรียนรู้สร้างสรรค์ในโรงเรียน และพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ในนักเรียนระดับประถมศึกษา

หน้าตาของความเป็นไปได้ใหม่ทางการศึกษา

ในงานค่อยๆ ชวนให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ของการศึกษา จาก เสวนาแรก ‘นิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนอะไร อย่างไร’ ที่เชิญ ครูแอน-ดร.นาฏฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครูตือ-สมเกียรติ แซ่เต็ง โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด และน้อง คอตอ-ธีรดล ชุมพล นักเรียนโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ตัวแทนจากโรงเรียนมาเล่าให้ฟังว่าการพัฒนานิเวศการเรียนรู้

ครูแอนดร.นาฏฤดี จิตรรังสรรค์ เล่าว่าโรงเรียนสุจิปุลิต้องการเป็นโรงเรียนที่สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายในทุกวัน ซึ่งนิเวศการเรียนรู้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายนี้เด่นชัดขึ้น

“นิเวศการเรียนรู้ คือการทำให้ทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง คนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดคือ ครู ทำอย่างไรที่จะปลุกพลังของเด็ก เจอสิ่งที่รัก และอยากทำเป็นอาชีพ ผู้บริหารผู้บริหารจะปลดปล่อยศักยภาพครู ทำให้เสียงของครูถูกรับฟังโดยผู้บริหารเป็นผู้ฟังที่ดี เปลี่ยนจากผู้สั่ง เป็นผู้ฟัง ฟังให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และเป็นนิเวศการเรียนรู้ที่เด็กเจ้าของการเรียนรู้ เพราะโดยปกติแล้วครูมักเป็นเจ้าของวิชาของตัวเอง แต่เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ จริงๆ แล้วครูต้องสนับสนุนให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้เพื่อให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายกับเขา”

อีกนิเวศหนึ่งคือผู้ปกครอง โรงเรียนมุ่งเน้นให้เด็กเห็นคุณค่าและจุดแข็งของตัวเอง เห็นคุณค่าของความแตกต่างที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน (Character Strength) จึงชวนผู้ปกครองและครูมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อรวมพลังกันช่วยเด็กๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกวัน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าการที่เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองทำให้เขาเรียนรู้ได้ดี ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

ซึ่งหากโรงเรียนสนใจพัฒนานิเวศการเรียนรู้ คำแนะนำของครูแอนคือ อย่ารอ ทำทันที ทำไปแก้ไป ทำไปพัฒนาไป และการมีพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียนนั้นสำคัญมาก เพื่อได้ทบทวนด้วยกันว่าฉันทำอะไรได้บ้าง พัฒนาอะไรได้อีก โดยสร้างวัฒนธรรมของการไว้วางใจ ผู้บริหารให้อิสระครูได้ออกแบบ เชื่อมั่นว่าครูทำได้ ผู้บริหารช่วยส่งเสริม สนับสนุน ทำให้คุณครูได้เรียนรู้

“หากอย่างเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทำให้ดู ทำด้วยกัน ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพราะเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ

ทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นไปได้ มีใจ ทำจริง มีส่วนร่วม มีองคาพยพที่สนับสนุน” ครูแอนทิ้งท้าย

ในขณะที่ครูตือ-สมเกียรติ แซ่เต็ง เล่าว่าโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม เป็นโรงเรียนในชุมชนขนาดเล็ก ในระยะเวลา 3 ปีที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะด้วยความเป็นโรงเรียนของชุมชน โรงเรียนจึงต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าอยากพัฒนาเด็กของชุมชนเป็นแบบไหน ซึ่งโครงการโรงเรียนปล่อยแสงและแนวคิดนิเวศการเรียนรู้ก็มาช่วยเติมพลังให้ห้องเรียน เสริมพลังให้ครูเปลี่ยนบทบาทไปเป็นโค้ช

รูปธรรมการสร้างนิเวศการเรียนรู้ตัวอย่างเช่น ‘กิจกรรมบ้านฉันมีดี’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนกลับไปหาสิ่งดีๆ ของครอบครัวตัวเองที่อยากนำมาสื่อสารให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่โรงเรียน อาจเป็นสูตรอาหาร หรืออื่นๆ ทว่ากิจกรรมนี้แฝงไปด้วยกลยุทธ์คือ นี่ไม่เพียงเป็นการนำสูตรอาหารมาสื่อสารต่อ แต่คือการให้นักเรียนกลับไปชวนกันทำ ชวนกันกินในครอบครัว เกิดการสื่อสารระหว่างเด็กและครอบครัว และสร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียนและชุมชนไปในตัว ทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น เห็นว่าการศึกษาไม่ได้แยกจากชุมชน เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่นำเรื่องนิเวศการเรียนรู้มาเชื่อมโยง รวมถึงทำให้เด็กมองเห็นว่าสิ่งที่เขามีอยู่คือสิ่งที่ดี แล้วเขาจะพัฒนาต่อยอดสิ่งเหล่านั้น สร้างมูลค่าให้มากขึ้นได้อย่างไร กิจกรรมเดียวแต่เชื่อมโยงได้หลายมิติ โดยครูทำเพียงแค่การมอบหมายโจทย์ 

ครูตือกล่าวย้ำว่าหากการรับนโยบายและขับเคลื่อนนั้นโรงเรียนมีอิสระในการออกแบบ ไม่ถูกจำกัด การออกแบบนิเวศการเรียนรู้ก็จะมีความสร้างสรรค์และมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

น้องคอตอ-ธีรดล ชุมพล ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีบทบาทในการร่วมเป็นนิเวศการเรียนรู้ เป็นตัวกลางชวนเพื่อนในโรงเรียนทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ซึ่งในกระบวนการนี้เองทำให้ตัวเองจากนักเรียนธรรมดา เมื่อทำกิจกรรมทำให้มีโอกาสเรียนนอกห้องเรียน ซึ่งนี่เป็นโอกาสได้ค้นหาตัวเอง ใช้ชีวิตในทางที่เลือกได้ 

หน้าตาของความเป็นไปได้ใหม่ทางการศึกษาค่อยๆ ชัดเจนขึ้นจากรูปธรรมที่ตัวแทนแต่ละโรงเรียนมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงการนำเสนอข้อค้นพบจากการวิจัย ติดตามประเมินผลโครงการ โดย อ.โจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ทีมติดตามประเมินผลโครงการ

อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงเป็น ‘โมเดลการพัฒนาโรงเรียนแบบองค์รวม (Holistic)’ ที่เสริมศักยภาพให้โรงเรียนได้พัฒนาตัวเองทั้ง 4 ด้าน คือ 1. พัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่เป็นผู้คน (People Environment) ได้แก่ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน มาร่วมกันเป็นผู้ก่อการ สร้างสรรค์การเรียนรู้ในโรงเรียน และผู้คนเหล่านี้เองที่ทำหน้าที่สร้างองค์ประกอบที่ 2. คือ พื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัย (Psychological Environment) ครูสร้างห้องเรียนที่ปลอดภัย บรรยากาศการทำงานระหว่างผู้บริหารและครูเปลี่ยนจากการบอกว่าครูควรทำอะไรเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้โครงสร้างในโรงเรียนปลดล็อค เกิดเป็นองค์ประกอบที่ 3. คือ นิเวศการเรียนรู้ที่เป็นโครงสร้าง (Social/ Structural Environment) จากเดิมที่บริหารแบบสั่งการเป็นการบริหารแบบแนวราบมากขึ้น มีคอร์ทีมครูหลายๆ กลุ่มร่วมบริหารโรงเรียน โรงเรียนเปลี่ยนเป็นองค์กรเรียนรู้ เกิดการปรับหลักสูตรหรือวิธีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และ 4. นิเวศที่เป็นความคิด ความเชื่อ ปรัชญาของโรงเรียน (Ideological Environment) ซึ่งเหล่านี้จะเป็นภาพฝันหรือเข็มทิศให้กับคนในโรงเรียนใช้ยึดเหนี่ยวร่วมกัน ซึ่ง 4 องค์ประกอบนี้จะร่วมกันทำหน้าที่เป็นนิเวศการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของเด็กๆ 

อย่างไรก็ตาม คำถามท้าทายคือหากแนวคิดนี้ทำให้โรงเรียนได้พัฒนานิเวศการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมซึ่งสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียนซึ่งแตกต่างหลากหลาย แนวคิดนี้จะขยายไปสู่วงกว้างได้อย่างไร

สร้างความร่วมมือ ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ทางการศึกษา

จึงนำมาสู่การเสวนาในหัวข้อต่อมาที่ต้องการหาคำตอบว่า ด้วยความพยายามแบบนี้ของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง สามารถเป็นทางเลือกอีกทางให้กับสังคมได้หรือไม่ ในชื่อเสวนา ‘ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย สู่ความเป็นไปได้ใหม่’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ คุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) และคุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการนั้นให้ความสำคัญกับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-being ของเด็ก รวมถึงความต้องการของผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงพยายามออกแบบให้เด็กเติบโตได้ในบริบทของโรงเรียนนั้นๆ รวมถึงการสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่น และสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากถามว่าทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาปล่อยแสง หัวใจคือเราอยากพาเด็กไปสู่อะไร ต้องมีทิศทางที่ชัดเจน สำหรับ กทม. จึงพยายามกำหนดทิศทาง ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครซึ่งจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษา ซึ่งในอนาคตเมื่อจบการศึกษานักเรียนต้องไปในโรงเรียนสังกัด สพฐ. จึงพยายามทำความเข้าใจนิเวศการเรียนรู้ของโรงเรียนที่เด็กจะไป จึงเน้นย้ำให้โรงเรียนสังกัด กทม. เตรียมพร้อมโดยให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ มีเวลาที่เหมาะสม มีวัฒนธรรมที่ให้เด็กคิดว่าเขาอยากทำอะไร โดยทดลองกับโรงเรียน 14 แห่งพัฒนานวัตกรรมลดเวลาเรียนเนื้อหาและมีเวลาให้นักเรียนทำโครงงานที่ตัวเองได้เป็นเจ้าของ และเปลี่ยนการวัดผลเป็นการประเมินฐานสมรรถนะ และสำหรับเด็กที่หลุดออกนอกระบบ และไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน กทม . จึงเพิ่มห้องเรียนพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เข้าใจแนวทางที่โรงเรียนจะสอน ทำให้โรงเรียนอุ่นขึ้น น่าไปมากขึ้น ร่วมกันดูแลไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ส่วนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งดูแลการเข้าสู่ระบบการศึกษา คุณภาพการศึกษา และทำงานเชิงวิชาการ หาข้อเสนอ รูปแบบ เพื่อนำเสนอนโยบาย ซึ่งพบว่ามีเด็กที่มีความเปราะบางในและนอกระบบการศึกษาจำนวนมาก จึงมีแนวคิดจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ การศึกษายืดหยุ่น เพื่อรองรับนักเรียนกลุ่มนี้ ทำให้ข้อจำกัดในการเรียนรู้หายไป 

ในด้านของคุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคเอกชนซึ่งเป็นปลายทาง เป็นผู้ใช้บริการผู้ที่จบการศึกษา ซึ่งได้มีส่วนร่วมทำงานด้านการศึกษามาเป็นเวลานาน ยังเน้นย้ำว่าแม้ปัญหาด้านการศึกษาดูเหมือนเยอะไปเรื่อยๆ แต่หากเรามีทรัพยากรและมายเซ็ตที่ใช่ เราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ได้ และการศึกษาบ้านเราไม่ได้แย่ หากเราสามารถทำงานร่วมกันได้ และเด็กจะสนใจการศึกษาหากเราทำให้มันใกล้ตัวเขามาก

วงเสวนานี้ชวนตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาไทยยืดหยุ่นขึ้น ความซับซ้อนในการเชื่อมโยงองคาพยพ วางระบบที่การศึกษาเรามีความสามารถในการปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้มากขึ้น ท่ามกลางระบบการศึกษาที่มีหลายแพลตฟอร์มซึ่งเด็กมีเส้นทางการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน แต่จะบาลานซ์ หาตรงกลางระหว่างวุฒิบัตร ใบประกาศการสำเร็จการศึกษา หรือระบบการประเมินผล วุฒิบัตรของเด็กแต่ละคนจำเป็นต้องเหมือนกันหรือไม่ ในเชิงนโยบายจะมองอย่างไรต่อ

และจากการทำงานโครงการโรงเรียนปล่อยแสงมา 3 ปี ภายใต้แนวคิดนิเวศการเรียนรู้ สร้างโรงเรียนที่มีความสุขและมีความหมาย จากประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาทุกฝ่ายได้ข้อคิดที่น่าสนใจคือ เป้าหมายปลายทาง การศึกษาในอนาคต เป็นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงทักษะในอนาคต เทคโนโลยี ข้อจำกัดของครอบครัว ฯลฯ เพื่อให้เด็กเติบโตและพัฒนา และในเชิงนโยบายนั้น อยากเห็นนโยบาย การปรับปรุงหลักสูตร ที่กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตของผู้คนในสังคม ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ท่ามกลางสิ่งที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาทำอย่างไรให้มีนโยบายที่คนมามีส่วนร่วม สามารถออกแบบระบบและมาตรฐานเกี่ยวกับการศึกษาที่หลากหลายได้

ชมงานย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1EPkhnQkqN/

ติดตามโครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้ที่ FB เพจ โรงเรียนปล่อยแสง

#โรงเรียนปล่อยแสง #TCP #tcpปลุกความรู้สู่โอกาส #คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

Array