ก่อการครู – Korkankru

Reading Time: < 1 minute “การศึกษาไร้รอยต่อ” ธงนำในการฉายภาพรวมของปัญหาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างจินตนาการใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อนำองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ มาร่วมกันปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ Nov 18, 2024 < 1 min

งานวิจัยใหม่ สู่การศึกษาไร้รอยต่อ

Reading Time: < 1 minute

“การศึกษาไร้รอยต่อ” เป็นคำใหม่ ศัพท์ใหม่ ที่โครงการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นธงนำในการฉายภาพรวมของปัญหาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างจินตนาการใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อนำองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ มาร่วมกันปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ

ผู้มีส่วนสำคัญหนึ่ง คือหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมทางด้านการศึกษาและการเรียนรู้ 

ขณะที่ SAT เองก็พร้อมจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาระบบ กลไก และแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ” ในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานและค้นหาแนวทางการพัฒนากรอบการวิจัยที่จะช่วยสนับสนุนการศึกษาไร้รอยต่อ

เราได้อะไรจากงานสัมมนาครั้งนี้บ้าง มาติดตามกันดู

จินตนาการใหม่ การศึกษาไร้รอยต่อ

ก่อนจะชวนไปดูว่างานวิจัยต่างๆ จะเข้ามามีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง ขอทบทวนกันอีกทีว่าแนวคิดการศึกษาไร้รอยต่อ มองเห็นรอยต่ออะไรในระบบการศึกษาไทย

  1. รอยต่อของในระบบและนอกระบบ เมื่อการเรียนในระบบไม่อาจตอบโจทย์เด็กได้ทุกกลุ่ม ขณะที่การศึกษานอกระบบก็มีบทบาทมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้รับรองประสบการณ์และคุณวุฒิวิชาชีพได้
  2. รอยต่อของความหลากหลาย ระบบการศึกษาเรายังไม่ตอบรับสังคมพหุวัฒนธรรม มีเด็กชายชอบ เด็กไร้สัญชาติที่ไม่ได้รับการดูแล ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขาจะเป็นแรงงานสำคัญในอนาคต 
  3. รอยต่อของศาสตร์ความรู้ โลกซับซ้อนขึ้น จำเป็นที่ผู้เรียนต้องอาศัยหลายศาสตร์เพื่อเข้าใจและแก้ปัญหา แต่การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังแยกวิชาและคณะ 
  4. รอยต่อของผู้เล่นในภาคการศึกษา รัฐยังเป็นผู้เล่นหลักในการจัดการศึกษาในระบบ ขณะที่ผู้สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ไม่ได้อยู่ในภาครัฐ และต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไม้ได้รับการจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนหรือการสร้างระบบที่เกิดการทำงานร่วมกันเป็นภาคี เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

การอุดหรือเชื่อมรอยต่อที่ทุกคนมองเห็นร่วมกันนี้ ยังเป็นกรอบกว้างๆ ซึ่งยังต้องอาศัยการความรู้อีกมาก มาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง 

ดังนั้น งานวิจัยซึ่งเป็นวิธีการในการแสวงหาและสร้างความรู้ โดยเฉพาะงานวิจัยที่ออกแบบมาอย่างมีความหมายและมีคุณค่า จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ 

คำถามต่อไปก็คือ แล้วการวิจัยของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีส่วนช่วยสร้างองค์ความรู้เพื่อร่วมขับเคลื่อน “การศึกษาไร้รอยต่อ” ได้อย่างไร

รู้จักหน่วยงานในระบบการวิจัย

ตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมนำเสนอแนวทางและบทเรียนการบริหารจัดการทุนวิจัย (FF) ในงานสัมมนาวันนี้มี ๔ หน่วยงาน คือสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

สำนักเลขาธิการคุรุสภา เคยจัดทำงานวิจัยในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เช่น โครงการสร้างระบบการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคตที่จำเป็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา โครงการแนวทางการยกระดับคุณภาพในการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และการส่งเสริมพัฒนาอาชีวศึกษา และยกระดับวิสาหกิจชุมชน เช่น เครื่องยนต์ นวัตกรรม อาหาร ทักษะ เทคโนโลยี เป็นต้น

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มีงานวิจัยที่เคยทำในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เช่น การยกระดับคุณภาพและเสริมสร้างสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน การบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาค การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นต้น

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีพันธกิจในการทำแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการวิจัยทิศทางการศึกษาของชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานเรื่องมาตรฐานอาชีพ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เรื่องของผู้ปกครองที่ดูแลเด็ก

งานวิจัยกับแนวคิดการศึกษาไร้รอยต่อ

คราวนี้มาไล่ดูรอยต่อทั้งสี่ของการศึกษา ว่ามีการเสนอแนะแนวทางการวิจัยจากหน่วยงานทั้งสี่ในงานสัมมนาครั้งนี้อย่างไรบ้าง

รอยต่อของในระบบและนอกระบบ งานวิจัยในส่วนนี้ควรตอบโจทย์เรื่องการรองรับผู้เรียนที่เคลื่อนย้ายไปมาข้ามเส้น ระหว่างในและนอกห้องเรียน เรื่องมาตรฐานวิชาชีพ และสมรรถนะทางวิชาชีพ โดยตัวอย่างงานวิจัยที่ สป.ศธ. ทำอยู่ เช่น การพัฒนาระบบการติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (home school) ขณะที่ สกศ. ยังมองประเด็นเรื่อง Lifelong Learning Credit Bank โดยมีหัวข้องานวิจัยที่เคยจัดทำเกี่ยวข้องกับธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อสะสมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเรื่องกรอบคุณวุฒิ ที่มีปัญหาด้านมาตรฐานข้อมูล ความเชื่อมั่นและยอมรับระหว่างสถาบัน รวมทั้งเรื่องทักษะแห่งอนาคต (future skills)

รอยต่อของความหลากหลาย  งานวิจัยส่วนนี้ควรตอบโจทย์เรื่องให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ อยู่ร่วมและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง เรื่องของ Education for All และนิเวศการเรียนรู้  โดยตัวอย่างงานวิจัยที่ สป.ศธ. กำลังทำอยู่ เช่น รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชนประเภทการศึกษาสงเคราะห์  

รอยต่อของศาสตร์ความรู้ งานวิจัยส่วนนี้ควรตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาด้วยตนเอง มีความยืดหยุ่น เน้นสมรรถนะมากกว่าความรู้ และการร่วมมือพัฒนา  ตัวอย่างงานวิจัยที่ สป.ศธ. ทำอยู่ เช่น การพัฒนาศักยภาพผู้เรียนด้านจิตสาธารณะโดยใช้กระบวนการลูกเสือสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนภาษาจีนแบบบูรนณาการของโรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษา 

รอยต่อของผู้เล่นในภาคการศึกษา งานวิจัยส่วนนี้ควรตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การทำงานร่วมร่วมกันของเครือข่าย การดำเนินการแบบพหุศาสตร์เน้นความเป็นองค์รวม การทำงานเชิงระบบที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มและทุกระดับ  ตัวอย่างงานวิจัยของ สป.ศธ. เช่น การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กที่บกพร่องทางด้านการเรียนรู้ การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะพื้นฐานสำหรับการเป็นผู้ประกอบการของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดเลย เป็นต้น

การสัมมนาครั้งนี้ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างโลกวิจัยในบริบทของมหาวิทยาลัยกับราชการพอสมควร โจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้การขับเคลื่อนงานในภาคปฏิบัติการ มีส่วนเติมเต็มกันและกันมากขึ้น

ก้าวต่อไปของงานวิจัยเพื่อการศึกษาไร้รอยต่อ

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หัวหน้าคณะทำงานทางวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ เสริมว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือการสร้างเครือข่ายนักวิชาการที่เป็นทั้งครู นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาที่น่าสนใจ  โดยให้ครูที่อยู่ท่ามกลางปัญหา มองเห็นปัญหา แสวงหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วยการทำงานวิจัย แม้ว่าครูจะไม่เก่งในการเขียนเล่มรายงานวิจัย แต่ถ้าหากเราสามารถปลดล็อกได้ก็จะทำให้ครูเกิดกำลังใจในการสร้างความรู้ 

ท้ายที่สุด รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ความเห็นว่างานด้านการศึกษาและการเรียนรู้เป็นการทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างทำไม่ได้ ที่สำคัญคือการสร้างนักวิชาการสายการศึกษาพันธุ์ใหม่ และการสร้างให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยเชิงระบบ โดยการศึกษาไร้รอยต่อจะเป็นกรอบคิดที่นักวิจัยและนักวิชาการสามารถนำไปขยายผลต่อ 

เพื่อประกอบร่างจินตนาการใหม่ให้กลายเป็นจริง

เริ่มจากคำถามว่า หากเด็กคนหนึ่งเกิดมาแล้วต้องการเรียนรู้ เขาต้องพบกับอุปสรรคอะไร 

“รอยต่อ” ขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้เรียนหลุดร่วงออกจากระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทยนั้นจะลดลงได้อย่างไร

งานวิจัยที่มีคุณค่าและความหมาย จะเป็นกลไกสำคัญของการแสวงหาคำตอบ ซึ่งทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน 

Array