นโยบายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่จุดหมาย
Reading Time: 3 minutes‘มหกรรมการศึกษา นิเวศการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้’ ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ความเป็นไปได้ใหม่” ชวนสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาไทย และการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี ที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนปล่อยแสง
การพัฒนาโรงเรียนแบบองค์รวม (Holistic)
รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี เกริ่นถึงเสวนานี้ว่า จากการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโรงเรียนพบความเป็นไปได้ใหม่ของนิเวศการเรียนรู้ คือการพัฒนาโรงเรียนแบบองค์รวม (Holistic) ที่เสริมศักยภาพให้โรงเรียนได้พัฒนาตัวเองทั้ง 4 ด้าน คือ การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่เป็นผู้คน (People Environment) ได้แก่ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน มาร่วมกันเป็นผู้ก่อการ สร้างสรรค์การเรียนรู้ในโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัย (Psychological Environment) การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่เป็นโครงสร้าง (Social/ Structural Environment) จากเดิมที่บริหารแบบสั่งการเป็นการบริหารแบบแนวราบมากขึ้น มีทีมครูหลายๆ กลุ่มร่วมบริหารโรงเรียน โรงเรียนเปลี่ยนเป็นองค์กรเรียนรู้ เกิดการปรับหลักสูตรหรือวิธีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และ และการพัฒนานิเวศที่เป็นความคิด ความเชื่อ ปรัชญาของโรงเรียน (Ideological Environment) เป็นเข็มทิศให้คนในโรงเรียนใช้ยึดเหนี่ยวร่วมกัน ซึ่ง 4 องค์ประกอบนี้จะร่วมกันทำหน้าที่เป็นนิเวศการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของเด็กๆ
ท้าทายแนวคิดเพื่อร่วมหาความเป็นไปได้ใหม่
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าปัจจุบันทางกระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนโครงการหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาเท่าเทียม การเสนอทางเลือกสมัครใจครูประถมศึกษาเลื่อนชั้นตามนักเรียน การร่วมมือกับสวทช. จัดทำหลักสูตรด้าน AI ไปจนถึงการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต เพื่อสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความหลากหลาย พร้อมกับสะท้อนแนวคิดในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ
“ในการจัดการศึกษามันแตกต่างหลากหลายมาก สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะทำได้ในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา คือเราต้องออกแบบให้ต้นไม้ทุกต้นในระบบนิเวศมันโตได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็ก ให้เหมาะสมตามบริบทในภูมิภาคนั้น”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครปรับหลักสูตรให้เด็กปฐมวัยได้เล่นมากขึ้น เริ่มใช้ EF (Executive Function) วัดผล และเปลี่ยน 34 โรงเรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษาเป็นโรงเรียนฐานสมรรรถนะ ลดชั่วโมงเรียนให้เด็กมีเวลาทำโครงงานของตัวเองเพื่อให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ นอกจากการนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ดำเนินโครงการห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจและปฏิบัติในแนวทางเดียวกับโรงเรียน เปิด After School ขยายเวลาให้ครูและนักเรียนสามารถอยู่ได้ถึง 17.00-18.00 น. แล้วแต่นโยบายของโรงเรียน และเปิด Saturday School ในวันเสาร์ร่วมกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ
“คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาของเราปล่อยแสง ผมคิดว่าเราต้องมีหลักคิดหรือทิศทางที่ชัดเจน สิ่งที่กรุงเทพมหานครพยายามทำคือเราอยากให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง หมายถึงเขาต้องมีเวลาที่เหมาะสม ต้องมีโปรเจกต์ที่เขาได้คิดว่าเขาอยากจะทำอะไร ต้องมีวัฒนธรรมที่คุณครูอยากที่จะปล่อยให้เด็กปล่อยแสง หรือให้เขาได้คิดสิ่งที่เขาต้องการทำ ซึ่งจะทำตรงนี้ได้ ผมว่าต้องพาองคาพยพหลายๆ อย่างไปด้วยกัน ผู้เรียนปล่อยแสงไม่ได้ ถ้าเราทำให้คุณครูหรือ ผอ. โรงเรียนปล่อยแสงไม่ได้ ผอ.โรงเรียนจะปล่อยแสงไม่ได้ ถ้าสำนักการศึกษาปล่อยแสงไม่ได้ สำนักการศึกษาปล่อยแสงไม่ได้ ถ้า กทม. ปล่อยแสงไม่ได้ กทม. ปล่อยแสงไม่ได้ ถ้ากระทรวงฯ ปล่อยแสงไม่ได้ ผมว่าการร่วมไม้ร่วมมือสำคัญที่สุด ถ้าวันนี้เรายังมีความไม่ไว้วางใจกัน สุดท้ายผู้เรียนก็จะไม่ได้สร้างการเรียนรู้เป็นของตัวเองอย่างที่เราอยากได้”
ช่วงท้ายศานนท์ย้ำถึงการกระจายอำนาจทางศึกษา โดยให้ข้อมูลว่าปีหน้ากรุงเทพมหานครจะจัดให้มีการการทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษา (Participatory Budgeting) ให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารทรัพยากร และทิ้งท้ายถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีว่าควรจะต้องแยกระหว่างทักษะกับความรู้ และเน้นไปที่การฝึกทักษะที่จำเป็นที่จะอยู่ร่วมกับดิจิทัล เนื่องจากไม่ช้าก็เร็วเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิต
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกริ่นถึงบทบาทของ กสศ. ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้มีโรงเรียนในสังกัด อาศัยการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ โดยมีโจทย์ในการทำงาน ได้แก่ การดูแลการเข้าสู่ระบบการศึกษา ดูแลคุณภาพการศึกษา และการทำงานในเชิงวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
พัฒนะพงษ์ให้ข้อมูลว่าจากข้อมูลที่เก็บร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกสศ. พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มเด็กเปราะบางที่อยู่ในระบบการศึกษาอยู่ 2.8 ล้านคน และมีกลุ่มเด็กเปราะบางอายุ 3-18 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะดึงกลับสู่ระบบการศึกษาอีก 1.02 ล้านคน โดยพัฒนะพงษ์ได้ยกตัวอย่างการทำงานของกสศ. ในการดึงเด็กกลับเข้าระบบ เป็นเด็กที่มีรายชื่อใน 1.02 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบ แต่ในที่สุดได้หาทางออกด้วยการจัดการศึกษาหนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบและโรงเรียนมือถือ และมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ กสศ. เข้าไปทำงานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น กระทรวง พม. เพื่อดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง หรือช่วยเหลือนักเรียนที่จบ ม.3 เรื่องเรียนต่อและการเทียบโอนวุฒิ
“ผมเข้าใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยกำลังทำงานด้วยกันในการทำงานเรื่องธนาคารหน่วยกิตในการเทียบโอน พยายามทำให้การศึกษามีทั้งความยืดหยุ่นและมาตรฐานไปพร้อมกัน เป็นภาพที่เราเชื่อว่ามันจะทำให้คนของเรามีศักยภาพในการดูแลตัวเองและทำมาหากิน โจทย์ที่อยากตั้งคำถามก็คือว่า ขณะนี้ทำอย่างไรที่เราจะทำให้ข้อจำกัดของการเข้าถึงการเรียนรู้มันหายไป ภาพที่อยากเห็นคือทำอย่างไรกำแพงสู่การเรียนรู้จะไม่มีอยู่ ทั้งในแง่ของมิติความยากจน มิติสุขภาพ และมิติสังคม”
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) กล่าวว่าแม้ภาคเอกชนจะถือเป็นปลายทางของการศึกษารับผู้จบการศึกษาเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่ที่มาที่ทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษา มี 2 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาบุคลากรที่หาได้ยาก ทักษะความสามารถไม่ตรงความต้องการและใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำงานได้จริง อีกประเด็นคือเนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ มีสาขาในต่างประเทศจึงมีโอกาสสัมผัสและเห็นความแตกต่างของเด็กจบใหม่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งด็กบ้านเราสามารถพัฒนาได้มากขึ้นอีก จึงเป็นที่มาถึงการเข้ามาทำงานเรื่องการศึกษา โดยเริ่มต้นจากระดับอุดมศึกษา-ระดับอาชีวะที่จะเข้ามาทำงานในภาคธุรกิจ กระทั่งเห็นปัญหาชัดขึ้นจึงร่วมทำงานกับระทรวงศึกษาธิการอยู่หลายโครงการ ตั้งแต่โรงเรียนประชารัฐ โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
“ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษา ผมคิดว่ามันเหมือนการทำธุรกิจ ปัญหามันไม่เคยเล็กลงเลย แต่ถ้าเรามีทรัพยากรที่ใช่ เรามีมายเซ็ตที่ใช่ เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ได้ มันมีบางอย่างที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงทางสถาบันการศึกษาทั้งหลาย จะมาช่วยกันเพื่อว่าสุดท้ายแล้วเราจะเตรียมอนาคตของเด็กไทยให้เขามีอนาคตที่ดีกว่าเดิม”
ผมคิดว่าปัญหาของการทำงานร่วมกันก็คือเอาจุดตั้งต้นให้ตรงกันก่อน เท่าที่เราพูดคุย ผมว่ามันตรงกัน เราต้องการให้เด็กไทยเรามีโอกาสในอนาคตมากขึ้น
การศึกษาไทย จะมีอนาคตหรือไม่
ปิดท้ายการเสวนาด้วยการสรุปจาก รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี กล่าวว่าจากบทเรียนการทำงานเข้มข้น 3 ปีของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง โดยมีเป้าหมายในการชวนโรงเรียนออกแบบนิเวศการเรียนรู้ สร้างโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับเด็ก ผนวกกับบทเรียนการทำงานและความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาทุกท่านจากทุกภาคส่วน ทำให้ได้ข้อคิดที่น่าสนใจ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงทักษะในอนาคต คำนึงถึงเทคโนโลยี คำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดของครอบครัว ไปจนถึงพัฒนาการตามช่วงวัย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะพัฒนาศักยภาพได้
ประเด็นที่ 2 ในเชิงนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการอาจจะมีบทบาทที่สำคัญมากในการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตของผู้คนในสังคม โดยให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายที่สำเร็จรูป แต่เป็นนโยบายในเชิงไกด์ไลน์ และกระทรวงศึกษาธิการควรจะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ
“กระทรวงอาจทำหน้าที่คัดท้ายเรือ ทำให้น้อย แต่ให้มีส่วนร่วมให้เยอะ ไม่งั้นกระทรวงจะใช้พลังงานไปตอบคำถามกับสิ่งที่มันเปลี่ยนตลอดเวลา ผมว่าน่าจะค้นหาวิธีการออกนโยบายที่จะบอกผู้คนว่าเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ มีความหลากหลาย มีความยืดหยุ่นและสามารถที่จะออกแบบระบบที่มีหลากหลายมาตรฐาน เพื่อรองรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ผมคิดว่าเราจะขยับไปข้างหน้าได้เยอะมาก”
ชมงานย้อนหลังได้ที่ > https://www.facebook.com/share/v/1EPkhnQkqN/
ติดตามโครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้ที่ FB เพจ โรงเรียนปล่อยแสง
#โรงเรียนปล่อยแสง #TCP #tcpปลุกความรู้สู่โอกาส #คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์