เชื่อมคน เชื่อมการเรียนรู้ สู่การศึกษาไร้รอยต่อ
Reading Time: 2 minutes“ในประเทศไทยมีคนที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมาก มีผู้ที่พยายามทำศูนย์การเรียนรู้โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีองค์กรที่พยายามช่วยเหลือเด็กให้ได้เรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ โดยที่ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกันกับการศึกษาในระบบโดยยังไม่ผนวกเข้ามาเป็นองคาพยพที่สำคัญในหลักสูตร มีส่วนราชการจำนวนไม่น้อยที่ทำเรื่องนี้โดยตรงและพยายามทำงานในเชิงระบบ รอยต่อของผู้เกี่ยวข้องนี้เองคือสิ่งที่เชิญทุกคนมาร่วมในวันนี้” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หัวหน้าคณะทำงานทางวิชาการ SATการศึกษาและการเรียนรู้ กล่าวเปิดงานสัมมนา
เมื่อรัฐที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการกำหนดวาระ จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ขณะที่ผู้สร้างนวัตกรรมทางการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเน้นทำงานในพื้นที่เล็กๆ ของตนเอง เช่น การวิจัยในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เราจะช่วยกันส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนได้อย่างไร ตอนนี้ปัญหาที่ติดขัดอยู่คือจุดไหน นี่คือคำถามสำคัญที่จะเราจะต้องหาคำตอบไปพร้อมกัน
ใครจะเชื่อมเด็กกลับมา
เมื่อเด็กต้องออกจากโรงเรียนและการเรียนในระบบ ไม่ได้แปลว่าเด็กต้องตัดขาดจากการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ภายใต้มาตรา 12 ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลายแห่งทั่วประเทศเกิดขึ้นเพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ พยายามเชื่อม พยายามยึดโยงพวกเขาให้เข้าถึงการเรียนรู้ ได้รับการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขแบบไหนหรือรูปแบบใดก็ตาม
“เราเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครในชุมชนคลองเตย เราพบว่าเด็กที่นี่ไม่สามารถเรียนเพียงอย่างเดียวได้ เมื่อเด็กอายุเกิน 15 ปี จะถูกเรียกร้องจากครอบครัวและชุมชนให้ทำงานหาเงิน เลี้ยงตัวเองได้ มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้พวกเขาสามารถหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา”
ศิริพร พรมวงศ์ กลุ่มคลองเตยดีจัง เล่าถึงการทำงานในชุมชนของตนเองว่าจากการเก็บข้อมูลสถิติเด็กกว่า 2 หมื่นคนจาก 46 ชุมชนทั่วคลองเตย ไม่มีเด็กในความดูแลของเธอคนไหนจบปริญญาตรี และความท้าทายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่นี่คือ “การไม่มีความฝันทางการศึกษา” เด็กๆ ฝันเพียงแค่ว่าจะเรียนพอให้ได้วุฒิ ป.6 หรือ ม.3 เพื่อให้ไปสมัครเป็นยาม หรืองานรับจ้างง่ายๆ อื่นๆ ที่พอมีเงินเดือน
เธอจึงเริ่มทำ “Free Form School” มีการร่วมกับกลุ่มประธานชุมชนสร้างกระบวนการค้นหา คัดกรองความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา หาเหตุผลเป็นรายบุคคลเพื่อนำมาออกแบบเป็นแผนการช่วยเหลือเฉพาะของแต่ละคน (individual support) สร้างรูปแบบการเรียนรู้ขึ้นมา 3 รูปแบบ ทั้งการให้เด็กบันทึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง การทำงานซึ่งเทียบมาจากตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง 8 กลุ่มสาระ และโครงงานเพื่อจบการศึกษาที่จะให้เด็กๆ ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิต อาชีพที่อยากทำ แล้วทางคลองเตยดีจังก็จะจับคู่ครูพี่เลี้ยงมาดูแล รวมถึงพยายามหาทุนสนับสนุนให้
ในประเทศไทยยังมีเด็กๆ ที่เผชิญกับเงื่อนไขชีวิตที่บีบคั้นแบบนี้อีกมากกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ต่างบริบท ต่างเรื่องราว ต่างเงื่อนไข แต่สิ่งที่เหมือนกันคือพวกเขายังต้องการโอกาสทางการเรียนรู้ นำไปสู่คำถามต่อไปว่าหากจะเข้าหา ช่วยเหลือ ดูแลเด็กเหล่านี้ ศูนย์การเรียนทั่วประเทศจะต้องเป็นแบบไหน
“ความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง (self-esteem) ของเด็กเหล่านี้ถูกทำลาย แม้ว่าเด็กจะหลุดออกจากระบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนรู้ไม่ใช่สถานที่ที่จะทำลายความฝันและความหวังของเด็กซ้ำอีกครั้ง ยังเป็นพื้นที่ที่ให้ความหวัง และให้โอกาสให้เด็กเดินกลับมาได้”
เรียนนอกระบบจะเทียบโอนได้จริงไหม
“เด็กที่สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยทำงานด้วยคือเด็กสถานพินิจและการศึกษานอกระบบ เราทำหน้าที่หน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อรับวุฒิ ในมาตรา 15 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 กำหนดให้การศึกษาในประเทศปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แต่ทำอย่างไรให้ผู้เรียนที่เรียนตามอัธยาศัยสามารถเทียบโอนการเรียนรู้กับการศึกษาในระบบในรูปแบบหน่วยกิต คุณวุฒิหรือหลักสูตรได้” เมธชนนท์ ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ชวนเปิดประเด็นเรื่องกฎหมายและตัวชี้วัดการเทียบโอน
ปัจจุบันกลไกกฎหมายเปิดช่องทางให้หน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อรับวุฒิเทียบโอนได้ แต่ในทางปฏิบัติยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะหลักการการศึกษาตามอัธยาศัยและนอกระบบถูกเขียนไว้อย่างหลวมๆ มีนิยามที่กว้าง แล้วแต่ผู้รับผิดชอบหน้างานจะตัดสิน ยังมีคำถามจากศึกษานิเทศก์ว่า “ใบคุณวุฒิวิชาชีพ” เทียบเท่ากับมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ไหน สะท้อนให้เห็นว่าการเทียบโอนเชื่อมโยงการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยไปสู่การศึกษาในระบบนั้นยังเต็มไปด้วยรอยต่อและความไม่เข้าใจ
“ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยทำให้โรงเรียนปิดตัวหายไปทุกปี การทำงานกับศูนย์การเรียนซึ่งใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เผชิญกับตัวชี้วัดมากมาย เราอาจต้องตัดตัวชี้วัดที่ไม่จำเป็นออก เปิดวิชาใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น วิชารู้เท่าทันพนันออนไลน์ แล้วนำไปบูรณาการกับรายวิชาอื่นอย่างวิชาทักษะทางการเงิน (financial literacy) โดยออกแบบเป็นให้อยู่ในรูปแบบรายวิชา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำคัญคือต้องสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ เป็นการเชื่อมระหว่างความเป็นจริงกับโลกเสมือนทางการศึกษา”
ขณะเดียวกันเมธชนนท์ยังชี้ถึงอีกหนึ่งปัญหาจากตัวโครงสร้างกฎหมายทางการศึกษาเอง พ.ร.บ.การศึกษาหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ร.บ.อาชีวศึกษา และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ล้วนแล้วแต่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเท่ากันหมด ส่งผลให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกฎหมายแม่บทได้จริงๆ เช่นกรณีที่โรงเรียนเอกชนไทยทำธนาคารหน่วยกิตเองยังถือว่าขัดกับกฎหมายบางฉบับ
“เราเห็นภาวการณ์ใช้กฎหมายล้นเกิน มีการนำนักกฎหมายมาบัญญัตินิยามทางการศึกษา ออกกติกาข้อบังคับในการจัดการเรียนรู้ ส่วนนักวิชาการและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องทำงานตามนักกฎหมายเหล่านี้ ในอนาคตอาจมีการนำร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติกลับมาพิจารณา รวมทั้งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาฉบับอื่นๆ เรื่องที่น่าจับตามองคือในร่างกฎหมายใหม่จะมีใจความสำคัญที่สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ตามาตรา 12 อีกหรือไม่ อย่างไร” ณิชา พิทยาพงศกร คณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ เสริม
การศึกษาเป็นหน้าที่ใคร
ใครควรเป็นคนกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ ผู้เรียนออกแบบเอง หรือให้เป็นหน้าที่ของครูและหลักสูตร คำถามนี้ถูกถามขึ้นและมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป ผู้เข้าร่วมบางท่านมองว่าการเรียนรู้ต้องตอบโจทย์เป้าหมายของผู้เรียน ผู้เรียนจึงออกแบบเองได้ดีที่สุด หากครูผู้สอนก็ขยับมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (facilitator) น่าจะทำให้การเรียนรู้ประสบความสำเร็จมากกว่า
บางท่านให้ความเห็นว่าการเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับวัยและความพร้อมของเด็ก หากเป็นเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย การมีครูผู้สอนออกแบบให้อาจจะยังเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเด็กโตขึ้นจึงค่อยๆ ปรับสัดส่วนการออกแบบร่วม ในขณะที่บางท่านมองว่าศาสตร์ความรู้เฉพาะทางหลายอย่าง อย่างไรก็ยังต้องมีคนสอน เรียนจากผู้รู้ ดูผู้ชำนาญปฏิบัติจริง เราอาจไม่สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้ตัวเองได้ทั้งหมด
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แต่อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่การเรียนรู้นอกระบบการศึกษาได้รับความสนใจมากขึ้น การเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียน หรือต้องอ้างอิงหลักสูตรแกนกลางตลอดเวลาอย่างในอดีต นำไปสู่การเกิดขึ้นของ “ช่างเชื่อม” ที่พาคนนอกวงการการศึกษามาร่วมสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม
Saturday School หรือ มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยด้วยความเชื่อว่าทุกคนในสังคมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ ผ่านการร่วมงานกับกรุงเทพมหานครเปิดวิชานอกหลักสูตรตามความสนใจของนักเรียน เรียนทุกวันเสาร์เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ เช่น วิชา หุ่นยนต์ เต้นโคฟเวอร์ อีสปอร์ต ทำบอร์ดเกม และอื่นๆ อีกมากมาย
งานเหล่านี้ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครและครูอาสา โดยมีทางมูลนิธิคอยจัดอบรมเสริมทักษะที่จำเป็นในการทำงานให้กับอาสาสมัคร เช่น อบรมแนวทางออกแบบการเรียนรู้และสร้างห้องเรียนเชิงบวก การกำกับติดตามโครงการและผลลัพธ์ของนักเรียน เพื่อควบคุมคุณภาพการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้รับจากหลักสูตรและทีมงานอาสา
อีกองค์กรหนึ่งที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในงานสัมมนาครั้งนี้คือ Mappa องค์กรที่ทำงานกับพ่อแม่ เด็กเยาวชนและครอบครัว เน้นทำงานกับคนวัยผู้ใหญ่เพื่อสร้างคนรุ่นต่อไปให้มีคุณภาพ ขับเคลื่อนประเด็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) โดยเริ่มต้นที่ครอบครัว
“Mappa เชื่อว่าถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกดี เด็กก็จะดีไปด้วย มีพ่อแม่จำนวนมากที่ลูกไม่สามารถเข้ากับการศึกษาในระบบได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิการ (neurodiversity) จึงต้องออกมาจัดการศึกษาแบบ home school เอง การทำงานกับพ่อแม่กลุ่มนี้จึงมีส่วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ได้มาก”
มิรา เวฬุภาค จาก Mappa เล่าถึงความท้าทายในการทำงานว่าคือการไม่สามารถเชื่อมโยงหรือขอการสนับสนุนการทำงานจากกระทรวงใดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซ้ำร้ายยังได้รับแต่คำถามกลับมาว่า “พ่อแม่เกี่ยวอะไรกับระบบการศึกษา”
ปัจจุบันมีองค์กรทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่จากภาคประชาสังคมและภาคเอกชนลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ เชื่อมคนในวงกว้างเข้ามาช่วยกันสร้างการเรียนรู้ พวกเขาทำงานได้อย่างดีเยี่ยม สร้างปรากฏกรณ์ทางสังคมมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อจะดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านปัจจัยหรือนโยบาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญ
เชื่อมคน เชื่อมการเรียนรู้
ตลอดทั้งวัน เราได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกับ “ช่างเชื่อม” ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคนที่ทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษาโดยตรง คนที่พยายามสมานรอยต่อในระบบโครงสร้าง ไปจนถึงคนที่เชื่อมผู้คนที่หลากหลายมาช่วยกันสร้างการเรียนรู้
ทุกคนเน้นย้ำเราว่ารอยต่อในระบบการศึกษาไทยนั้นมีอยู่จริง เป็นปัญหาที่ทับซ้อนกันหลายมิติ โจทย์ที่เด็กแต่ละคนกำลังพบเจอก็แตกต่างไม่ซ้ำหน้า เราจึงยิ่งต้องการคนที่หลากหลายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทำงานในพื้นที่ความถนัดของตนเอง เชื่อมโยงส่งต่อขอรับความสนับสนุนจากคนอื่นๆ
ศุภวัจน์ พรมตัน โรงเรียนนครวิทยาคม หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานสัมนาแลกเปลี่ยนในช่วงท้ายว่าสำหรับเขามีคำสำคัญอยู่ 3 คำในเรื่องนี้ คำแรกคือ “เทียบ” เราจะเทียบความรู้เด็กข้ามระบบการศึกษาอย่างไรได้บ้าง หากโดยตัวระบบเองยังไม่สามารถเทียบกันได้สนิท เราสามารถใช้คำที่สองคือ “เชื่อม” แก้ปัญหาผ่านการสอบวัดความรู้หรือวัดความสมรรถนะผู้เรียนแทนได้ไหม ก่อนจะมาสู่คำสุดท้ายคือ “ผูก” เมื่อเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวยจริงๆ เราสามารถนำผู้เรียนไปผูกไว้กับพื้นที่/สถานที่ที่เหมาะสมได้หรือไม่
กลายเป็นอีกคำถามทิ้งไว้ให้คนทำงานการศึกษาทั้งในและนอกระบบกลับไปคิดต่อ โดยความหวังว่าเราจะเชื่อมโยงกันได้มากกว่าที่เคย