ก่อการครู – Korkankru

คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ ห้องเรียนข้ามขอบ

อ่านออก-เขียนได้ ไม่ใช่แค่ ‘ทักษะ’ แต่เป็น ‘โอกาส’ ของการเติบโต อ่านระบบการศึกษาไทย ในวันที่เด็กหลุดจากเส้นทางการเรียนรู้และโอกาสในชีวิต เพราะวิกฤตอ่าน-เขียน กับ ครูก้อย–ในดวงตา ปทุมสูติ

Reading Time: 3 minutes หากประตูบานแรกอย่าง ‘การอ่านออกเขียนได้’ ถูกปิดลง โอกาสในการเติบโตและชีวิตหลายด้านของเด็กๆ ก็จะค่อยๆ ถูกปิดลงไปด้วยเช่นกัน แต่เมื่อประตูบานนี้เปิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว มันจะพาพวกเขาไปเปิดประตูอีกหลายบานได้อีกไม่รู้จบ รวมทั้งต่อเติมเส้นทางการเติบโตและการใช้ชีวิตในทุกๆ วันของพวกเขาออกไปได้อีกยาวไกล Feb 7, 2025 3 min

อ่านออก-เขียนได้ ไม่ใช่แค่ ‘ทักษะ’ แต่เป็น ‘โอกาส’ ของการเติบโต อ่านระบบการศึกษาไทย ในวันที่เด็กหลุดจากเส้นทางการเรียนรู้และโอกาสในชีวิต เพราะวิกฤตอ่าน-เขียน กับ ครูก้อย–ในดวงตา ปทุมสูติ

Reading Time: 3 minutes

“…เด็กจะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างผาสุกได้เลย หากเขายังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้…”

“วิกฤติการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่แค่ยังไม่หมดไป แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครอบคลุมโรงเรียนทั่วพื้นที่ประเทศไทย”

ข้อสังเกตที่สะท้อนความจริงอันน่าวิตกในระบบการศึกษาของบ้านเราวันนี้ จากครูก้อย–ในดวงตา ปทุมสูติ ครูก้อยเคยทำงานในบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรุงเทพฯ เมื่อลาออกแล้วก็มาทุ่มเทแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทยมาแล้วกว่า 20 ปี เพื่อถ่ายทอด ‘หลักสูตรทางเลือก’ สำหรับแก้ปัญหาให้หลายๆ โรงเรียนมาแล้วทั่วประเทศ ร่วมกับคุณพ่อ (ผศ.ศิวกานต์ ปทุมสูติ)

หนึ่งในโรงเรียนที่ครูก้อยกำลังร่วมขับเคลื่อนเรื่องการอ่านการเขียนคือ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนมัธยมขนาดกลางในจังหวัดเชียงรายที่กำลังผลักดัน ‘ห้องเรียนระบบ 2’ อย่างเข้มข้น ในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น แก้ปัญหาเด็กหลุดและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของสังคมไทยวันนี้ โดยเมื่อโรงเรียนมุ่งทำงานเชิงลึกกับปัญหาการหลุดจากระบบมากขึ้นก็ได้เห็นว่า ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และปัญหาเด็กหลุดจากระบบเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กล่าวคือ นอกจากปัญหาครอบครัว ความยากจน พฤติกรรม และปัญหาอื่นๆ ในชีวิตที่เด็กต้องเผชิญแล้ว ‘การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้’ ยังนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนและกระบวนการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ เพราะไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ ไปจนถึงมีพัฒนาการถดถอย และถอยห่างออกจากรั้วโรงเรียนไปในที่สุด

เมื่อติดตามไปถึงต้นน้ำของปัญหาพบว่า ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และเมื่อเด็กๆ เติบโตมาโดยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพจนก้าวสู่ระดับมัธยมจึงยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้แก้ไขยาก ซับซ้อน และส่งผลต่อเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กๆ มากขึ้นไปอีก โจทย์การทำงานแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ จึงไม่ใช่เพียงการพาพวกเขากลับเข้าสู่ระบบให้ได้เท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาระยะยาวที่ยังผลมาจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอีกก้อนหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย  

“ห้วยซ้อฯ เจอปัญหาอย่างหนึ่งที่ในโรงเรียนมัธยมจะมีมากกว่าประถม คือปัญหาเด็กไม่อยากมาโรงเรียน ซึ่งมันแก้ยากมาก เราจึงต้องเริ่มต้นป้องกันปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตั้งแต่ช่วงประถมศึกษา (ป.1)”

บทความนี้พาไปสนทนากับครูก้อยที่จะมาสะท้อนมุมมองต่อวิกฤตการอ่านออกเขียนได้ในหลากหลายประเด็น

…ทำไมเด็กไทยจำนวนมากจึงประสบปัญหาการอ่านออกเขียนได้ 

…ผลพวงของปัญหานี้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของเด็กๆ อย่างไร 

…และแนวทางหรือวิธีคิดแบบไหนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถึงรากถึงโคน ในวันที่ปัญหาซับซ้อนดึงยื้อมาอย่างยาวนาน และพวกเราไม่อาจนิ่งนอนใจ

ปัญหาที่ระบบการศึกษาไทยยัง ‘อ่านไม่ออก’ 

ครูก้อยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทย ซึ่งมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายระดับที่ส่งผลมาจากปัญหาในระดับนโยบาย 

ประเด็นแรกคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้เรื่องการอ่านและการเขียนของเด็กเท่าที่ควร โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการวางรากฐานการอ่านเขียน อย่างการจัดสรรเวลาเรียนในหลักสูตรที่วิชาภาษาไทยมีเพียงวันละ 1 ชั่วโมงซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลและทำกระบวนการให้เข้าถึงนักเรียน 20-40 คนต่อห้องได้ด้วยครูเพียงคนเดียว เพราะ “ระยะเวลาปูพื้นฐานที่ให้เด็กจำได้แม่น ควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1  เดือนในการเริ่มต้น เรามีพยัญนะ 44 ตัว สระ 32 ตัว มันใช้เวลาพอสมควร ด้วยความจำเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่รวมเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ใช้เวลามากกว่าคนอื่น” 

“หลักสูตรกำหนดว่า วิชาภาษาไทยเรียนแค่ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 คาบ แต่เด็ก ป.1 ต่อห้องมีจำนวนถึง 20-40 คน ซึ่งกระทรวงกำหนดให้มีมากถึง 41 คนจึงแยกเป็นอีกหนึ่งห้องได้ ครู 1 คน ต่อเด็ก 40 คน เป็นไปได้ยากที่จะพาเด็กเดินทางไปตลอดรอดฝั่ง ดังนั้น ถ้ามีแค่ 1 ชั่วโมงครูจึงพาเด็กคัดลายมือ พาอ่าน พาเขียนตามคำบอกไม่ทัน พอไม่ทันก็ปล่อย ใครได้ก็ได้ ใครหลุดก็หลุด แล้วก็หลุดไปยังระดับชั้นต่อไป เพราะครูก็ดูแลไม่ไหวจริงๆ ไม่นับเรื่องครูต้องไปทำงานเอกสารโน่นนี่นั่นอีก”  

หลักสูตรที่ยังอ่านไม่ขาดเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการอ่านเขียน ยังสะท้อนผ่าน หนังสือแบบเรียน ที่กำหนดให้ใช้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็น “แบบเรียนที่แบบฝึกหัดไม่เรียงตามลำดับภาษา เด็กป. 1 ที่เรียนภาษาพาทีได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กที่เรียนรู้เร็ว เพราะเนื้อหาซับซ้อนและยากมาก มันจึงเอื้อเฉพาะเด็กบางกลุ่มเท่านั้น” 

  นอกจากนี้ แนวทางการประเมินจากส่วนกลาง ที่สะท้อนออกมา ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ผูกโยงกันอย่างต่อเนื่อง ครูก้อยอธิบายผ่านการสอบที่เด็กทุกคนต้องเข้าร่วมอย่าง RT หรือ ‘Reading Test’ การทดสอบทักษะการอ่านออกเสียงและการอ่านรู้เรื่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งครูก้อยชี้ให้เห็นว่าชุดข้อสอบที่กระทรวงใช้ ‘ข้ามขั้น’ พัฒนาการของเด็กไปมาก ไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาหรือสะท้อนผลอย่างเป็นจริงได้      

“ข้อสอบ RT ประเมินถึงขั้นการคิดวิเคราะห์ด้วย ถ้าถามว่า ทำไมคะแนน RT ของเด็กจึงหลุดรุ่ย นั่นเพราะเด็กเขายังอ่านไม่ออกเลย แล้วคุณจะให้เขาตีโจทย์ได้อย่างไร คือเราให้เด็กวิเคราะห์ได้ แต่ข้อสอบไม่ควรข้ามไปให้เด็กคิดวิเคราะห์ถึงขนาดที่ต้องอ่านเองเขียนเอง ในขณะที่พวกเขายังอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้เลย”

จะเห็นว่า การประเมินจากข้อสอบส่วนกลางที่มีเนื้อหายากและมีมาเป็นระยะๆ ประกอบกับแบบเรียนและชั่วโมงเรียนเป็นเหมือนกับดักที่มองไม่เห็น ส่งผลให้การสอนของครูเป็นไปอย่างรีบเร่ง มุ่งเน้นมาที่การประเมินและผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก แต่กลับยิ่งทำให้ตกหล่นรายละเอียดสำคัญและการใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการตั้งต้นสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้จริงๆ   

ปัญหาโครงสร้างหลักสูตรและการประเมิน ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับป.1 ที่ควรใส่ใจอย่างมาก และค่อยๆ พัฒนาไปตามลำดับ แต่กลับเผชิญแรงกดดันให้การเรียนอ่านเขียนเกิดขึ้นอย่างเร่งรัด ครูก้อยชี้ว่า หลักสูตรอนุบาลออกแบบมาดี เน้นกิจกรรมพัฒนาทักษะตามวัย แต่เมื่อต้องปรับเข้าสู่ ป.1 เด็กกลับต้องเผชิญกับการเรียนที่ข้ามขั้น เช่น การเร่งสอนพยัญชนะและสระในเวลาอันสั้น ส่งผลให้หลายโรงเรียนเพิ่มการสอนอ่านเขียนในระดับอนุบาล ทั้งที่เด็กยังไม่พร้อม โดยเป็นการสอนที่เริ่มต้นจากการจำคำแทนการสะกด ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างปัญหาระยะยาวให้กับเด็กมากกว่า เพราะ “เมื่อเด็กเริ่มต้นอ่านจากการจำคำแล้ว เขาจะไม่สะกดคำอีกต่อไป เพราะการสะกดมันซับซ้อนกว่า เขาเลยจำๆๆๆ ซึ่งการจำมันส่งผลร้ายกับเขา คือวันข้างหน้าเขาเจอคำนั้น เขาจะอ่านได้ แต่สะกดไม่เป็นและเขียนไม่ได้”

“นี่คือปัญหาทั้งหลาย ปัญหาโครงสร้างของระบบและหลักสูตร แล้วยังมีปัญหาภายในโรงเรียน รวมถึงตัวศักยภาพของครูผู้สอนต่ออีก”  

ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ทำให้เด็กอ่านเขียนไม่ได้ 

ขยับเข้ามามองปัญหาในระดับโรงเรียนที่เชื่อมโยงต่อเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ครูก้อยอธิบายว่า-ข้อค้นพบหนึ่งจากระบบโรงเรียนประถมศึกษา (ระดับ ป.1) คือ การเรียนการสอนแบบ ‘ครูเวียน’ ที่ครูสลับกันเข้ามาสอนในแต่ละวิชา ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตามพัฒนาการของเด็ก ต่างจากระบบครูประจำชั้นที่ดูแลเด็กในวิชาหลักทั้งหมด จะสามารถยืดหยุ่นเวลาสอนวิชาหลักได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า

ส่วนวิกฤตที่ซ่อนอยู่ข้างหลังปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกหนึ่งประการคือ ‘ระบบการผลิตครู’ ในมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสอนทฤษฎีกว้างๆ แต่ละเลยทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เช่น วิธีการแจกรูปสะกดคำและผันเสียง “นักศึกษาจึงไม่รู้ว่า ฉันต้องสอนอย่างไร ผันเสียงอย่างไร” ส่งผลให้เมื่อออกไปเป็นครูจึงขาดทักษะสำคัญในการทำงานจริง

นอกจากนี้ ครูก้อยยังชี้ชวนให้เห็นว่า การสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ไม่จำเป็นต้องจบภาษาไทย หากครูเข้าใจได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบและเข้าใจหลักการ พร้อมฝึกปฏิบัติจริงก็สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการอบรมครู ครูจะต้องเข้าใจหลักการอย่างแจ่มแจ้งก่อนว่า แต่ละบทเรียนเราทำอะไรไปเพื่ออะไร แล้วครูก็ฝึก แจกลูก สะกดคำ และผันเสียง เรียงตามลำดับจากง่ายไปสู่ทักษะที่ซับซ้อนขึ้น ค่อยๆ ไต่ระดับไป

“มันก็คือ ‘แบบฝึกหัดแบบโบราณ’ นั่นแหละ แต่เรามาจัดเซ็ตให้มันง่ายขึ้น” ครูก้อยเน้นย้ำ ก่อนจะแบ่งปันแนวทางที่เป็นหัวใจสำคัญและมีความจำเป็น 4 ประการในการสอนให้เด็กอ่านของเขียนได้ คือ  

  • แจกรูปให้ผูกจำ (สร้างความคุ้นเคยกับพยัญชนะและสระ) 
  • อ่านเป็นค้ำย้ำวิถี (เพื่อฝึกการอ่านอย่างเป็นระบบ)
  • คัดลายมือซ้ำอีกที (เพื่อทบทวนและฝึกฝนการเขียน)  
  • เขียนตามคำบอกทุกชั่วโมง (ประเมินผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง)

“ถ้าครูทำครบทั้ง 4 ขั้น ครูจะเห็นว่าเด็กได้แท้หรือได้เทียม เขาแค่อ่านได้ หรือเขียนได้ด้วย แต่ครูหลายคนเข้าใจไขว้เขว บางคนไปเขียนตามคำบอกก่อนทั้งที่ยังไม่ได้เรียนเลย หรือไปนำคำพื้นฐาน 600 กว่าคำมาสอนเลย และคำพื้นฐาน 600 กว่าคำของ ป.1 คำแรกเริ่มต้นมาก็เป็นคำว่า ‘ก็’ ซึ่งยากมาก ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่รู้เลยว่ามันคือสระอะไร จริงอยู่คำพื้นฐานเหล่านี้เขาเรียงตามลำดับอักษร ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องสอนเรียงตามนี้ก็ได้ แต่ครูบางคนไม่รู้เรื่องนี้ จึงสอนเรียงตามคำที่เรียงมา ส่งผลให้พัฒนาตามลำดับขั้นยาก”  

“นี่คือปัญหาสำคัญ ถ้าเติมศักยภาพการสอนให้มีทักษะจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชนเผ่า เด็กครอบครัวแตกแยก เด็กยากจน หรืออื่นๆ เด็กเหล่านี้ล้วนสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งสิ้น ขอแค่มาเรียน”

ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน

จุดคานงัดสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะต้องอาศัยทั้งการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ ทั้งระดับโครงสร้างของระบบการศึกษา การบริหารจัดการโรงเรียน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะและการสอนของครู 

ครูก้อยสะท้อนให้เห็นว่า จากการทำงานกว่า 20 ปี หลายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่ปรากฏชัด เมื่อโรงเรียนนั้นๆ กล้าปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดต่อเรื่องนี้จนเข้าใจถึงปัญหาที่สลับซับซ้อน มีการอบรม-นิเทศครูและผู้อำนวยการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารชั่วโมงการเรียนภาษาไทย ป.1 ให้ได้วันละ 2 ชั่วโมง และการปรับเปลี่ยนสื่อการสอนให้เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาครูและโครงสร้างการสอนแบบใหม่ ซึ่งทำให้เด็กในโครงการสามารถอ่านออกเขียนได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในระดับโรงเรียนได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับคนที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งครูและผู้อำนวยการ โดยครูก้อยบอกว่าการทำงานเพื่อสร้างแนวร่วมคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ 

“ถ้าเรามุ่งสู่แค่ปลายทางอย่างเดียวว่า เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ แล้วไม่สนใจหัวใจครู หัวใจผู้อำนวยการ ไม่สนใจสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ เราจะไม่สามารถเดินไปด้วยกันได้”

เมื่อถามว่าหากเราสามารถทำงานในระดับโรงเรียนได้สำเร็จ และเอาโรงเรียนเป็นพื้นที่ปฎิบัติการ การแก้ไขโครงสร้างในระดับเหนือขึ้นไปยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ ครูก้อยเล่าย้อนให้เราเห็นภาพของการทำงานที่ผ่านมาของเธอกับโรงเรียนต่างๆ ก่อนจะให้คำตอบสำคัญในประเด็นนี้ 

“โรงเรียนทั้งหมดที่เข้าโครงการกับเราอยู่ในเงื่อนไขกระทรวงหมดเลย เงื่อนไขคือต้องสอบเหมือนกัน แต่เด็กของเราทำได้ เพราะเราเชื่อมั่น และแม้ว่าจะมีข้อสอบย่อยๆ ที่มักจะมาเร็วก่อนเวลา อย่างเด็กเรียนได้ 1 เดือนก็มาแล้ว เราจะคุยกันอยู่แล้วในโรงเรียนเพื่อเข้าใจว่ามันเป็นข้อสอบที่มาเร็วกว่าพัฒนาการเด็ก ดังนั้นเราจะคุยกันตั้งแต่แรกเลยว่าข้อสอบของเขตมีข้อจำกัดอย่างไร ต้องยอมรับกันว่าช่วงแรกยังทำไม่ได้ เดือนแรกเด็กเราจะได้แค่พยัญชนะกับสระ แต่ปลายทางเด็กเราจะอ่านออกเขียนได้แน่นอน ไม่ได้พูดเอง ครูที่เข้าโครงการทั้งหลายมาบอกว่า เด็กของเขาทำได้”  

“ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าปลดล็อกได้จะดี มันจะทำให้โรงเรียนที่ทำโครงการนี้และโรงเรียนที่เผชิญปัญหานี้ลดน้อยลงไป แต่เราไม่ได้มีพละกำลังขนาดนั้นที่จะสามารถบังคับหรือเปลี่ยนแปลงในระดับกระทรวงหรือเขตการศึกษาได้ จึงใช้วิธีการสื่อสาร แล้วค่อยๆ แทรกซึมให้เขาเห็นปัญหา เพื่อกระเพื่อมไปเรื่อยๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันหนึ่ง 

“เพราะเรารอความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นไม่ได้ เราจึงทำสิ่งที่เราทำได้ อย่างโรงเรียนและโครงการที่ทำอยู่” 

เรารอความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นไม่ได้ เพราะ อ่านออก-เขียนได้ ไม่ใช่แค่ ‘ทักษะ’   

“เรารอความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นไม่ได้” 

ประโยคจากครูก้อยที่ทำให้ฉุกคิดว่า ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนเพียงใดของสังคมไทยที่หลายคนพยายามลุกขึ้นมาแก้ปัญหา และคาดหวังให้การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างเป็นไปอย่างเข้าใจถึงแก่นแกนของปัญหา ตลอดจนเกิดผลที่ประจักษ์ในสักวันหนึ่ง เพราะ ‘การอ่านออกเขียนได้’ ของเด็กๆ ไม่ใช่เพียงทักษะที่ใช้ในการสอบเพื่อยืนยันผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนหรือคุณภาพการศึกษาภาพรวมของประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นโอกาสทางการศึกษาครั้งสำคัญที่จะเปิดประตูแห่งความเป็นได้ในชีวิตของเด็กคนหนึ่งออกไปตลอดกาล 

เมื่อเด็ก ‘อ่านออก’ และ ‘เขียนได้’ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนได้แนบสนิท เข้าถึงตัวละครในเรื่องราว-วรรณกรรม-บทเพลงได้มากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงทางความคิดจากการอ่านเขียน และสามารถเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ภาษาอื่นๆ ต่อไป 

เมื่อเด็ก‘อ่านออก’ และ ‘เขียนได้’ พอเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็สามารถที่จะใช้ทักษะที่มีอยู่นี้ในการอ่านเขียนเอกสารสำคัญในชีวิตได้อย่างดี ใช้มันในการทำงาน การดำเนินชีวิตในทุกๆ วัน และอีกหลากหลายโอกาสเกินกว่าจะสามารถประมวลออกมาได้ครบถ้วน

หากประตูบานแรกอย่าง ‘การอ่านออกเขียนได้’ ถูกปิดลง โอกาสในการเติบโตและชีวิตหลายด้านของเด็กๆ ก็จะค่อยๆ ถูกปิดลงไปด้วยเช่นกัน แต่เมื่อประตูบานนี้เปิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว มันจะพาพวกเขาไปเปิดประตูอีกหลายบานได้อีกไม่รู้จบ รวมทั้งต่อเติมเส้นทางการเติบโตและการใช้ชีวิตในทุกๆ วันของพวกเขาออกไปได้อีกยาวไกล 

Array