ถ้าการประเมินมีความหมาย เด็กจะมาโรงเรียนด้วยสายตาที่อยากจะเก่งขึ้น ข้ามขอบการประเมินไปคุยกับ เด้นท์–ศราวุธ จอมนำ และ ป้อมปืน–วรวัส สบายใจ
Reading Time: 3 minutesหากพูดถึงการประเมินในระบบการศึกษาไทย ภาพที่ผุดขึ้นในความทรงจำของหลายคน คงหนีไม่พ้นห้องสอบอันเงียบสงัดที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด เด็กๆ ก้มหน้าก้มตาจดจ่อกับกระดาษคำตอบ พยายามทำคะแนนให้ได้มากที่สุด จนบางครั้งทั้งผู้ประเมินและผู้ได้รับการประเมินก็ไม่แน่ใจว่า กำลังประเมินอะไรอยู่ และเป้าหมายจริงๆ ของการประเมินครั้งนั้นคืออะไร สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาบ้านเรายังคงติดกับดักของการประเมินที่มุ่งเน้นแต่ ‘ตัวเลข’ และ ‘การแข่งขัน’
ทว่า สิ่งที่เรากำลังประเมินอยู่กลับคือ ‘มนุษย์’ ที่แตกต่างหลากหลายและมีชีวิตจิตใจ การประเมินจึงเป็นมากกว่าการวัดผลด้วยตัวเลขหรือมาตรวัดเดียวกัน แต่ควรเป็นเครื่องมือที่สะท้อนความสามารถอย่างเป็นจริงของผู้ได้รับการประเมินและเสริมพลังใจให้พวกเขาพัฒนาตัวเองในก้าวต่อไป ไม่ใช่คำตัดสินสุดท้ายที่ชี้ว่า เด็กคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
บทความนี้ชวนมาแลกเปลี่ยนกับ ครูเด้นท์–ศราวุธ จอมนำ คุณครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้และการประเมิน ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติมาอย่างเข้มข้น และ คุณป้อมปืน–วรวัส สบายใจ นักวิเคราะห์การเรียนรู้ (Learning Analyst) ที่จะมาแลกเปลี่ยนหลากแง่หลายมุมผ่านประสบการณ์ทำงานและข้อสังเกตต่อปัญหาเรื่องการวัดผลและประเมินผลในระบบการศึกษาไทย
ม่านหมอกของปัญหา :
ธรรมชาติของการประเมินคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่ทำตามๆ กันไป
เราเริ่มต้นกันที่สภาพปัญหาเกี่ยวกับวิธีการและระบบการประเมิน โดยครูเด้นท์สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการประเมินแบบเดิมที่ทำกันมาจนเคยชิน ทำให้คำถามสำคัญในการประเมินแต่ละครั้งหายไป เช่น ต้องการประเมินอะไร ประเมินเพื่ออะไร ประเมินอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การประเมินทำงานได้อย่าง ‘เป็นจริง’ กับผู้รับการประเมิน
“ธรรมชาติของการประเมินคือการตั้งคำถาม หลายครั้งครูอาจลืมตั้งคำถามกับการประเมินแต่ละครั้ง จึงกลายเป็นว่าเคยทำอะไรกันมา ก็ทำตามกันไปเรื่อยๆ สุดท้ายผู้ประเมินก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เช่น
มีครูบางคนถามมาว่า ‘จะประเมินงานกลุ่ม จะทำอย่างไร เด็กในกลุ่มไม่ช่วยกัน แต่ผลงานกลับออกมาดี’
“คำถามนี้สะท้อนว่า ครูยังไม่แน่ใจเลยว่าเขาจะประเมิน ‘ความสามารถในการเป็นทีม’ หรือ ‘ประเมินชิ้นงาน’ หรือ ‘ประเมินอะไรกันแน่’ การประเมินที่ว่านี้ สรุปแล้วตั้งใจให้สะท้อนความสามารถอะไรของเด็ก เมื่อสิ่งนี้ยังไม่ถูกตั้งคำถามและยังไม่ชัดเจน จึงกลายเป็นนึกวิธีการอะไรได้ก็ให้เด็กทำ และส่วนใหญ่วิธีการที่ทำกันมาก็จะเป็นชิ้นงานหรือโจทย์ให้เด็กตอบ”
ครูเด้นท์ยกตัวอย่างพร้อมชี้ชวนต่ออีกว่า การมุ่งเน้นเรื่องใบงานหรือชิ้นงานเพื่อการประเมินที่ทำตามกันมา อาจเป็นผลพวงจากช่วง 10 ปีที่แล้วที่เริ่มให้มีการเก็บร่องรอยหลักฐานของการประเมิน จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ทำอย่างไรที่จะมีร่องรอยหลักฐาน สุดท้ายจึงหาทางออกโดยการให้เด็กทำชิ้นงานจำนวนมาก
คุณป้อมปืนมองคล้ายกัน คือ ปัญหาของการ ‘ไม่แม่นหลักการ’ ทำให้ทุกคนทำตามที่คุ้นเคยกันมา ทั้งที่เครื่องมือประเมินมีหลายวิธีที่สามารถนำมาทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่ง และทำให้เด็กแสดงผลลัพธ์การเรียนรู้หรือความสามารถของเขาออกมาได้
หลังม่านหมอกของปัญหา :
‘ระบบ’ ที่ไม่เอื้อให้ตั้งคำถาม และงานราชการที่ท่วมท้น
นอกจากข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาข้างต้น เมื่อมองเข้าไปหลังม่านของปัญหาเหล่านั้นอีกทบหนึ่งก็จะพบว่ามีปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่ไม่น้อย
คุณป้อมปืนชี้ให้เห็นถึง การพัฒนาครูที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘ปรัชญาของการประเมิน’ ซึ่งเป็นการวางรากฐานวิธีคิดที่สำคัญ
“เราพยายามสังเกตดูเห็นว่า ‘ครูในระบบ’ เวลาเรียนการประเมิน เขาจะเรียนการประเมินในระบบตามตัวชี้วัด ตามวิชาที่เขาสอน แต่ไม่ได้ถอยมาดูภาพรวมที่เป็นชีวิตของเด็ก ว่าสิ่งที่เขาทำกับเด็กหรือการวัดจะไปมีผลอะไรกับชีวิตของเด็ก ครูไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเทรนด์หรือทำให้มีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้”
นอกจากนี้คุณป้อมปืนยังมองถึงประเด็น ‘อำนาจนิยม’ ในระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อการมองการประเมินเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบตรวจตรา และรักษาอำนาจของผู้ประเมินตั้งแต่ระดับเล็กไปถึงระดับใหญ่ มากกว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง ดังนั้นการประเมินจึงถูกใช้อย่างผิดที่ผิดทางในหลายโอกาส สะท้อนให้เห็นในวิธีคิดเรื่องการกำหนดความรู้ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว รวมถึงการผูกขาดเครื่องมือและมาตรฐานการประเมิน
ในขณะที่ครูเด้นท์พาขยายประเด็นนี้ต่อ โดยเชื่อมโยงให้เห็นถึง ‘ค่านิยมที่ปลูกฝังกันมา’ จนกลายเป็นสังคมที่เคยชินต่อการ ‘ไม่ตั้งคำถาม’ ส่งผลต่อวิธีคิดที่สะท้อนออกมาในการออกแบบการประเมินที่เน้นทำตามกันไป
“ระบบบ้านเราที่คอยปลูกฝังให้เด็กเป็น ‘เด็กดี’ ที่ต้อง ‘เชื่อฟัง’ นำไปสู่ความเคยชินต่อสังคมที่ไม่ตั้งคำถาม สะท้อนให้เห็นจากหลายสถานการณ์ เช่น ผู้อำนวยการบอกอะไร ครูก็ทำเลย ศึกษานิเทศก์บอกอะไรมา ผู้อำนวยการก็ทำหมด มันเลยเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ทำเพื่อรับรองความต้องการของคนที่มีอำนาจเหนือ
“ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อเราถูกสอนให้เชื่อฟังและไม่ตั้งคำถาม จึงกลายเป็นว่าอะไรที่ทำอยู่แล้วก็ต้องทำ แม้มีครูที่พยายามตั้งคำถามกับระบบก็มักจะถูกกีดกันออก”” ครูเด้นท์อธิบาย ก่อนที่คุณป้อมปืนจะเสริมปัญหาเชิงระบบอีกเรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของครูว่า
“หรือบางคนก็อาจรู้สึกว่า ตั้งคำถามทำไม ‘เหนื่อย’ งานทุกวันที่ทำและเอกสารที่ต้องเคลียร์ให้เสร็จก็เหนื่อยมากแล้ว ไม่ใช่แค่เฉพาะระบบประเมินของเด็ก ยังมีระบบประเมินงานต่างๆ ที่ต้องทำเอกสารส่ง กรอกข้อมูลให้ครบ เน้นงานเอกสารมากกว่าคุณภาพ”
ครูเด้นท์เสริมต่อว่า “อีกส่วนหนึ่งคือ งานระบบราชการที่ส่วนกลางกำหนดมา ว่าต้องใช้ระบบนี้ในการกรอกข้อมูลเด็กเข้าส่วนกลาง คนออกแบบ ออกแบบระบบโดยใช้คะแนนหรือตัวเลขเป็นที่ตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ครูก็ทำ Competency Based ที่เน้นการประเมินตามสภาพจริงอิงสมรรถนะผู้เรียนไม่ได้ การกำหนดจากส่วนกลางแบบนี้ ทำให้เกิดการทำงานคนละมุมมอง และยังขัดต่อ พ.ร.บ. การศึกษาด้วย กลายเป็นว่าขัดกันเองในหลักสูตร”
การวัดและประเมินผลแบบไหน
ที่เด็กอยากวิ่งเข้าหาและไม่เบือนหน้าหนี
เมื่อถามถึงการวัดและประเมินผลแนวใหม่ที่อยากเห็น ครูเด้นท์เริ่มเป็นคนแบ่งปันแง่มุมก่อน โดยแจกแจงให้เห็น 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
“ประเด็นแรก ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินควรได้ ‘เห็นภาพเดียวกัน’ เข้าใจตรงกัน หรือมี ‘มุมมอง’ ที่แข็งแรงต่อการประเมินก่อนว่า ผลการประเมินออกมาต้องตรงกับความสามารถเด็กจริง เราก็จะไม่พยายามไปหลอกเครื่องมือวัด โกงข้อสอบ หรืออื่นๆ ถ้าผลการประเมินตรงจริง จะทำให้คนใช้การประเมินได้ประโยชน์จริง”
“ประเด็นที่ 2 คือ การประเมินต้องถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ตามจุดมุ่งหมายของมันจริงๆ เช่น ตอนนี้เรากำลังจะประเมินอะไร สมมติเราจะทำ Formative assessments (การประเมินความก้าวหน้าเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน) ถ้าคนประเมินไม่แม่น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ Formative assessments นี้กลายเป็นแค่การเก็บคะแนนระหว่างบท แล้วเอามารวมกันในตอนจบ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับ Summative Assessment (การประเมินเพื่อตัดสินผล)”
“ประเด็นที่ 3 การวัดและการประเมินควรมีความยืดหยุ่น ไม่ไปบังคับเด็กว่าจะต้องทำงานชิ้นไหนมาส่ง แต่เปิดทางไปเลยว่า ‘ทำอะไรมาก็ได้ แต่ครูกำลังจะวัดเรื่องนี้ ครูกำลังจะประเมินความสามารถนี้นะ เอาสิ่งที่ไปทำมาให้ดูหน่อยสิ’ มันควรจะต้องมีคำพูดออกมาจากครูในเชิงนี้ ถ้าเด็กได้ยินแบบนี้ เขาจะเลือกได้ว่าใช้วิธีไหนเพื่อบอกว่า ‘เขาทำได้’ แล้วเขาเลือกได้ด้วยซ้ำว่า เขาอยากแสดงให้ครูเห็นมากแค่ไหน เพราะเกณฑ์ต่างๆ ถูกส่งถึงเด็กตั้งแต่แรกแล้ว ถ้าทุกอย่างโปร่งใส เด็กเลือกได้ ครูเปิดโอกาส ผลมันก็จะเชื่อได้”
คุณป้อมปืนเสริมอีกประเด็นในมุมมองของเขาว่า การประเมินเป็นขั้นตอนที่มาทีหลัง เรื่องสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดว่า “เราจะอยู่ในวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบไหน คุยกันแต่แรกให้ชัดว่า เราจะเติบโตไปด้วยกันและไม่ตัดสินกัน รวมถึงเป้าหมายต้องชัดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งครู ทั้งเด็ก”
“อีกหนึ่งประเด็นคือ การประเมินควรให้ความสำคัญกับบทบาทของเด็ก เพราะถ้าถูกเก็บไว้ที่ครูอย่างเดียว จะไม่สามารถปล่อยพลัง ‘learner autonomy’ หรือความสามารถในการกำกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กออกมาได้ เพราะฉะนั้นเราควรวางรากฐานความคิด เพื่อออกแบบให้เด็กมีบทบาท ให้ครูเป็นผู้สนับสนุน มีระบบหลังบ้านที่แข็งแรง ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันในเชิงบวก”
“เมื่อเป็นวัฒนธรรมการประเมินเชิงบวกแบบนี้ การประเมินจะเป็นไปเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างเป็นจริง คนจะวิ่งเข้าหาการประเมิน เพราะอยากรู้ว่าตัวเองทำได้หรือไม่ได้ตรงไหน ไม่ใช่พยายามหนีอย่างที่เป็นอยู่ เพราะเราใช้มันในเชิงลบและเชิงตำหนิกัน ถ้าบรรยากาศเป็นบวก ในระหว่างทางที่เขากำลังเรียนรู้ เขาจะไม่ปฏิเสธและเต็มที่กับการประเมิน ล้มตรงไหนเราช่วยกัน บรรยากาศโรงเรียน ห้องเรียน ความสัมพันธ์ ครู เด็ก มันก็จะดีขึ้นจริงๆ” ครูเด้นท์เสริมให้เห็นบรรยากาศและปลายทางของการประเมิน เมื่อเราอยู่ในวัฒนธรรมการประเมินที่มีความหมายต่อการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสู่การวัดผลและประเมินผลในแนวใหม่ให้ยืดหยุ่นเป็นการประเมินที่หลากหลายสอดคล้องกับความแตกต่างของเด็ก ย่อมถูกตั้งคำถามในประเด็น ‘ความมีมาตรฐาน’
ครูเด้นท์ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า สาเหตุที่หลายคนมองว่าต้องประเมินด้วยเครื่องมือแบบเดียวกันจึงจะมีมาตรฐาน เป็นผลมาจากวิธีคิดเรื่องการวัดในทางวิทยาศาสตร์ คือใช้ไม้เมตรอันเดียวกันเมื่อใช้เครื่องมือนี้กับทุกอย่าง มันจึงตรงอยู่แล้ว เพราะเครื่องมือแม่นยำและวัดได้จริง
แต่เรื่องการศึกษาและการเรียนรู้กลับเป็นการวัดทางสังคมศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงวัดตรงๆ ไม่ได้ นักการศึกษาจึงมองว่า ต้องวัดทางอ้อมให้เด็กแสดงพฤติกรรมออกมา แล้วเราดูพฤติกรรมนั้นแทน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการประเมินการเรียนรู้ (Assessment) โดยเป็นการพิจารณาจากหลักฐานที่หลากหลาย เพื่อประเมินว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร
“เพราะไม่สามารถมีเครื่องวัดตัวใดตัวหนึ่งบอกได้ว่า อะไรที่ส่งผลต่อการเรียนรู้จริงๆ จึงต้องรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ว่า เด็กคนนี้เป็นอย่างไร”
“ถามว่าเขาผิดไหมที่อยากใช้เครื่องมือแบบเดียวกัน ก็ไม่ผิด เขาอาจจะมีวิธีคิดว่ามันทำได้ แต่หลังๆ มานี้ สังคมเรามีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสมอง การเรียนรู้ และพัฒนาการ มันก็แสดงให้เห็นอยู่พอสมควรว่า การวัดหรือการใช้เครื่องมือประเมินชนิดเดียวกันกับทุกคนมันใช้ไม่ได้แล้ว”
ถ้าการประเมินมีความหมาย
เด็กจะมาโรงเรียนด้วยสายตาที่อยากจะเก่งขึ้น
เมื่อพูดถึงมุมมองต่อเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการประเมิน เราเริ่มตั้งต้นที่คำถามว่า หากบอกเด็กๆ เกี่ยวกับการประเมินที่พวกเขากำลังประสบในปัจจุบันได้ จะบอกอะไร
ครูเด้นท์เริ่มสะท้อนก่อนว่า “ทุกครั้งที่ต้องประเมิน อยากให้เด็กเข้าใจว่า เขารับการประเมินไปทำไม กลับมาตั้งคำถามว่า ‘ทำไมครูประเมินหนู แล้วการประเมินจะช่วยอะไร’ ที่จะไม่ใช่แค่ประเมินเพื่อให้มีคะแนน แต่รู้ว่าการประเมินนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเขาได้อย่างไร จะเก่งขึ้นได้อย่างไรจากการแสดงความสามารถจริงๆ ให้ครูเห็น เมื่อเด็กเริ่มมีคำถามเหล่านี้ เขาจะค่อยๆ เดินเข้ามาหาการประเมินมากขึ้น”
คุณป้อมปืนเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า “หลังๆ มานี้รู้สึกว่า เด็กรู้ทันผลการประเมิน เขาจึงไม่ค่อยใส่ใจผลพวกนี้เท่าไร แต่ถ้าวันหนึ่งพวกเขาต้องเข้าไปเล่นในเกมการสอบอีก ก็อยากบอกกับพวกเขาว่า อย่ายอมให้เกณฑ์มากำหนดเรา ให้เราเป็นคนกำหนดเกณฑ์ได้ด้วย ส่วนเด็กๆ ที่ยังอินอยู่กับการประเมินแบบเดิม อยากชวนถอยออกมามองว่า นอกจากการทำคะแนนสอบให้ดีแล้ว มันมีเรื่องอื่นบนโลกนี้ที่น่าสนใจมาก ลองมีประสบการณ์ถูกทดสอบในมุมอื่นบ้าง เราคิดว่า ความท้าทายเหล่านี้น่าจะทำให้ชีวิตมีสีสัน”
ครูเด้นท์แชร์ข้อสังเกตของตัวเองต่อบ้าง “เรารู้สึกว่าในยุคสมัยที่เราเป็นเด็ก การสอบเป็นเรื่องที่เคร่งเครียดมาก ถึงทำไม่ได้ก็พยายามที่จะจดโพย หาช่องทางลัดทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองผ่านให้ได้ เด็กเอาจริงเอาจังมากกับการประเมิน แต่ยุคนี้เด็กเขาฉลาด เขารู้สึกว่าการสอบคือการทำให้ตัวเลขมันผ่านก็พอ แต่ไม่ใช่การทำให้ตัวเองเก่งขึ้น จึงส่งผลให้การมาโรงเรียนเป็นไปเพื่อให้มีคะแนนก็พอ เก่งขึ้นหรือไม่กลับไม่ใช่ประเด็น แต่ถ้าเขาเข้าใจการประเมินจริงๆ เข้าใจการเรียนรู้จริงๆ และการประเมินเข้าใจเขาจริงๆ เด็กจะมาโรงเรียนด้วยสายตาอยากจะเก่ง อยากจะพัฒนาตัวเอง พอคุณครูให้การบ้าน เขาจะลองทำเต็มที่เลย ดังนั้นเด็กจำนวนหนึ่งจึงพยายามใช้พลังงานให้น้อยที่สุดกับการเรียน แต่เอาพลังตรงนี้ไปโผล่ที่อื่นที่เขาสนใจแทน
“นี่จึงจะไม่ใช่แค่เรื่องการประเมินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้และความสอดคล้องของโรงเรียนกับชีวิตของเด็กที่ไม่ได้ไปด้วยกัน จึงทำให้เด็กกลุ่มหนึ่ง ประหยัดพลังงานเอาไว้ก่อนกับเรื่องการเรียนการสอบ เพื่อจะได้ไปทำในสิ่งที่ชอบ”
ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ในวันที่อยากเห็นการวัดและประเมินผลแนวใหม่
หากเราเริ่มขยับมุมมองมามองการประเมินด้วยเลนส์ใหม่และอยากลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการประเมิน จะเริ่มต้นอย่างไร
“คนประเมินทุกคนถือโจทย์บางอย่าง เพราะเขาอยากรู้บางอย่าง ก็เลยต้องรวบรวมข้อมูลหรือหาวิธีรู้ให้ได้ว่าจริงแค่ไหน แต่ก็อย่าถือโจทย์ของตัวเองไว้มากไป เพราะในความเป็นจริง มันมีโจทย์ของคนอื่นๆ โจทย์ของคนหลายคนที่อยู่ร่วมกันในระบบนี้” คุณป้อมปืนแบ่งปันมุมมองก่อน
ด้านครูเด้นท์มองว่า สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย การรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก “มันต้องมีคนแบบนี้หลายๆ คนที่ช่วยกันกระทุ้งและผลักดัน เพราะนี่ไม่ใช่แค่ส่งเสียงหรือกู่ร้องไปเฉยๆ คนเหล่านี้มีอำนาจเพียงพอที่จะไปขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง”
ส่วน ‘ครู’ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการประเมินในห้องเรียน การหาจุดสมดุลเป็นเรื่องสำคัญ “ถ้าลงแรงกับเครื่องมือและความแม่นมากๆ แต่ครูไม่ได้ทำอะไรเลย ก็อาจจะมากเกิน อาจยอมลดความแม่นลงบ้างก็ได้ แล้วเน้นทำการประเมินหลายครั้งแทน เพื่อให้ได้ฟีดแบกที่ดีขึ้น”
สุดท้ายคุณป้อมปืนชวนให้หันกลับมามองต่ออีกว่า ‘จุดเริ่มต้น’ ของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน อาจไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘เครื่องมือ’ หากแต่เป็นวิธีคิดตั้งต้นในการประเมินที่มุ่งวางฐานรากทางความคิดให้กับเด็กรู้จักตั้งคำถามและสะท้อนตัวเองได้
“จะยั่งยืนกว่าไหม ถ้าความแม่นไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่อยู่ที่การทำให้เกิดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ของเด็ก ทำให้เด็กรู้จักสะท้อนตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ ยอมรับความจริงได้ และพยายามท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาขึ้นในเส้นทางการเรียนรู้ เพราะเครื่องมือที่ใช้ได้ในบริบทสังคมวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว การทำงานกับคุณสมบัติเหล่านี้ในตัวเด็กต่างหากที่สำคัญ มันคุ้มค่ากับประเทศและวัฒนธรรมองค์กรที่จะเกิดขึ้น”