ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘การนิเทศ’ ที่มีความหมาย จะทำให้ ‘ครู’ อยากพาตัวเองไปข้างหน้า

Reading Time: 2 minutes เรื่องราวจาก “ครูกั๊ก—ร่มเกล้า ช้างน้อย” หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโหนด PLC Reform ที่มุ่งหวังสร้างพื้นที่การเรียนรู้ลดภาระงานครูจากการนิเทศ เกิดเป็น “CANVAS สำหรับการเข้านิเทศ” โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ เป็นเครื่องมือทำให้การนิเทศมีความหมายต่อการพัฒนาการสอนของครูและสามารถลดภาระงานของครูได้จริง Mar 6, 2025 2 min

‘การนิเทศ’ ที่มีความหมาย จะทำให้ ‘ครู’ อยากพาตัวเองไปข้างหน้า

Reading Time: 2 minutes

คุยเรื่อง ‘ก่อการนิเทศ’ กับ ครูกั๊ก—ร่มเกล้า ช้างน้อย

“ตอนฝึกสอน ความรู้สึกเราต่ออาจารย์ที่มานิเทศ เขาคือคนที่มาช่วยดูว่า เราต้องปรับปรุงตรงไหน เพื่อให้สอนได้ดีขึ้น อีกแบบหนึ่งก็จะตรวจตั้งแต่แผน แล้วแนะนำว่าจะปรับการสอนอย่างไร ซึ่งตอนนั้นก็ทำให้เราได้เรียนรู้ก่อนที่จะไปทำงานได้จริงๆ” 

เมื่อถามถึง ‘การนิเทศ’ ในระบบการศึกษาไทยผ่านมุมมองที่ได้สัมผัสมา คำบอกเล่าแรกจาก ครูกั๊ก—ร่มเกล้า ช้างน้อย พาเราย้อนไปตอนที่ยังเป็นนักศึกษาฝึกสอน โดยการนิเทศในครั้งนั้นมาจากอาจารย์ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคืออาจารย์ที่คณะ และอีกกลุ่มหนึ่งคือคุณครูในโรงเรียน ซึ่งทำให้เขาเกิดความรู้สึกต่อการนิเทศในแรกพบที่น่าจดจำ

เมื่อออกจากรั้วคณะครุศาสตร์ เข้าสู่บทบาทของครูจริงๆ ครูกั๊กเล่าว่า การนิเทศดำเนินไปโดยหัวหน้ากลุ่มสาระและฝ่ายบริหาร หรืออาจมีศึกษานิเทศก์จากเขตมาบ้าง แต่หากเปรียบเทียบการนิเทศที่ได้สัมผัสตอนฝึกสอนกับตอนทำงานจริง ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับกลับแตกต่างกัน 

“ตอนเป็นครูฝึกสอน เรารู้สึกเหมือนได้เรียนรู้ แล้วรู้ว่าตัวเองต้องไปอย่างไรต่อ แต่พอมาเป็นคุณครู เขากลับบอกกันว่าให้ใช้การนิเทศแบบ ‘กัลยาณมิตร’ ก็เลยไม่ค่อยมีการคอมเมนต์หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงของการแนะนำให้ไปต่อขนาดนั้น คือจะมีใบนิเทศให้ติ๊ก การนิเทศกลายเป็นเหมือนการทำตามประเพณี เพราะมันอยู่ในภาระงาน และเป็นการทำเพื่อตรวจสอบ ซึ่งเป็นในลักษณะเชิงอำนาจมากกว่าเชิงการเรียนรู้”  

ครูกั๊กยังพบอีกว่า เขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นคนเดียว เมื่อตัวเองได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานนิเทศของโรงเรียน 

“ช่วงแรกๆ ที่เข้าไปดูคุณครูเขาสอน พบว่าเขามีความเกร็งๆ กลัวๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเรายังไม่เคยไปนิเทศใครเลยในโรงเรียน แต่ด้วยประสบการณ์เดิมของครู เขาก็จะรู้สึกว่า การมานิเทศคือการถูกตรวจสอบ จึงรู้สึกกลัว” 

จากนั้นครูกั๊กเริ่มลองเปลี่ยนความสัมพันธ์ในพื้นที่ของการนิเทศในโรงเรียนใหม่ และยังได้สร้าง ‘CANVAS สำหรับการเข้านิเทศ’ ขึ้นโดยมีหมุดหมายสำคัญคือ เป็นเครื่องมือทำให้การนิเทศมีความหมายต่อการพัฒนาการสอนของครูและสามารถลดภาระงานของครูได้จริง 

บทความนี้ ชวนคุยกับ ครูกั๊ก (ร่มเกล้า ช้างน้อย) ครูแกนนำโครงการก่อการครู หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโหนด PLC Reform จากที่การนิเทศไม่ได้อยู่ในความสนใจ แต่เมื่อได้ลองมาทำงานกับพื้นที่ตรงนี้อย่างละเอียด เขาค้นพบและได้เรียนรู้อะไรบ้าง ระหว่างทางการเข้าไปทำงานนิเทศในห้องเรียนอย่างจริงจังเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา  

ลดภาระงานครูได้อย่างไร (?) คำถามตั้งต้นที่ ‘การนิเทศ’ คือคำตอบ

ครูกั๊กเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จะใช้การนิเทศเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระงานของครูว่า ตั้งต้นไอเดียมาจากวง PLC (Professional Learning Community) พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและแชร์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในโรงเรียน 

“พอทำ PLC ในโหนด PLC Reform มาเรื่อยๆ ปรากฏว่า เวลาที่เราจะขับเคลื่อนอะไร เรามักจะมองเด็กเป็นที่ตั้ง แต่พอทำไปกลับตกหลุมที่ว่า คุณครูยังมีภาระงานอยู่ข้างหน้าเยอะมาก ดังนั้น ถ้าเราไม่ช่วยครูก่อน ครูจะไปช่วยเด็กไม่ได้ เลยลองเปลี่ยนมุมมองจากมองที่เด็ก มามองที่ครูดู เมื่อลองมองที่ครูเป็นตัวตั้ง เราจึงพบคำตอบที่ว่า ถ้าทำทุกอย่างในห้องเรียนให้ดี ภาระงานทั้งหมดจะหายไป”

“…แล้วมีเครื่องมือไหนจะมาช่วยเรื่องนี้ได้…”  

การนิเทศ’ คือคำตอบที่ผุดขึ้นมา เพราะ “การนิเทศ คือการเข้าไปดูในห้องเรียน ดังนั้นน่าจะช่วยเรื่องลดภาระของคุณครูได้ เอกสารอะไรก็ตามที่ต้องส่งท้ายปี ถ้าส่วนไหนสามารถถูกประเมินในห้องเรียนได้ เราก็จะใช้เอกสารนิเทศเป็นตัวลดภาระให้คุณครูแทน ดังนั้น แผนการสอนใดๆ ไม่ต้องส่งแล้ว เพราะได้รับการมองเห็นแล้วว่ามีการใช้สื่อการสอนในห้องเรียนจริง ด้วยการลงข้อมูลไว้ในแบบนิเทศของโรงเรียน ครูจึงไม่ต้องเอาเอกสารไปส่งตอนสิ้นปีอีก ซึ่งมันจะช่วยลดภาระให้ครูได้”  

ครูกั๊กชี้ให้เห็นว่า การประเมินผลครูที่อ้างอิงจากการรวบรวมเอกสารตลอดปี อาจทำให้ครูที่ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการสอนและพัฒนานักเรียนในห้องเรียน ไม่ได้มีเวลาในการจัดทำเอกสารจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากครูเอาเวลาจำนวนมากไปลงกับการทำเอกสาร เพื่อการประเมินท้ายปี ห้องเรียนที่ดีก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยากด้วยภาระงานที่หนัก ดังนั้น ถ้าสามารถประเมินครูจากกระบวนการทำงานของครูได้ตั้งแต่ต้นผ่านการนิเทศ จะสามารถช่วยลดภาระ และยังสะท้อนผลการทำงานครูได้อย่าง ‘เป็นจริง’ มากขึ้น    

การนิเทศไม่ใช่การตรวจสอบ แต่คือการร่วมมือกันพัฒนาห้องเรียน 

อย่างที่ครูกั๊กเล่าในตอนต้น ประสบการณ์และมุมมองต่อการนิเทศในระบบการศึกษาไทย มักทำให้เกิดบรรยากาศที่เกร็งๆ กลัวๆ เพราะรู้สึกว่ากำลังโดนตรวจสอบ สะท้อนให้เห็น ‘ความสัมพันธ์’ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่การนิเทศที่แยกส่วนการทำงานระหว่างผู้ถูกนิเทศและผู้นิเทศออกจากกัน กลายเป็นผู้ตรวจสอบกับผู้ได้รับการตรวจสอบ หรืออีกแบบหนึ่งก็เป็นความสัมพันธ์แบบการทำตามกันไป ทำให้แล้วเสร็จเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะทรงพลังยิ่งกว่า หากกลายเป็นพื้นที่ของการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและครูผู้สอนในการแลกเปลี่ยน ร่วมพัฒนาแผนงานไปด้วยกันอย่างจริงจัง

ครูกั๊กสะท้อนมุมมองจากการทำงานถึง ‘หัวใจของการนิเทศ’ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันและสามารถสร้างพื้นที่การนิเทศที่มีความหมายมากขึ้นได้ 

หัวใจสำคัญประการแรกครูกั๊กเรียกมันว่า “ท่าทีที่เป็นมิตร” นั่นคือ ท่าทีของผู้นิเทศในการเข้าไปสื่อสารทำงานดูห้องเรียนของคุณครู การเข้าไปด้วยท่าทีการพูดคุยอย่างเป็นมิตรและเป็นกันเอง ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ความรู้สึกปลอดภัย และเชื่อใจซึ่งกันและกันในการทำงาน  

“มันคือการมีความรู้สึกที่เป็นมิตรจริงๆ ในการทำงานร่วมกัน ต่อให้ครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เราก็จะสามารถก้าวไปด้วยวิถีของการเรียนรู้ร่วมกันต่อได้”  

“หัวใจอันที่สอง คือ ‘กระบวนการที่ชัดเจน’ ที่เราบอกครูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเขา”  โดยกระบวนการในการนิเทศที่ครูกั๊กทำอยู่และจะสื่อสารกับครูตั้งแต่แรก คือ การตั้งต้นที่การพูดคุยกับครูด้วยแผนการสอนของครูก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่า คุณครูมีแนวคิดการทำงานอย่างไร เมื่อเข้าไปดูห้องเรียนจริงๆ จะได้ช่วยดูคุณครูสอนและดูว่าเด็กเรียนรู้อย่างไร สื่อสารถึงกระบวนการเข้าไปดูห้องเรียนของครูให้ชัด ว่ามีเป้าหมายและมีเครื่องมือแบบไหนอย่างไรบ้าง  

หัวใจอีกข้อที่สำคัญคือ ‘ตั้งคำถามเพื่อให้ครูได้ feedback ตัวเอง’ ซึ่งคำถามเหล่านั้นจะมีตั้งแต่ ทำอะไรได้ดี มีอะไรที่กลับไปแก้ไขแล้วมันจะดีขึ้น หรือคำถามต่างๆ เกี่ยวกับแผน เช่น รู้สึกอย่างไรกับการใช้แผนการสอนนี้ เรียนรู้อะไรจากแผนการสอนนี้ และสุดท้ายก็คือ ถ้าอยากให้โรงเรียนช่วยเหลืออะไร เพื่อให้ตัวเองสอนได้ดีขึ้น อยากให้โรงเรียนสนับสนุนอะไร” 

สุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การนิเทศมีความหมายได้มากขึ้นคือ ‘ความตรงไปตรงมา’ ซึ่งคือการสื่อสารและสะท้อนกันอย่างเป็นจริง โดยที่รักษาความสัมพันธ์ที่ดีในฐานผู้พูดและผู้ฟังเอาไว้ได้ด้วย 

เมื่อการทำงานนิเทศประกอบด้วยกระบวนการที่ใส่ใจและทำให้ ‘ทุกคน’ ทั้งผู้นิเทศและครูผู้สอนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทุกคนก็จะได้เติบโตจากการเดินทางร่วมกันไป พัฒนาร่วมกันไปได้ ครูกั๊กบอกว่า

“พอเราวางแผนไปด้วยกันตั้งแต่แรก สิ่งที่ค้นพบก็คือ เราจะไม่ก่นด่ากัน ต่อให้บางครั้งมันออกมายังไม่ดีเท่าที่คิด เราก็จะมองว่ามันสามารถพลาดได้ ปรับปรุงใหม่ได้ เราจะไม่ด่าครูผู้สอน พวกเขาก็ไม่ต้องกลัวเราไปด่าด้วย เพราะนี่คืองานที่เราทำด้วยกัน แก้ไปด้วยกัน และเติบโตไปด้วยกัน”

การนิเทศคือโอกาสที่จะมองเห็น ‘ความเจ๋ง’ ของครู 

“พอได้เข้าไปดูห้องเรียนหลายๆ วิชา เราเจอห้องเรียนดีๆ หลายห้องเลย” 

นี่คือคำบอกเล่าด้วยแววตาเป็นประกายจากผู้ก่อการนิเทศอย่างครูกั๊ก เมื่อการเข้าไปสังเกตการณ์ห้องเรียนของเพื่อนครูแต่ละวิชาทำให้พบมุมมองใหม่ๆ มากกว่าที่คิด     

“ยกตัวอย่าง เช่น ห้องเรียนที่ทำให้เด็กตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์กลับมาที่ครูได้ หรือบางห้องมีคำถามที่ครูลองด้นสด แล้วเด็กถามกลับมาแบบ ‘ครูถ้าเกิดหนูอยากเปิดร้าน เพราะว่าหนูมีความฝัน’ กลายเป็นว่า สอนคณิตแต่ไปแตะเรื่องความฝันของเด็กได้ด้วย หรือว่าครูภาษาไทยที่สอนเรื่องคำอุทาน แล้วใช้ทุกอย่างเลยในการสอน ทั้งรูป เพลง ให้เด็กออกไปเขียนระดมกลุ่มใช้ความคิด มีแบบฝึกหัด ในคาบเดียว! เราว่าโคตรเจ๋ง แต่ละคนเก่งมาก” 

ห้องเรียนที่ครูกั๊กได้พบเหล่านั้นไม่ใช่แค่ทำให้ตื่นตาตื่นใจ แต่ยังเป็นโจทย์ที่กลับมาที่ตัวครูกั๊ก ในบทบาทของผู้ทำการนิเทศ ว่าจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมส่วนไหนอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถแนะนำหรือร่วมต่อยอดห้องเรียนเหล่านี้ต่อไปได้  ครูกั๊กยังชี้ให้เห็นอีกว่าการได้เห็นห้องเรียนหลายๆ วิชาทำให้เห็นความสำคัญของการที่ครูในโรงเรียนได้นิเทศกันเอง การเข้าไปแลกเปลี่ยนและสังเกตการณ์ห้องเรียนของเพื่อนๆ จะทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนาทั้งกับตัวเองและเพื่อนครู รวมถึงเห็นพัฒนาการและวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เราต้องสอนได้คมชัดมากขึ้นผ่านแต่ละชั้นเรียนที่แตกต่างกันออกไป  

ในมุมหนึ่งนอกจากการนิเทศจะเป็นโอกาสและพื้นที่ในการมองเห็นความเจ๋งหรือความโดดเด่นของครูแต่ละคนแล้ว มันยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการใช้ ‘เทรนนิ่ง’ หรือฝึกฝนทักษะการสอนของครูให้คมชัดขึ้นได้ อย่างครูที่บรรจุเข้ามาใหม่ซึ่งยังมีประสบการณ์สอนน้อยในหน้างานจริง การนิเทศก็จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้เช่นกัน

“ทุกองค์กรเวลามีคนทำงานเข้ามาใหม่ หรือว่าจะให้เขาทำงานใหม่ มักจะต้องมีการเทรนนิ่งเขาบ้าง ซึ่งโรงเรียนไม่มี อาจมีอยู่บ้างเช่นการจัดอบรม พบวิทยากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงสิ้นปี และฝ่ายบุคคลเองก็จะทำงานหลายส่วนที่เป็นงานราชการเป็นหลัก เราก็เลยคิดว่าเครื่องมือนิเทศนี่แหละสามารถเป็นเทรนนิ่งให้ครูบรรจุใหม่ที่เข้ามาทำงานได้”    

ปลายทางของ ‘การนิเทศ’  

ในระหว่างทางของการนิเทศคือการเรียนรู้ร่วมกันของผู้นิเทศและครู ซึ่งจะนำไปสู่ ‘ปลายทาง’ หรือเป้าหมายสำคัญ 2 ประการที่ครูกั๊กสะท้อนให้เราฟัง

“การนิเทศควรเป็นไปเพื่อสองอย่าง อย่างแรก คือ เพื่อพัฒนาตัวครูผู้สอน อย่างที่เราเจอคือ ครูบางคนที่ปกติบรรยายร้อยเปอร์เซ็นต์และไม่เคยสอนแบบอื่นมาเลย แต่พอได้นิเทศและพัฒนาร่วมกัน เขาลองใช้อีกวิธีอื่นๆ แล้วสะท้อนกลับมาว่า ‘สนุกดี’ นั่นแปลว่าการนิเทศได้เข้าไปทำงานกับเขา ทำให้เขาอยากพาตัวเองไปข้างหน้า

ปลายทางที่สองคือเพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กมันไปได้ไกลที่สุด  กล่าวคือ การนิเทศในโรงเรียน ซึ่งหมายถึงการที่ครูหรือบุคลากรอื่นๆ เข้าสังเกตและช่วยดูแลพัฒนาห้องเรียน สามารถนำไปสู่การสะท้อนมุมมองใหม่ๆ ผ่านสายตาที่แตกต่างเกี่ยวกับเด็กในห้องนั้นได้ เช่น หากครูที่เข้าไปนิเทศเคยสอนเด็กคนหนึ่ง และพบว่า วิธีการสอนบางรูปแบบช่วยให้เด็กคนนี้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ก็สามารถนำข้อมูลนี้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูผู้สอน เพื่อให้ทดลองนำวิธีการหรือข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ต่อไปได้ 

กระบวนการนิเทศที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนที่เข้ามาสังเกตการณ์และทำงานร่วมกับเด็กในมุมมองที่ต่างกันนี้ จะช่วยต่อยอดเส้นทางการเรียนรู้ของเด็ก จากเดิมที่การมองมุมเดียวทำให้เห็นเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กได้ไกลระยะหนึ่ง ก็จะสามารถต่อขยายเส้นทางนั้นไปได้ในระยะที่ไกลขึ้นนั่นเอง 

ส่วนเส้นทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ของครูกั๊ก อย่างการก่อการนิเทศที่ได้เข้าไปดูห้องเรียนและทำงานอย่างละเอียดจริงๆ ซึ่งได้ดำเนินการมาในช่วงปีที่แล้วนั้น ครูกั๊กเล่าว่า มันคือการเรียนรู้และทดลองทำ ยังไม่ได้เป็นแนวทางที่สมบูรณ์แบบหรือเป็นคำตอบสุดท้าย รวมทั้งยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนากันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ครูกั๊กได้ค้นพบ หลังจากทำงาน  PLC Reform มาร่วม 4 ปี  คือ ‘การนิเทศ’ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับเพดานการขับเคลื่อนให้ ‘ไปต่อได้’ เพื่อให้พื้นที่การนิเทศในโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ในการพัฒนาครูได้อย่างมีระบบ มีความหมาย และเป็นจริง นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนที่พาเด็กในแต่ละห้องเดินทางไปได้ไกลที่สุดในเส้นทางการเรียนรู้ของพวกเขา  

“เราทำ PLC Reform มา 4 ปี เราได้คำว่า PLC Reform ของเราแล้วจริงๆ มันคือการ Reform จาก PLC  ไปสู่การนิเทศอย่างเป็นระบบนี่เอง โดยมี PLC เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นแขนขา แต่ว่าภาพรวมจริงๆ ของมันคือการนิเทศ”  

Array