ปัญญาร่วม ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ
Reading Time: 4 minutesเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำร่วมแห่งอนาคต : ผู้นำร่วมสร้างสุข ( Leadership for Collective Happiness – LCH ) โมดูล 3 ปัญญาร่วม ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพที่ต่อเนื่องมาจาก 2 โมดูลแรก คือ ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต และ ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 มาสู่ประเด็นผู้นำขับเคลื่อนสังคม ว่าด้วยเรื่องเครื่องมือสำหรับนักเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมร้อยสานพลังเครือข่ายให้ขยายผลไปสู่การบรรลุเป้าหมายหลัก คือ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากในพื้นที่ของตัวเองสู่สังคมโดยรวม
แนวคิดบันได 4 ขั้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม
เวทีพัฒนาศักยภาพฯ โมดูล 3 ชวนพิจารณาผ่านแนวคิดบันได 4 ขั้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม เริ่มจากการสำรวจตั้งแต่ ระดับบุคคล เน้นการเสริมสร้างพลังภายใน เช่น การตั้งแกน การกลับมาใคร่ครวญชีวิตอย่างลึกซึ้ง การสื่อสารอย่างสันติ ไปสู่ ระดับองค์กร คือการสร้างภาวะการนำร่วม ไปจนถึงระดับเครือข่าย ที่เชื่อมร้อยสานพลัง เพื่อสนับสนุนและทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกัน และระดับสุดท้ายคือ ระดับขบวนการ สร้างข้อต่อรองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางประการได้
วันแรก กระบวนกรเริ่มต้นจากกระบวนการระดับบุคคล : เสริมสร้างพลังภายใน คือการเช็กอินและหันมองเข้าไปยังด้านในของตัวเอง กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนทบทวนการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของตนเอง นับตั้งแต่โมดูล 1 จนถึงปัจจุบัน กิจกรรม ทำให้เห็นว่าจากสองโมดูลที่ผ่านมา บางคนได้เรียนรู้เรื่องการยอมรับความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ทำให้มองเห็นความรู้สึกและความต้องการของคนอื่นได้อย่างมีมิติที่หลากหลายมากขึ้นไปพร้อมกันด้วย มีมุมมองที่ไม่ใช่เพียงขาวหรือดำ หากแต่เข้าใจเฉดที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดทางเลือกในการจัดการสถานการณ์ได้อย่างหลากหลาย และวางอยู่บนฐานของสันติวิธี ขณะเดียวกันบางคนพบว่าการได้หยุดพักเพื่อทบทวน ทำให้ตระหนักรู้ว่าแก่นของเรื่องที่กำลังทำอยู่คืออะไร ทำไปเพื่ออะไร นำไปสู่การมองชีวิตได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
หลังจากเช็กอินตัวเองเรียบร้อยแล้วก็ต่อเนื่องด้วยกิจกรรม Start with WHY ที่ชวนถอยหลังกลับมาสักก้าว แล้วมองสิ่งที่ทำผ่านสายตาจากมุมสูง เพื่อไตร่ตรองตัวเองว่า เราเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ มีความเชื่ออย่างไร อยากจะขับเคลื่อนอะไร และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรด้วยเหตุผลอะไร โดยอาศัยเครื่องมือ Golden Circle วงกลม 3 วงใคร่ครวญตัวเอง แล้วจับกลุ่มแบ่งปันกับเพื่อน ซึ่งใน Golden Circle ประกอบด้วยวงนอกสุดคือ WHAT ที่ให้ทบทวนว่า เราทำอะไรอยู่ เช่น เป็นอาจารย์สอนหนังสือ เป็นวิศวกร ฯลฯ เชื่อมไปยังวงกลาง คือ HOW ที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังทำงานนั้น ๆ ด้วยวิธีการใด แต่สิ่งสำคัญและมีเพียงบุคคลหรือองค์กรจำนวนน้อยที่ตระหนักคือ วงในสุด WHY ว่าตัวเองกำลังทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไปทำไม ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้ จะช่วยในการทบทวนตัวเองและสิ่งที่ตัวเองทำที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่าเรากำลังหลงทางอยู่หรือไม่
ต่อมากระบวนกรได้ชวนผู้เข้าร่วมทบทวนตัวเองและแบ่งปันกับเพื่อนด้วยแนวคิดเรื่อง อิคิไก (IKIGAI) หรือแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ของญี่ปุ่นที่ว่าด้วยการทำงานอันเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้สำรวจ “สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เราทำแล้วได้เงิน และสิ่งที่โลกต้องการ” ว่าคืออะไร โดยผลของกิจกรรมนี้ คือ 1) ถ้าพบว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่เรารักและต้องการด้วย อาจจะเรียกว่าเป็นการทำเพื่ออุดมการณ์ 2) ถ้าพบว่าเป็นสิ่งที่เรารักกับสิ่งที่เราถนัด คือการได้ทำตามความปรารถนา 3) ถ้าพบว่าเป็นสิ่งที่ถนัดกับได้เงิน คือการได้พัฒนาความเชี่ยวชาญบางเรื่อง 4) ถ้าพบว่าเป็นสิ่งที่ได้เงินกับสิ่งที่โลกต้องการคือสามารถทำเป็นอาชีพได้
แต่ถ้าทุกส่วนมาตัดขวางกัน เราจะอยู่ในสภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับงาน กล่าวคือ งานอยู่ในชีวิต ในแก่นแกนจิตวิญญาณ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีค่าตอบแทน เป็นงานที่มีคุณค่าและเลือกได้
กิจกรรมในช่วงบ่ายขยายขอบเขตจากระดับบุคคลไปสัมพันธ์ถึงระดับสังคม เริ่มจากการเชื่อมโยงมิติส่วนตัวเข้ากับมิติทางสังคมผ่านกิจกรรม “เส้นอภิสิทธิ์” โดยกระบวนกรจะอ่านข้อความจำนวนหนึ่ง ถ้าผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าข้อความที่อ่านตรงกับตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว แต่ถ้ารู้สึกตรงกันข้ามให้ถอยหลังหนึ่งก้าว ถ้ารู้สึกว่าเฉย ๆ ให้ยืนอยู่ที่เดิม ท้ายกิจกรรมผู้เข้าร่วมจะพบว่า แต่ละคนยืนอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันบนหลายระนาบ ซึ่งนำไปสู่การเชื่อมโยงถึงประเด็นโครงสร้างทางสังคม รวมถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมอันมีได้เป็นธรรมดา ทว่า ไม่ควรกว้างมากจนเกินไป นำไปสู่คำถามเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงได้รับ และรัฐต้องจัดหาให้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่มีเพียงคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่า ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน
หลังจากสำรวจต้นทุนชีวิตของตนเองจากกิจกรรมเส้นอภิสิทธิ์แล้ว กระบวนกรต่อยอดด้วยการชวนสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนชีวิตของแต่ละคนกับบริบทของสังคมไทยและโลก ผ่านกระบวนการ Timeline ประวัติศาสตร์ชีวิต โลกและไทย โดยเริ่มจากการให้แต่ละคนเชื่อมโยงตัวเองในเส้นเวลาของชีวิตตั้งแต่เกิด สู่จุดพลิกผันหรือจุดเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องชาติกำเนิด ภาษา เพศ ฯลฯ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ จากชุดคำถามในกิจกรรมเส้นอภิสิทธิ์ว่าส่งผลต่อการเดินทางของเราอย่างไร
เมื่อวาดเส้นเวลาของชีวิตตัวเองแล้ว กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันเปิดประตูการมองให้กว้างออกไป ด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ชาติและโลกในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงและพิจารณาว่ามีปัจจัยที่ส่งผลต่อเด็กคนหนึ่งอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมช่วยค้นหาข้อมูลและคัดเลือกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ไทยกลุ่มหนึ่ง ประวัติศาสตร์โลกอีกกลุ่มหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ.2463-2563 ให้ครอบคลุมมิติทางด้านการเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ และเขียนแต่ละเหตุการณ์ลงในกระดาษ A4 นำมาเรียงกันเป็นเส้นเวลาให้เห็นเป็นภาพรวม อภิปรายแลกเปลี่ยนกัน แล้วให้ผู้เข้าร่วมนำแผนที่ชีวิตของตนเองมาทาบกับเส้นเวลาดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าในช่วงเวลาที่ตนเองเกิด เหตุการณ์ของโลกและประเทศมีความเชื่อมโยงส่งผลต่อชีวิตและการประกอบสร้างความเป็นตัวเราอย่างไร ทั้งในแง่วิธีคิด ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ
วันที่สองก้าวสู่กระบวนการระดับองค์กร: สร้างภาวะการนำร่วม และต่อเนื่องด้วยกระบวนการระดับเครือข่าย : สานพลังเครือข่าย โดยเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ กระบวนกรเริ่มจากให้เรียนรู้ปูพื้นเรื่องอำนาจ 3 แบบ โดยประเด็นสำคัญคืออยากจะให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ว่าการใช้อำนาจของผู้นำจะมีอยู่หลายรูปแบบ ผ่านกิจกรรม เช่น การใช้ฐานกาย เรียนรู้เรื่องอำนาจผ่านร่างกาย อย่างการให้นั่งในตำแหน่งเท่ากัน แล้วให้คนหนึ่งยืน ทำให้เกิดความรู้สึกต่างกันในเชิงอำนาจ ดังนั้นตำแหน่งทางกายภาพจึงสำคัญในการทำงาน เพราะมันแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ในองค์กรและเครือข่ายของตนเองว่ามีการใช้อำนาจในลักษณะอย่างไร เพื่อจัดวางและระแวดระวังการใช้อำนาจให้สอดคล้องกับสถานการณ์
หลังจากนั้น เวทีขยับมาสู่การขีดร่างความคิดเกี่ยวกับปฏิบัติการหรือโครงการ Life project แต่ละคนถ่ายทอดสิ่งที่อยากจะทำในอนาคตอันใกล้ โดยเขียนประเด็นที่สนใจทำงานต่อเนื่องใน 3-5 ปีข้างหน้า 3 เรื่องก่อนจะเลือกให้เหลือเพียงเรื่องเดียวที่สำคัญ จำเป็น และต้องการทำมากที่สุด แล้วใช้เครื่องมือ Golden Circle ทำความเข้าใจว่าทำไมถึงสนใจประเด็นดังกล่าว มีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ หรือมีบริบทรอบ ๆ อย่างไร ต่อด้วยการทำ Root cause analysis ค้นหารากของปัญหาที่กำลังสนใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรเป็นขั้น ๆ อย่างน้อยสามขั้น และมองหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของแต่ละสาเหตุว่าส่งผลกระทบต่อกันอย่างไรบ้างในทางตรงและทางอ้อม ทำให้เห็นเส้นแผนผังความสัมพันธ์และความคิดเชิงระบบของปัญหา แล้ววางตัวเองลงไปว่าเราอยู่ตรงไหนของวงจรแห่งความพัวพันวุ่นวายดังกล่าว
กระบวนกรแนะนำเครื่องมือในการวิเคราะห์เพิ่มเติมอีก 3 ชิ้น เพื่อเขียนแนวคิดโครงการของตัวเอง 1 แผ่น ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขคืออะไร เป้าหมายที่เราต้องการอย่างเป็นรูปธรรมคืออะไร เราจะใช้วิธีการหรือกลไกใด ทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วจับกลุ่มแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ
- Systems Thinking คือ การคิดเชิงระบบ คิดสัมพันธ์ เชื่อมโยง และเป็นองค์รวม ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลที่เกิดอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ภายใต้ปัญหา
- ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง มองว่าเหตุการณ์หรือปัญหาคือสิ่งที่อยู่เหนือน้ำ เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เห็นได้ด้วยตาชัดเจน เช่น ความยากจน ระบบการศึกษาที่ใช้อำนาจในห้องเรียน แต่ยังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำอีก 3 ชั้นที่มักไม่ปรากฏให้เห็น คือ แบบแผนหรือพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดอยู่เสมอ โครงสร้างของระบบที่เกื้อหนุนให้พฤติกรรมซ้ำ ๆ และฐานคิด ความเชื่อ คุณค่าและวิธีคิด
- Theory of Change การพัฒนาทฤษฎีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นหลักอริยสัจ 4 ในพุทธศาสนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
หลังจากได้แนวคิดโครงการคร่าว ๆ แล้ว กระบวนการแนะนำแนวคิดที่จะช่วยทำให้งานขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงมีพลังมากขึ้น ด้วยการเลือกวิธีดำเนินการ เลือกผู้ร่วมงาน และกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม เริ่มจากแนวคิดเรื่องพลเมือง 4 แบบ ของนักข่าวอาวุโสของ Time Magazine ที่ศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องทำงานกับประชาชนหรือพลเมือง 4 แบบคือ Citizen, Reformer, Rebel และ Change agent และ แนวคิดเรื่อง Diffusion of Innovation หรือแนวทางในการเผยแพร่นวัตกรรมผ่านผู้คนกลุ่มต่าง ๆ
ต่อมาชวนเรียนรู้ “แนวคิดเรื่องสายรุ้งพันธมิตร” อธิบายเฉดของกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ร่วมงาน ไล่เรียงจากคนที่รักเรามากที่สุดไปจนถึงคนที่เกลียดเรามากที่สุด และข้อสังเกตหรือวิธีการทำงานกับคนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึง 10 ขั้นตอนของการขยายแนวร่วม เช่น นิยามตัวเองกับคู่กรณีในกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขับเคลื่อนของเราให้ชัดเจน ระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ เลือกกลุ่มเป้าหมายว่าเรากำลังทำงานกับใคร วางเป้าหมายให้ชัด วัดผลได้ สำรวจทรัพยากรและสรรพกำลังของเรา แบ่งบทบาทหน้าที่จัดวางคนให้ถูกต้อง วางกลยุทธ์การทำงานของแต่ละกลุ่ม และสื่อสารสาธารณะ แสดงตัวตนและบอกความต้องการของกลุ่มว่าเรากำลังต้องการอะไรจากสังคมชัด ๆ เป็นต้น
วันที่สาม เดินทางเข้าสู่ กระบวนการระดับขบวนการ : สรรค์สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มด้วยการกลับมายังกิจกรรม “เส้นอภิสิทธิ์” อีกหน หลังจากได้ใช้กิจกรรมนี้ในวันแรก โดยครั้งนี้ชวนมองตามบทบาทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คนตาบอด โสเภณี ชาวประมง คนงานพม่า คนงานข้ามชาติ เด็กเสิร์ฟ หมอนวด, คนขับแท็กซี่ คนขับ grab แม่ค้าปลาทู คนหลากหลายทางเพศ, สส.เขต 1 เชียงราย คนทำงานออฟฟิศ ยามหมู่บ้านจัดสรร, เจ้าของร้านอาหาร รัฐมนตรี นายพล คุณหญิง นามสกุล … ส.ว. คุณครูระดับซี 8 นักข่าวช่องเนชั่น หมอ …
ผลการทำกิจกรรมพบว่า ความเหลื่อมล้ำถ่างขยายมากกว่ารอบแรกอย่างเห็นได้ชัด ตอกย้ำให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอันก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมาก และน่าตั้งคำถามต่อไปว่า เราต้องการให้ตัวเรา ลูกหลานหรือคนที่เรารักอยู่ในสังคมแบบนี้หรือไม่ นำไปสู่ข้อสังเกตถึงทักษะที่จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคที่กำลังเดินทางมาถึง คือ ทักษะความสามารถอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย ด้วยสาเหตุของสองประเด็นหลัก คือ ช่องว่างระหว่างวัย อันเป็นผลจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร และ เฉดความคิดทางการเมือง-อุดมการณ์ทางสังคม ซึ่งหากเราไม่ขยายพื้นที่ในใจเพื่อรับฟังข้อมูลหรือผู้คนที่แตกต่าง หากแต่เปิดรับเพียงข้อมูลและผู้คนที่เชื่อแบบเดียวกัน เราอาจหลงเชื่อว่าโลกคิดแบบเรา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว โลกมีเฉดอื่นที่หลากหลายอยู่เสมอ ดังที่กระบวนกรนำเสนอการแบ่งเฉดของแนวคิดทางการเมืองแบบหนึ่งออกเป็นซ้ายและขวาที่ไม่ได้มีแค่สองเฉดอย่างสุดขั้ว หากแต่มีตั้งแต่ ซ้ายอ่อน ๆ คือ เสรีนิยม ไปยังสังคมนิยม และซ้ายสุดคือคอมมิวนิสต์ เมื่อหันมาทางขวาก็จะเห็นขวาอ่อน ๆ จากอนุรักษ์นิยม ไปยัง ชาตินิยม และขวาสุดคือ ฟาสซิสต์ หลังจากนั้นกระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มจากกิจกรรมเส้นอภิสิทธิ์ค้นหาคำอธิบาย คุณค่าหลัก ความต้องการ และตัวละครในสังคมไทยที่เป็นตัวแทนแนวคิดทางการเมืองแต่ละเฉด
กระบวนกรเน้นย้ำในประเด็นการเรียนรู้เรื่องดังกล่าว เพื่อให้เห็นความสำคัญ ด้วยเป็นเรื่องที่สัมพันธ์อยู่ในชีวิตของเรา เราต่างต้องเผชิญตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับสังคมในทุกเมื่อเชื่อวัน อีกทั้งอนาคตอันใกล้จะยิ่งขยายตัวอย่างเข้มข้นมากขึ้น การทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงไม่อาจละเว้นการตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวได้ ก่อนจะนำเข้าสู่ กิจกรรมการออกแบบชุมชนของผู้นำร่วมสร้างสุข เพื่อหาวิธีการเชื่อมโยงและสนับสนุนกันต่อไป โดยแบ่งกลุ่มพูดคุยตามประเด็นที่แต่ละคนสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการศึกษา เด็กและเยาวชน, เรื่องเมือง ระบบความเป็นอยู่ของเมือง การท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต, เรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
ก่อนเดินทางไปถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ ในช่วงท้ายของกิจกรรม ทุกคนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและสะท้อนการเรียนรู้ที่ผ่านมา โดยการหันกลับเข้าไปใคร่ครวญพิจารณาสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันมาตลอดทั้ง 3 โมดูลว่า ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปลายทางผู้ร่วมกิจกรรมได้เก็บเกี่ยวอะไรเป็นข้อเรียนรู้ในแต่ละโมดูลบ้าง และนำสิ่งที่เก็บเกี่ยวได้นั้นไปใช้ในแง่มุมใด อย่างไรบ้าง ตลอดจนมีข้อเสนอแนะอย่างไร เพื่อตกตะกอนกับสิ่งที่ผ่านมาและมองไปยังอนาคตที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า
ภาพกิจกรรม [15.08.2563] [16.08.2563] [17.08.2563]