ก่อการครู – Korkankru

ด้านการศึกษา โรงเรียนปล่อยแสง

ความท้าทายและการไปให้ถึงจุดหมายของ “โรงเรียนปล่อยแสง”

Reading Time: 3 minutes ขณะนี้โครงการโรงเรียนปล่อยแสงกำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 มุ่งสู่การพัฒนาทั้งระบบโรงเรียน ( Whole School Development ) บนเส้นทางสู่นิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและเปี่ยมความหมายนั้นไม่ได้ราบรื่น ท่ามกลางความท้าทายในหลากหลายมิติ เราจะก้าวไปสู่จุดหมายได้อย่างไร? Jul 23, 2024 3 min

ความท้าทายและการไปให้ถึงจุดหมายของ “โรงเรียนปล่อยแสง”

Reading Time: 3 minutes

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงมีเป้าหมายหลัก คือการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและเปี่ยมความหมาย         
ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียน

           อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนปล่อยแสง เล่าถึง 3 ความท้าทายที่โครงการฯ พยายามชี้ชวนให้ “ครูแกนนำ” และ “ครูก่อการใหญ่” หรือบรรดาครูและผู้บริหารโรงเรียนที่เข้าร่วมมองเห็นและขับเคลื่อนร่วมกัน คือ
          1. โครงสร้างภายในโรงเรียน
          2. การสื่อสารกับผู้ปกครอง
          3. วิธีการวัดและประเมินผล 

ความท้าทายเหล่านี้แม้เป็นเรื่องเก่าที่ครูและโรงเรียนต้องรับมือ ทว่าภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงไปสู่นิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและเปี่ยมความหมายนี้เราจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การรับมือแบบใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

ขบวนการปรับห้องเรียน
เปลี่ยนการสอน 

           ความท้าทายในข้อหนึ่ง “โครงสร้างภายในโรงเรียน” ด้วยการเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั้นเป็นไปได้ยากภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดเดิม เช่น ชั่วโมงการสอน วิธีการวัดผล ฯลฯ
          การขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่นิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและเปี่ยมความหมาย จึงจำเป็นต้องเกิดพื้นที่สื่อสารระหว่างคณะครูและผู้บริหารเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
          “ความท้าทายแรกเลยที่ครูเจอคือ การจัดตารางสอนที่แบ่งวิชาแยกขาดจากกันซึ่งเวลาในคาบนั้นสั้นมาก ทำให้ยากต่อการที่จะใช้ตัวกระบวนการออกแบบการเรียนรู้แบบ Authentic Learning
          “เพราะกระบวนการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ชวนคิด ชวนคุย ลงไปมีประสบการณ์ตรง ชวนถอดบทเรียนออกมา เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลามากพอสมควร ไม่ใช่จบแค่ 45 – 50 นาที ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ตารางสอนจะล็อกอยู่ประมาณนี้
          “อีกประเด็นหนึ่งคือบทบาทหน้าที่ของครูในโรงเรียน ส่วนใหญ่จะทำงานคนเดียวแยกส่วนกันรับผิดชอบตามวิชา ครูไม่ค่อยมีโอกาสมาเชื่อมกันหรือทำงานร่วมกันเป็น Team teaching ในโครงสร้างเดิมนั้นไม่มีส่วนนี้
          “แต่เมื่อโครงการฯ เราเริ่มดึงผู้บริหารให้เข้ามาเห็นตรงนี้ เขาก็รับไอเดีย ผู้บริหารจึงไปปรับโครงสร้างใหม่  เช่น ตารางสอนจากเดิมที่แบ่งเป็นวิชาย่อย ๆ วิชาละประมาณ 50 นาที ก็ทำให้มีชั่วโมงที่ยาวขึ้น  เพื่อให้ครูสามารถบูรณาการกระบวนการเรียนรู้เข้ามาในบทเรียนได้ดีขึ้น แล้วบางโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ครูจับคู่กันสอนได้ เป็น Team teaching ข้ามศาสตร์กันได้ เพราะบางอย่างที่เด็กเรียนรู้ในหนึ่งประสบการณ์สามารถเชื่อมโยงได้กับหลากหลายวิชา มีบางโรงเรียนที่เริ่มทำตรงนี้แล้วก็สนุกมาก” 

           อาจารย์อธิษฐาน์เล่าถึงข้อจำกัดที่ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากผู้บริหาร ทางโครงการฯ จึงพยายามฉายภาพความยากที่เกิดขึ้นกับคณะครูเพื่อเร่งให้เกิดพื้นที่สื่อสารระหว่างครูและผู้บริหารต่อไป เพราะลำพังความพยายามของครูในห้องเรียนนั้นยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้ กระบวนการออกแบบการเรียนการสอนแบบใหม่จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของโรงเรียน

           “ถ้าผู้บริหารเข้าใจและเห็นความสำคัญ พยายามเอื้อ ปรับโครงสร้างบางอย่างในโรงเรียนให้ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่าง ใช้ศักยภาพต่างๆ  หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่แตกต่างเข้ามา ก็จะทำให้นิเวศการเรียนรู้เกิดได้ง่ายขึ้น” 

           นอกจากความช่วยเหลือจากผู้บริหารแล้ว การสื่อสารระหว่างกันของคณะครูก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยดังที่อาจารย์กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร กระบวนกรและทีมประเมินโครงการโรงเรียนปล่อยแสงเล่าไว้ว่า
          “การปรับห้องเรียน เปลี่ยนการสอนไม่ใช่เรื่องที่ครูแต่ละคนทำคนเดียว แต่คือการทำงานของกลุ่มครูทั้งโรงเรียนที่จะสร้างความสำเร็จร่วมกัน เป็นการทำงานแบบทีม แบ่งบทบาทหน้าที่ มีสปิริตในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายด้วยกัน 

           “เรื่องนิเวศการเรียนรู้นั้นอาจเป็นเรื่องใหม่ เพราะปกติเราโฟกัสการเรียนการสอนและรับผิดชอบแค่ในชั้นเรียน แต่ว่านิเวศการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลากหลายที่จะร่วมสร้างเด็กหนึ่งคน ทั้งเพื่อนครู ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมใดๆ ก็ตามที่เข้ามาเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้
          “งานแบบนี้เรายังไม่เคยเห็นภาพมาก่อน ทำอย่างไรที่เราจะเห็นกลุ่มครูสร้างเป้าหมายในการสร้างนิเวศการเรียนรู้ร่วมกัน ทางโครงการเราก็ไม่ได้บอกว่าภาพสำเร็จหรือโมเดลที่จะเป็นนิเวศการเรียนรู้ของแต่ละโรงเรียนควรเป็นแบบไหน แต่จะดีกว่าไหมถ้าครูได้มีโอกาสสร้างภาพในอนาคต สร้างเป้าหมายที่ตัวเองอยากจะทำไปพร้อม ๆ กัน ให้กลุ่มครูเขาได้แชร์กัน”
          โดยในทุกครั้งของการเดินทางจัดกระบวนการเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละโรงเรียน  อาจารย์กิตติรัตน์และทีมวิจัยของโครงการฯ ก็มักมีกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้คณะครูรวมทั้งผู้บริหารได้แชร์ภาพของโรงเรียนที่อยากให้เป็นร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับโครงสร้างภายในโรงเรียนอย่างมีความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่คำสั่งจากบนลงล่างหรือเพียงความต้องการเฉพาะของครูบางกลุ่ม  

นักเรียนแฮปปี้
ผู้ปกครองแฮปปี้
โรงเรียนแฮปปี้

           ความท้าทายในข้อสอง “การสื่อสารกับผู้ปกครอง” เปรียบเสมือนโจทย์หินที่โรงเรียนต้องรับมือ ด้วยความหวังดีต่อบุตรหลานทำให้ผู้ปกครองหลายคนยังคงติดภาพจำการเรียนการสอนแบบเดิมเพราะเคยเห็นผลลัพธ์กันมาก่อนในรุ่นของตน เมื่อการเรียนการสอนใหม่เริ่มขึ้น จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เกิดความเข้าใจร่วมด้วย 

ผู้ปกครองบางครอบครัวที่ไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ มาสอนอะไรให้ลูกฉัน ไม่เห็นนั่งเรียนเลย ภาพในความทรงจำของพ่อแม่ถ้าเรียนคือต้องมีหนังสือ เป็นการสอนแบบอ่าน ท่อง แล้วก็จำ แต่พอเปลี่ยนเป็นการพาทำกิจกรรมลูกฉันจะได้อะไรไหม.. ก็จะมีคำถามเกิดขึ้น

       “ถ้าโรงเรียนมีวิธีสื่อสารกับผู้ปกครองให้ปรับความเข้าใจตรงกันจะช่วยได้มาก เพราะพอผู้ปกครองเข้าใจแล้วเขาก็จะสนับสนุน โดยตัวช่วยให้ผู้ปกครองมั่นใจก็คือลูกเขาเอง
          “พอนักเรียนได้รับการเรียนรู้แบบใหม่ที่เขามีความสุข แล้วมีความหมายกับเขาจริง ๆ ผลการเรียนก็จะดีขึ้น อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกวางใจ  ลูกเขาเข้าใจวิชานี้ ลูกเขาไปต่อได้”

           อาจารย์อธิษฐาน์เล่าต่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อเราทำงานกับมิติเชิงความคิด และลึกไปถึงระดับความเชื่อของผู้ปกครอง ว่าการศึกษาที่มีความสุขและมีความหมายจริง ๆ นั้นมีหน้าตาอย่างไร
          “ง่ายที่สุดเลยคือการนั่งคุยกันว่าถ้าเราอยากเห็นโรงเรียนของเราดีขึ้น อยากเห็นลูกหลานของเรา เด็ก ๆ ของเรามีความสุขมากขึ้น เรียนรู้ได้ดีขึ้น เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อเราสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์นี้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน พอมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราก็ฟังกันมากขึ้น มีความวางใจกันมากขึ้น ก็จะช่วยกันขยับบางอย่างในโรงเรียนได้”
          อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลเมื่อต้องทำการสื่อสารกับผู้ปกครอง คือการเปิดพื้นที่ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง จากเดิมที่เป็นการประชุมผู้ปกครองและรับผลการเรียนธรรมดา อาจขยับไปสู่การสร้างกิจกรรมร่วมที่ทำให้ผู้ปกครองได้สัมผัสถึงวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่โรงเรียนพยายามทำอยู่นั่นเอง 

วัดผลด้วยความสุข

           ความท้าทายในข้อสาม “วิธีการวัดและประเมินผล” อาจารย์อธิษฐาน์เล่าว่ามีครูในโครงการฯ แอบสงสัยกระบวนการของตัวเองว่าจะทำให้นักเรียนจำบทเรียนได้หรือไม่ กระทั่งนักเรียนจะเอาไปใช้ได้จริงหรือเปล่า ครูรู้เพียงว่าขณะเรียนเด็ก ๆ ดูสนุกดีกว่าเดิมแต่ครูก็ยังไม่คลายกังวลถึงผลลัพธ์

           “มีอยู่วันหนึ่งครูนั่งรถไปกับเด็กนักเรียน แล้วเด็กก็ชี้ให้ครูดูเมฆ แล้วก็พูดชื่อชนิดเมฆเป็นคำศัพท์วิทยาศาสตร์ ครูก็แบบ เฮ้ย ทำไมเธอรู้ ทำไมเธอจำได้ ครูตื่นเต้น เพราะว่าบทเรียนนั้นเขาเรียนผ่านไปเกือบปีแล้ว
          “แล้วเด็กก็บอกว่า อ้าว วันนั้นไงครู วันที่ครูพาหนูออกมาเดินดูเมฆ แล้วครูให้หนูได้ถ่ายรูปเมฆ หนูจำได้แม่นเลย สิ่งนี้คือ feedback กลับมาที่ครูว่าการเรียนรู้ที่ไม่ใช่ให้เด็กท่องจำ แต่เรียนแล้วนักเรียนเกิดความรู้สึกด้วย สิ่งนั้นจะฝั่งอยู่ในใจเขาไปตลอด”
          การเรียนแบบท่องจำอาจพิสูจน์ผลสำเร็จด้วยการสอบวัดผลที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ขณะที่การเรียนรู้แบบบูรณาการเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ไม่เฉพาะในห้องเรียน รูปแบบการวัดผลจึงต่างไปจากเดิมเพราะสามารถเสริมพลังให้เกิดการเรียนรู้ไปต่อเนื่อง ไม่เพียงการสอบวัดระดับทักษะความสามารถแล้วจบกันไปเพียงเท่านั้น

           “ระบบการศึกษาแบบเดิมเราก็คุ้นชินว่าต้องสอบ ได้คะแนนหรือได้เกรดเท่าไหร่ ผ่านหรือตกก็ว่ากันไป แต่พอปรับเป็นรูปแบบใหม่ ลำพังข้อสอบอย่างเดียวไม่เพียงพอ
          “จริง ๆ เราเห็นผลได้แบบต่อหน้าต่อตาเลย ดูได้จากหลายส่วนประกอบ ทั้งพฤติกรรมเด็ก ปฏิสัมพันธ์ที่เขามีต่อกัน วิธีการถามของเขา วิธีการตอบคำถามของเขา การสื่อสารของเขา สิ่งเหล่านี้บอกชัดเจนว่าเขาได้เรียนรู้ไหม เป้าหมายที่เราอยากให้เขาเรียนรู้  เขาไปถึงหรือยัง
          “เราอาจปรับรูปแบบการประเมินใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้วัดแค่ตัวผลคะแนนเท่านั้น ในการประเมินแบบนี้ครูสามารถให้ feedback เสริมพลังเด็กได้ทันทีเลย เช่น โอ้ ครูรู้สึกภูมิใจจังเลยนะที่เราทำสำเร็จขนาดนี้… แล้วพอเด็กใจฟู เขาก็อยากทำเรื่องนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปอีก กระบวนการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ”
          เมื่อผลลัพธ์ของการเรียนรู้จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตที่ลึกซึ้งขึ้น ก็อาจดูเป็นเรื่องยากที่ครูหนึ่งคนจะสามารถทำทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว อาจารย์อธิษฐาน์ย้ำว่าเพราะเหตุนี้ครูจำเป็นต้องสังเกตและเก็บเกี่ยวพลังงานรอบตัวเพื่อเสริมแรงให้ตนเองไปต่อได้ 

           “ตอนแรกจะยาก เพราะเป็นการเริ่มต้นทำสิ่งที่แตกต่าง แล้วเวลาใครสักคนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่างก็จะถูกตั้งคำถามจากคนที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ บางทีความยากไม่ได้อยู่ที่วิธีการทำ แต่เป็นความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ไม่ได้มีความเข้าใจเดียวกันกับเรา ก็จำเป็นต้องมีการสื่อสารกัน
          “สิ่งที่ช่วยครูได้อันดับแรกคือ เด็กที่อยู่ตรงหน้า ทันทีที่ครูสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในห้องเรียน เด็กก็จะเปลี่ยน เมื่อครูหนึ่งคนเปลี่ยนเด็กในห้อง 30-40 คน จะมากหรือน้อยนั้นแล้วแต่จังหวะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน แต่อย่างน้อยครูได้เห็นประกายตาเด็กแล้วว่ามีพลังชีวิตและความสนุกสนานเกิดขึ้น นี่คือพลังสำคัญที่จะทำให้ครูมีกำลังใจไปต่อ
          “สอง ถ้าครูสามารถหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้ในโรงเรียน อาจไม่ต้องเยอะแต่อย่างน้อยเป็นคนที่รู้สึกว่าคุยกันได้ รับฟังกันได้ แล้วช่วยสนับสนุนกันได้ในบางมุม ก็จะเป็นกำลังสำคัญช่วยครูให้มีกำลังใจไปต่อ บางคนเริ่มจาก 4 – 5 คนในโรงเรียนที่อยากเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้มีความสุขและมีความหมาย พอจูนกันได้ 4 – 5 คนนี้ เขาก็แข็งแรงเลย เขาช่วยกันออกแบบ หาอุปกรณ์ กลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่สนับสนุนกัน
          “และยิ่งถ้าผู้บริหารมองเห็นและเข้าใจ อาจไม่ต้องใช้งบประมาณ เพราะเรามีทรัพยากรรอบตัวเยอะ แต่อย่างน้อยเปิดโอกาสครูให้ได้ลองทำ ไฟเขียวให้ได้ลอง ก็ยิ่งช่วยให้ครูมีพลังทำต่อ”
          ความพยายามขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้คนหลายภาคส่วน เพราะคำว่า “นิเวศการเรียนรู้” นั้นหมายถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดของระบบโรงเรียน นับรวมตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ชุมชน หลักสูตร รวมถึงการใช้ทรัพยากรจากชุมชนมาบูรณาการร่วมกับห้องเรียน
          ความท้าทายจึงไม่อาจก้าวข้ามได้เพียงการลงมือทำของใครคนใดคนหนึ่ง แต่หมายรวมถึงทุกคน จนกว่าเราจะเดินทางไปถึงนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและเปี่ยมความหมายตามแบบฉบับของแต่ละโรงเรียน


Array