เป็นเวลา 1 เทอมเต็มแล้วที่ ครูยอร์ช-ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ไม่ได้ตีเด็ก
จะว่ารู้สึกผิดก็ไม่เชิง แต่เพราะถูก ‘อะไรบางอย่าง’ เขย่าอยู่ข้างในมากกว่า ความตั้งใจที่จะไม่ตีของคุณครูวิชาวิทยาศาสตร์วัย 27 เป็นเพียงปลายทางของคำถามใหญ่ๆ ที่วนอยู่ในหัวครูยอร์ชตลอดเวลาว่า “ที่ผ่านมาเราสอนดีแล้วจริงๆ เหรอ”

คำถามของมนุษย์ครูผู้ไม่เคยตั้งคำถาม
ย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้ว วันแรกที่ไปเป็นครูอัตราจ้าง ณ โรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ครูยอร์ชคิดว่า ทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่เคยคิดตั้งคำถาม ที่สำคัญ ครูไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหา
“คิดว่าถ้าเราทำได้ ทำสิ่งที่เขาสั่งหรือทำตามที่เขาปฏิบัติกันมา เราจะเป็นครูที่ดีและเก่ง เป็นครูที่มีประสิทธิภาพคนหนึ่ง ทั้งที่ตอนนั้นทำงานเยอะมาก ถึงข้ั้นต้องทำพร้อมกัน 7-8 คำสั่ง ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่รู้สึกเลยว่ามันหนักไป”
เช่น เป็นหัวหน้าฝ่ายไวนิล, ช่วยคีย์ข้อมูลนักเรียนลงระบบ หรือไปปฏิบัติหน้าที่นั่นโน่นนี่ที่ไม่เกี่ยวกับงานสอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ไม่ได้เตรียมการสอน ความเหนื่อยจากงานอื่นกินเวลาคุณภาพไปเสียหมด การสอนที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นของครูยอร์ชคือ ถือหนังสือหนึ่งเล่มไปอ่านให้เด็กๆ ฟังว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาอะไรบ้าง
และเพราะเดินมาถึงจุดที่เรียกว่า ‘เหนื่อยมาก’ ครูยอร์ชถึงเริ่มตั้งคำถามว่าเพราะอะไร
“มันต้องทำๆ เยอะมาก จนรู้สึกว่าคำสั่งมันเยอะไปไหม พอคำสั่งมา เราต้องไปทำเลย ปรึกษาใครก็ไม่ได้ ผมติดนิสัยตอนมหา’ลัย ทำอะไรต้องคุยกัน ปรึกษากัน เพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกันก็เจอปัญหาแบบนี้ บางคนเจอระบบเข้าไปถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า มันจึงเป็นจุดเปลี่ยน เราเริ่มอยากหาพื้นที่ใหม่ๆ”
เมื่อสนามสอบ ‘โครงการครูคืนถิ่น’ เข้ามาครูยอร์ชไม่รอช้า เพราะอยากกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิด-สุพรรณบุรี
โรงเรียนวัดบางขวาก อำเภอสามชุก คือที่ที่ครูยอร์ชได้มาบรรจุเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นที่ตำแหน่งครูผู้ช่วยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.1 – ม.3 ควบสอนวิชาประวัติศาสตร์ สังคม และหน้าที่พลเมืองด้วย
ความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ภาระหน้าที่ที่นี่เบาบางลง มีความเป็นอิสระมากขึ้น มีเวลาให้กับงานสอนมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมคือโครงสร้างการบริหาร การทำงานตั้งแต่ตัวใหญ่ไล่จนถึงตัวเล็ก ทั้งหมดต้องเป็นไปตามคำสั่ง
นอกจากโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนวัดบางขวากยังเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เด็กๆ เห็นความสำคัญเรื่องปากท้องมากกว่าจะมาโรงเรียน
“เขามาเรียนให้เราก็บุญแล้ว พ่อแม่ของเด็กที่นี่มีอาชีพร้อยพวงมาลัย ช่วยร้อยอาทิตย์เดียวได้ 500-600 แล้ว ไปเที่ยวได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องมาเรียนเลย พ่อแม่บางคนค้ายา บ้านค่อนข้างมีปัญหา เด็กในห้องมี 26 คนมาให้เรียนให้เรา 20 ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว”
ประกอบกับสไตล์การสอนปีแรกๆ อะไรที่คิดว่าดี ถูกต้อง ครูยอร์ชจัดมาทั้งหมด แต่นักเรียนกลับไม่สนุกด้วย ซ้ำร้าย เด็กๆ หายไปทีละคนสองคน
“เด็กๆ ที่กรุงเทพฯ เขาพร้อมที่จะเรียน แต่ที่นี่ไม่ เข้ามาใหม่ๆ ผมเลยทั้งตี ทั้งเคี่ยวเข็ญ ผมใช้อำนาจอยู่คนเดียว บรรยากาศอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กเริ่มหลุดจากเราไปทีละคนสองคน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมตีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นเด็กเรียนดี เรียบร้อยเพราะไม่ได้เอาแปรงสีฟันมาแปรงหลังกินข้าวกลางวัน ผมเดินไปหยิบกิ่งไม้มา แล้วผมไม่เห็นว่ามันมีเสี้ยน ตีลงไป มือเด็กแตก เลือดไหลเลย”
แน่นอน ความตกใจเกิดขึ้น แต่ครูยอร์ชตอบคำถาม “ทำไมถึงต้องตี” ไว้ว่า
“ผิดแล้วตีเลย คิดว่าถูกต้องด้วยนะ แต่ตอนนั้นเราเหมือนคนเอาแต่ใจ เด็กจะเป็นยังไง เราไม่สนเลย คนไหนไม่ทำตามที่เราสั่ง คนนั้นผิดมหันต์ ต้องกำราบ ต้องกดให้เขาเชื่อเราด้วยวิธีใดก็ได้”
เพราะตอนนั้น ‘ครูที่ดี’ ของครูยอร์ช คือ ครูที่เคี่ยวเข็ญเด็กจนเชื่อ ทำตามคำสั่งอย่างเต็มที่ ทำจนล้นเกินก็ยิ่งเป็นครูที่ดี
แต่ในความทำตามคำสั่ง ครูยอร์ชก็สงสัยและตั้งคำถามมาตลอดว่า ทำไมคำสั่งหลายๆ อย่างครูมีหน้าที่เพียงรับมาและปฏิบัติไป กระบวนการคุย ปรึกษาหารือหรือออกแบบร่วมกันมันอยู่ตรงไหน เอาจริงๆ สามารถคุยกันก่อนลงมือทำได้หรือเปล่า
“ความที่ตัวผมเองก็เผด็จการ เจอเรื่องไม่เข้าใจก็ถาม เพราะการทำงานมาจากการสั่งโดยที่เราไม่เข้าใจ ผมอึดอัดมากๆ เลยทะเลาะกับผู้ใหญ่หลายเรื่อง ถึงขั้นมีปัญหากัน ไม่คุยด้วย”
ทั้งที่ตัวเองก็เผด็จการกับเด็ก แต่กลับวีโต้คำสั่งจากฝั่งบริหาร ความย้อนแย้งที่ว่านี้สะสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นความอึดอัดมากเข้าๆ ประกอบกับการได้คุยปรับทุกข์กับเพื่อนครูที่เรียนมาด้วยกัน ทำให้ครูยอร์ชเริ่มกล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดกับตัวเองมากขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ และ สรุปออกมาไม่ได้ว่า ‘ระเบิดเวลา’ ที่ว่านี้ มันคืออะไร
ระเบิดที่ ‘ห้องเรียนแห่งอำนาจ’
ครูยอร์ชพยายามหาวิธีปลดความอึดอัดที่ว่านี้ด้วยการไปอบรมตามที่ต่างๆ จนได้มาค้นพบที่ ‘ก่อการครู’ ใน ‘ห้องเรียนแห่งอำนาจ’ ของ พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร หัวเรือใหญ่แห่งกลุ่มละครมะขามป้อม
“มีกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เราเห็นโครงสร้างอำนาจของคนที่มีอำนาจมากกว่ากับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า พี่ก๋วยเล่าว่าเรา (ครู) อยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง ผมพบว่า ผมนี่โคตรใช้อำนาจกับเด็กเลย ที่เราอัดอั้นกับระบบเพราะระบบกดเรามาอีกทีหนึ่ง เราก็ไปกดเด็กต่อ”
ระเบิดเวลาที่ว่ามาถูกจุดชนวน ณ ตอนนี้ ถ้าเปรียบเทียบความเสียหาย ก็เท่ากับระดับ ‘ทำลายล้าง’
“มันอิมแพคกับผมมากๆ รู้สึกว่า กูทั้งนั้น ทุกอย่างมันเริ่มจากเราทั้งนั้นเลย มันจึงไม่แปลกเลยว่าทำไมเราถึงอึดอัดกับระบบ เพราะพี่ก๋วยขยายและเท้าความให้เราเห็นทีละเปลาะๆ ด้วยน้ำเสียงการเล่าธรรมดามาก”
ครูยอร์ชอธิบายโมเมนต์ ณ ขณะนั้นให้ฟังว่า ขณะที่ทุกคนกำลังจด แต่ครูยอร์ชยังนั่งอึ้งอยู่กับข้อความว่า “คนที่ยังนิ่งเฉย ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”
“ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในระบบอย่างภักดี และเป็นผู้ส่งต่อความรุนแรง ส่งต่ออำนาจให้กับนักเรียน” ประโยคนี้ที่ดังก้องในหัวครู
ถ้าเป็นถนนเส้นหนึ่ง นี่คือจุดยูเทิร์นสำคัญของครูยอร์ช ให้หันกลับมามองปัญหา ตรวจสอบตัวเอง ก่อนจะพบว่า ที่ผ่านมามันผิดทั้งหมด
“พอรู้เรื่องอำนาจ โครงสร้าง ระบบ ผมก็เริ่มกล้าตั้งคำถาม กล้าแตะระบบ โอ้โห! ทุกอย่างที่เคยมีอยู่ในตัวมันพรั่งพรูออกมาหมดเลย เด็กแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน เรามัวไปสร้างพื้นที่แห่งอำนาจทำไม พื้นที่ปลอดภัยต่างหากที่เด็กต้องการ และครูอย่างผมสร้างได้”
คือครูที่เป็นคุณอำนวย ไม่ใช่คุณอำนาจ
เมื่อครูยอร์ชกลับมาพร้อมกับคำตอบว่า “กูทั้งนั้น” ห้องเรียนที่เคยเป็นพื้นที่แห่งอำนาจ ก็ค่อยๆ ใช้หัวใจปรับให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
“จากที่เป็นคนยืนอยู่หัวสุดและเด็กต้องอยู่ข้างล่าง ก็เปลี่ยนมานั่งกับเด็ก อยู่กับเด็ก มันตอบรับกับเด็กที่นี่มากๆ เพราะเด็กไม่ปลอดภัยตั้งแต่อยู่บ้านแล้ว สังคมที่นี่ไม่ค่อยโอเค เด็กก็ไม่พร้อมที่จะเรียน ผมเลยเปิดพื้นที่เป็นวงกลม ลองเปลี่ยนจากการสอนแบบบังคับมาเป็นวิธีที่ทำให้เขาอยากตอบ อยากเรียน อยากรู้กับเรามากขึ้น กลายเป็นว่ามันดีขึ้น”
วิธีของครูยอร์ชคือ ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจขึ้น เช่น ถามเด็กว่าวันนี้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง…เล่นบทผู้ฟังมากกว่าผู้พูด
“ตอนที่เขากำลังนึกว่าวันนี้มีอะไรดี ช็อตนั้นมันจุดประกาย มันบันดาลใจเรามาก มีความสุขมากเลย รู้สึกว่า ทำไมเราไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่แรก ถึงขั้นอยากออกแถลงการณ์บางอย่างเลยนะตอนนั้น (หัวเราะ)”
ทำไมถึงมีความสุขมากขนาดนั้น?
ครูยอร์ชนิ่งคิดพักหนึ่งก่อนจะตอบว่าเพราะวิธีคิดที่เปลี่ยนไป ซึ่งมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไม่ต้องแบกอะไรไว้อีกแล้ว
“แต่ก่อนผมยังรู้สึกว่าต้องสอนให้ได้หรือบังคับให้เด็กเรียนตามตัวชี้วัด แต่พอเรามาทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่าง ตัวชี้วัดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป พอไม่ต้องซีเรียส ผมก็มีกำลังใจมากขึ้น มีแรงออกแบบการสอนที่ตรงกับเรา ตรงกับเด็ก ยิ่งทำให้พื้นที่มันสบายมากขึ้น เด็กก็รู้สึกสนุก…หรือเปล่า ต้องไปถามมัน (หัวเราะ)”
จนกลายมาเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สไตล์ครูยอร์ช…
แทนการสั่ง ก็เริ่มต้นคาบด้วยคำพูดเชื้อเชิญ เช่น ครูอยากให้ลอง อาจจะ ฯลฯ
“พอคำเหล่านี้มาอยู่ในตัวผมและทำให้ผมทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก มันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้อินหรือไม่เข้าใจ แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับเด็ก”
จากการสอนแบบเดิม ทำให้เด็กๆ ติดหรือเคยชินกับการตอบให้ครูชอบ ให้ครูรัก โดยที่ไม่รู้ว่าข้างใน ‘จริง’ แค่ไหน การสะท้อนซึ่งกันและกันเลยไม่เคยเกิดขึ้น
ด้วยความเป็นนักกิจกรรมและนักสันทนาการมาก่อน ครูยอร์ชจึงค่อยๆ ขยับขยายพื้นที่ปลอดภัยให้ไกลมากขึ้น ด้วยการชวนนักเรียนออกไปวิ่งเล่นนอกห้อง
“ตั้งแต่ตอนเริ่มคิดกระบวนการใหม่ๆ การเรียนในห้องเริ่มไม่ตอบโจทย์แล้ว ไม่สนุกด้วยครับ มันเป็นพื้นไม้ เสียงดัง บางทีมีกระโดด แสดงออก จะกระทบห้องอื่นๆ เลยพาออกมานอกห้องเรียน เลยกลายเป็นความเคยชิน จนทุกวันนี้เด็กจะถาม ครูๆ วันนี้เรียนที่ไหน เด็กเขาคงชอบล่ะมั้ง (ยิ้ม)”
“ชอบครับ ครูจะถามก่อนทุกครั้งวันเด็กๆ อยากทำอะไร” อาร์ม-ด.ช.กฤษณะ จันทร์บาง ชั้น ม.2 เล่าลับหลังครูยอร์ช
วันนี้เป็นอีกวันที่อาร์มได้ออกมาเรียนนอกห้อง เด็กชายตอบว่าชอบมากกว่า เพราะรู้สึกว่าได้อะไรมากกว่าในห้องเรียน
“ครูสอนในหนังสือแต่ไม่ได้ให้ท่องหนังสือ ให้ทำกิจกรรมมากกว่า หนูว่ามันจำได้ไวดี” ด.ญ.ภาวิณี จันทนา หรือ มินท์ ชั้น ม.2 ขอเล่าบ้าง
ในทุกๆ คาบ ครูยอร์ชพยายามจะใช้ฐานกายควบคู่กับฐานใจ นักเรียนเองอาจจะไม่รู้ตัว รู้แต่ว่าการทำอะไร ‘บ้าๆ’ ในวิชาไม่ใช่เรื่องผิดบาป หากคือสิ่งที่ควรทำด้วย
โดยครูยอร์ชจะเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการชวนเด็กๆ ‘เช็คอิน’
ไม่ใช่เช็คอินผ่านโลกโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการเช็คอินเสมือนเข้าห้องเรียนด้วยการให้นักเรียนจับมือกันเป็นวงกลม ครูยอร์ชก็อยู่ในนั้นด้วย แล้วชวนเด็กๆ ออกท่าทางอะไรก็ได้พร้อมตะโกนความรู้สึกในตอนนั้นออกมา เด็กๆ ชอบบ้าง อายบ้าง ออกอาการบ้าหลุดโลกบ้าง แต่อย่างน้อยชั่วโมงนี้เด็กๆ ก็ได้นับหนึ่งจากการแสดงความรู้สึกของตัวเองก่อน
“ผมคิดว่าเขาใช้สมองในหลายวิชาแล้ว มาถึงวิชาเราก็ผ่อนๆ สมองได้ ฐานกายผมจะแทรกในทุกๆ คาบ เด็กๆ เขาต้องการแสดงออกอยู่แล้ว จะได้ไม่ท้อกับการเรียน ผมเชื่อทฤษฎีที่ว่าสมองจะทำงานได้ดีก็ต่อเมี่อกายได้ขยับ ที่สำคัญการเรียนการสอนปัจจุบันไม่ทำให้เขารู้สึกหรือแสดงออกอะไรได้ ทำให้เวลามาอยู่ในพื้นที่ (นอกห้องเรียน) เด็กเลยอยากคุย อยากแสดงออก นี่คือสิ่งที่ผมคิดเอง”
ส่วนฐานใจ คือช่วงที่อนุญาตให้เด็กๆ ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ซึ่งครูยอร์ชไม่ลืมที่จะสอดแทรกเอาไว้ในทุกคาบผ่านการสอนแบบ ‘เรียนรู้ซึ่งกันและกัน’ ครูไม่วางตัวเป็นผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว
นอกเหนือฐานกาย-ใจในทุกๆ คาบแล้ว ครูยอร์ชก็ยังหยิบ ‘ฐานใจ’ มาใช้ช่วงที่นักเรียนมีปัญหา ทะเลาะกันในห้องอีกด้วย
“วิธีของผมคือ จะทิ้งคอนเทนต์ไปเลย แล้วช่วยกันคิดแก้ปัญหา ถามทุกๆ ฝ่าย เพราะการตัดสินมาจากการตีตรา คาบนั้นจะอยู่กันแบบนี้”
พอถึงช่วงสอบปลายภาค การวัดผลแบบครูยอร์ช จะไม่มีคำถามข้อไหนที่เข้าข่ายวัดผล แต่จะให้เด็กๆ สะท้อน ‘ช่วงเวลา’ ที่ผ่านมามากกว่า
“ไม่มีสอบอะไรแล้ว แค่ให้เด็กๆ สะท้อนว่า มีกิจกรรมอะไรที่จำได้บ้าง ชอบตอนไหน ไม่ชอบตอนไหน รู้อะไรบ้าง เอาหัวข้อมาอย่างเดียว ไม่ต้องอธิบาย เหมือนเด็กได้ระบาย”
ปิง-ด.ช.มนตรี ชานตะบะ ชั้น ม.2 ลูกศิษย์คนสนิทของครูยอร์ช ก็เป็นอีกคนที่ชอบการสอบที่ไม่ได้สอบแบบนี้
“ข้อสอบของครูจะไม่มีให้กา ให้เขียนบรรยายมากกว่า ครูบอกว่า ไม่ว่าเรื่องไหน ไม่มีทางที่จะมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว”
เข้าใจระบบ เข้าใจคน เข้าใจครู เข้าใจตัวเอง
กับเด็กและงานสอน เหมือนครูยอร์ชได้คลี่คลายจนสบายใจแล้ว เหลือก็แต่งานรับคำสั่งและบริหารความสัมพันธ์กับรุ่นน้อง รุ่นเพื่อนและรุ่นพี่ในโรงเรียน
จากความรู้สึกว่าไม่ต้องแบกอะไรไว้อีกต่อไปและความเข้าใจในระบบจากห้องเรียนแห่งอำนาจ ส่งผลกลายๆ ให้ครูยอร์ชเห็นอกเห็นใจผู้บังคับบัญชามากขึ้นว่า เขาก็ถูกกดลงมาอีกทีไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น
และมันก็มีเหตุการณ์ให้คนผิดใจได้เคลียร์กัน…
“ผมมีปัญหากับครู เขาทำโทษเด็กแรงเกินไป ผมไม่โอเคเลยไปบอกผู้อำนวยการ เลยเป็นโอกาสเปิดใจ คุยกันทุกเรื่อง ผมพูดว่าอยากให้เราได้คุยกัน จะเอาอะไรก็ได้ ผมทำงานถวายหัวอยู่แล้ว ขอแค่บรรยากาศการคุยกัน และจุดแข็งของ ผอ. คนปัจจุบันคือ บริหารแบบมีส่วนร่วม ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มีงานอะไรก็จะดึงครูเข้ามา พอเขารู้ว่าผมมีแนวคิดแบบนี้ หลังๆ มาจะไม่มีการสั่งการแบบผลีผลามแต่จะถามทุกคนก่อน ดีขึ้นเยอะมากๆ (ยิ้ม)”
พอได้เปิดใจ ครูยอร์ชก็เห็นอะไรมากขึ้นที่ไม่เคยมอง
“ดีที่โรงเรียนที่ผู้บริหารไม่ค่อยซีเรียสกับการประเมิน โรงเรียนอาจจะต้องทำเป็นเล่มๆ จัดนิทรรศการ เสนอนวัตกรรมใหญ่ๆ เยอะแยะ แต่ที่นี่ขอแค่ถึงเวลาก็ส่งผลการประเมินจากครูพี่เลี้ยง ให้เย็บเล่ม ส่งเขตฯ ครูมีเวลาให้กับการสอนเต็มที่”
ค่าของครู อยู่ที่งานจริงๆ
เพื่อให้การสอนเป็นไปได้อย่างอิสระ วิธีการหนึ่งที่ครูยอร์ชใช้คือ สร้างผลงาน
ผลงานเด่นของครูยอร์ชคือ พาเด็กไปชนะเลิศบนเวที Science Show – ละครวิทยาศาสตร์ ปีล่าสุด
Science Show คืด นำการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาผูกเรื่องใหม่ให้น่าสนใจ น่าติดตามมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความรู้เข้าไปแบบไม่ยัดเยียด
แรงผลักและแนวคิดสำคัญของเรื่องนี้ น่าจะมาจาก ‘ห้องเรียนแห่งเวทมนตร์’ ที่ครูยอร์ชไปซึมซับมาจากการอบรมก่อการครู ภายใต้ความเชื่อที่ว่าครูทุกคนต่างมีเวทมนตร์ในตัวเอง – เด็กๆ ก็เช่นกัน
“มันปรับมุมมองต่อนักเรียนแบบเปลี่ยนไปเลย ชนิดถึงแก่น ทั้งตัวเรา ทั้งนักเรียนโคตรมีความหมาย ให้ความสำคัญกับความแตกต่างและพลังที่มีอยู่ในแต่ละคน พอกลับมาจากอบรม ผมเริ่มมองเด็กแต่ละคนว่ามีพลัง ทำให้เราจัดการห้องเรียนได้ง่ายขึ้น วิธีแบบไหนที่เหมาะกับเด็กๆ กลุ่มนี้ และสามารถดึงเอาพลังของเขามาใช้ร่วมกันได้ เช่น เล่นละคร เด็กมีพลังเพราะเขาได้พื้นที่ในการปลดปล่อยพลัง”
เมื่อครูยอร์ชมองเด็กเป็นกลุ่มพลัง ก็สังเกตเห็นพลังต่างๆ มากมาย ทั้งพลังตลก พลังความไร้เดียงสา พลังความซื่อบื้อ พลังเฟี้ยวฟ้าว โจทย์สำคัญก็คือ “เราจะออกแบบสนามพลังยังไงให้พลังเหล่านี้มันอยู่ด้วยกันและไปด้วยกันได้”
ในห้องเรียนแห่งเวทมนตร์จะสอนให้ครูเริ่มต้นจากการค้นหาพลังในตัวเองก่อน โดยให้เลือกภาพ คราวนั้นครูยอร์ชเลือก ‘ไมโครโฟน’ กับ ‘ตัวตลก’
“ส่วนตัวผมชอบละคร ชอบ Science Show เลยลองชวนเด็กมาเล่นละคร แต่วิธีการของผมก็จะขับเคี่ยว เผด็จการเลยแหละ (ยิ้ม) แต่ให้เด็กๆ เลือกการทดลองมาก่อนว่าจะเล่นเรื่องอะไร จากนั้นผมจะเขียนบทให้และ build ทุกอย่างให้เด็กเห็นธงเดียวกัน เช่น เราไปได้ไกลหรือทำได้ดีมากกว่านี้นะ เสริมแรงกันไป เอาบิงซูมาล่อบ้าง (หัวเราะ)”
หลังจาก build เด็กๆ จนคว้ารางวัลกลับมาฝากโรงเรียน กลายเป็นว่าครูยอร์ชยิ่งทำอะไรได้คล่องตัวมากขึ้น เหมือนมีรางวัลเป็นเกราะป้องกันความยุ่งยากต่างๆ จนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมครู
“ทั้งๆ ที่เราทำอะไรเยอะแยะ สอนก็มากมาย ไม่มีความหมายเท่ากับเราไปชนะระดับนี้มา โชคดีที่ผมชนะ”
ด้านหนึ่งจึงส่งผลให้ครูยอร์ชรู้สึกโดดเดี่ยวด้านการสอน
“การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียนคือหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาต่างหาก เด็กชอบแบบไหนก็ถามเด็กสิ ครูและผู้บริหารเองก็ควรคุยกันโดยยึดข้อนี้ แต่เป็นเพราะวัฒนธรรม โครงสร้างบริหารทางราชการ ที่ทำให้เราต้องการแบบแท่งๆ เลนใครเลนมัน เลยทำให้ผมรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่คุยกันได้ ช่วยกันได้”
กำแพงสูงสำหรับครูยอร์ชคือการไม่ก้าวก่ายกันของเพื่อนครู บางคนถึงกับออกตัวว่าสอนแบบนี้ไม่ได้เพราะเรามีความสามารถที่ต่างกัน
“อ้าว แล้วเด็กไม่ต่างกันเหรอ อันนี้ผมแอบเถียงในใจ”
ครูยอร์ชจึงเลือกไม่บอกให้ใครเปลี่ยน แต่ใช้วิธีทำให้เห็น และดึงเด็กๆ มาเป็นทีมเวิร์ค จะดีหรือไม่ดี ให้เด็กๆ ส่งเสียงเองดีกว่า
จะมีบ้างที่ได้แลกเปลี่ยนกัน แต่ก็ต้องรอให้ตะวันตกดินไปแล้ว
“จะมีวงเหล้าตอนกลางคืน ที่ผมได้แชร์แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากๆ เลย พอเขาเมา ผมก็ถาม เขาก็ฟัง กลายเป็นว่าวงแบบนี้ช่วยได้เยอะเลย ขณะที่การทำงานแบบนี้ (ภาคปกติ) เราเข้าถึงกันยากจังเลย”
จนถึงวันนี้ คำว่า ‘ครูที่ดี’ ของครูยอร์ช เปลี่ยนแปลงไป
“เป็นครูที่รับรู้ถึงศักยภาพของเด็กว่าเขามีความสามารถเท่านี้ ไม่ไปเค้น หรือบีบคั้นเขามากมาย แต่ทำให้รู้ว่าความสามารถที่เขามีมันไปได้ไกลกว่านั้น”
ครูต้องเล่นบท facilitator หรือ คุณอำนวย ช่วยจัดบรรยากาศให้เด็กๆ อยู่กับครู พร้อมเรียนรู้ไปกับครู ตลอดจนกระทุ้งให้เกิดคำถามใหม่ๆ แง่มุมต่างออกไปจากการเรียนรู้ไปด้วยกัน ย้ำ! ไปด้วยกัน

แต่ครูก็คือมนุษย์ หลายครั้งครูยอร์ชภาคเผด็จการก็หลุดอออกมาบ้าง วิธีจัดการที่ง่ายที่สุดคือยอมรับและขอโทษ
“ทุกวันนี้ก็ยังชินกับความเป็นเผด็จการที่หล่อหลอมตัวเรามา วัฒนธรรมหลายอย่างฝังอยู่ในตัวผม ก็ทำงานกับมัน สู้กับมันไปเรื่อยๆ ผมยังมีความเป็นครูรุ่นใหม่ผสานกับครูรุ่นเก่า ผมว่ามันต้องใช้เวลา และ มันน่าจะเปลี่ยนได้
ทุกครั้งที่ทำพลาด หรือทำผิด เช่น ใช้อารมรณ์กับเด็กจนเกินไป ผมจะบอกตัวเองทุกครั้งว่า เราผิดได้ ไม่ตายๆ ผมกล้าขอโทษ กล้ายอมรับกับนักเรียนว่าเราเป็นแบบนี้ กำแพงที่มีก็ลดลง ไม่ต้องแบกอะไรอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมออกแบบการเรียนรู้ได้ดีมาก (ยิ้ม)”