ในปี 2561 นักเรียนมัธยมปลายไทยกระโดดตึกตาย คาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการถูกล้อเลียนเรื่องสรีระและการเป็นโรคซึมเศร้า ยังมีตัวอย่างอีกมากในหน้าข่าวที่ขอไม่กล่าวถึงให้เป็นที่สลดใจไป
มากกว่านี้ ประเทศไทยมีสัดส่วนการรังแก (Bullying) ในชั้นเรียนสูง อันดับ 2 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยพฤติกรรมการรังแกที่มีมากที่สุด คือ การรังแกทางวาจา เช่น ล้อเลียนให้อับอาย เหยียดหยามดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ จากปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกแก่ผู้ถูกรังแกทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่ผู้รังแกจะมีความเคยชินต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เสี่ยงต่อการก้าวสู่พฤติกรรมอันธพาลและนำความรุนแรงไปใช้ในครอบครัว เกิดเป็นวัฏจักรนี้ต่อเนื่องไป โดยปัญหาหนึ่งที่น่าพึงระวังไปไม่น้อยกว่ากัน คือ มีครูจำนวนมากยังไม่ตระหนักว่าการรังแกกันของนักเรียนในโรงเรียนเป็นปัญหาใหญ่และเมินเฉยต่อเรื่องดังกล่าว
จากปัญหาที่กล่าวในข้างต้นคงทำให้เราต้องย้อนมองว่า
เราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในสังคม จนบางทีกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน
กระทำโดยไม่ใส่ใจถึงผลลัพธ์ของการกระทำอย่างถี่ถ้วนได้อย่างไร
สาเหตุหนึ่งของการรังแกอาจเป็นเพราะสังคมไทยมีรากฐานกรอบความคิดการให้ค่าอย่างแข็งตัว อะไรที่แตกต่างออกไปจะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ทั้งที่ตามหลักพื้นฐานแล้ว ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกประเมินตัดสินจากความต่างดังเช่นที่เกิดขึ้น ดังนั้นแล้วสิ่งหนึ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญ คือการสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ระบบการศึกษา ทุกคนควรได้เรียนรู้และยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีความเคารพในเพื่อนมนุษย์ทั้งเรื่องเพศ ลักษณะทางกายภาพ เชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อไหร่ที่เห็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ควรรู้สึกทุกข์ร้อน ออกมาช่วยเหลือ
ป้องกัน และเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ถูกกระทำ
โดยวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาหานี้ได้ง่าย เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในตนเอง แล้วขยับขยายไปสู่การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม (Transformative Leadership) เช่น กลุ่มเพื่อน ชั้นเรียน และที่ทำงาน ฯลฯ คือการเรียนรู้ตัวตน ลดการรังแก ซึ่ง ครูแขก – จงจิต รื่นภาคทรัพย์ โรงเรียนสมุทรปราการ และครูโบว์ – ลัดดาวรรณ เหล่าเกียรติกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นนทบุรี ครูแกนนำจากโครงการก่อการครู ส่วนหนึ่งของโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหานี้ไว้ในเวทีครูปล่อยแสง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

วิธีการของครูทั้ง 2 คือ การใช้การ์ดเกม Truth Card ซึ่งผลิตขึ้นเอง เป็นการ์ดโจทย์ต่าง ๆ เช่น อธิบายความรู้สึกจากภาพที่เห็น บอกเล่าความฝัน บอกเล่าสิ่งที่กำลังรอคอย เป็นต้น มาเป็นสถานการณ์ให้แต่ละคนได้ลองพูดคุย เปิดใจรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ห้อยแขวนการตัดสินและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น (ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งได้ที่ : วันนี้คุณรับฟังอย่างลึกซึ้งแล้วหรือยัง (Deep Listening)) เพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกันในมุมที่หลากหลายมากขึ้น มุ่งสู่การตระหนักถึงความเคารพในเพื่อนมนุษย์ในระยะยาวต่อไป ก่อนที่จะให้ทุกคนได้ลองใช้เวลาเผชิญกับคำต่าง ๆ หลายสิบคำที่มักถูกนำมาใช้รังแก ทั้งผ่านทางวาจาและการสื่อสารเป็นตัวหนังสือผ่านทางโลกออนไลน์ เช่น หยิก ดำ ตุ๊ด โง่ บ้า คำบางคำอาจเคยเผชิญในฐานะเหยื่อ และคำบางคำอาจเคยสื่อสารออกไปโดยเจตนาและไม่ได้เจตนาที่จะรังแกผู้อื่น หลังจากนั้นจึงให้สะท้อนความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นร่วมกัน ก่อนจะเขียนคำที่ส่งผลต่อตัวเองมากที่สุดไม่ว่าในกรณีไหนก็ตามแล้วขยำคำเหล่านั้นทิ้งไปในกิจกรรม เพื่อก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวดเหล่านั้นไปด้วยกัน
จากกิจกรรมข้างต้นจะเห็นว่า แก่นหลักสำคัญของการลดการรังแก (Bullying) คือ การเคารพในผู้อื่น และตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาที่จะรังแกก็ตาม นอกจากนั้นการเปล่งเสียงความรู้สึกจากภายในของเราออกมา ยังเป็นการสร้างความตระหนักว่าผลกระทบที่เกิดกับผู้ถูกกระทำอาจเป็นเรื่องใหญ่ต่อความรู้สึก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และอาจร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถหวนกลับมาแก้ไขความผิดพลาดได้ แม้การกระทำนั้นอาจเกิดขึ้นจากเพียงการหยอกล้อด้วยความสนุกสนานก็ตาม การรังแก หยุดได้ที่ตัวคุณ (Stop Bullying)