โครงการก่อการครู ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ สรุปบันทึกเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการก่อการครู โมดูล 3 ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ครูปล่อยแสง”
วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2561
ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการก่อการครูดำเนินมาเกือบหนึ่งปี โครงการผู้นำแห่งอนาคต จึงจัดงานครูปล่อยแสง เพื่อชวนครูก่อการรุ่น 1 กลับมาใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันว่า สิ่งที่ได้เดินผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรกับตัวเอง ห้องเรียน ลูกศิษย์ และชุมชน รวมถึงเป็นการส่งต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนมีร่วมกัน เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันในโครงการก่อการครูไปต่อยอด แลกเปลี่ยน และสร้างเครือข่ายเล็กๆ ของตัวเองเพื่อผลักดันให้กว้างไกลออกไป
วันแรก
กิจกรรมแรกหลังจากเปิดเวที กระบวนกรเชิญผู้เข้าร่วมเช็คอินความรู้สึกที่ได้มาร่วมงานด้วยหนึ่งคำหรือหนึ่งท่า ก่อนจะให้จับคู่แบ่งปันเหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำให้ยิ้มได้ มีความสุข และเรื่องราวที่เป็นไฮไลต์สำหรับตนเองในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก่อนจะสะท้อนบอกความรู้สึกหลังจากได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนฟัง
ตามด้วยให้แต่ละคนการวาดภาพและเขียนทบทวนการเปลี่ยนแปลงในสามระดับ คือการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน และความเปลี่ยนแปลงในชุมชนและเพื่อนร่วมวิชาชีพในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา แล้วจึงจับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันเรื่องราวที่เขียนกันในวง พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายกรณี เช่น “เมื่อก่อนเหมือนเป็นคนดึงดูดแต่ปัญหา มองเห็นแต่ปัญหา แต่ตอนนี้รู้สึกว่าสิ่งที่เปลี่ยนข้างในเลยคือ ยิ้มได้ทุกวันที่เจอเด็ก เด็กเข้ามากอดเราได้ ถามเราได้ว่าครูวันนี้จะพาเล่นอะไร เด็กเข้ามาปรึกษาชีวิตครอบครัว แม้แต่เรื่องร้ายๆ ในชีวิตครอบครัวที่เขาไม่กล้าครูกับใคร”
เมื่อสาวลึกไปถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กล่าวโดยสรุปคือโครงการมีกระบวนการที่ช่วยให้คุณครูสำรวจตัวเอง ทบทวนตัวเอง มีเครื่องมือที่หลากหลายให้คุณครูนำไปใช้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการชั้นเรียน ใส่ใจในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่แข็งแรงขึ้น
หลังจากทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในรอบปีแล้ว ช่วงบ่าย เป็นการหารือแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานครูปล่อยแสง รวมถึงจัดบอร์ดนิทรรศการ เตรียมสถานที่ และซ้อมเวที
วันที่สอง
รศ.ดร. อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม เล่าถึงความเป็นมาและแนวคิดความเชื่อของโครงการก่อการครู ตามด้วยการเวที ED Talk ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย โดยคุณครู 5 ท่าน คือ
1. สราวุฒิ พลตื้อ: ห้องเรียนเชื่อมสัมพันธ์ ฉันกับธรรมชาติ
2. ลัดดาวรรณ เหล่าเกียรติกุล: ครูคือพื้นที่ปลอดภัยในใจเด็ก
3. สุรัสวดี นาคะวะรัง: การกลับมาของความสุขที่หายไป
4. ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์: การเป็นครูไม่ควรอยู่อย่างโดดเดี่ยว
5. ศิริพร ทุมสิงห์: ครูคืนชีพ The Teacher Returns
บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงตนเองและชั้นเรียนของตัวเองที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความสุข ให้ความหวังและแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมอย่างมาก ก่อนจะให้ผู้เข้าร่วมเดินชมนิทรรศการครูปล่อยแสง และแยกย้ายกันเลือกเข้าร่วมเวิร์กช็อปที่คณะคุณครูก่อการรุ่น 1 เป็นกระบวนกร 4 ห้อง คือ หนึ่ง Visual Thinking คิดเห็นเป็นภาพ สอง เรียนรู้ตัวตน ลดการรังแก สาม Assessment for Learning Activities สี่ นี่คือฉัน นั่นคือธรรมชาติ
ช่วงบ่าย จึงเป็นเสวนา สะท้อนมุมมองการศึกษาไทย โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัตน์ ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย (TEP) อ.ประชา หุตานุวัตร นักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ที่ทำวิจัยเรื่องการศึกษาหลายเรื่อง และรศ.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
โดยก่อนที่จะเริ่มเสวนา มีการแบ่งกลุ่มย่อยสะท้อนการเรียนรู้ที่ได้ในวันนี้และสิ่งที่ผู้เข้าร่วมจะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา ก่อนจะสะท้อนในวงใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมและวิทยากรฟัง
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัตน์ เห็นว่าระบบการศึกษาไทยกำลังวิกฤติหนัก เพราะไม่ตอบโจทย์โลกในอดีตและอนาคต มีความเหลื่อมล้ำสูง ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก โดยการกระจายอำนาจทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
คุณประชา หุตานุวัตร เห็นด้วยว่าระบบการศึกษาไทยและทั่วโลกกำลังวิกฤต แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การไล่ตามเทคโนโลยีให้ทัน แต่คือการกลับมาหาแก่นสารของความเป็นมนุษย์ การเคารพตัวเอง เห็นเพื่อน พ่อแม่ ครูบาอาจารย์มีความหมาย และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ กล่าวว่าแนวโน้มของโลกคือการกลับมาหา Soft science เรื่องความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เรื่องความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นต้องมี Soft skills บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ และค้นพบตัวเองให้เร็วที่สุด
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี เสนอท่าทีของก่อการครู เป็นสูตร 30-50-20 คือ ใช้พลังงาน 20 % ต่อรองกับระบบ 50 % ดูแลขบวนการ คิดไปให้ถึงแก่นว่าขบวนการก่อการครูจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแบบไหน และอีก 30 % คือการฝึกฝน ใคร่ครวญ ทบทวนตัวเองตลอดเวลา
วิทยากรทุกคนพูดตรงกันว่าเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวของก่อการครูแล้วมีความหวัง แม้ว่าปรากฏการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ส่วนมากจะเน้นเรื่องฝีมือและความเก่งกาจของครูผู้สอน แตกต่างจากก่อการครูที่เริ่มจากใจของครู การเอาความกลัวออกจากครู ค้นหาตัวเองให้เจอว่ามีพลังแค่ไหน หากทำต่อเนื่องกันไปไม่เลิก 10-20 ปี ประเทศไทยอาจปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ
ช่วงเย็น เป็นการเฉลิมฉลองโครงการก่อการครู ให้แต่ละคนนึกถึงคำหรือวลีดี ๆ ที่โดนใจในหนึ่งปีที่ผ่านมา นึกถึง 9 คำหรือ 9 วลี แล้วส่งมอบให้แก่กันและกัน
วันที่สาม
หลังจากแบ่งกลุ่มสามทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร เห็นอะไรที่มีความหมายกับตนเอง แล้วจึงสกัดแก่นสำคัญของการขับเคลื่อน (Movements) ที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยแต่ละคนทบทวนและจับกลุ่มคุยกับเพื่อนๆ เรื่องที่สนใจอยากถอดบทเรียนเพื่อเอามาพัฒนาต่อในอนาคต มี 7 เรื่อง
1. เครือข่ายยาใจครู หาวิธีการกระจายแนวคิดหรือเครื่องมือของก่อการครูรุ่น 1 ไปสู่เพื่อนๆ อีกมากมายแถวบ้านของเราที่ไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการ
2. การศึกษาเพื่อการเยียวยา
3. PLC กับเพื่อนครู ที่ทำให้เกิดอย่างเป็นธรรมชาติ ควรจะมีกฎเกณฑ์หรือทำอย่างไรดี
4. เทคนิคการสร้าง Soft skills ให้กับเด็กๆ
5. PLC กระตุกต่อมครูสูงวัย
6. Plearning Classroom ห้องเรียนที่มีทั้งความเพลินและได้เรียนรู้ และ
7. Boardgame-based Plearning ใช้บอร์ดเกมเป็นหลักในการเรียนรู้
แล้วแบ่งปันความคิดในวงใหญ่ ซึ่งคณะทำงานโครงการจะนำไปหารือความเป็นไปได้ เพื่อนำไปพัฒนาโครงการก่อการครูปีสองต่อไป
สามารถรับชมบันทึกฉบับเต็มได้ ที่นี่