เรื่องเล่าจากค่าย: โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ปีที่ 3
Reading Time: 3 minutes“โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” มุ่งพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษาที่องค์ประกอบต่าง ๆ ผู้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชนล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและสังคม โดยการเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผ่านการพัฒนารายวิชาและระบบการบริหารจัดการวิชาการของโรงเรียน
โครงการปีที่ 3 มุ่งเน้นการพัฒนารายวิชาในลักษณะของสหวิชา (Muti-Disciplinary) ซึ่งเป็นรายวิชาที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ที่เป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 4 รายวิชา ได้แก่ 1) รายวิชาบูรณาการ Science Technology Engineering Art Mathematics (STEAM) 2) รายวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 3) รายวิชาที่ส่งเสริมทักษะชีวิต (Life Skills) ด้านการคิดและเศรษฐศาสตร์ และ 4) รายวิชาที่ส่งเสริมทักษะชีวิตด้านสุขภาวะของนักเรียนและครูผู้สอน และยังเปิดโอกาสให้ครูและนักการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการเป็นโค้ชและพี่เลี้ยง เพื่อช่วยให้ครูและผู้บริหารได้รับคำแนะนำและสนับสนุนในการนำรายวิชาที่พัฒนาขึ้นไปใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือในการบริหารงานโรงเรียน
บทสัมภาษณ์นี้จะพาเราไปพบกับครูสองท่านที่ได้รับบทบาทเป็นครูโค้ชในโครงการนี้ ซึ่งจะมาแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงและเติบโตในฐานะครูโค้ช
ทำความรู้จักกับครูโค้ชทั้ง 2 ท่านกันก่อน
ครูพรทิพย์ ดำรงชัย หรือ “ครูอ้วน”
ปัจจุบันเป็นครูโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ จังหวัดพิจิตร
ครูอ้วนเล่าว่า ตนเองนั้นเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ครูอ้วนประสบปัญหาการสอนฟิสิกส์ให้นักเรียนที่มองว่าวิชานี้ยาก “จริง ๆ ตอนที่ตัวเองเรียน ไม่ได้รู้สึกว่าฟิสิกส์ยาก อาจจะเป็นเพราะว่าตัวเองชอบวิชานี้ก็ได้ เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก จึงพยายามจะบอกเด็ก ๆ ว่าวิชานี้ไม่ได้ยากสามารถเรียนได้ เพราะวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติรอบตัว”
ก่อนเข้าร่วมโครงการ ครูอ้วนจึงหาวิธีการมากมายที่พอจะดึงเด็กให้เข้ามาเรียน แต่เมื่อวิเคราะห์ปัญหาแล้ว ครูอ้วนก็พบว่ามีเด็กหลายคนที่ไม่ได้มาด้วยใจ เหตุที่เลือกเรียนสายวิทย์ฯ เพราะถูกพ่อแม่บังคับให้เลือก เพื่อที่จะได้วุฒิการศึกษาไปสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา จึงทำให้เด็กไม่ค่อยมีความสุขในการเรียนนอกจากนี้ ครูอ้วนยังเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ให้ฟังอีกว่า การที่เธอมาอยู่จุดนี้ได้ เพราะเธอมีแม่ผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้มุ่งมั่นทำสิ่งที่มีคุณค่าและพยายามให้ดีที่สุดในทุก ๆ เรื่อง “แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะพ่อเสียไปแล้ว แม่จึงเลี้ยงลูกทั้ง 5 คน ด้วยตัวคนเดียว แล้วยังสามารถทำให้ลูกยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เรารู้สึกภาคภูมิใจในตัวแม่มาก แม่เข้มแข็งมาก แม่เป็นผู้หญิงที่ดีที่สุดในสายตาเรา เราก็เลยพยายามทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เรามองเห็นคุณค่าในตัวแม่ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเรามุ่งมั่นเราจะเต็มที่อยู่ตลอดเวลา
ครูนิษณา วัลลภ หรือ “ครูนิด”
ครูเกษียณ จากโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ จังหวัดพิจิตร
ครูนิดเล่าว่าก่อนที่เธอจะเกษียณ เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2566 นั้น ตัวเธอเป็นทั้งครูสอนวิชาสังคมศึกษา ครูแนะแนว ลูกเสือ และดูแลงานฝ่ายบุคลากรของโรงเรียน ครูนิดเล่าให้ฟังว่า“เราเป็นคนใช้ชีวิตแบบโลดโผนโจนทะยานมากเลยนะ เพราะตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ชีวิตครอบครัวก็เรียกได้ว่าแตกต่างจากครูอ้วนโดยสิ้นเชิง ที่บ้านทำนา ปากกัดตีนถีบ พ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วย เราก็จะอยู่กับคุณปู่คุณย่า เขาจะสอนให้เราทำงาน สอนให้ดูแลตัวเองให้ได้ แล้วก็ให้เข้มแข็งเพราะที่บ้านมีแต่ผู้หญิงทั้งหมดเลย”
เมื่อจบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ เธอก็ไปต่อชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาไกลถึงจังหวัดสงขลา ช่วงที่เป็นนักศึกษาได้มีโอกาสหางานทำ ออกค่ายอาสาสมัคร ชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรธรรมชาติ เป็นการสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการแนะแนว และนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิชาแนะแนว วิชาสังคมศึกษา และวิชาลูกเสืออีกด้วย
ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ ครูนิดเล่าว่า เธอก็มีความลังเล เพราะเป็นช่วงใกล้จะเกษียณในอีกไม่กี่เดือน “เราก็มีคำถามว่า เราใกล้จะเกษียณแล้ว เราจะเข้าร่วมทำไม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาเข้าร่วมนะ พอมาร่วมกิจกรรมก็ได้นำแนวคิดไปใช้ที่โรงเรียนเลย”
เข้ามาร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้อย่างไร?
ครูอ้วนเล่าว่า หลังจากที่ ผอ.เปิดโอกาสให้โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ตอนแรกตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ และมีคำถามว่าทำไมโรงเรียนจะต้องร่วมการพัฒนา เพราะว่าหลายครั้ง ถ้าพูดถึงการอบรมจะรู้สึกว่าทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในคาบเรียนต้องลดลงตามไปด้วย “ผอ. เลยใช้กุศโลบายว่าปีแรกเราจะเริ่มทำกิจกรรมตอนปิดภาคเรียน จึงทำให้เราได้เข้ามาร่วมโครงการนี้เมื่อช่วงปิดเทอมเดือนเมษายน” ครูอ้วน ยังกล่าวเสริมต่อไปว่า “พอเข้ามาก็เห็นว่ามีมูลนิธิใจกระทิงเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษา มีคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้สนับสนุนทางปัญญา เขาเล็งเห็นว่าจะเปลี่ยนได้ ต้องเปลี่ยนโดยเริ่มที่ครูก่อน เริ่มที่ผู้บริหาร แล้วจึงไปเปลี่ยนที่เด็ก จะไม่เริ่มจากเด็กแล้วมาเปลี่ยนที่ครูแล้วค่อยไปผู้บริหาร นี่คือแนวคิดที่เขาเสนอ”
บทบาทใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรบ้าง เกิดการเรียนรู้อย่างไรและส่งผลต่อใครอย่างไรบ้าง?
“กระบวนการและเนื้อหามีความลึกซึ้ง ทำให้เราได้ลงลึกถึงตัวตนถึงความต้องการภายใน” ครูอ้วนเล่าอีกว่าเมื่อก่อนเวลาสอนก็จะใช้เกม เพราะว่าอยากให้เด็กสนุก แต่ยังรู้สึกว่ากิจกรรมเกมที่ออกแบบยังไม่กลมกล่อมเป็นเนื้อเดียวกัน พอมีโอกาสได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ในโครงการ อย่างเช่นในปีหนึ่งที่เป็นการเรียนรู้ตัวตนของตนเองลึกลงไปที่ตัวตนและความต้องการของตนเองว่าเป็นอย่างไร “เราเลยได้ทบทวนตัวเอง ทำให้นึกถึงฉายาที่นักเรียนเคยตั้งไว้ให้คือ ครูอ้วนจอมดุ ฉายานี้สะท้อนว่าตัวเองใช้อำนาจเหนือผู้เรียนอยู่” ครูอ้วนกล่าว
ครูอ้วนเล่าต่อไปว่า เมื่อได้รับการติดอาวุธจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นระยะ ๆ พอมาปีที่สอง จึงได้ทำโครงการของตัวเอง ทำให้เธอเข้าใจเด็กมากขึ้นรู้ว่าวันนี้เด็กมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร โดยใช้วงล้ออารมณ์เช็คอินก่อน ถ้าสภาพห้องเรียนส่วนมากตื่นตัวพร้อมเรียนรู้ จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น “พอเราดูภาพรวมแล้วถ้าเกิน 90% เราก็ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้ แต่ถ้าต่ำกว่านั้น ก็จะยังไม่สอน จะปรับอารมณ์กันก่อน หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งเราอาจจะใช้เกมที่เด็ก ๆ ชอบ พอถึงท้ายคาบเราก็จะมาสะท้อนกันว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง รู้สึกยังไง อยากจะเรียนอะไรต่อไป” แล้วเธอจึงนำเอาสิ่งที่นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ไปวิเคราะห์และปรับปรุงหรือเพิ่มเติมสิ่งที่นักเรียนสนใจ ครูอ้วนยังปิดท้ายว่า “เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ เด็ก ๆ บอกว่าชอบแนวทางการสอนแบบนี้เพราะรู้สึกสนุก ก่อนหน้านี้คิดว่าวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยาก”
ครูนิดเล่าว่า “เราได้นำกิจกรรมที่อบรมมาใช้ เพราะจริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็สอนในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีแนวคิดหลักการหรือหลักฐานที่จะสนับสนุนว่าสิ่งที่เราทำมันใช่นะ มันเกิดประโยชน์จริง ๆ” ครูนิด ยังยกตัวอย่าง โครงการที่ทำในปีที่ 2 “ฉันปรับ เธอเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน” ครูนิดเล่าให้ฟังต่อว่า “สาเหตุหลักมากจากว่า ในช่วงก่อนหน้านี้จะมีเด็กที่พฤติกรรมไม่ค่อยดี ไม่สนใจอะไรเลย ไม่ช่วยงานใคร พอเราจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เราได้ลงมือปฏิบัติร่วมกับเด็กด้วย มีการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน ร่วมมือกันหาทางออก ใช้การฟังและรับรู้ปัญหาของเด็กแบบตรงไปตรงมา เขาเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว เพราะว่ามีครูคอยคอยเข้าใจอยู่ เด็ก ๆ ก็เปลี่ยนไป มาเข้าเรียนทุกครั้ง แล้วก็เรียนจบด้วย แล้วก็ไปสอบเข้าในระดับอุดมศึกษาตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ได้ อย่างวิศวกรไฟฟ้า หรือหลายคนทำท่าเหมือนจะเรียนไม่จบแต่ก็เรียนจนจบได้” เธอจึงปิดท้ายว่า “พอเด็กเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาก็เลยอยากจะปรับเปลี่ยนตัวเอง”
เมื่อมาถึงปีที่ 3 ขยับมาเป็นครูโค้ชได้อย่างไร?
ครูนิดกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าจะทำให้ทีมงานเห็นแววว่าตนเองจะมาเป็นครูโค้ชได้ น่าจะมาจากการที่ได้มาเข้าร่วมโครงการ แล้วทำให้ตนเองเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาตลอดมันเกิดประโยชน์กับผู้เรียนจริง ๆ “มันก็เลยทำให้เรากลับไปฟื้นความรู้เกี่ยวกับวิชาแนะแนวเดิมที่เคยเรียน กิจกรรมโครงการต่างๆ ที่เราได้เข้าร่วมในโครงการ เรานำไปใช้กับเด็กเยอะมาก ทั้งวิชาแนะแนว วิชาสังคม วิชาลูกเสือและงานบุคลากรในโรงเรียนด้วย”
ครูอ้วน เล่าว่า หากย้อนดูตัวเองใน 2 ปี แรก ตนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ตลอดและชวนครูนิดไปด้วยกัน เพราะสนใจเรื่องเดียวกัน พอร่วมกิจกรรมแล้วก็นำแนวทางไปประยุกต์ใช้ต่อ ทำให้รู้สึกว่าตนเองทำงานมีกระบวนการมากขึ้น และที่สำคัญคือ เมื่อได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังมีแนวทางการวัดและประเมินผล เสมือนว่าเป็นร่องรอยหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเรามาถูกทางแล้ว โดยรวมนั้นเห็นว่าตนเองมีพัฒนาการที่ดีและสม่ำเสมอ
ทำให้โครงการน่าจะมองเห็น แล้วก็เริ่มชักชวนมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ชวนมาทำงานด้วย แล้วก็ชวนมาเป็นโค้ชในที่สุด
พอเป็นครูโค้ชแล้ว มีบทบาทอย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
ครูอ้วน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เธอก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการในฐานะครู แต่เมื่อมาเป็นโค้ชต้องคิดกว้างขึ้นกว่านั้น ว่า ครู นักเรียน ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ปัญหาที่เราได้คุยกัน สิ่งที่เราได้ฟังเขา มันคืออะไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ครูอ้วนจะบอกครูเสมอ คือ “เมื่อมีครูโค้ชหลายคน ทำให้มีมุมมองแตกต่างกัน อยากให้ครูเป็นตัวของตัวเอง มองหาโอกาสและวิธีการที่จะนำไปใช้ได้จริงจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด” อีกอย่างคือ โค้ช ไม่ได้อยู่กับตัวครูตลอด อยากจะให้ครูรู้สึกว่าไม่ปฏิเสธการโค้ช อยากให้ครูเป็นตัวของตัวเอง
นอกจากนี้ ครูอ้วนยังเล่าให้ฟังต่อว่า บางครั้งเธอก็ได้เทคนิคการโค้ชจากเพื่อนครูด้วยกันเอง “อย่างค่ายที่อุตรดิตถ์ มีครูตุ๋ม ครูตู้ (วิภาวดี–สราวุฒิ พลตื้อ) ครูสอญอ (สัญญา มัครินทร์) ไปด้วย เราเลยได้เรียนรู้จากกลุ่มครูที่เรา ชื่นชมวิธีการทำงานและแนวคิด ทำให้ได้ประสบการณ์จากครูโค้ชด้วยกันเอง จากผู้เข้าร่วม จากน้องนักศึกษา จากทีมงาน จากมูลนิธิฯ”
“ณ เวลานี้ พี่ก็เกษียณแล้ว คือเกษียณตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2566 ก็เลยคิดว่าอะไรที่มันอยู่ในตัวเราแล้วมันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นเราจะพยายามทำ แล้วเราอยากจะส่งต่อสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็นหรือว่าสิ่งที่เรารู้ ให้กับคนอื่นในแวดวงวงการการศึกษาได้นำไปประยุกต์ใช้” ครูนิดกล่าว
เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตของตนเองและเพื่อนครูคนอื่นอย่างไร?
ครูนิด สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงว่า “รู้สึกว่าเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำมาตลอด เรารู้สึกว่าวันนี้ได้ยืนยันแล้วว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่มันเกิดประโยชน์จริงๆ” ครูนิด ยังกล่าวต่ออีกว่า “รู้สึกเสียดายถ้าน้องๆ หรือเพื่อนครูคนอื่น อาจจะยังไม่รู้หรืออาจจะยังไม่สนใจ เพราะว่าจริงๆ เขาน่าจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ แล้วถ้าจะให้เรากลับไปสอนแบบเดิมคงจะไม่ย้อนกลับไปแล้ว” ด้วยความที่ว่าครูนิดทำงานกับปราชญ์ชาวบ้าน นักการศึกษา หมออนามัย มูลนิธิที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตร เรื่องพืชผัก เรื่องข้าว และผู้คนหลากหลาย และเธอยังเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจสำคัญมากนั้น มาจากการที่ได้เจอกับคุณหมอวิจารณ์ พานิช ที่งานตุ้มโฮม จังหวัดนครพนม “พอเราได้เจอในครั้งนั้นแล้วก็ประทับใจมาก นำเอากิจกรรมนั้นมาจัดที่โรงเรียนต่อ หลังจากนั้นเราก็มาเจอกิจกรรมของโครงการนี้ ซึ่งมันก็สอดคล้องกันและมันยิ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจ เป็นเสมือนเครื่องยืนยันให้เราได้ว่าสิ่งที่เราทำมาก่อนมันเกิดประโยชน์จริงๆ”
“มันดีตรงที่เรายอมเปิดเซฟโซนของตัวเราเองออก ทำให้เราเริ่มเปลี่ยน เพราะคิดว่าถ้าเราไม่ลองสิ่งใหม่ๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เคยทำไว้แล้วนั้นดีหรือไม่ดี มันจะดีกว่านี้ไหมถ้าเรายอมเปิดตัวเอง มันก็เลยทำให้เราเปิดใจ” ครูอ้วน สรุปทิ้งท้ายว่า “ยอมเปิดตัวเอง ยอมรับฟังคนอื่นมากขึ้น บางทีเราจะได้ยินเสียงที่เขาไม่ได้พูดออกมา”
เรื่อง ปารณีย์ พฤกษาชาติ
นักศึกษาปริญญาเอก LSEd
ภาพ ศุภจิต สิงหพงษ์
ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency