หมวกใบแรกของ ‘แอม-นิธิ จันทรธนู’ คือครูสอนวิชาละครและดนตรีสร้างสรรค์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมวกอีกใบที่ครูแอมมักชอบสวมใส่ คือการเป็น ‘กระบวนกร’ โดยการหอบหิ้วทักษะการละครออกไปท่องโลกกว้าง ผ่านการทำงานกับชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่ชนบทมากมาย ซึ่งตั้งต้นจาก ‘ความอยาก’ ที่จะออกไปเรียนรู้และทำความรู้จักกับนักเรียน ครู โรงเรียน ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากมหานครที่คุ้นเคย

ทว่าในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นภาพความปั่นป่วนของคนในภาคการศึกษา โดยเฉพาะด่านหน้าคือคนเป็นครูที่ต่างพยายามออกแบบ และหาวิธีสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง และเงื่อนไขชีวิตที่เกิดขึ้นในวิกฤติ COVID-19
‘ครูแอม’ ก็มีสภาพไม่ต่างกันนัก ยิ่งโรงเรียนสาธิตมีช่วงเวลาปิด-เปิดเทอมต่างออกไปจากโรงเรียนส่วนใหญ่ ในวันที่โรคระบาดเริ่มลุกลาม โรงเรียนอื่นๆ อยู่ในช่วงปิดเทอม แต่โรงเรียนสาธิตซึ่งครูแอมสอนอยู่นั้น กำลังอยู่ช่วงครึ่งเทอมพอดี มาตรการปิดสถานศึกษาจึงกระทบกับการเรียนของเด็กและการสอนของครูเต็มๆ
“เหลืออีกครึ่งเทอมยังไงก็ต้องสอน” ข้อสรุปเกิดขึ้นบนทางเลือกที่มีไม่มากนัก
บทสนทนาครั้งนี้เป็นการชวนคุยถึงการอพยพครู และพาเด็กไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ บ้านกลายเป็นห้องเรียน สบตากันผ่านกล้อง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนเกิดขึ้นโดยมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นตัวแปร
หากวัดจากตัวเลขผู้ป่วย แม้สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นี่คือความโกลาหลครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น การศึกษาทางไกลในบรรรยากาศไม่ปกติ พวกเขาตั้งหลักกันอย่างไร ความคิด บทเรียน และประสบการณ์ระยะสั้นที่ต้องจัดการกับความยุ่งเหยิงนี้ อาจทำให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นลู่ทางได้บ้าง ว่าเราควรจัดวางท่าทีต่อการออกแบบการเรียนรู้ทั้งระบบอย่างไร
ช่วงต้นของการเกิดโรคระบาด บรรยากาศในโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงแรกๆ โรงเรียนสาธิตฯ ยังมีการเรียนการสอนอยู่ และใกล้จะสอบกลางภาคแล้วด้วย ตอนนั้นโรงเรียนมีกิจกรรม weekly meeting เราก็เอาประเด็นเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสมาคุยกับเด็ก ว่ามันทำงานยังไง ติดต่อยังไง ป้องกันยังไง จากนั้นก็ออกมาตรการเบื้องต้นในการตรวจนักเรียนตอนวิชาโฮมรูม ต้องสวมหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ทำความสะอาดนี่นั่นนู่น ซึ่งตอนนั้นมาตรการคัดกรองยังไม่มี ครูหลายท่านก็เป็นกังวล เหล่าคุณครูส่งเสียงขึ้นไปยังผู้บริหาร จึงได้มีการทำความสะอาดโรงเรียนช่วงเสาร์-อาทิตย์ เป็น big cleaning มีมาตรการคัดกรอง มีการตรวจอุณหภูมิความร้อนก่อนเข้าโรงเรียน
แต่ในคลาสที่สอนนั้นยังเสี่ยงกับไวรัสอยู่เพราะเด็กเขาต้องมารวมตัวกันเยอะ จนสอบกลางภาคเสร็จ เด็กได้หยุดกลางภาค หยุดไปหยุดมาก็ได้ประกาศให้หยุดจริงจังเพราะทางกระทรวงฯ มีประกาศปิดสถานศึกษา
ตอนนั้นการรับมือเป็นอย่างไร
ฝั่งคุณครู พอประกาศให้เด็กหยุดปั๊บ ‘อ้าว! ทำไงดีเหลืออีกครึ่งเทอม’ เพราะสาธิตธรรมศาสตร์จะปิด-เปิดภาคเรียนไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไป ทำหน้าเหวอกันเลย จึงต้องตัดสินใจว่า เอาล่ะ เหลืออีกครึ่งเทอมยังไงก็ต้องสอน ตั้งหลักดีๆ
คุณครูก็ปรึกษากัน ‘ต้องทำยังไงบ้าง’ คุยไปคุยมาก็รู้สึกว่า ถ้าจะทำงานต่อได้ เราต้องมี ‘ทีมประเมินสถานการณ์ฉุกเฉิน’ แล้วมาตรการทุกอย่างที่ออกมาจากทีมนี้จะต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ไปจนถึงประชาคมธรรมศาสตร์ เพื่อให้นโยบายการป้องกันโรคเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำงานบนข้อมูลชุดเดียวกัน

‘เหลืออีกครึ่งเทอม ยังไงก็ต้องสอน’ คราวนี้ถือว่างานหนัก ตั้งหลักอย่างไรบ้าง
พอมีทีมประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินที่ชัดเจน ประเมินสถานการณ์ได้เร็ว วิเคราะห์แล้วเคาะก็ปฏิบัติการเลย ครูก็ช่วยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง ช่วยกันสื่อสารกับนักเรียน ฝ่ายวิชาการก็สื่อสารกับผู้ปกครองว่า ‘โอเค เราจะจัดการเรียนการสอนแบบนี้นะ’
พอประเมินสถานการณ์โควิดของประเทศแล้วว่ามันเอาจริง ไม่ใช่แค่แป๊บๆ แล้วหาย แต่การเรียนการสอนก็ยังต้องไปต่อ ช่วงปิดกลางภาคเราก็เลยได้หน่วงเวลาไปหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ครูออกแบบการสอน ซึ่งช่วงเวลานั้นแหละ ครูก็เริ่มอพยพจากออฟไลน์ไปออนไลน์
ราว 1 สัปดาห์กับการอพยพ เวลาน้อยมากเลยนะ ครูเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
หนึ่ง สำรวจความพร้อมของนักเรียนและบริบทของครอบครัวเด็ก สอง วิเคราะห์ผู้เรียนว่า เขาน่าจะไหวในวิธีการใดบ้าง สาม อพยพไปในแพลตฟอร์มหลักที่เตรียมไว้ สี่ ปรับตารางสอน อาจจะเรียนวันละ 1-2 วิชาแค่นั้น เนื้อหาบางส่วนตัด บางส่วนก็ยังสอน ยุบรวมบ้าง ขมวดความรู้บ้าง ให้พอที่จะสอนได้ในช่วงครึ่งเทอมหลังที่เหลือ ห้า ลุยเลย ตามลีลาของครูที่ก็ต้องเอาตัวรอดกันเอง
การอพยพจากออฟไลน์ไปออนไลน์ไม่ได้แปลว่า การสอนนั้นจะมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ มันต้องตามสภาพ ตามศักยภาพและลูกล่อลูกชนของครูว่าจะพาไปได้แค่ไหน เนื้อหายังไม่ต้องว่ากัน เอาแค่ให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่บ้านแล้วเรียนให้ได้ก่อน
เด็กๆ มีท่าทีอาการอย่างไร
เด็กๆ ช็อกนะ เพราะว่าบ้านมันถูกเซ็ตติ้งไว้เป็นที่สำหรับพักผ่อน แต่วันหนึ่งมันต้องเป็นที่สำหรับเรียนหนังสือ จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก ครูเองก็ต้องเปลี่ยนความคุ้นเคยเดิมหมดเลย ช่วงแรกยากมาก เด็ก ม.1-ม.3 ก็จะงอแงต่างกันไปตามระดับ พักใหญ่เลยจึงค่อยๆ เข้าที่ เด็กขาดลามาสายอะไรบ้างก็ว่ากันไป แต่ระบบที่โรงเรียนใช้เพื่อติดตาม ก็จะเป็นระบบครูประจำชั้น ที่จะคอยติดตามงานนักเรียน ตามเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ก็จะมีความโกลาหลกันบ้างในช่วงแรก
เด็กหลายคนบอกว่า ‘ครูหนูไม่ได้นอนเลย’ เพราะอยู่ที่บ้านเขาก็มีภารกิจต้องรับผิดชอบ ก็เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเด็กนะ แต่เราก็บอกเด็กเสมอว่า ‘นักเรียน นี่คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่เป็นไร เหนื่อยก็พักสักแป๊บนึง’
โรงเรียนสาธิตฯ นั้นถือว่ามีปัจจัยที่ค่อนข้างพร้อม แต่ถ้ามองไปยังภาพใหญ่ของโรงเรียนทั่วประเทศ ครูแอมเห็นภาพแบบไหน
โห! โรงเรียนทั่วประเทศอีก 30,000 กว่าโรง ถ้าจะออนไลน์ก็ตายสิ คนจนไม่ต้องเรียนกันพอดี โทรทัศน์ โทรศัพท์ก็ไม่ได้มีทุกคนทุกบ้าน ดังนั้น ออนไลน์อาจจะเป็นช่องทางในยุคสมัยนี้ก็จริง แต่มันสร้างช่องว่างค่อนข้างเยอะระหว่างเด็กที่มีกับไม่มีอุปกรณ์
เราลองไปค้นดูเหมือนกันว่า ตกลงการเรียนการสอนแบบนี้มันเรียกว่าอะไร พบว่าจริงๆ แล้ว การเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบออนไลน์เป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ทรงพลัง
เด็กไม่ได้พร้อมออนไลน์ทุกคน มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้มีทุกบ้าน แล้วบางทีบ้านก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ครูจะตั้งหลักอย่างไรกันดี
สิ่งแรกที่ต้องคิดนั้นไม่ใช่การเลือกว่าครูจะใช้สื่ออะไร อันดับแรกเลยต้องวิเคราะห์ผู้เรียนก่อน แล้วไปวิเคราะห์บริบทชุมชนว่าเขาพร้อมสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ขนาดไหน ต้องวิเคราะห์ทุกอย่างที่เป็นต้นทุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งการเรียนที่กำลังทำกันอยู่นั้น อย่าเอาออนไลน์อย่างเดียว เด็กตายแน่ๆ เรามีเด็กที่ไม่พร้อมในประเทศนี้มากมาย
ทางออกหรือตัวเลือกสำหรับคนที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์เป็นอย่างไร
เรารู้สึกว่า คุณครูหลายคนมีกำลังใจที่ดี เขามองเรื่อง COVID-19 เป็นสิ่งที่ต้องป้องกัน นั่นถูกต้อง แต่เขาก็มองเรื่องของเด็กมากกว่า และมีโมเดลเรียนรู้เกิดขึ้นเยอะมากเลย เช่น ครูทางใต้เสนอไอเดียรถพุ่มพวง เหมือนรถที่บรรทุกกับข้าว ห้อยถุงพริกกระเทียมนั่นนี่โน่น แต่เขาเปลี่ยนจากกับข้าวเป็นสื่อการสอน พอครูแถบอีสานมาเห็นไอเดียนี้ก็หยิบยืมไปใช้ในบริบทโรงเรียนของตัวเอง
จริงๆ แล้ว โมเดลเดิมๆ ของการศึกษานอกโรงเรียนอย่าง กศน. ก็เคยทำเป็น ‘Book Bike ซาเล้งรักการอ่าน’ ขับไปถึงชุมชนปุ๊บ ตั้งซุ้มจัดกิจกรรมให้เด็กอ่านหนังสือ มันเคยมีโปรเจ็คต์หน้าตาประมาณนี้เกิดขึ้น ซึ่ง… เฮ้ย อันนี้เป็นไปได้
ความท้าทายที่ครูต้องเผชิญมีอะไรบ้าง
ครูต้องตีโจทย์ตัวเองให้แตกว่า จะเอาอะไร อย่าเพิ่งตีกันเองนะครับ ครูต้องอดทนมากเลย และผู้บริหารโรงเรียนนั้นต้องเป็นกองหนุนที่ดี ซึ่งพอครูตีโจทย์แตกแล้วว่าจะเอาอะไรบ้าง ก็ต้องมาอ่านชุมชนให้ออกว่า เมื่อเด็กในชุมชนต้องพึ่งพาโรงเรียน ทำยังไงจะรอด ใช้วิธีไหนดี โดยการไป empathize (ทำความเข้าใจ) และ analyze (วิเคราะห์) ผู้เรียนว่า เขาพร้อมระดับไหน ถึงจะได้รู้ว่าเราจะสอนเขายังไง ถ้าเอาสื่อเป็นตัวตั้งแล้วไม่ไปถามเขาว่าพร้อมหรือไม่พร้อม ก็ยาก แต่ถ้าในภาพใหญ่ของการศึกษา ก็อาจจะต้องเตรียมบางสิ่งที่สำเร็จรูปไว้พอสมควร สิ่งสำคัญคือ จงเปิดให้ครูได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วครูลองไปเดินในชุมชนที่ตัวเองอยู่ เขาอาจได้ยินเสียงจากผู้ปกครองที่ส่งถึงครู เสียงของผู้ปกครองสำคัญมากนะ
ครูรับบทหนักมากในสถานการณ์แบบนี้?
ใช่ ก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ ทำให้เด็กอยู่ได้ก่อนแล้วเดี๋ยวเขาจะเรียนได้เอง ถ้าเด็กยังใช้ชีวิตไม่ได้ ยังอยู่กับความกลัว เขาจะเรียนได้ยังไง ในช่วงเวลานี้ ครูเหมือนเป็นคนที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องทำนี่นั่นโน่น ทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ว่า ‘ทำไมต้องให้ลูกฉันทำแบบนี้ บ้านฉันไม่ได้พร้อมนะ’ ครูต้องเป็นด่านหน้า รับศึกหลายด้านเหมือนกัน
ดังนั้น การทำความเข้าใจ สำรวจและวิเคราะห์เด็กก็จำเป็น ที่สำคัญคือการวิเคราะห์และเข้าใจชุมชนด้วย เพราะก่อนที่เราจะดีไซน์ หรือรีดีไซน์กระบวนการเรียนการสอนทางไกลของเราด้วยวิธีการหรือช่องทางใดๆ ก็ตาม ต้องกลับไปดูเด็ก ดูชุมชน ดูพ่อแม่ แต่อย่าลืมนะครูต้องกลับมาดูแลตัวเองด้วย
ครูเองก็มีความพร้อม มีทักษะ และช่วงวัยที่ต่างกัน การจะสร้างความร่วมไม้ร่วมมือในสภาวะแบบนี้ ครูต้องยืนอย่างมั่นคงบนฐานคิดเช่นไร
ตอนนี้ครูต้องรักษาใจในแดนบวก มันล้มได้ง่ายมาก คุณครูยุคใหม่อย่าเพิ่งไปกล่าวโทษคุณครูยุคเก่านะ ส่วนครูยุคเก่าก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเราทำไม่ได้ เราเชื่อว่าครูทุกคนมีศักยภาพ มีอะไรใหม่ๆ เราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับครูรุ่นใหม่เพื่อช่วยให้เด็กรอด
วิธีการนั้น นอกจากการแบ่งกลุ่มของเด็กที่พร้อมกับไม่พร้อมเรียนออนไลน์แล้ว การแบ่งครูที่มีทักษะต่างกันให้กระทำการต่างกันก็ทำได้ ในโรงเรียนหนึ่ง ไม่ได้มีเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อมออนไลน์ ถ้าครูคนนี้ไม่พร้อมออนไลน์ ก็สามารถเดินทางไปหาเด็กได้ แต่แน่นอนว่าต้องรักษาระยะห่างด้วย ไม่อยู่ใกล้เกินไป หรือจะโทรหาเด็กก็ได้นะ ใช้วิธีการตามความถนัดเลย

ความน่ากังวลของการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กที่มีความแตกต่างกันนั้นมีอะไรบ้าง
ผมคิดว่าที่น่าห่วงคือ เด็กกลุ่มเปราะบางมากกว่า เช่น กลุ่มเด็กพิเศษ เด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กนั้น ครูอนุบาลอาจจะต้องกลับมาจินตนาการให้ได้ว่า ถ้าเราจะฝึกสมรรถนะเขาเรื่องนี้โดยที่ให้เขายังอยู่ที่บ้าน เขาน่าจะมีอุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วให้เขาลองทำ สำหรับเด็กอนุบาลนั้นต้องยอมรับว่าพ่อแม่อาจลำบากหน่อย ดังนั้นต้องช่วยกัน เช่น ครูมีตารางมาไว้ให้เด็กและผู้ปกครอง ตอนเช้าตื่นมาโทรหาครู รับภารกิจจากครูไปทำกับพ่อแม่ ครูก็ต้องออกแบบว่าอะไรที่เป็นภารกิจในการเรียนรู้ได้บ้าง ออกแบบให้ครอบคลุมทั้งของเด็กที่มีความพร้อมมาก พร้อมน้อย และไม่พร้อมเลย
ส่วนเด็กประถมก็อาจทำอีกแบบ ตอนนี้ยังเรียนกับทีวีได้อยู่ แต่อาจสลับมาโรงเรียนกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้วยก็ได้นะ โรงเรียนยังเป็นที่พึ่งของเด็ก อย่าเพิ่งคิดว่า พอสอนทางไกลแล้วโรงเรียนทำอะไรไม่ได้ บางโรงเรียนที่มีความพร้อมตามประกาศของกรมควบคุมโรคก็ยังเปิดทำการได้นะ และพอได้วิถีแนวทางที่คิดว่า อันนี้แหละ ชุมชนเรารอด เด็กเรารอด พอเปิดเทอมก็สามารถรันต่อได้ แล้วพอเจออะไรติดขัดก็ปรับกันได้อีกเช่นกัน
พ่อแม่ที่เขายังต้องหาเช้ากินค่ำ เขาเหล่านั้นจะสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกหลานได้อย่างไรบ้าง
ตอบยากมาก คือเวลาเราวิเคราะห์ผู้เรียนและชุมชนแล้ว ทำให้มันเป็น data analyst ซึ่งจริงๆ โรงเรียนมีข้อมูลอยู่แล้ว เอาข้อมูลนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ถ้าข้อมูลนั้นยังไม่ได้อัพเดต ก็ทำให้อัพเดต ทำตอนนี้ก็ได้ว่าบ้านแต่ละหลังพร้อมแบบไหน แล้วแบ่งความพร้อมเป็นระดับ พร้อมระดับนี้ ใช้วิธีการนี้ พร้อมระดับนั้น ใช้วิธีการนั้น ครูจะเหนื่อยหน่อยนะ เพราะด่านหน้าของ COVID-19 ถ้าเป็นหน่วยสาธารณสุข ก็คือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แต่ด่านหน้าของการศึกษานั้นคือครู ตอนนี้ถึงตาคุณครู และผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว
ทรัพยากรหรือต้นทุนที่มีอยู่นั้น มองข้ามไม่ได้เลยในสภาวะแบบนี้
ใช่ ต้นทุนทุกส่วนมองข้ามไม่ได้เลย สมมุติว่าโรงเรียนเปิดไม่ได้ แนวคิดโรงเรียนใต้ต้นไม้ โรงเรียนริมทุ่ง โรงเรียนในสวนยาง ทำได้ไหม คุณครูอาจขับรถบรรทุกหนังสือไปสอนนักเรียนแบบคละชั้น มีภารกิจใบงานเฉพาะให้เด็กแต่ละคน อะไรประมาณนี้ก็ทำได้ แล้วแต่บริบทของโรงเรียน
ครูอาจเตรียมสื่อการสอน หรือเทคโนโลยีการศึกษาที่เป็นชุดการสอน แบบฝึกหัด ใบงาน หรือชุดการทดลองก็ดี เครื่องมือเหล่านี้ครูเข้าถึงได้มากกว่าเด็ก ก็สามารถปรินท์ออกมาสีสวยๆ ให้ดึงดูด ถ้าไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือฉายโปรเจ็คเตอร์ งานฝีมือก็ต้องมา หุ่นมือ หุ่นผ้า เล่านิทาน ของพวกนี้ใช้ได้หมด หรือถ้าชุมชนมีความพร้อม ก็รวมเด็กให้มานั่งห่างๆ กัน ปูเสื่อคนละผืน นั่งใต้ต้นไม้ จะเห็นได้ว่ามีวิธีที่หลากหลายมากเลย ซึ่งตรงนี้ต้องให้กำลังใจ และให้พื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ของครูออกแบบได้เอง
ครูอาจจะต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้นกว่าการทำงานแบบเดี่ยวๆ ด้วย?
อันดับแรก ครูต้องเห็นตัวเองก่อน รับรู้ศักยภาพของตัวเอง และอย่าเพิ่งไปเอาชนะคะคานกับเรื่องนี้มากนัก เรียนได้ไม่เต็มที่เหมือนเมื่อก่อนก็ช่างมัน ไม่เป็นไร เอาให้ปลอดภัยและมีชีวิตรอดเป็นพื้นฐานก่อนก็พอ เพราะถ้าเขามีชีวิตอยู่ไม่ได้ ก็เรียนไม่ได้เหมือนกัน
บางครั้งแทนที่จะคิดเรื่องเรียน เด็กต้องคิดเรื่องอาหารด้วย อยู่บ้านไม่มีอาหารกิน เด็กบางส่วนต้องมาฝากท้องที่โรงเรียน นี่คือข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น นั่นแปลว่าต้องกลับไปดูแนวปฏิบัติที่รัฐบาลว่าไว้ ว่าถ้าพื้นที่ไหนยังไม่เสี่ยงขนาดนั้น โรงเรียนทำอะไรได้บ้าง คุณครูทำอะไรได้บ้าง แล้วสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ตอนนี้ถือเป็นนาทีทองในการโชว์ศักยภาพของท่านว่านี่แหละ การบริหารการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ท่าทีของผู้บริหารสถานศึกษาในสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าสำคัญมาก?
วัฒนธรรมการบริหารการศึกษาในประเทศไทยยังเป็นแบบสั่งการ และใช้อำนาจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราเชื่อนะว่าทุกคนอยากทำเพื่อเด็กๆ แต่ว่าวิธีคิดเชิงระบบในการบริหารงานมันสร้างให้เกิดความกลัวเชิงอำนาจค่อนข้างเยอะ และมีอำนาจที่จะชี้ผิดชี้ถูกชี้เป็นชี้ตายได้ ถ้ากระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ก็จะทำให้เดินต่อลำบาก ผลกระทบที่ใหญ่กว่าผู้บริหารโดนก็คือเด็กไม่รู้กี่คนที่โดนด้วยเหมือนกัน
การกลับไปดูผู้เรียนและชุมชนของเรา แล้วทำความเข้าใจเขา โดยเฉพาะการสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองจึงสำคัญมากเลย เพราะต้นทุนที่ดีของชุมชนคือความสัมพันธ์ที่โรงเรียนได้ถักทอกับคุณพ่อคุณแม่ไว้ เมื่อความสัมพันธ์ดี เราก็จะมีความเข้าอกเข้าใจ ทั้งปัญหาที่โรงเรียนแบกรับในเชิงวัฒนธรรมอำนาจในการบริหารงาน หรือปัญหาที่ครูต้องเจอ

ในวิกฤตินี้พอจะมีอะไรที่เห็นเป็นแง่บวกบ้างไหม
มีภาพบางอย่างที่ปรากฏขึ้นมาชัดเลยว่า การบริหารโดยสร้างวัฒนธรรมอำนาจนั้น ทำให้มีปัญหาติดขัดบ้าง ซึ่งเห็นดีกว่าไม่เห็น และพอเห็นแล้วก็น่าจะรู้ว่าต้องคลี่คลายยังไง คิดว่าหลายหน่วยก็ต้องค่อยๆ คลี่คลายนะครับ พยายามทำให้โรงเรียนเปิดทำการได้
ต่อมาคือ พอเกิดสภาวการณ์ที่ครูไม่คุ้นเคยและรู้สึกสดใหม่มากๆ ทำให้เราได้ขยายกรอบของการทำงานบางอย่าง ทำให้ครูต้องคิดทะลุกรอบอันเดิมออกไป เกิดโอกาสในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ได้กลับมาทบทวนบทเรียน แม้มันอาจไม่ได้มีอันไหนดีที่สุด แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เราเห็นกว้างขึ้น เราอาจเคยปรามาสสิ่งที่ใครๆ พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ว่า ‘เป็นไปไม่ได้หรอก’ แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน เราเห็นวงที่กว้างขึ้น ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งที่บางคนพูดและพยายามขับเคลื่อนอยู่นั้น เฮ้ย มันเป็นไปได้นะ มันเป็นไปได้จริงๆ
ดูเหมือนว่าขนาดและบริบทของโรงเรียนเป็นตัวแปรที่ทำให้การจัดการนั้นยากง่ายแตกต่างกัน
โรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนอาจจัดการง่ายกว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่ที่ครูต้องทำงานกับนักเรียนจำนวนเยอะ และอยู่ในชุมชนที่มีประชากรแฝง เพราะไม่เห็นภาพความเป็นชุมชน ไม่เห็นว่าครูจะสื่อสารกับเด็กจำนวนเยอะๆ อย่างไร อันนี้ก็จะยาก ก็ต้องกลับไปดูว่า แล้ววิธีการหลักที่กระทรวงศึกษาธิการเอื้ออำนวยให้คืออะไร ประยุกต์ใช้ได้แค่ไหน ประสิทธิภาพของโรงเรียนจะไปช่วยเสริมอะไรได้บ้าง คิดว่าโรงเรียนที่มีโจทย์ยากที่สุดจะเป็นโรงเรียนลักษณะแบบนี้
คิดว่าวันเปิดเทอมจะเกิดอะไรขึ้น
น่าสนุกนะ แต่นึกไม่ออกเลย (หัวเราะ) วันเปิดเทอมจะเกิดอะไรขึ้น จะโกลาหลแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่า หนึ่ง ก่อนเปิดเทอมคุณครูเตรียมตัวดีแค่ไหน แผนปฏิบัติการที่เราเตรียมนั้นคิดได้ครบทุกประตูหรือเปล่า ถ้ามีเด็กหรือผู้ปกครองคนไหนที่รู้สึกว่า เขาไม่ได้รับการเหลียวแล แล้ววันหนึ่งเขาส่งเสียงขึ้นมา ต้องฟังเขานะ แล้วต้องปรับแผนทันที
สอง อย่าสอนทั้งหมดที่จะต้องสอนในเวลาปกติ ตอนนี้มันไม่ปกติ ต้องกลับไปดูเป้าหมายของการเรียนรู้ วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นๆ ถ้ากิจกรรมนี้มันพอจะพาไปถึง ก็พาไป แต่ถ้ามันได้เท่านี้ ภายใต้ข้อจำกัดที่มี ก็ต้องเท่านี้ ครูอย่าเฆี่ยนตีตัวเองมากนัก เดี๋ยวจะทุกข์กันเปล่าๆ ครูต้องรักษาใจของตัวเองมากๆ และถ้าครูสว่าง เด็กๆ จะสว่างตามคุณครู
แล้วครูแอมล่ะ พร้อมไหมในวันเปิดเทอม
เรามีการอุ่นเครื่องก่อนเปิดเทอมมาแล้ว และคิดว่าช่วงก่อนเปิดเทอมนั้น หลายๆ โรงเรียนต้องวอร์มเครื่องก่อน เครื่องฟิตสตาร์ทติดง่ายนะ ไม่ใช่ไปสตาร์ทตอนเปิดเทอมเลยนะ เดี๋ยวหัวเทียนจะบอดเอา
ลองหยั่งสนามเราดูสิว่า ทำแบบนี้เด็กโอเคไหม ลองออนไลน์ดูว่าผู้ปกครองมีส่วนร่วมได้ไหม ถ้าออนไลน์ไม่ได้ ลองเอารถโมไบล์ขนสื่อการสอนติดเครื่องกระจายเสียงประกาศดูไหม ถ้าได้รอยยิ้มนั่นก็สำเร็จแล้วเหมือนกันนะ หรือหอกระจายข่าวชุมชน วิทยุชุมชน โทรทัศน์ ทุกอย่างที่เราเคยบอกว่าเชย โบราณ ดูไม่ล้ำยุค แต่มันยังเป็นสื่อที่คนเขาใช้กันอยู่ ก็ต้องดูว่าชุมชนไหนใช้สื่ออะไร บางชุมชนตื่น 7 โมงเช้าเพราะวิทยุชุมชนนะ ยังมีชุมชนลักษณะนี้ไม่น้อย ลองเล่นกับมิติของชุมชนแบบนี้ แล้วลองปั้นบทเรียนของเราขึ้นมาใหม่จากของเดิมที่มี ทำให้เหมาะกับวิธีการที่ครูเลือก
หวั่นใจกับหน้างานที่ต้องเจอในวันเปิดเทอมไหม
สำหรับที่โรงเรียนสาธิตฯ เรายังมั่นใจนะ เพราะเราเชื่อในกระบวนการ พอเปิดเทอมจริงๆ จะเจออะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ค่อยว่ากัน เพราะหน้างานต้องใช้ทักษะอีกแบบหนึ่งนะ แต่แผนการสอนที่เราเตรียมกันมานั้นทำให้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย ว่าอย่างน้อยเรามีการสื่อสารกับผู้ปกครองมาก่อน มันจะไม่เกิดความระส่ำระสาย ตีโพยตีพาย หรือกังวลว่าโรงเรียนจะจัดการศึกษาให้ลูกเขาไม่ได้
อย่างไรก็ตาม วิธีการของโรงเรียนสาธิตฯ นั้นไม่ใช่โมเดลที่เลิศหรู แต่เป็นโมเดลที่เราทำงานตามบริบทของโรงเรียน เราสะดวกแบบนี้ ความพร้อมของโรงเรียนเป็นแบบนี้ แล้วโรงเรียนของคุณครูท่านอื่นๆ ล่ะ มีความพร้อมแบบไหน ความพร้อมนั้นมีกี่แบบ อาจจะต้องแบ่งทีมกันทำงาน

เช่น?
สมมุติเเบ่งออกเป็น ทีมจรยุทธ์ ลงสำรวจชุมชนโดยเว้นระยะห่าง ทีมโรงเรียนใต้ต้นไม้ ทีมรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ ทีมรถ Book Bike ทีมออนไลน์เตรียมการสอนอยู่บ้านสวยๆ ทีมอยู่โรงเรียนแล้วให้เด็กเวียนกันมาเป็นกลุ่มเล็กๆ ทีมห้องครัวให้เด็กวนมาตักอาหารทีละ 10 คน ตักเสร็จแล้วกลับบ้านเลย หรือทีมส่งข่าวตามบ้าน ถ้าเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ ครูก็เอ้า…ลงไปหาเด็กเลย อะไรแบบนี้
ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ความพร้อมก็แตกต่างกัน พอวิเคราะห์ผู้เรียน วิเคราะห์ชุมชนแล้ว อาจต้องวิเคราะห์โรงเรียนด้วยว่า กำลังเรามีขนาดไหนที่เหมาะจะใช้วิธีไหนกับเด็กของเรา
สรุปแล้ว ครูแอมพร้อมใช่ไหม
พร้อมครับ! (หัวเราะ)