ก่อการครู – Korkankru

บัวหลวงก่อการครู

ถ้าหากครูมีเวทมนตร์ – เสกการเรียนรู้ที่มีความหมายสู่หัวใจของนักเรียน

Reading Time: 3 minutes ย้อนไปในความทรงจำ เราต่างมีครูอยู่บางประเภทที่ไม่ได้มีวิธีการสอนแปลกใหม่ ครูคนนั้นมีเทคนิคการสอนเรียบง่าย แต่ว่ากลับสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของนักเรียนได้ไม่ยาก และนักเรียนก็รู้สึกว่าครูคนนี้มีบางสิ่งที่น่าประทับใจ เราจะรู้สึกปลอดภัยทุกครั้งเมื่อครูปรากฏอยู่ตรงหน้า Jul 11, 2022 3 min

ถ้าหากครูมีเวทมนตร์ – เสกการเรียนรู้ที่มีความหมายสู่หัวใจของนักเรียน

Reading Time: 3 minutes

ย้อนไปในความทรงจำ เราต่างมีครูอยู่บางประเภทที่ไม่ได้มีวิธีการสอนแปลกใหม่ ครูคนนั้นมีเทคนิคการสอนเรียบง่าย แต่ว่ากลับสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของนักเรียนได้ไม่ยาก และนักเรียนก็รู้สึกว่าครูคนนี้มีบางสิ่งที่น่าประทับใจ เราจะรู้สึกปลอดภัยทุกครั้งเมื่อครูปรากฏอยู่ตรงหน้า

ซึ่งในบทความชิ้นนี้ และในห้องเรียนที่เรากำลังจะพาทุกคนไปรู้จัก เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เวทมนตร์ของครู’ 

‘เวทมนตร์ในที่นี้ไม่ใช่มิติลี้ลับ’ แต่คือพลังในตัวครูที่ดำรงอยู่ และยังไม่ถูกรับรู้ว่าสิ่งนั้นคือเวทมนตร์ กระทั่งหลงลืมเวทมนตร์ที่ตนมี 

เราจึงชวน ครูจ๊อย-ดร.ปวีณา แช่มช้อย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครเพื่อการเรียนรู้และพิธีกรรมศึกษา และครูโจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร วิทยากรและกระบวนกรด้านการศึกษา มาพูดคุยในประเด็นที่ว่าด้วยการพัฒนาเวทมนตร์ในตัวครู เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน ไปจนถึงภูมิทัศน์ของระบบการศึกษาไทยที่ครูจ๊อยบอกกับเราว่า ความคาดหวังที่จะผลิตผู้เรียนให้ออกมาเหมือนๆ กันนั้น กำลังทำลายมิติความเป็นมนุษย์ของนักเรียนและครู ให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ไร้ชีวิตชีวา

เวทมนตร์ในความหมายของห้องเรียนนี้คืออะไร 

ครูจ๊อย: มันเป็นเรื่องคุณภาพภายในของครูแต่ละคน ซึ่งครูแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน แต่ว่าครูที่มีเวทมนตร์และใช้เวทมนตร์ของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว และตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของเวทมนตร์ของตัวเอง ว่า ตัวเองนั้นมีดีอะไรที่นำมาใช้ในการสอน ในการดูแลผู้เรียน แล้วมันได้ผลที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ผู้เรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครู และผู้เรียนสามารถบรรลุผลการเรียนของตัวเองได้ 

เวทมนตร์ที่ว่านี้มันคือตัวตน ไม่ใช่เทคนิคการสอน? 

ครูโจ้: ไม่ใช่เทคนิคการสอน แต่เป็นเหมือนการใช้พลังภายในของครูมาสร้างการเรียนรู้ มันค่อนข้างจิตวิญญาณนะ เพราะส่วนใหญ่แล้วการศึกษามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโตของผู้เรียนในเชิงความรู้และทักษะ แต่การที่จะให้เด็กเติบโตทางจิตวิญญาณไปด้วยนั้น มันต้องใช้เวทมนตร์ ซึ่งก็คือการใช้คุณภาพภายในของครูเท่านั้นที่จะหล่อเลี้ยงการเติบโตของเด็กได้ 

ครูจ๊อย: เรามองว่าเวทมนตร์มันคือความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน ครูกับครู หรือนักเรียนกับนักเรียนอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ในห้องเรียนด้วย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับตัวเองด้วย ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนรู้ 

ทำไมวิชานี้จึงจำเป็นกับครู

ครูจ๊อย: เรารู้สึกว่าปัจจุบันนี้ ทั้งสังคม และระบบอำนาจบางอย่างกำลังเรียกร้องให้ครูทำอะไรหลายๆ อย่างที่มันเยอะแยะไปหมด เรียกร้องให้ครูเป็นยอดมนุษย์ ครูต้องสอนเด็กจำนวนมาก และครูต้องทำได้ตามตัวชี้วัดทั้งหมด และนักเรียนของครูจะต้องประสบความสำเร็จตามที่เขาบอก 

ทุกคนจะชอบพูดว่า ‘ขอให้ครูกลับมาดูจิตวิญญาณของการเป็นครู’ แต่จิตวิญญาณของครูมักถูกตีความว่า ครูต้องเป็นคนดี ต้องมีจริยธรรมจรรยาเพียงพอที่จะพาให้นักเรียนมีจริยธรรม ครูต้องเสียสละ ครูต้องละทิ้งความสบายส่วนตน แต่ไม่มีใครกลับเข้ามาดูเลยว่า ที่เขาเป็นครู เขาเป็นเพราะอะไร ที่เขายังอยู่ตรงนี้ สอนหนังสือ และยังไม่ไปไหน มันมีแรงขับเคลื่อนอะไรอยู่ข้างใน 

เราคิดว่าไฟของการเป็นครูนั้น ต้องการการหล่อเลี้ยง ถ้าครูค้นพบเวทมนตร์ของตัวเอง เขาก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า เหตุผลหรือคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของครูคืออะไร แล้วเขาจะสามารถกลับไปจุดไฟในตัวเขาเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงการทำงานของเขาได้ตลอด มันจะมาคู่กับการค้นพบเวทมนตร์ อันนี้คือสิ่งที่การศึกษาไทยน่าจะขาด ขาดการมองเห็นและชวนครูกลับเข้ามาดูไฟของตัวเอง 

วิชานี้ลำเลียงความเข้าใจไปสู่ครูอย่างไรบ้าง 

ครูจ๊อย: ช่วงต้นเราพาเหล่าครูไปเรียนรู้ภาวะในการดำรงอยู่ในห้องเรียนผ่านประสบการณ์ทางกาย ให้เชื่อมโยงว่า ประสบการณ์ทางกายที่เขาเรียนรู้จากการทำกิจกรรมนั้น พอมันไปเชื่อมโยงกับห้องเรียนของเขา ความรู้สึกแบบนี้มันมีตอนไหน เพื่อให้เขานึกออกว่า ‘อ๋อ ภาวะที่เขาอยู่กับผู้เรียนจริงๆ ขณะสอนหนังสือนั้น มันเป็นอย่างไร รู้สึกประมาณไหน’ ซึ่งเชื่อแน่ว่าครูแต่ละคนมี หลังจากนั้นเราค่อยพาเขาไปเรียนรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ตอนไหนที่เขาเคยใช้เวทมนตร์แล้วมันได้ผล ผ่านการพูดคุย เรื่องเล่าของแต่ละคน

จากนั้นเราจะพาเขาไปค้นหาคุณสมบัติภายในที่เขามองว่า เป็นจุดแข็งของเขาผ่านการเลือกรูปภาพที่เป็นนามธรรมหน่อย แล้วดูซิว่า เขาอธิบายหรือให้ความหมายกับรูปนี้ว่าอย่างไร มันตรงกับตัวเขาในฐานะคุณครูอย่างไร จากนั้นให้เลือกคำที่แทนตัวเขาในฐานะที่เป็นครูได้ดีที่สุด 

พอเขาเห็นแบบนี้ปุ๊บ ก็จะเริ่มนึกออกรางๆ แล้วล่ะว่า เวทมนตร์ไหนที่ฉันใช้ประจำและมันได้ผล สามารถเอานักเรียนอยู่ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและพานักเรียนไปเรียนรู้ได้ กระทั่งค้นพบเวทมนตร์ของตัวเอง

จากนั้นเราจะมีพิธีกรรมเฉลิมฉลองเวทมนตร์ที่ทุกคนค้นพบในช่วงค่ำ และมองดูซิว่า ในฐานะที่เราก็เคยผ่านการเป็นผู้เรียนมา ไปจนถึงช่วงชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นเด็กจนมาเป็นครูนั้น เวทมนตร์ที่มีมันค่อยๆ สั่งสมมาเป็นตัวเราได้อย่างไร 

วันถัดมาเราก็จะพาครูไปเรียนรู้คาถา คือการรักษาสมดุลธาตุในห้องเรียน เพราะเรารู้แล้วว่าคุณภาพภายในที่ดีของเราคืออะไร แล้วเวลาที่เราอยู่ในห้องเรียน เราจะใช้อย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้าง มีกิจกรรมไหนบ้างที่เราน่าจะใช้ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดก็จะมีส่วนของการไปค้นหาค้นพบข้างในตัวเองและส่วนที่นำไปสู่การปฏิบัติ 

ถ้าเรายื่นเทคนิคการสอนให้ครูโดยที่ไม่ได้พาไปสำรวจข้างในของตัวเองก่อนนั้น จะเป็นอย่างไร

ครูจ๊อย: มันก็จะเป็นการ copy paste เป็นการอบรมที่ โอ้ สนุกจัง กิจกรรมนี้ดีเดี๋ยวเอาไปทำบ้าง แต่ก็จะก็อปไปแค่กระบวนท่าร่ายรำ แต่ไม่รู้หรอกว่ากิจกรรมนี้มันปรับได้นะ แก่นของมันคืออะไร พอมองไม่เห็นแก่นของกิจกรรมมันก็จะก็อปไปแห้งๆ สนุกนะแต่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่ครูอยากพานักเรียนไปให้ถึง หรือสนุก แต่มันไปคนละทางกับคุณภาพภายในของครู มันไม่เข้ากัน เหมือนเปิดหนังสือแล้วหยิบไปใช้เลย 

แต่ถ้าค้นพบคุณภาพหรือเวทมนตร์ในตัวเองแล้ว และรู้ว่ามีกิจกรรมหรือเทคนิคอะไรบ้าง เขาจะเริ่มปรับเข้ากับบริบทรอบตัวของเขารวมถึงบริบทของครูเองด้วย 

มันคือการเปลี่ยนวิธีคิดเลยเนอะ? 

ครูโจ้: ใช่  มันเปลี่ยน mind set พอสมควรเลยนะ เพราะว่าที่ผ่านมา หลักสูตรอื่นๆ จะสอนว่าครูคือผู้มีอำนาจ ครูคือผู้ถ่ายทอดความรู้ ครูเองจึงต้องเสริมอำนาจของตัวเองเสริมเนื้อหาให้ได้มากที่สุด และเป็นกระบอกเสียงในการถ่ายทอดความรู้ แต่ในที่นี้เราคิดว่าครูต้องเป็นเสาสัญญาณที่เปิดรับคลื่นความถี่แล้วจูนคลื่นให้ตรงกับเด็ก เมื่อคลื่นตรงกันแล้ว ณ วินาทีนั้น มันจะไม่มีใครสอน ไม่มีใครรับ แต่การเรียนรู้นั้นมันจะไปด้วยกัน 

ครูหลายคนเขาสะท้อนมา อย่างครูที่สอน coding ถ้าที่ผ่านมาครูก็จะต้องสอนภาษาซีให้เด็ก มันกลายเป็นว่าเด็กกลัว แต่ครูเขาเปลี่ยนใหม่ จับสัญญาณใหม่ว่า ถ้าเรื่องแบบนี้ต้องให้เด็กทำก่อนแล้วให้เด็กมาสอนครู ครูก็ทำตัวเป็นคนไม่รู้ ให้เด็กไปค้นหาข้อมูลมา แล้วค่อยมาบอกครูว่า ที่เขาทำสำเร็จในการเขียนภาษา coding นั้นทำได้อย่างไร มันพลิกบทบาทห้องเรียนไปเลยนะ 

ครูจ๊อย: ซึ่งบางครั้งครูก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว เขาเรียกว่า ญาณทัศนะ (intuitive) หรือข้างในของครูมันบอกว่าควรจะทำอย่างนี้ และบางครั้งครูก็เลือกที่จะทำ เพียงแต่ว่า ถ้าครูตระหนักรู้เรื่องนี้ว่าเขามีพลังบางอย่าง เขาก็จะใช้มันได้ มันนามธรรมมากค่ะในเรื่องนี้ แต่ครูที่อยู่ในวินาทีนั้น เขาจะรู้แน่แก่ใจว่า ณ ขณะนี้ เขากับนักเรียนกำลังมุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน กำลังเรียนรู้ไปด้วยกัน 

ในฐานะอาจารย์ บรรยากาศที่ห้องเรียนลื่นไหล เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น เป็นความรู้สึกแบบไหน 

จ๊อย: มันรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การมองเห็น เราอาจจะเห็นสายตาผู้เรียนที่เป็นประกาย สนใจเรา แต่เราก็อ่านความรู้เขาได้ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ของเราได้ด้วยว่า เขากำลังอินกับเรื่องที่เราสอน และเราก็กำลังอินกับเรื่องของเขาเหมือนกัน วินาทีนั้นเรารู้สึกเหมือนเวลามันหายไป มันไม่มีใครอยู่เลยบนโลกนี้นอกจากเรากับนักเรียน และมันเพลินไปด้วยกัน ซึ่งมันเกิดขึ้นบ่อยนะเวลาความสัมพันธ์ของเรากับผู้เรียนเชื่อมกัน 

แต่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่า บรรยากาศมันเริ่มไม่ไปด้วยกันแล้ว ผู้เรียนเริ่มหลุด เราก็จะรู้สึกได้อยู่ดีว่า อ๋อ มีผู้เรียนที่อยู่แต่กายหยาบแล้ว กายละเอียดไม่อยู่กับเราแล้ว (หัวเราะ) บางทีเราก็จะบอกเขาตรงๆ โดยใช้เวทมนตร์ความจริงใจของเราบอกว่า ‘รู้สึกว่ากายละเอียดไม่ได้มานะ ต้องการให้ครูสนับสนุนอะไรไหมเพื่อให้เราอยู่ด้วยกันในห้องนี้’ (หัวเราะ) ซึ่งการสื่อสารบางครั้งก็สำคัญเหมือนกัน 

ครูเหล่านั้นต้องยืนอยู่บนความเชื่อแบบไหนในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย

ครูโจ้: เรามีความเชื่อว่า คนทุกคนมีความกรุณา ความกรุณานั้นคือการเปิดประตูเข้าไปสัมผัสหัวใจของกันและกัน แล้วพอเราสัมผัสกันและกันปุ๊บ มันก็จะเกิดการไหลลื่น จะสนุกมากเลยนะ เพราะว่ามันเกิดการรับฟังเด็กทุกๆ คน และดูแลเด็กทุกๆ คน 

แต่ระบบการศึกษาที่มันไม่ไหลลื่น การถ่ายทอดความรู้ทางเดียว การมองคนเป็นสิ่งสำเร็จรูป การวัดด้วยการประเมินแบบที่ยึดความรู้ ทักษะ และการอิงกับเนื้อหาและแนวการประเมิน คือมันกลายเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ไปแล้ว 

ครูจ๊อย: ซึ่งความเชื่อที่อยากจะผลิตทุกคนให้ออกมาเหมือนๆ กันหมดนั้น มันทำลายมิติความเป็นมนุษย์ไปหมด รวมไปถึงมิติความเป็นมนุษย์ของครูด้วย ไม่ใช่แค่นักเรียนอย่างเดียว ซึ่งการเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียนจริงๆ คือการเรียนรู้ที่เข้าใจบริบท และตัวผู้เรียนจริงๆ และทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่า การเรียนรู้นี้มีความหมาย ไม่ใช่การที่ครูไปบอกว่า สิ่งนี้มีความหมายกับเธอ แต่เธอต้องให้ความหมายมันด้วยตัวของเธอเอง สิ่งนี้คือการเรียนรู้ที่แท้จริง 

การสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียน มีอะไรเป็นพื้นฐาน

ครูจ๊อย: มันต้องอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างคนสอนและคนเรียน แต่บางครั้ง พอเรามองข้ามมิติความเป็นมนุษย์และเราอยากจะปั๊มผู้เรียนออกมาให้เหมือนๆ กันหมด มิติความเป็นมนุษย์ของทั้งคนสอนและคนเรียนมันหายไป ครูถูกมองว่าเป็นเครื่องสอน นักเรียนถูกมองว่าเป็นเครื่องเรียน แต่ถ้าเราปรับกันใหม่ว่า ครูมองเห็นว่าเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน นักเรียนก็มองเห็นว่าครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดได้ เศร้าได้ มีความสุขได้ ความกรุณาปรานีที่ทุกคนมีอยู่ในตัวจะถูกนำออกมา เพราะเราต่างเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน 

ครูโจ้: อีกอันคือ ความเชื่อเรื่องการเติบโตในแบบที่มนุษย์เป็นมนุษย์จริงๆ เรารู้สึกว่ามันมี pain point เยอะ มีความเครียดเยอะมากกับการที่คนต้องเติบโตแบบความสำเร็จ ต้องได้เกรด 4 นะ ซึ่งเราเจอในเด็กมหา’ลัยเยอะมากที่ ‘ฉันจะต้องได้เกียรตินิยม ฉันต้องเป็นที่ 1’ แล้วเราก็เจอเด็กเป็นซึมเศร้าจากความเครียดเยอะมากที่พ่อแม่คาดหวังให้สำเร็จ ซึ่งความสำเร็จในที่นี้คือการที่คุณคาดหวังว่า ต้องสำเร็จในอาชีพ ต้องเรียนในสาขาที่ดี การเติบโตไปในทางนั้นมันละทิ้งความเป็นตัวเรานะ ความชอบของเรา 

ครูจ๊อยล่ะ เจอบาดแผลของนักศึกษาแบบไหนในห้องเรียน

ครูจ๊อย: ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวในการเป็นอาจารย์ เรามองว่า ปัญหาที่นักศึกษาหลายคนเผชิญก็คือ การเฆี่ยนตีตัวเอง หมายความว่า เขาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองดีพอ ข้างในลึกๆ ก็จะรู้สึกโทษตัวเองตลอดเวลาว่า ยังพยายามไม่พอ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่สังคมคาดหวัง เท่าที่ตัวเองคาดหวัง เท่าที่พ่อแม่คาดหวัง และเมื่อรู้สึกตัวเองล้มเหลว รู้สึกว่ายังดีไม่พอ เขาก็จะก่นด่าตัวเองทุกวันๆ จนเกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต 

เรามองเรื่องนี้เป็นปัญหาของทั้งระบบในการหล่อเลี้ยงมิติความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้มีแค่มุมที่จะมีความสุข เป็นคนดี ประสบความสำเร็จ เก่ง หรือว่ามีสมรรถนะที่ดีตลอดเวลา แต่มนุษย์ก็จะมีมุมที่เป็นเงา มุมที่เศร้าได้ เครียดได้ ผิดได้ ลองผิดลองถูกได้ สร้างสรรค์ได้ มุมเหล่านี้ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ในโรงเรียนเลย และกว่าจะมาถึงมือของอาจารย์มหา’ลัย ก็เเทบจะเกินเยียวยาแล้ว ซึ่งถ้าเราสามารถส่งต่อแนวคิดของการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายนี้ให้กับครูที่อยู่ในโรงเรียนและช่วยกันแก้ไปทีละนิดๆ พอมาถึงมหา’ลัย นักศึกษาก็จะมีปัญหาน้อยลง อันนี้มองในทั้งระบบสายพานการศึกษาตั้งแต่เด็กเลยนะคะ 

Array